Saturday, 12 October 2024
ภาคกลางไทม์

บิ๊กแจ๊ส หนุน มทร.ธัญบุรี จับมือ 23 โรงเรียนมัธยมจังหวัดปทุมธานี ยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อมุ่งเน้นเรียนจบแล้วมีงานทำ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 เวลา10:00 น. ที่ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต (Memorandum of Understanding : MOU) ระดับปริญญาตรี

โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายเฉลิมพงษ์ รังสิวัฒนศักดิ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เขตอำเภอธัญบุรี ผศ.ดร. สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ ดร.นิยม  ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ปทุมธานี เข้าร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต (Memorandum of Understanding : MOU) ระดับปริญญาตรี ในวันนี้ เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการจัดการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต (Memorandum of Understanding : MOU) ระดับปริญญาตรี ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ผศ.ดร. สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดร.นิยม  ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ปทุมธานี พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เพื่อร่วมมือกันจัดการศึกษา และพัฒนาผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีให้เกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพ มีความรู้ และทักษะด้านวิชาการ ด้านวิชาชีพ

มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และร่วมมือกันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่มาตรฐานวิชาชีพ เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา เครือข่ายการวิจัย และเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคม และชุมชน นอกจากนี้ยังร่วมกันสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและเข้าร่วมโครงการการเรียนรู้ระบบธนาคารหน่วยกิต ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นแนวความคิดด้านการศึกษารูปแบบใหม่ คือ “การจัดการศึกษาและการสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต” หรือ ระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ เป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการและนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้คัดเลือกสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี และสถานศึกษาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นสถานศึกษานำร่องในการดำเนินงานโครงการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ (ธนาคารหน่วยกิต)

โดย พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ทาง อบจ.ปทุมธานี พร้อมใช้งบประมาณของ อบจ.ปทุมธานี ในการดูแลโครงการนี้ โดยมี โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่สังกัดที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ปทุมธานี เข้าร่วมโครงการนี้ 22 โรงเรียน บวกกับโรงเรียนสามโคก ที่สังกัดอยู่ใน อบจ.ปทุมธานี ซึ่งก็เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเหมือนกัน อีก 1 โรงเรียน รวมเป็น 23 โรงเรียน ซึ่งทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมจะต้องร่วมโครงการนี้จะต้องเป็นเนื้อเดียวกันไม่แบ่งแยก

ด้าน พล.ต.ท.อดุลย์ รัตนภิรมย์ เปิดเผยว่า ทาง อบจ.ปทุมธานี มีแนวคิดที่จะให้โรงเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี มีจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งหลังจากจบการศึกษาไปแล้วจะสามารถมีความรู้นำไปประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งทาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ปทุมธานี ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการฝึกบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ รองรับกัน อีกทั้งทาง อบจ.ปทุมธานี จะดำเนินการประสานไปยัง บริษัท ห้างร้าน หรือ แม้กระทั่งโรงงานในนิคมอุตสาหากรรม เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ให้มีงานทำต่อไป

ส่วน ผศ.ดร. สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ได้รับเกียรติ เป็นอย่างมาก ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งทางมหาวิทยาลัย จะมุ่งเน้นยักระดับการศึกษาในจังหวัดปทุมธานี ให้ได้ ด้วยการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญด้านของทักษะ โดยใช้โจทย์จากชุมชนเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ สถาบันการศึกษาสามารถก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงควบคู่กับชุมชน

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

ความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ห้องกัก และการจัดตั้ง รพ.สนามชั่วคราว

จากสถานการณ์ผู้ต้องกักติดเชื้อไวรัส Covid19 วันนี้ 23 มี.ค.64 สตม.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข , กรมควบคุมโรค , รพ.ตร. และสำนักงานอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้จัดประชุมเพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมมี ดังนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และผู้เกี่ยวข้อง , นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงค์รกิจ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์กิติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข , นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค , นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค , นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ  ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค , พ.ต.อ.เอกลักษณ์ ดีรุ่งโรจน์  โรงพยาบาลตำรวจ , สำนักงานอนามัยกรุงเทพมหานคร, สำนักงานเขตหลักสี่

สตม.มีการจัดกำลัง จนท.ตร. รักษาความปลอดภัยของ รพ.สนามชั่วคราว ตลอด 24 ชม. และมีการดำเนินการตามมาตรฐานการควบคุมโรค ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคออกไปด้านนอกพื้นที่ รพ.สนามชั่วคราว

โดยมาตรการแก้ไขและควบคุมการแพร่ของ Covid19 ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ของ สตม. ได้แก่

1) ให้ กก.3 บก.สส.สตม.งดรับผู้ต้องกัก จนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการป้องกันได้ มีหนังสือให้แต่ละ บก. บริหารการกักตัวผู้ต้องกัก/ ตม.จังหวัด ฝาก สภ.ควบคุมผู้ต้องกัก ในส่วน กทม. กก.3 บก.สส.สตม.รับตัวแล้วให้ ตม.จว.นนบุรีควบคุมแทน

2) ลดจำนวนผู้ต้องกักในความดูแลของ กก.3 บก.สส.สตม. (สำหรับผู้ปลอดเชื้อ ผลักดัน/ส่งกลับ, ขอให้ พม.มารับไปดูแล)

3) จัดตั้ง รพ.สนามชั่วคราว สตม. ขอสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ จาก รพ.ตร. จัดสถานที่ อุปกรณ์ โดยประสานกับกรมควบคุมโรค

4) ให้ ตม.จว. และ หน.ด่านคัดแยกผู้ต้องกักกลุ่มเสี่ยงแยกออกจากรายอื่น ๆ

5) ให้ ตม.จว. ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ในการจัดแผนรองรับ

6) ขอสนับสนุนชุดผู้ป่วย จาก รพ.ตร. จำนวน 400 ชุด และยา

7) ให้ บก.อก.สตม.สนับสนุนยาสำหรับฉีดพ่น

8) ให้แต่ละ ตม.จว.จัดหาพื้นที่สำหรับ รพ.สนาม หากเกิดกรณีผู้ต้องกักติดเชื้อ

9) การรับตัวผู้ต้องกัก ให้แยกผู้ต้องกักโดยมีห้องแรกรับ 3-5 วัน รอดูอาการก่อนส่งตัวเข้ารวมในห้องกัก

10) กำชับผู้บังคับบัญชาให้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่าให้มีการติดเชื้อเพิ่ม

11) หน.หน่วย สำรวจอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ให้บกพร่อง

12) การรับอุปกรณ์มาเพิ่มใหม่ให้จัดทำเป็นงวดๆ โดยให้ใช้ในส่วนที่รับมาก่อนเป็นอันดับแรก

13) ศฝร.สตม. ให้จัดที่พักสำหรับแพทย์ และพยาบาลที่จะไปดูแลผู้ป่วย รวมถึงจัดห้องพักให้กับ จนท.ปอพ.ที่ไปเข้าเวรในหลาย ๆ ผลัดเนื่องจากเป็นผู้เสียสละ

14) ให้ บก.อก.สตม. จัดทำตารางประชุม หน.หน่วย หรือผู้แทน ในเวลา 10.00 น. ของทุกวัน

ส่วนผู้ต้องกักที่อยู่ในความดูแล ปัจจุบันมี มีจำนวน  1,615 คน โดยถูกกักที่บางเขน จำนวน 490 คน ที่สวนพลูจำนวน 1,125 คน  ซึ่งผู้ที่ติด Covid19 ที่อยู่ในความดูแล มีทั้งสิ้น 393 คน (ชาย 370 คน,หญิง 23 คน) ถูกแยกกักตัว ณ รพ.สนามชั่วคราวในห้องกัก(บางเขน) โดย สตม. ได้จัดตั้ง รพ.สนามชั่วคราว สตม. ณ อาคารโรงยิมกองสวัสดิการ ตร. ในพื้นที่สโมสรตำรวจจัดตั้งขึ้นโดยการประสานความร่วมมือกับ รพ.ตร.(จัดส่งบุคลาการทางการแพทย์) กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ให้คำปรึกษา แนะนำและกำหนดมาตรฐานของการจัดตั้ง รพ.สนาม มาตรฐานของการตรวจควบคุมโรค สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และในส่วนของ กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนด้านการรักษาความสะอาด และสาธารณูปโภค

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th จะขอบพระคุณอย่างสูง

อบจ.สุโขทัย ชวนเที่ยว ชมไม้งาม รับลมคลายร้อนในทะเลหลวง

"ดอกเสลา" ม่วงขาวพราวสีสัน สวยทั้งวันบานพลิ้วลมไสว "กัลปพฤกษ์"ชมพูอ่อนเย้ายวนใจ "เหลืองปรีดียาธร" สดใสรับอรุณ มาเช็คอิน ถ่ายรูป ดอกไม้บานรับลมร้อน ที่บริเวณแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย

เกาะกลางรูปหัวใจ เป็นที่รู้จักกันคือบริเวณทุ่งทะเลหลวง ตั้งอยู่ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชมธรรมชาติ และเก็บน้ำขนากกลาง  “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ” หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “เกาะรูปหัวใจ” พื้นที่แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางทุ่งทะเลหลวง มีเขตติดต่อกันถึง 3 ตำบล ต.ปากแคว ต.บ้านกล้วย ต.ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจแห่งนี้ ได้เกิดจากแนวคิดโครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยได้เริ่มทำโครงการสร้างแหล่งเก็บน้ำขึ้น ในปี พ.ศ. 2545 โดยใช้บริเวณทะเลหลวงซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำในอดีต โดยได้มีการขุดลอกพื้นที่และขุดคลองเผื่อผันน้ำเข้ากักเก็บไว้ในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ เเละได้มีการออกแบบให้เป็นรูปหัวใจ

จนถึงปัจจุบันนี้ โครงการแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง และแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ซึ่งมีนายมนู พุกประเสริฐ นายกอบจ. ได้ส่งเสริมให้ “เกาะกลางรูปหัวใจ” ทุ่งทะเลหลวงแห่งนี้ เป็นสถานที่พักผ่อน สถานที่ท่องเที่ยว แขกบ้านต่างเมือง และส่งเสริมให้เป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุโขทัย ในเชิงสุขภาพ ความสดชื่นเบิกบานใจเชิงธรรมชาติร่มรื่น  สร้างความสุขให้กับผู้มาเยือนและคนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย มีแหล่งท่องเที่ยว มีที่พักผ่อน มีสวนสุขภาพที่ทำให้หายเหนื่อยจากการทำงาน และสภาวะต่าง ๆ มาเติมพลังและเพิ่มความสุขยังทุ่งทะเลหลวงแห่งนี้

ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัยไปแล้ว โดยบริเวณพื้นที่บนเกาะนั้น ได้มีการปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่น เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว และผู้คนที่มาออกกำลังกาย เเละยังได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการจัดงานในวันสำคัญต่าง ๆ อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา นอกจากเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยแล้ว ยังมีส่วนราชการสำคัญ ๆ หลายหน่วยงานได้เข้ามาทำการปลูกสร้างและจัดเป็นส่วนราชการในอนาคตต่อไป เพื่อความคล่องตัวและขยายพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัยให้กว้างและคล่องตัวมากขึ้น  และสร้างอาคารสำคัญเช่น สนามกีฬา สนามฟุตบอลสโมสรสุโขทัยเอฟซีที่โด่งดัง และสวนสาธารณะไว้ในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดสุโขทัยในอนาคตข้างหน้า

ลักษณะเด่นแก้มลิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ทะเลหลวงเป็นแหล่งเก็บน้ำ โอบล้อมด้วยทิวเขาหลวงมีเกาะกลางเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ เป็นความงดงามเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดดเด่นจากการสร้างสรรค์จากน้ำ  อยากให้นักที่องเที่ยวทั้งต่างจังหวัด และในพื้นที่ เดินทางมาพักผ่อน  คลายร้อน รับโอโซนของของธรรมชาติ และดอกไม่เด่น ๆ สวยงาม ที่ผลิดอก ออกใบ สวยงามสะพรั่งขณะนี้  มีทั้ง "ดอกเสลา" ม่วงขาวพราวสีสัน สวยทั้งวันบานพลิ้วลมไสว "กัลปพฤกษ์" ชมพูอ่อนเย้ายวนใจ "เหลืองปรีดียาธร" สดใสรับอรุณ มาเช็คอิน ถ่ายรูป ดอกไม้บานรับลมร้อน ที่บริเวณแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา สุโขทัย

ผู้ว่าฯ ปู คืนสู่สาคร คนแห่ต้อนรับเนืองแน่น ด้านพ่อเมืองบอกรักและคิดถึงที่สุดสมุรสาคร อีก 1 เดือนพร้อมสู้ต่อ

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 19 มีนาคม 2564  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์  แพทย์ผู้ให้การดูแลฯ ได้เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี (ภริยา) นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร และ นางสาววีราพร หรือ น้องน้ำหวาน วิจิตร์แสงศรี (บุตรสาว) เพื่อพบปะกับ นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนที่มาร่วมกันต้อนรับอย่างเนืองแน่น

โดยเมื่อขบวนรถของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมาถึง คนที่มาต้อนรับก็ปรบมือส่งเสียงดีใจ ที่ท่านเดินทางกลับมาที่สมุทรสาครด้วยใบหน้าที่สดใส มีรอยยิ้มและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น แม้จะยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดและครอบครัว ก็ได้โบกมือทักทายทุกคน พร้อมกับยกมือไหว้ขอบคุณที่ทุกคนรักและมารอต้อนรับ ก่อนที่จะเข้าห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ฯ เพื่อพบปะกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ประมาณ 30 คน

สำหรับในห้องประชุมหลังจากที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึงอาการท่านผู้ว่าฯ และแนวทางการรักษา ตลอดจนกำลังใจที่มีส่วนสำคัญทำให้ท่านผู้ว่าฯ ฟื้นคืนร่างกายกลับมาได้โดยเร็วแล้วนั้น ทางนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด – 19 จนกระทั่งนอนอยู่ในโรงพยาบาลแบบไม่รู้สึกตัว 43 วัน และต้องพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชทั้งหมด 82 วัน

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ตนเองได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเล่าเรื่องจากแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของโรงพยาบาลสนามที่ตนมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขสถานการณ์โควิดให้ลุล่วงไปได้อย่างแน่นอน จนกระทั่งเมื่อตนเองรู้สึกตัวและสามารถขยับร่างกายได้แล้วนั้น ก็ได้อ่านข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิดที่สมุทรสาครมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รับรู้ความเคลื่อนไหว ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น้ำใจจากทุกภาคส่วนที่หลั่งไหลสู่สมุทราสคร และความรัก ความสามัคคีของคนสมุทรสาคร ตลอดจนกำลังใจที่ส่งต่อมาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครอย่างล้นหลาม

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับคนสมุทรสาครคือ “รักและคิดถึงสมุทรสาครมากที่สุด” แม้ตนเองจะไม่ใช่คนสมุทรสาคร แต่การที่ได้มาทำงานที่นี่กว่า 1 ปี ก็รักและคิดถึงที่นี่มากแม้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านก็เสมือนบ้านของตนเอง โดยสถานการณ์โควิด – 19 วันนี้ เป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่ง ซึ่งคนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้ตนก็เชื่อว่าการระบาดครั้งนี้จะต้องมีจุดจบ สมุทรสาครจะต้องสามารถกลับขึ้นมายืนได้อีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของคนสมุทรสาคร ที่จะทำให้เราสามารถต่อสู้ชนะโควิดได้ในเร็ววันนี้ ส่วนตัวนั้นขอเวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการพักฟื้นร่างกายตามคำสั่งของแพทย์ หลังจากนั้นจะกลับมาทำงานรับใช้พี่น้องชาวสมุทรสาคร 

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ยังบอกทิ้งท้ายด้วยอารมณ์แห่งความสุขและเรียกรอยยิ้มด้วยว่า ถ้าวันที่หายเป็นปกติสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีแล้ว คิดว่าจะลงพื้นที่ไหนเป็นจุดแรกนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะทุกพื้นที่สำคัญเหมือนกันหมด หากจะระบุไปที่ใดที่หนึ่งกลัวจะทำให้พื้นที่อื่นเกิดความน้อยใจ เพราะการทำงานเลือกพื้นที่ไม่ได้ คงต้องดูความเหมาะสมหรือความจำเป็นในขณะนั้น อีกอย่างหนึ่งคือ บอกไม่ได้ตอนนี้ เพราะกลัวภริยาจะรู้ ห้ามไม่ให้ไปทำงาน

ทั้งนี้หลังจากที่ใช้เวลาในห้องประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ได้มีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นมื้อแรกที่สมุทรสาคร โดยมีเมนูโปรดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครคือ ข้าวผัดปู ต้มส้มปลากระบอก ปลาหมึกผัดกะปิ กุ้งซอสมะขาม ลอดช่องวัดเจษ และลำไยพวงทอง ส่วนการรับประทานอาหารนั้นก็จัดเป็นเซ็ตสำหรับแต่ละท่าน มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการ New Normal


ภาพ/ข่าว  ชูชาต แดพยนต์ สมุทรสาคร

บรรยากาศสุดฟินที่เพชรบูรณ์ กับสีสัน ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง “TAIDONG WALKING STREET”

นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง เป็นประธานเปิด “TAIDONG WALKING STREET”( ถนนคนเดินท้ายดง ) ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในแนวคิดในการพัฒนาชุมชน ให้เป็นที่รู้จักและการกำหนดให้แหล่งเรียนรู้ของตำบล เป็นแหล่งตลาดใหม่

โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายดง ให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนพร้อมด้วยผู้สูงอายุในสังคมปัจจุบัน โดยการพยายามหาแนวทางในการขับเคลื่อนกลุ่มของสภาเด็กเยาวชนตำบลท้ายดง และโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัยตำบลท้ายดง จึงจัดกิจกรรม “TAIDONG WALKING STREET”( ถนนคนเดินท้ายดง ) ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง โดยมีนางสาวฉัตรนภา เมืองแป้น นายก อบต.ท้ายดง เป็นผู้กล่าวรายงาน  เพื่อเป็นการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลท้ายดง และสนับสนุนการแสดงกิจกรรม สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและการแสดงของกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน

นอกจากนี้ ภายในกิจกรรม ก็ได้มีอีกหนึ่งสีสันและไฮไลท์เด็ด ให้ผู้ร่วมงานและนักท่องเที่ยวได้รับชม โดยมีการแสดงของสภาเด็กและเยาวชนตำบลท้ายดง ที่ออกมาโชว์สเต๊ปการเต้นเข้าจังหวะ ด้วยท่วงท่าที่หลากหลาย น่ารัก สมวัย สร้างความสนุกสนาน และตามด้วยการแสดงที่อ่อนช้อย ของโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัยตำบลท้ายดง ที่ต่างพร้อมใจกันแต่งกายด้วยผ้าซิ่น สวมใส่เสื้อสีชมพู มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ สะพายกระติ๊บข้าวเหนียว ออกมาโชว์ในชุด เซิ้งกระติ๊บอย่างพร้อมเพียง งดงาม

และนอกจากนั้น ยังมีร้านขายอาหาร ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านเสริมความงาม รวมทั้งกิจกรรมกีฬาและสันทนาการต่างๆ มาคอยให้บริการอย่างครบครัว และที่จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อใครได้มาถึงที่นี่แล้ว จะต้องมาร่วมเช็คอิน ถ่ายรูปกับมุมเซลฟี่ต่างๆ ที่ทางถนนคนเดินท้ายดง ได้จัดแต่งไว้ให้อย่างหลากหลาย โดยจะเปิดให้บริการ ในทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จนถึงช่วงเวลา 19.00 น.


ภาพ/ข่าว : เดชา มลามาตย์ และ ยุทธ ศรีทองสุข

น้องหมาเจ้าเล่ห์ใส่แว่นดำ โป๊ะแตก ที่แท้แอบหลับ

ไปดูความน่ารักแบบเจ้าเล่ห์ ของ เจ้าไวท์ น้องหมาเพศผู้วัย 8 ขวบสีขาวเหมือนชื่อ ที่นั่งใส่แว่นตาดำช่วยเจ้าของเรียกลูกค้า เพื่อขายแครอทให้กระต่ายในงานวันมะปรางหวานปราจีนบุรี

ใครที่ผ่านไปผ่านมาเห็นเข้าก็อดที่ยิ้มให้ความน่ารักของมันไม่ได้ ด้วยท่าทีที่นั่งอย่างเรียบร้อยเหมือนหุ่นแบบไม่ไหวติง นิ่งซะจนคล้ายหลับ แม้จะมีเสียงดังจากเสียงเพลงและประกาศอึกทึกคึกโครมจากร้านค้าใกล้ ๆ หรือจะมีใครมาลูบหัวก็ตามที เจ้าไวท์ก็ยังคงนั่งนิ่ง

สอบถามสองสามีภรรยาเจ้าของน้องหมา บอกว่า ด้วยอาชีพขายของตามงานคาราวานสินค้าจึงต้องเดินทางจากบ้าน สุพรรณบุรี ครั้งละหลาย ๆ วันจึงจำเป็นต้องเอาเจ้าไวท์ไปด้วยทุกที่เพราะหากทิ้งไว้ที่บ้านมันคงอดตาย มีคนมองว่าเอาน้องหมามาทรมาน แต่ความจริงไม่ใช่เพราะตนรักเจ้าไวท์เหมือนลูกเพราะฉะนั้นไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน และทุกครั้งเจ้าไวท์ก็จะมานั่งคลอเคลียไม่ห่างแม้จะเอาไปนอนเดี๋ยวก็ออกมาหาอีกแล้ว เลยต้องหาเก้าอี้ไว้ให้นั่งเป็นส่วนตัว

เห็นว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ก็เลยหาแว่นตาดำเท่ ๆ มาใส่ให้เจ้าไวท์เพื่อให้ดูหล่อคนที่เดินผ่านไปมาเห็นก็จะมักจะยิ้มให้ จนเป็นปกติเจ้าไวท์เองเมื่อได้แว่นมาใส่ก็ไม่ได้ขัดขืนหรืออะไรกลับชอบใส่แล้วนั่งเฉยดูเป็นที่ชื่นชอบของคนรักหมา คุณหนึ่งและภรรยาบอกว่า เจ้าไวท์ใส่แว่นแล้วไม่ใช่ว่าจะหลับนะ มันยังนั่งคอยรับแขกเหมือนเดิม แต่พอเราสังเกตเห็นว่า ร่างเจ้าไวท์โยกไปเยกมา เหมือนถูกลมพัดเราเลยขอให้ภรรยาคุณหนึ่งช่วยถอดแว่นตาให้หน่อยเพื่อจะได้รู้ว่า เจ้าไวท์ หลับหรือนั่งคอยรับแขกอย่างว่า 

ปรากฏว่างานนี้ โป๊ะแตก พอถอดแว่นออกมาปรากฏว่า เจ้าไวท์ น้องหมานั่งหลับจริงๆ ไม่ใช้โยกเยกเพราะลมพัด แหม อุตส่าห์คุยอย่างดิบดีว่า เจ้าไวท์คอยเรียกแขกมาซื้อแครอทเลี้ยงกระต่าย ที่ไหนได้นั่งหลับโดยอาศัยแว่นตาดำพลางซะนี่ แหม ๆ เจ้าเล่ห์ไม่เบาเลยน้ะเจ้าไวท์


ภาพ/ข่าว : ณัฐวัฒน์  กุลเศรษฐ์สุวภา ผู้สื่อข่าว

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ยกทัพมะม่วงคุณภาพดีให้คนกรุงได้ลิ้มลองในงาน “Mango of SIAM ที่สุดแห่งมะม่วงไทย ถูกใจทั่วโลก”

ระหว่างวันที่ 2 - 6 เม.ย. 2564 นี้ ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM พร้อมรณรงค์แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” อุดหนุนชาวสวนผลไม้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนถึงความร่วมมือและความเป็นไปได้ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ ICONSIAM, Central Pattana, The Mall, Tops Market, Makro, Lotus, Big C เพื่อวางแผนภาพรวมทั้งปีในการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรเข้าไปจำหน่ายตามฤดูกาล ภายใต้ความร่วมมือการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

สำหรับในช่วงระยะเวลานี้สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งทำเป็นกรณีพิเศษคือเรื่องผลไม้ ซึ่งผลไม้เขตร้อนเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว และจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมถัดจากนี้ไป ผลไม้ไทยถือว่ามีคุณภาพมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งทางด้านการตลาดต้องดำเนินการทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการช่วยระบายผลไม้ทั้งในส่วนตลาดออฟไลน์และตลาดออนไลน์ควบคู่กันไปด้วยเพื่อไม่ให้ผลผลิตกระจุกตัว โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศขณะนี้ประสบปัญหาเรื่องการส่งออกผลไม้ในภาพรวมยังทำได้ไม่ 100% จึงต้องหันมาส่งเสริมด้านการตลาดในประเทศเพื่อช่วยชาวสวนเพิ่มให้มากขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ ICONSIAM ได้กำหนดจัดงาน “Mango of SIAM ที่สุดแห่งมะม่วงไทย ถูกใจทั่วโลก” ระหว่างวันที่ 2 – 6 เมษายน 2564 ณ บริเวณชั้น G ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM โดยเชิญ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อช่วยชาวสวนผลไม้กระจายผลผลิต โดยเฉพาะระยะนี้เป็นเทศกาลของมะม่วงซึ่งมีผลผลิตจากหลายพื้นที่ทยอยออกสู่ตลาด กรมฯ จึงร่วมกับสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยคัดสรรผลผลิตและผลิตภัณฑ์มะม่วงคุณภาพดีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมาร่วมออกบูธจำหน่าย รวม 25 บูธ

ประกอบด้วย สินค้ามะม่วงจากสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย 8 บูธ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา (ผลสดและผลิตภัณฑ์), จ.พิจิตร (ผลสด ผลิตภัณฑ์ และกิ่งพันธุ์), จ.พิษณุโลก (ผลสดและกิ่งพันธุ์), จ.เพชรบูรณ์ (ผลสด), จ.ราชบุรี (ผลสด), จ.นครราชสีมา (ผลสด), จ.สระแก้ว (ผลสด GI) สินค้าเกษตรจากตลาดเกษตรกร 5 บูธ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะม่วงมหาชนก จ.เชียงใหม่, มะม่วงดองแช่อิ่ม จ.ชลบุรี, มะม่วงน้ำปลาหวานต้นหอม จ.สมุทรปราการ, มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ อบแห้ง จ.ลำพูน, มะม่วงน้ำปลาหวานมะดัน มะดันแช่อิ่ม จ.นครนายก

สินค้าเกษตรจากกลุ่มแปลงใหญ่ 6 บูธ ได้แก่ แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม จ.สมุทรสาคร, แปลงใหญ่ส้มโอ ลิ้นจี่ จ.สมุทรสงคราม, แปลงใหญ่ทุเรียน มังคุด จ.จันทบุรี, แปลงใหญ่อะโวคาโด จ.ตาก, แปลงใหญ่สับปะรด (พันธุ์ใหม่) จ.ระยอง, แปลงใหญ่ขนุน จ.ชลบุรี และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวกับมะม่วงและการบริการต่าง ๆ จำนวน 5 บูธ ได้แก่ อุปกรณ์ทางการเกษตร ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ ฮอร์โมน ที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเมือง รวมทั้งการให้บริการขนส่ง เช่น ไปรษณีย์ไทย, Kerry เป็นต้น

กิจกรรมภายในงาน นอกจากจะมีการออกร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังได้จัดแสดงนิทรรศการประกอบเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงาน เช่น เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงคุณภาพดี ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษามะม่วง ศัตรูสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง การพัฒนาคุณภาพมะม่วงส่งออก/ดัชนีการเก็บเกี่ยวมะม่วง การแสดงความหลากหลายทางสายพันธุ์มะม่วง และมะม่วงที่ได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

สำหรับมะม่วงที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 มะม่วงไทยพันธุ์การค้า จำนวน 16 พันธุ์ ได้แก่ น้ำดอกไม้เบอร์สี่ น้ำดอกไม้สีทอง เขียวเสวย ฟ้าลั่น โชคอนันต์ มหาชนก อกร่อง (อกร่องทอง อกร่องเขียว อกร่องพิกุลทอง) แรด ขายตึก เพชรบ้านลาด มันเดือนเก้า มันขุนศรี มะม่วงเบา น้ำดอกไม้มัน แก้ว หนังกลางวัน

กลุ่มที่ 2 มะม่วงไทยพันธุ์หายาก/โบราณ จำนวน 10 พันธุ์ ได้แก่ ยายกล่ำ สายฝน เจ้าคุณทิพย์ พิมเสนมัน พิมเสนเปรี้ยว งาช้างแดง นาทับ สาวน้อยกระทืบหอ ลิ้นงูเห่า แก้วลืมรัง

กลุ่มที่ 3 มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ/ลูกผสม จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ อ้ายเหวิน อี้เหวิน จินหวง อาร์ทูอีทู แดงจักรพรรดิ แก้วขมิ้น

กลุ่มที่ 4 มะม่วงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ยายกล่ำนนทบุรี น้ำดอกไม้สระแก้ว น้ำดอกไม้ฉะเชิงเทรา และการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมบนเวที เช่น การแข่งขันแกะสลักผลไม้ ตำผลไม้ลีลา เชฟชื่อดังมาร่วมโชว์ปรุงเมนูมะม่วงเลิศรส การถาม-ตอบความรู้มะม่วง สาธิตต่าง ๆ กิจกรรมนาทีทอง ลุ้นโชควงล้อมะม่วงมหาสนุก เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมอุดหนุนสินค้าเกษตรไทยช่วยสนับสนุนชาวสวนผลไม้ภายใต้ Campaign “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” พร้อมชมบรรยากาศดี ๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศได้ที่ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM

ทนไม่ไหว ! ชาวบ้านเพชรบูรณ์ร้องศูนย์ดำรงธรรม เร่งแก้ปัญหากลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านไม่โปร่งใส

ที่วัดศรีจันดาธรรม หมู่ 12 ตำบลปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นายชาครินทร์ อินอิ่มวรปราชญ์ นายอำเภอหล่มสักเป็นประธานการประชาคมชาวบ้านเพื่อหาข้อยุติ ในกรณี นายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์ ผู้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก

กล่าวว่า นายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) พร้อมคณะกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน มีพฤติกรรมฉ้อฉล ไม่เคยจัดการประชุมสมาชิกในแต่ละปี ให้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของกลุ่มรวมฌาปนกิจหมู่บ้านทั้งไม่ชี้แจงรายละเอียดการเงินกับสมาชิก

ทางผู้ร้องจึงได้จัดประชุมสมาชิกกลุ่ม และกรรมการกลุ่มฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธีร่วมกัน โดยมีสักขีพยานได้แก่นายอำเภอหล่มสัก นายปรัชญา ปิยะวงษ์ ปลัดอำเภอหล่มสัก ผู้กำกับการ สภ.บ้านกลาง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก นายไกร แรงงาน กำนัน ต.ปากช่อง ผู้ใหญ่บ้านในตำบลปากช่อง ผู้สังเกตการณ์จากหลายหน่วยงาน ฯลฯ และสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มฯจาก 7 หมู่บ้านใน ตำบลปากช่อง กว่า 400 ครอบครัว

ทั้งนี้ผู้ร้องขอความเป็นธรรมได้กล่าวในที่ประชุมว่านายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐานต่อสมาชิกที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว มีพฤติกรรมฉ้อฉลส่อแววทุจริต เช่นการพิจารณาจ่ายเงินค่าทำศพมีความเหลื่อมล้ำ บางศพได้รับ บางศพไม่ได้รับ  โดยนายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์  ซึ่งเป็นผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเองสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มและส่งเงินสมทบค่าทำศพมาตลอด จนเมื่อปลายปี 2563 บุตรชายของตนซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เสียชีวิตลง ทางคณะกรรมการกลุ่มฌาปนกิจไม่จ่ายเงินให้

โดยอ้างว่า บุตรชายตนเองไปตั้งถิ่นฐานอยู่ กทม นานแล้ว เสมือนได้แยกครอบครัวออกไปจากครอบครัวของตนเองที่เป็นสมาชิกกลุ่มอยู่ ซึ่งทำให้สมาชิกจำนวนมากเกิดความกังวลว่าจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ เพราะมีหลายครอบครัวที่ลูกหลานได้ออกไปทำงานอยู่ต่างถิ่น หากเสียชีวิตทางกลุ่มจะจ่ายเงินให้หรือไม่ รวมทั้งที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยมีการประชุมชี้แจงการดำเนินงานให้สมาชิกทราบ รวมถึงสถานะทางการเงินกับสมาชิก ตนจึงร้องขอความเป็นธรรมกับทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทางศูนย์ดำรงธรรมได้เชิญนายสุเทพ พั้วพวง มาให้ปากคำเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 และได้ชี้แจงข้อร้องเรียนให้ผู้ร้องได้รับทราบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564

ผลสรุปว่าผู้ถูกร้องยอมเจรจาว่าจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้ทางผู้ร้องแต่ต้องรอมติจากสมาชิกในการประชุมใหญ่  ที่จะประชุมกันในวันที่ 18 มีนาคมนี้ก่อน โดยทางผู้ร้องมีข้อต่อรอง 2 ประการคือให้ปลดล็อคการสืบทอดอำนาจของประธานและกรรมการโดยให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระ ให้ประธานและกรรมการกล่าวขอโทษในการทำงานผิดพลาดต่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม แต่พอมาวันที่ 14 มีนาคม ทางผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงโดยออกแบบกฎกติกาข้อบังคับของกลุ่มฌาปนกิจขึ้นมาใหม่และแจกให้สมาชิกบางส่วน ซึ่งทางผู้ร้องเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายและจะจบด้วยสันติวิธีไม่ได้

ในการประชุมทางกลุ่มฌาปนกิจได้ชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ของผู้ร้องและสมาชิก แต่ก็ยังไม่กระจ่างในหลายกรณี โดยนายประสิทธิ์ จงธรรม์ กรรมการกลุ่มได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า สมาชิกอย่ากังวลกับการทำงานของกรรมการ หากมีการเสียชีวิตของสมาชิกสามารถจ่ายเงินได้ทันที 3 ศพ ส่วนกรณีการเสียชีวิตบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ เนื่องจากบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของกลุ่มจึงไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ หากสมาชิกอยากให้จ่ายก็ให้สมาชิกรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายเอง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการ พร้อมทั้งประกาศยุติการดำเนินงานของกลุ่มฌาปนกิจที่ตั้งมานนกว่า 25 ปีลง และจะเปิดกลุ่มใหม่ หากใครสนใจจะเข้าให้มายื่นความจำนงกับกรรมการแต่ละเขตต่อไป

ทางด้านนายอำเภอหล่มสัก กล่าวว่า ในส่วนกรณีของปัญหาการจ่ายเงินค่าศพของสมาชิก เป็นสิทธิ์ที่ทางคณะกรรมการจะพิจารณา ทางอำเภอจะเข้าดูในด้านเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายชื่อคณะกรรมการ หลักฐานทางการเงินและการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกลุ่มให้มีชัดเจน ถูกต้องและโปร่งใส โดยจะให้ปลัดอำเภอเข้ามาให้คำแนะนำและดำเนินการให้ถูกตามตามระเบียบทางราชการภายในสองอาทิตย์ ทั้งนี้กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) รวมตัวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 มีสมาชิกแรกเริ่ม 100 ครอบครัว ในพื้นที่ หมู่ 2,5,11,12,13,14,17 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 458 ครอบครัว


ภาพ/ข่าว  มนสิชา  คล้ายแก้ว

หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย จากบรรพบุรุษ สู่ความภาคภูมิในยุคปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงเครื่องปั้น ดิน เผา คีรีมาศสุโขทัย ใครๆก็ต้องเคยได้ยินว่า มีชื่อเรื่องปั้นดินเป็นหม้อ เป็นโอ่ง เป็นไห่ เป็นแจกัน เป็นถ้วย เป็นชาม หรือเป็นกระถางต้นไม้ ปัจจุบันปั้นเป็นรูปสัตว์นานาชนิดต่างๆ ตุ๊กตา หุ่นจำลอง ปั้นเป็นภาชนะจากดินต่าง ๆ มากมายหลากหลาย 

หมู่บ้านที่เป็นถิ่นฐานเริ่มๆในการทำเครื่องปั้นจากดินอาชีพนี้ มานานนม จะมาเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา คือบ้านหน้าวัดลาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ของตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย  เป็นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย กว่า 200 ครัวเรือน  ที่ยังคงรักอาชีพในการผลิต เครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลักของคนพื้นที่นี้มาต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าหมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา หน้าวัดลายหมู่บ้านนี้ มีความเชี่ยวชาญในการปั้น เพราะได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี 

จากอดีตที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาใช้ในครัวเรือน เช่น หม้อ เตา กระทะ โอ่งน้ำ ปัจจุบันรูปแบบการปั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น กระถางแคคตัส หม้อดินจิ้มจุ่ม และของประดับสวนต่างๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นหัตกรรมทางฝีมือของชุมชนให้คงไว้ ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงตามยุค ตามความนิยม ทันสมัย รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของสิ่งที่ปั้นขึ้นมา แต่ยังคงไม่ทิ้งความเป็นเอกลักษณ์รูปแบบ รูปทรง และลวดลาย ลักษณะดั่งเดิมให้คงไว้เสมอไป

เรียกได้ว่า แบบใหม่ก็จัดให้ แบบเดิม แบบเก่าก็จัดได้ ภาพที่เห็นแก่นักท่องเที่ยว และลูกค้าที่เดินทางมาจับจ่ายซื้อของเครื่องปั้นดินเผา และมาเยี่ยมชมผลงานของทางร้านและหมู่บ้านแห่งนี้ จะพบภาพคุณยายโหง เหน่งแดง นั่งตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา เป็นภาพที่จะพบเห็นมาตลอด "ในช่วงเวลาที่ท่านทำเครื่องปั้นดินเผามากว่า 50 ปี"

แม่จันแรม อ้นทอง กล่าวว่า "ความภูมิใจ ที่ได้สานต่อการปั้นดิน และวิธีการปั้นดินจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่นี้ ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำเครื่องปั้นดินเผาได้ด้วยตัวเอง ในกิจกรรมสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผา ด้วยการขึ้นรูปบนแป้นหมุน กิจกรรมเพ้นท์กระถางแคคตัส และกิจกรรมปัดเงินปัดทองลงบนเครื่องปั้นดินเผา"

ติดต่อสอบถามหรือจะมาชมงานที่ศูนย์การเรียรู้วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน  และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุ่งหลวง ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย โทร 085-973-7080 , 081-281-1367 เฟซบุ๊ค เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง & โฮมสเตย์ บ้านทุ่งหลวง Sukhothai


ภาพ/ข่าว สุริยา ด้วงมา

"ผู้ว่าฯ ปทุมธานี" ประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ตลาดเก่า 100 ปี คลองสิบสอง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา  

โดยมี นายสุทัศน์  คงแย้ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี นายรนัชถ์ชัย พุ่มเจริญ นายอำเภอลำลูกกา  นางสาวธนียา นัยพินิจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวพิมพกานต์  พิพิธธนานันท์ ผอ.ททท.สำนักงานกรุงเทพ นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี  ผศ.ดร.ดรุณศักดิ์ ตติยะลาภะ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์  ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชนพัฒนาตลาดเก่า ชุมชนตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา เพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลตลาดเก่าร้อยปีให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top