Wednesday, 4 December 2024
ภาคกลางไทม์

สุโขทัย - Sukhothai Crafts and Folk Art “เค้กสีนิลสังคโลก” ต่อยอดงานศิลปสังคโลกสุโขทัย

“เครื่องสังคโลก” เครื่องเคลือบดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์จากยุคสุโขทัยกว่า 700 ปี ช่างจะเขียนลวดลายอย่างวิจิตร ที่สะท้อนถึง สภาวะแวดล้อม ความเป็นอยู่ และความเชื่อในสมัยสุโขทัย จากนั้นเคลือบด้วยน้ำยาที่ทำจากเถ้าไม้ผสมดินผิวนา แล้วนำไปเผาในอุณหภูมิสูงจนได้ชื้นงานที่มีเนื้อแกร่ง

สุขเสมอ Coffee and Bakery House คาเฟ่ของคนรุ่นใหม่ โดยคุณศิลป์ไทย สินอำพล และคุณศุภลักษณ์ คงรุ่ง 2 เจ้าของกิจการ ได้ดึงเอาลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ มาประยุกต์ใช้เป็นลวดลายบนหน้าเค้ก พร้อมปรับส่วนผสมของตัวเค้กโดยใช้แป้งจากข้าวหอมนิลออร์แกนิกส์ ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีอยู่มากในพื้นที่มาเป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มความเป็นสุโขทัยมากยิ่งขึ้น จนได้เป็น “เค้กสีนิลสังคโลก” ของฝากขึ้นชื่อของร้าน

จุดเด่นของเค้กสีนิลสังคโลก คือลวดลายรูปปลาและพรรณพฤกษา ที่สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ในอดีตของกรุงสุโขทัย และยังได้นำลาย ”สิบสองหน่วยตัด” 1 ใน 9 ลายของผ้าตีนจกอันขึ้นชื่อของสุโขทัยมาตกแต่งบนหน้าเค้กอีกด้วย ในส่วนของเนื้อเค้กจะมีความเหนียวหนึบ ต่างจากเค้กทั่วไป เพราะใช้แป้งจากข้าวหอมนิลออร์แกนิกส์ ทำให้มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากข้าว ใช้น้ำมันรำข้าวที่มีไขมันต่ำกว่าแทนเนยและมาการีน เนื้อครีมเป็นสีเขียวไข่กา ซึ่งเป็นสีบนเครื่องสังคโลก

และที่โดดเด่นคือทางร้านมีกิจกรรมให้ลูกค้าสามารถเรียนรู้ ลงมือทำ แต่งหน้าเค้กเอง โดยจะสอนทั้งลายสังคโลกและลายผ้าตีนจก อันเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย นอกจากจะได้ความอิ่มเอมในรสชาติอร่อย แล้วยังจะได้ความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  เสนิศชนันต์ สุขกสิกร

สมุทรสาคร - ผู้ว่าฯ ปู กลับมาแล้ว...นำทีมสู้โควิดระลอกใหม่ ประเดิมสนามแรกหารือร่วม รพ.เอกชน ดูแลผู้ติดเชื้อ

เมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 19 เมษายน 2564 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร ได้เดินทางกลับมาบริหารงานที่จังหวัดสมุทรสาคร อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลศิริราชแล้วได้กลับพักฟื้นรักษาสุขภาพที่บ้านพักในจังหวัดอ่างทอง นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา

โดยการเดินทางกลับมาในวันนี้ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครนั้น ก็เดินทางกลับมาแบบเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มีพิธีการต้อนรับแต่อย่างใดทั้งสิ้น  เมื่อมาถึงที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้แวะทักทายกับเจ้าหน้าที่ อส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นก็เข้าไปตรวจงานในห้องทำงานของผู้ว่าฯ ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้พูดคุยสัมภาษณ์ในบางเรื่องบางประเด็น เช่น ความตั้งใจแรกที่อยากจะทำเมื่อกลับมาในครั้งนี้,การนำทีมสู้โควิด – 19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน,โควิดวันนั้น(ก่อนเข้าโรงพยาบาล) กับ โควิดวันนี้(หลังออกจากโรงพยาบาล) ต่างกันอย่างไร,ความสำคัญของโรงพยาบาลสนาม, และอะไรคือสิ่งที่อยากจะบอกกับพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสู้โควิดไปด้วยกัน เป็นต้น

ส่วนการประเดิมภารกิจแรกแบบเบา ๆ เมื่อกลับมาทำงานในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุดของจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นหัวเรือใหญ่หรือแม่ทัพในการสู้กับสถานการณ์โควิดระลอกใหม่อีกครั้ง ก็คือ การประชุมร่วมกับ นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 8 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาชัย 1 , รพ.มหาชัย 2 , รพ.มหาชัย 3 , รพ.เอกชัย , รพ.วิชัยเวชสมุทรสาคร, รพ.วิชัยอ้อมน้อย,รพ.วิภาราม และ รพ.เจษฎาเวชการ เพื่อรับทราบถึงการให้บริการตรวจรักษาและรับผู้ติดเชื้อโควิด เข้าสู่กระบวนการดูแลของโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ตนเองก็ได้ปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องแต่เป็นในรูปแบบของ Work From Home และก็ได้ติดตามข่าวสารของจังหวัดสมุทรสาครมาตลอด โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ตั้งใจจะกลับมาทำงานที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่หมอทราบข่าวเสียก่อนเลยรีบสั่งห้ามไว้ สำหรับสิ่งที่ต้องการและอยากจะให้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาครอันดับแรกในขณะนี้ก็คือ คนสมุทรสาครมีความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับการปรับพื้นที่จากสีส้มเป็นสีแดง โดยมีคนสมุทรสาครหลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะสถานการณ์โควิดมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ แต่คนสมุทรสาครหลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมสมุทรสาครถูกเปลี่ยนสีจากส้มเป็นแดง และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งก็อยากจะบอกทุกคนว่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีนั้น ก็ด้วยที่สมุทรสาครเป็นเขตปริมณฑล และไม่อยากให้เอาพื้นที่สีมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตอนนี้ทั้งประเทศก็ล้วนแต่เป็นพื้นที่ๆ เกิดการระบาดของโรคเหมือนกัน และถ้าสังเกตดูจะพบว่า ในหลักการปฏิบัติไม่ว่าจะสีแดงหรือสีส้ม ก็มีข้อบังคับการปฏิบัติที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย เพราะฉะนั้นถ้าคนสมุทรสาครมีความเข้าใจในส่วนตรงนี้ร่วมกันแล้ว ก็จะเข้าใจว่าสีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร” ดังนั้นความตั้งใจสิ่งแรกที่อยากจะทำก็คือ อยากสร้างความเข้าใจให้เกิดกับคนจังหวัดสมุทรสาครทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องดังกล่าวและเดินหน้าสู้โควิดร่วมกัน

นายวีระศักดิ์ฯ เปิดใจอีกว่า ส่วนความพร้อมที่จะกลับมานำทีมบริหารเพื่อสู้กับโควิดอีกครั้งนั้น วันนี้ตนเองก็คิดว่าพร้อมสู้แล้ว แต่ก็ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะวันนี้เราไม่ได้ทำงานอยู่เพียงลำพัง เรามีทีมงานที่คอยช่วยเหลือกัน ทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ที่จะต้องคอยประคับประคองช่วยกันให้งานเป็นไปตามที่วางแผนไว้ รวมถึงพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาครที่ได้ร่วมกันเดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ในวันก่อนที่ผู้ว่าจะเข้าโรงพยาบาล กับ สถานการณ์ในวันนี้ ในความรู้สึกของท่านผู้ว่าสมุทรสาครมีความแตกต่างกันมากน้อยอย่างไรนั้น นายวีระศักดิ์ฯ ก็บอกว่า ถ้าถามผมแล้ว สำหรับสมุทรสาครนั้น สถานการณ์โควิดในวันนี้ดีกว่าในวันนั้นมาก เพราะวันก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาลมีคนที่ติดเชื้อโควิดในจังหวัดสมุทรสาครแต่ละวันเพิ่มจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย จนกระทั่งมียอดรวมเป็นหลักหมื่น  แต่วันนี้ผู้ติดเชื้อรายวันมีแค่หลักสิบและส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างจังหวัด ส่วนคนสมุทรสาครก็จะติดเชื้อมาจากข้างนอก ซึ่งวันนี้สามารถพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า สมุทรสาครเป็นโมเดล ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่า เราสามารถต่อสู้เอาชนะสถานการณ์โควิด ที่เคยมีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก จนวันนี้เหลือน้อยลง จนกระทั่งเกือบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นวันนี้สถานการณ์ของสมุทรสาครดีขึ้นมากจริง ๆ

ส่วนเรื่องของความหนักใจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาซึ่งเกิดกับแรงงานต่างด้าว กับ สถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่ติดเชื้อใจกลุ่มคนไทยนั้น หากจะให้บอกว่าไม่หนักใจก็คงจะไม่ใช่ ก็คงต้องหนักใจบ้าง แต่วันนี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องของความหนักใจกันแล้ว แต่ต้องพูดกันถึงเรื่องของ “ความรับผิดชอบ” ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบในฐานะคนไทยคนหนึ่ง และรับผิดชอบในฐานะคนสมุทรสาครคนหนึ่ง  ทุกคนต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน เพราะปัญหานี้คงไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้โดยง่ายและรวดเร็ว ปัญหานี้คงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักใหญ่กว่าที่จะผ่านพ้นไปได้

นายวีระศักดิ์ฯ ยังกล่าวถึงโรงพยาบาลสนามด้วยว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามนั้น ในวันที่ผมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนหนึ่งที่เป็นความกังวลใจก็คือ การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ทำอย่างไรจะให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะสิ่งนี้คือ จุดแตกหักที่จะแยกคนที่ติดเชื้อให้ออกมาจากคนปกติ ถ้าไม่มีโรงพยาบาลสนามก็ไม่มีวันนี้ ซึ่งก็เชื่อว่าคนสมุทรสาครคงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โรงพยาบาลสนามเป็นจุดที่ทำให้จังหวัดสมุทรสาครดีขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก จึงเป็นคำตอบโดยปริยายแล้วว่า “โรงพยาบาลสนามเป็นหัวใจหลักในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด” นั่นคือ การแยกคนที่ติดเชื้อออกมา และสิ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ โรงพยาบาลสนามไม่ใช่สถานที่สุขสบาย มีหลายคนกล่าวถึงโรงพยาบาลสนามในด้านลบหลาย ๆ อย่าง จึงอยากให้เข้าใจร่วมกันว่า แม้โรงพยาบาลสนามจะไม่สะดวกสบายแบบอยู่บ้าน แต่ขอให้เข้าใจว่าโรงพยาบาลสนามจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เราทุกคนสู้กับสถานการณ์โควิดได้อย่างทันท่วงที

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนขอขอบพระคุณคนไทยทั้งประเทศ ขอบพระคุณคนสมุทรสาคร สำหรับกำลังใจที่ส่งไปให้ขณะที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการสู้กับโรคโควิด 19 นั้นก็คือ “กำลังใจ” ซึ่งที่ผ่านมาตนเองยังไม่อยากจะเชื่อเลยว่า จะสามารถมีชีวิตรอดกลับมาตรงนี้ได้อีกครั้ง แต่เพราะได้สิ่งสำคัญที่สุดมาช่วยพยุงนั่นก็คือ กำลังใจ ที่แม้จะเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้แต่ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ฉะนั้นกำลังใจที่แต่ละคนมอบให้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันนี้ เพราะทุกคนต้องการกำลังใจเป็นอย่างสูง เพื่อการยืนหยัดต่อไปให้ได้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะผ่อนคลาย หรือผ่านพ้นไปในที่สุด วันนี้กำลังใจที่ทุกคนมีให้แก่กันและกัน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้สมุทรสาครเดินหน้าต่อไป ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไป ผมไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้น หรือน้อยลง  แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า “วันที่เรายังมีลมหายใจ ยังมีกำลังใจที่ดี แม้จะมีอุปสรรคที่ท้าทายให้เราก้าวข้ามไป เมื่อเราผ่านพ้นไปได้ ความสำเร็จจะรอเราอยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน”


ภาพ/ข่าว ชูชาตแดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร

ราชบุรี - ชิมเมนูเด็ดที่เจษฎาฟาร์ม ชมแสดงช้างแสนรู้แบบถึงโต๊ะ ในห้องอาหารที่เดียวในโลก

สุดปัง!! ชิมอาหารเมนูเด็ด จิบกาแฟคุณภาพเยี่ยม แถมยังฝึกขี่ม้า ดารา และชมฟรีการแสดงของช้างน้อยแสนรู้แบบถึงโต๊ะในห้องอาหารที่เดียวในโลก

(20 เม.ย. 64) พาไปกันที่เจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ ตำบลพิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกการขี่ม้าของบรรดาดารานักแสดงต่าง ๆ อีกทั้งม้าทุกตัวยังอยู่ในละครและภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง อย่าง ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำ ละคร และ ภาพยนตร์อีกด้วย ปัจจุบัน เจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ได้มีการต่อยอดเปิดเป็น เจษฎาฟาร์มคาเฟ่เปิดครัวจำหน่ายอาหารสไตล์พื้นบ้าน และ สเต๊กแบรงกัสนำเข้า เป็นสเต็กเนื้อพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศ รวมไปถึง เมนูสเต็กแบบไทย ๆ ในราคาเบา ๆ สามารถจับต้องได้ นอกจากนี้ยังมีเมนูเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ทั้งกาแฟสด เมนูน้ำผลไม้ และ เมนูน้ำกัญชาเพื่อสุขภาพ ในสไตล์ร้านแบบเวิสเทริ์นคาวบอย

แต่ที่โดนใจและไม่เหมือนใคร คือ การโชว์การแสดงของเจ้าช้างน้อย “ราชาบุรี” ช้างน้อยวัยเพียง 5 ขวบ ที่แสดงลีลาการเต้นตามจังหวะเพลง แถมยังส่ายตูดแบบน่านัก ไม่ว่าจะยืน 2 ขา นั่งชู 2 ขา นอน และ การควงฮูลาฮูป ภายในร้านอาหาร แบบถึงโต๊ะอาหารให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญชมฟรีแบบไม่คิดเงินเพิ่มจากค่าอาหาร หรือ ค่ากาแฟ

ส่วนเมนูเด็ดของทางร้าน ข้าวผัดกระเพราสูตรเด็ดแบบโบราณที่ขายมานานกว่า 20 ปี เมนู สปาเก็ตตี้ผัดขี้เมารสเด็ด มีทั้งเมนูทะเล เมนูหมูและไก่ และเมนูส้มตำ ราคาเริ่มตัน 50 - 150 บาท ส่วนเมนู สเต๊กแบรงกัสนำเข้า เป็นเสต็กเนื้อนำเข้าราคา 859 บาท สเต็ก หมู-ไก่ เริ่มที่ 259 – 559 บาท สำหรับเมนูเครื่องดื่ม กาแฟสด เริ่มต้นที่ 45 – 60 บาท ส่วนเมนูเครื่องดื่มผสมใบกัญชา ราคาแก้วละ 95 บาท เป็นเครื่องดื่มกัญชาเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ทางเจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ยังมีกิจกรรม นั่งช้างชมธรรมชาติ ไหว้พระถวายสังฆทานในอุโบสถเก่าแก่กว่าสองร้อยปี ที่วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งมีที่เดี่ยวในโลก นอกจากนี้ยังมีบริการขี่ม้า ทั้งม้าใหญ่และม้าแคะ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมธรรมชาติ โดยรอบฟาร์ม หรือจะไปไหว้พระที่วัด ส่วนราคา 300 – 500 บาท ต่อครั้ง สำหรับคนที่ต้องการฝึกขี่ม้าทางเจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ก็บริการสอนจนสามารถขี่ม้าเป็นด้วย

นายเจษฎา สิงห์โต อายุ 39 ปี หรือ คุณอาร์ม เจ้าของเจษฎาฟาร์ม ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเองเปิดคอกเลี้ยงวัวเพื่อจำหน่าย พอได้อายุ 20 ปีเริ่มมาเลี้ยงม้าแห่นาค โดยไปบริการ ม้าแห่นาคตามงานบวชต่าง ๆ จากนั้นหันมาเริ่มเลี้ยงมาอย่างจริงจัง จนกลายมาเลี้ยงม้าถ่ายละคร จนเกิดความชำนาญ และเปิดเป็นสถานที่ฝึกสอน ดารานักแสดงในการขี่ม้า นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และ ละคร เรื่องต่าง ๆ ตนจึงได้ต่อยอด มาขายอาหาร ซึ่งคุณแม่ขายอาหารตามสั่งมาก่อน จึงไห้มาทำที่ร้าน ตกแต่งในสไตล์ คาวบอย จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เริ่มต้นราคา 50 - 150 บาท  และ เมนูสเต็กเนื้อนำเข้าราคา 859 บาท

ส่วนตนเองก็เป็นนักแสดง ได้รับบทเป็นสมเด็จพระนเรศวร จึงได้ซึมซับ ในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้ไปซื้อช้างและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยถ่ายทอดความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมภายในฟาร์มด้วย

สำหรับนักเที่ยวที่ต้องเดินทางมาเที่ยวที่เจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ด้านหลังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพิกุลทอง (อนามัยพิกุลทอง) ต.พิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี โทร 081-2906-753 หรือ แฟนเพจ เจษฏา ฟาร์ม ราชบุรี


ภาพ/ข่าว  ตาเป้ จ.ราชบุรี

ฉะเชิงเทรา - นายกไก่ นำทีมบริหาร อบจ.ช่วยชาวบ้าน ณ ธรณีประตูส่งน้ำ คลองสัมปทวน-โพรงอากาศ -ตกระทุ่ม

วันที่ 19 เม.ย. 2564 นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนายไพศาล ช้างพลายแก้ว เลขานุการนายก อบจ.ฉะเชิงเทรา นายสุนทร พานแก้ว นายสุเทพ ศิริจำรัส สมาชิกสภา อบจ.ฉะเชิงเทรา นายธนภัทร ศรีอุไร กำนันตำบลโพรงอากาศ และผู้นำท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ณ ธรณีประตูส่งน้ำ คลองสัมปทวน-โพรงอากาศ -ตกระทุ่ม ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

ซึ่งการตรวจสอบพบว่า ไม่สามารถส่งน้ำให้ไหลผ่านได้ จึงส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ หมู่ 7 ,8 ,9 ,10 ,11 ,12 ,13 และหมู่ 14 ตำบลโพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว เชื่อมตำบลบางแก้ว และตำบลบางขวัญ อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อน รวม 11,415.5 ไร่

นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า กรณีปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของชลประทาน หลังจากลงพื้นที่รับทราบปัญหาความเดือดร้อนแล้ว ตนและคณะได้เดินทางเข้าพบนายสมศักดิ์ ธิมา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ต.ท่าไข่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อปรึกษาหารือ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้

นายสมศักดิ์ ธิมา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต และนายสรยุทธ์ กสินธุ์มานะวาท หน.จัดสรรน้ำโครงการพระองค์ไชยานุชิต ได้ชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหา โดยในเบื้องต้นจะเข้าดำเนินการแก้ไขระดับธรณีประตูส่งน้ำ และจะนำเครื่องสูบน้ำไปดำเนินการสูบน้ำทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ต้องการใช้น้ำทำการเกษตรต่อไป


ภาพ/ข่าว  สัมฤทธิ์ ล้ำเลิศ / ฉะเชิงเทรา

ปทุมธานี - มรภ.วไลยอลงกรณ์ เปิดครัว ส่งข้าวกล่องแทนความห่วงใย บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รพ.สนาม มธ. 400 กล่องต่อวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำอาหารส่งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรวอ.) กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจึงไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีโรงพยาบาลสนามเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งบริเวณที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยก็คือ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้ป่วย เต็มพื้นที่ ทำให้ขาดแคลน สิ่งของอุปโภค บริโภคหลายอย่าง ซึ่ง มรภ.วไลยอลงกรณ์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้รีบจัดตั้งโรงครัวขึ้น ภายในชื่อ “ด้วยความห่วงใยจากใจวไลยอลงกรณ์ เราจะสู่ covid19 ไปด้วยกัน”  โดยได้จัดทำข้าวกล่อง วันละ 400 กล่อง จัดส่งถึง 30 เมษายน (เบื้องต้น) ส่งมอบให้ที่ รพ. สนามธรรมศาสตร์ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และ ผู้ป่วยที่มาพักรักษาอาการ ทั้งนี้หากท่านใดมีความประสงค์ จะร่วมบริจาค น้ำดื่ม นม น้ำผลไม้ ขนมขบเคี้ยว ทิชชู หรือของอุปโภคอื่น ๆ สามารถนำมามอบได้ที่อาคารศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (โรงแรมของมหาวิทยาลัย) ได้ โดยทางมหาวิทยาลัยจะได้รวบรวมและส่งมอบไปยัง รพ.สนามธรรมศาสตร์ ต่อไป อธิการบดีกล่าว


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ  ขาวขำ รายงาน

กรุงเทพฯ - "รมว.สุชาติ" นำทีมเช็คความพร้อมสถานที่ตรวจโควิด-19 เชิงรุกผู้ประกันตน ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนฯ (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง กทม.

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ลงพื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบความพร้อม ของสถานที่สำหรับเปิดใช้เป็นช่องทางหน่วยบริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ,39 และ 40 ที่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวก ในวันเสาร์ที่ 17 เมษายนนี้

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการตรวจความพร้อม ของสถานที่เพื่อสำหรับเปิดใช้เป็นช่องทางหน่วยบริการตรวจโควิด-19 ในวันเสาร์ที่ 17 เมษายนนี้ เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19

โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยนายสุชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยผู้ประกันตนจากกรณีการแพร่ระบาด ของโควิด -19 จึงกำชับกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และ สปสช.เป็นการเพิ่มช่องทางหรือทางเลือกหนึ่งเพื่อบริการผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ลดความแออัดหรือรอคิวนาน ในวันนี้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจความพร้อมของสถานที่ที่จะเปิดใช้เป็นช่องทางหน่วยบริการตรวจโควิด-19 เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.64)

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับในทุกด้านหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือกำหนดแนวทางที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจะเปิดให้ผู้ประกันตนที่จะเข้ารับการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจผ่านระบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์ สำหรับผู้ประกันตนที่จะได้เข้าตรวจคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คัดกรอง ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนรายใดตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย ในสังกัดสำนักงานประกันสังคม โดยจะได้รับการรักษาฟรี ซึ่งมีอยู่จำนวน 81 แห่ง ที่มีความพร้อม มีเตียงรองรับกว่า 1,000 เตียง มี HQ 200 กว่าเตียง

สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อจองคิวตรวจของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39, และ 40 สามารถเข้าเว็บไซต์ https://www.google.com แล้วพิมพ์คำว่า แรงงานเราสู้ด้วยกัน แล้วคลิกที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php จากนั้นผู้ประกันตน กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขพาสปอร์ต กรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นบุคคลที่มีกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการป่วย ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์มาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (15 เม.ย.64) เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยแต่ละวันสามารถตรวจได้วันละ 3,000 คน แบ่งเป็นช่วงเช้า 1,500 คน ช่วงบ่าย 1,500 คน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องพกบัตรประชาชน พร้อมสำเนา 1 ชุด เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจด้วย หากผู้ประกันตนรายใดลงทะเบียนแล้วไม่มาตรวจตามนัดจะต้องลงทะเบียนใหม่ และเมื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด -19 เรียบร้อยแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที เนื่องจาก ผลการตรวจจะส่งทาง SMS ให้ผู้ประกันตนทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้

“ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.กำหนด สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php เพื่อจองคิวตรวจโควิด-19 ซึ่งช่องทางดังกล่าวกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และ สปสช.เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัดและเพิ่มช่องทางให้กับผู้ประกันตน ได้เข้าถึงการตรวจโควิด -19 ซึ่งหากพบเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้อย่างทันท่วงที” รมว.สุชาติ กล่าวในตอนท้าย

19 จังหวัด - มูลนิธิมาดามแป้ง เริ่มเปิด “ครัวมาดาม” ส่งข้าวกล่องแทนกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ 19 แห่งทั่วประเทศ

มูลนิธิมาดามแป้ง ชวนแฟนบอลไทย ส่งกำลังใจ ร่วมเปิดครัวมาดาม ปรุงอาหารจากครัวชุมชน ส่งไปยังโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนาม เริ่มต้น 19 แห่ง เพื่อมอบกำลังใจและตอบแทนน้ำใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ หลังวิกฤตโควิด-19 ทวีความรุนแรงอีกครั้ง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักทุกจังหวัด จนมีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤตระลอก 3 ของประเทศ “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดยมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิ และประธานสโมสรการท่าเรือ จึงออกมาชวนแฟนบอลไทย สานต่อโครงการครัวมาดาม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักทั้งสองครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ ร่วมกับอาสากล้าใหม่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศออกตั้งโรงครัว ตั้งเป้าส่งข้าวกล่องให้ได้ 28,500 กล่องตลอดเดือนเมษายนนี้ โดยเริ่มต้นแล้วในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลสนาม 19 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ, อยุธยา, ปทุมธานี, นครปฐม, นครราชสีมา ขอนแก่น, สระแก้ว, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สงขลา, นราธิวาส, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์ และชลบุรี

ด้าน มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง และประธานสโมสรการท่าเรือ ได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ผ่านครัวมาดามว่า “แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบนี้จะหนักหนา นับเป็นวิกฤตที่อยู่กับเราอย่างยาวนาน และสร้างความยากลำบากให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนในวงการกีฬาหลายคนก็ได้รับผลกระทบ ครัวมาดามกลับมาเสมอในยามเกิดภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนในสังคมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ซึ่งต้องขอขอบคุณอาสากล้าใหม่ในชุมชนต่าง ๆ ที่ร่วมกันตั้งครัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ครัวมาดามไปได้เร็วเท่าทันช่วงเวลาที่ยากลำบากในหน้างานทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ”

“สุดท้ายแล้ว ด้วยพลังความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราคนไทย จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แป้งขอเป็นหนึ่งกำลังใจเล็ก ๆ ให้กับทีมคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่กำลังทำงานอย่างหนักช่วยเราคนไทยให้ผ่านความยากลำบากนี้ในเร็ววันนะคะ” นางนวลพรรณ กล่าวปิดท้าย

สำหรับครัวมาดามครั้งนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อกำลังใจนี้ ด้วยการร่วมบริจาคสมทบทุนข้าวกล่อง กล่องละ 50 บาท เลขบัญชี 092-2-61340-0 ธ.กสิกรไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิมาดามแป้ง เพื่อโครงการสร้างสังคมแห่งการให้ เพื่อเติมพลังให้บุคลากรด่านหน้าทั่วประเทศ และกระจายกำลังใจนี้ออกไปให้ไกลที่สุด

นครนายก – แปลก ! พบใบโพธิ์ใบใหญ่มีความกว้าง 22 ซ.ม. ยาว 35 ซ.ม.ที่หาดูได้ยาก

แปลกแต่จริงพบใบโพธิ์ใบใหญ่ที่มีความกว้าง 22 เซนติเมตรมีความยาว 35 เซนติเมตรที่หาดูได้ยากในประเทศไทย ที่วัดวังตูม ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พระครูอรรถวาที เจ้าอาวาสวัดวังตูม ได้โพสต์คลิปการตัดใบโพธิ์ของที่วัดวังตูม ที่มีความใหญ่กว่าใบโพธิ์ทั่วไปซึ่งมีความยาว 35 เซนติเมตรและมีความกว้าง 22 เซนติเมตร ถือว่าเป็นใบโพธิ์มีใบใหญ่ที่หาดูพบได้ยาก ซึ่งมีลำต้นขนาด 5 คนโอบอยู่ภายในวัดวังตูมจังหวัดนครนายก มีอายุ 118 ปี พ.ศ.2446-พ.ศ.2564 ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อพระครูอรรถวาที เจ้าอาวาสวัดวังตูม ได้พาไปดูที่ต้นโพธิ์ที่อยู่ในบริเวณวัดและได้นำใบโพธิ์ที่ได้ตัดแล้วใส่พานมาว่างที่ต้นโพธิ์ให้ผู้สื่อข่าวชมและใช้ไม้บรรทัดวัดขนาดของใบโพธิ์ ซึ่งมีความยาวความกว้างใกล้เคียงกับใบโพธิ์เมื่อปี2563 ที่หลวงพ่อได้นำมาใส่กรอบรูปไว้

จากการสัมภาษณ์พระครูอรรถวาที่ เจ้าอาวาสวัดวังตูม ได้เล่าว่าหลวงพ่อได้พบใบโพธิ์ต้นนี้ที่มีความใหญ่เมื่อปีพ.ศ. 2563 ได้คัดตัดใบที่ใหญ่ที่สุดในต้นนี้ได้ทั้งหมด 59 ใบและในปีพ.ศ. 2564 คือปีนี้เพิ่งคัดตัดใบโพธิ์ที่ใหญ่เมื่อวานนี้ ได้ใบโพธิ์ใบใหญ่จำนวน 19 ใบนำมาเก็บไว้เพื่อใส่กรอบรูปไว้บูชาดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

นครพนม - เร่งตรวจหาเชื้อผู้ไปเที่ยวสถานบันเทิงร่วมกับผู้ป่วยโควิดรายที่ 16

วันที่ 17 เมษายน 2564 ที่บริเวณศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด ภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมได้มีประกาศให้ผู้ที่ไปใช้บริการสถานบริการ 3 แห่ง ประกอบด้วย AEC PUB นครพนมตะวันนา 2004 และ HOME 108 ระหว่างวันที่ 3-12 เมษายน 2564 ให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดระหว่างวันที่ 17 - 22 เมษายน 2564

ภายหลังจากที่มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายที่ 16 ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านอาหารชื่อดังในนครพนม ที่หลังปิดร้านอาหารของตนเองแล้วไปสังสรรค์ต่อกับเพื่อนที่สถานบันเทิงดังกล่าว แม้ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่จะมีการระดมสรรพกำลังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูง ที่เป็นพนักงานให้บริการทั้งหมดทันที รวมทั้งสิ้น 207 คน ไปแล้ว อีกทั้งมีการสั่งประกาศปิดร้านเป็นเวลา 14 วัน

แต่เมื่อผลตรวจเริ่มทยอยออกมาพบว่ามีพนักงานติดเชื้อ 8 ราย และประชาชนที่มาเที่ยวสถานบันเทิงเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 16 ป่วยติดเชื้อ 1 รายประกอบกับการสอบสวนโรคยังพบว่าพนักงานในสถานบันเทิงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ มีความหย่อนยานในมาตรการป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงมือแล้วไปหยิบจับอาหาร หรือรับแก้วเหล้าจากนักเที่ยวมาชงให้แขก และมีการสลับเปลี่ยนโต๊ะทำหน้าที่ ทำให้ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวมีโอกาสเสี่ยงสูงในการสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น สามารถตรวจได้หลังจากได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 5 -7 วัน ซึ่งจากการคำนวณตามหลักระบาดวิทยาจะอยู่ประมาณช่วง 3-12 เมษายน ดังนั้นจึงได้มีการประกาศให้ประชาชนกลุ่มที่ไปเที่ยวในสถานบันเทิงตามทามไลน์ของผู้ป่วยรายที่ 16 เข้าตรวจหาเชื้อเพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกัน ส่วนวิธีการตรวจนั้นเจ้าหน้าที่เลือกที่จะใช้การตรวจแบบ RT-PCR (การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส) เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง ที่สำคัญคือสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสปริมาณน้อย ๆ ในรูปแบบของสารพันธุกรรมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเป็นหรือเชื้อตายตรวจจับได้หมด โดยสามารถตรวจได้จากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่างของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจึงเลือกใช้วิธีนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เนื่องจากคาดว่าจะมีประชาชนที่อยู่ในกลุ่มนี้จำนวนมากที่มารับบริการ ซึ่งถ้าเราใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test จะทราบผลใน 15 นาที แต่ถ้ามีผลเป็นบวก เราก็ต้องมาตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธี RT- PCR เพื่อความแม่นยำอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หลายรอบอีกทั้งประชาชนที่มารับบริการก็ต้องเสียเวลาเพิ่ม ซึ่งเราพยายามที่จะทำให้จบโดยเร็วเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้ไวที่สุด

สำหรับการตรวจในครั้งนี้ผู้ที่มารับบริการจะได้รับบัตรคิว จากนั้นมานั่งรอที่เก้าอี้ภายในเต้นท์ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ เมื่อได้คิวก็เข้ารับการลงทะเบียน ซักประวัติ และเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อ ซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็จะเสร็จสิ้นขั้นตอน หลังจากนั้นแต่ละคนแยกย้ายกันกับบ้านไปเฝ้าระวังและกักตัวเองรอฟังข่าวผลตรวจ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่โทรไปแจ้งภายหลังผลออกให้ได้ทราบ

ทั้งนี้ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจได้เพียงวันละ 500 คน ณ จุดให้บริการศาลาประชาคมยงใจยุทธ ดังนั้นผู้ที่อยู่ต่างอำเภอ ของจังหวัดนครพนมที่เดินทางไปสถานบันเทิงดังกล่าว สามารถไปตรวจที่โรงพยายาบาลประจำอำเภอได้ด้วยเช่นเดียวกัน


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

ปทุมธานี – ไม่มีวันหยุด คำรณวิทย์ สนับสนุนมูลนิธิครอบครัวพอเพียงส่งเสริมเยาวชนปทุมธานี

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ต.บ้านฉาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ให้การต้อนรับ นางสาวอริยสิริ พิพัฒน์นารา ประธานคณะกรรมการมูลนิธิครอบครัวพอเพียง พร้อมด้วยนายสมนึก  เกกีงาม  ประธานมูลนิธิครอบครัวพอเพียง สาขาปทุมธานี พร้อมคณะเพื่อขอช่วยเหลือและข้อเสนอแนะความคิดเห็นในการทำงานของมูลนิธิครอบครัวพอเพียง ที่เป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษย์ชนและสภาวิชาชีพ

นางสาวอริยสิริ พิพัฒน์นารา กล่าวถึงวัตถุประสงค์มูลนิธิครอบครัวพอเพียงว่า เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนและครอบครัวมีความรัก ความกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เยาวชนและครอบครัวมีคุณธรรมมีจริยธรรม รังเกียจการทุจริตและถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแนะนำ จัดฝึกอบรมดูงาน ผลิตเอกสารและเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แก่เยาวชนและครอบครัว เพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันตลอดจนในการบริหารองค์กร ห้างร้าน ชุมชนและประเทศชาติ

มูลนิธิครอบครัวพอเพียงได้เปิดสาขาที่จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดลำดับที่ 16 จากประชาชนที่มีจิตอาสาและเสียสละเพื่อเพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนและครอบครัวมีความรักโดยมุ่งเน้นไปที่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ มูลนิธิครอบครัวพอเพียงจึงอยากให้ อบจ.ปทุมธานีช่วยสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรมเยาวชนปทุมธานีเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนกับทางมูลนิธิครอบครัวพอเพียงที่มองเห็นประโยชน์ของเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศชาติ ซึ่งทางอบจ.ปทุมธานีได้ทำ MOU กลับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผอ. เขตการศึกษาระดับมัธยม และอธิการบดี มทร.เพื่อจะต่อยอดให้เด็กระดับมัธยมซึ่งมีทั้งหมด 22 โรงเรียน โดยได้ขอความร่วมมือไปยังภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี เช่น อุตสาหกรรมนวนครอุตสาหกรรมบางกะดี อุตสาหกรรมลาดหลุมแก้ว เป็นต้นโดยมีแนวคิดเด็กที่จบการศึกษา ถ้าทางโรงงานเรานั้นจะรับคนงานในแต่ละปีก็ขอให้คนปทุมธานี 50% เพื่อให้คนปทุมธานีได้มีงานทำในส่วนของนโยบายที่ออกไปทั้งหมดนั้นเริ่มดำเนินการทำตามขั้นตอนทั้งหมด จะเห็นว่า อบจ.ปทุมธานีทำงานไม่มีวันหยุดเพื่อคนปทุมโดยแท้จริง รวมทั้งการตรวจโควิด-19 ซึ่งเราจะรอไม่ได้ เพราะเชื้อไวรัสโควิด ไม่มีวันหยุด  ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการนำพาประเทศให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top