Thursday, 9 May 2024
ภาคกลางไทม์

สุโขทัย - เทศบาลเมืองบางขลังสุโขทัย สร้างงานวิจัยสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มาของประเทศไทย

สถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความน่าสนใจควบคู่กับการมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรทางการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละแหล่งท่องเที่ยว “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่สามารถกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ กลายเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชน  ที่มาพร้อมกับทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักเห็นความสำคัญ และคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีการบริหารจัดการและความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้มาเยือน 

งานวิจัยเมืองบางขลังของเทศบาลตำบลเมืองบางขลังในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน นักวิจัยได้แก่ชาวบ้าน พนักงานเทศบาล พระสงฆ์ ครูอาจารย์ โดยได้รับส่งเสริมจาก ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ, ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยสุมล, ผศ.วัลลิกา โพธิ์หิรัญ, ผศ.ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ, กมลรัตน์ บุญอาจ และทีมงานจาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม  มีนายวิทยา เกษรพรหม ปลัด ทต.เมืองบางขลัง และรองปลัด นส.สุวรรณ ทรัพย์ศิริกาญจนา เป็นหัวหน้าโครงการ  

เมื่อปี 2556 สกว.สนับสนุนการวิจัย “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และ ทต.เมืองบางขลัง” ปี 2557 วช. สนับสนุนการวิจัย “การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมโดยเครือข่ายชุมชนโบราณเมืองบางขลัง 9 หมู่บ้าน” ปี 2559  สกว. สนับสนุนการวิจัย“การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรมเมืองบางขลัง” ปี 2562 สกว.สนับสนุนการวิจัย “การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้วิถีชาวนาเมืองบางขลัง” ปี 2563 สกว. สนับสนุน ให้ ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและมนุษยวิทยาของประเทศไทย พร้อมด้วย สุดารา สุจฉายา, เมธินีย์ ชอุ่มผล พร้อมคณะจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และนิตยสารเมืองโบราณ ทำการวิจัย “ประวัติศาสตร์สังคมเมืองบางขลัง” อย่างรอบด้าน 

จากผลงานวิจัยทั้ง 5 เรื่องที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัว รับรู้ถึงของดีมากมายที่มีอยู่ในท้องถิ่นตน เกิดความภาคภูมิใจ ในถิ่นฐานบ้านเกิด อยากเปิดบ้าน เปิดเมืองถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ พูดคุยให้ข้อมูลด้วยร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะ และมีความยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองบางขลัง

นายชาตรี สุขแจ่ม นายกเทศมนตรีตำบลเมืองบางขลัง พร้อมคณะผู้บริหาร เห็นว่า “การสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยฐานงานวิจัยผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน” มีความเป็นไปได้ภายใต้ปัจจัยที่มี  จึงได้หารือกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น คณะสงฆ์ ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน นำองค์ความรู้มรดกวัฒนธรรมที่เป็นผลจากการวิจัย มาสร้างความหมายและการบูรณาการความรู้ของชุมชนกับการท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว และเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์, จัดตั้งชมรมท่องเที่ยววิถีเมืองบางขลัง, ขับเคลื่อน “เมืองบางขลังสะอาดไร้ถัง” ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า, การพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

เป็นที่น่ายินดีที่มีการรวมกลุ่ม “เมืองบางขลังโฮมสเตย์” ภายใต้การนำของ หทัยวรรณ โสรัจประสพสันติ (ครูบัว) จนได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากกรมการท่องเที่ยว  ผู้ประกอบการโฮมสเตย์เกิดการตื่นตัว อยากได้มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย เกิดการเรียนรู้ ลงมือปรับปรุงโฮมสเตย์ของตน  ปัจจุบัน โฮมสเตย์บ้านแจ่มจ้า ได้รับการประเมินมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ผ่านเกณฑ์ คุณภาพที่พักนักเดินทาง HOME LODGE จากกรมการท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มจัดตั้ง “ชมรมท่องเที่ยววิถีเมืองบางขลัง” มีการจัดกิจกรรมในงานประเพณีของตำบลปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 วัน,  มีการนำสินค้าผลิตภัณฑ์ ออกไปขายร่วมกับชมรมท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยอย่างต่อเนื่อง มีปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งแดง ยศวิชัย, อุเทนลำไย, ประพันธ์ ฟุ้งเฟื่อง และอรณี พูลเลิศ เข้ามาให้การส่งเสริมภาคภูมิปัญญาท้องถิ่น     

ผลสำเร็จของคนชุมชนกับงานวิจัยสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนครั้งนี้ หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ของเทศบาลฯได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบ ชุมชนสะอาด “Zero Waste” ปี 2564 จากคนชุมชนมีทักษะอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และครอบครัว โดยการนำวัสดุในท้องถิ่น วัสดุเหลือใช้มาทำดอกไม้จันทน์ ทำผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาที่แก้ปัญหาน้ำเน่าเหม็นด้วย อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ต้อนรับ และขายให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นจุดเรียนรู้ที่ให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ลงมือทำอีกด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เห็นคุณค่า ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำมาสร้างคุณค่าทางจิตใจ สร้างมูลค่าเป็นเงินรายได้ให้แก่ตนเอง แก่คนในชุมชนได้ ได้รับคัดเลือกจาก กสศ. เป็น 1 ใน 5 แห่ง 

ปทุมธานี - ‘บิ๊กแจ๊ส’ เปิดยุทธการ!สู้ศึกโอไมครอน ฉีดพ่นฆ่าเชื้อตามสถานศึกษา เพื่อรับการเปิดเรียน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่โรงเรียนปทุมวิไล ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายณเรศ คุชิตา ที่ปรึกษานายก อบจ.ปทุมธานี และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเขตอำเภอเมืองปทุมธานี ร่วมเปิดยุทธการฉีดพ่นฆ่าเชื้อสู่ศึกโอไมครอน ปล่อยรถฉีดพ่นและเจ้าหน้าที่ชุดฉีดพ่นในอาคาร เพื่อฉีดพ่นฆ่าเชื้อสร้างความมั่นใจให้นักเรียนและผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนภายในสถานศึกษา ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ทาง อบจ.ปทุมธานีได้ประสาน ผอ.โรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีอยู่ตลอดเวลา ในการเตรียมเปิดเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งทางโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว

โดยทาง อบจ.ปทุมธานีได้นำทีมฉีดพ่นฆ่าเชื้อเข้ามาฉีดพ่นภายในอาคารและภายนอกอาคาร รวมถึงใครที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนก็มีการฉีดวัคซีนให้สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีด เราอยากให้นักเรียนลูกหลานเราได้กลับมาเรียนตามปกติให้เร็วที่สุด เราก็เชื่อว่าที่เราทำมาทั้งหมดจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี ขอให้ทาง ผอ.โรงเรียนดูระเบียบกฎต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เราอย่าทำให้ผิดกฎของกระทรวงฯ ที่ได้กำหนดไว้ หากมีการแพร่ระบาดจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ก็จะเป็นเกิดการเสียหายในภาพรวม จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันระมัดระวังต่อไป

ในส่วนของชุดตรวจ ATK ทาง อบจ.ได้พยายามจัดหามาให้ ซึ่งเป็นชุดตรวจที่มีคุณภาพมีความแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยต้องป้องกันตัวเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใส่แมสก์ ล้างมือ เว้นระยะห่าง ระมัดระวังทั้งที่อยู่ที่โรงเรียนและอยู่บ้าน ทาง อบจ.ได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวปทุมธานีระมัดระวังกันทั้งจังหวัด โดยผมหวังอย่างยิ่งต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ และต่อสู้ผ่านสงครามครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัยทั้งจังหวัด

 

สมุทรสาคร - ศรชล. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบายการยกระดับการปฏิบัติงาน ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่สมุทรสาคร

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และ รอง ผอ.ศรชล มอบหมายให้ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบาย การยกระดับการปฏิบัติงานของ ศรชล. ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในจังหวัดสมุทรสาคร ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรรมการบริหารจากหน่วยงานหลักของ ศรชล. และหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกองบังคับการตำรวจน้ำ รวมถึง นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมประชุมหารือ

พล.ร.ต.อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ในครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามประกอบด้วย การดำเนินการตามนโยบายการปฏิบัติงานของ ศรชล. ประจำปี งป.65 ที่สำคัญ คือการดำรงความต่อเนื่องในการกำกับดูแลหน่วยงานที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับการรายงานสถานการณ์ ด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในส่วนของประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาให้ปรับระดับขึ้น จากระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง (TIER2 WATCH LIST) ต่อไป

โดยทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้จะมี ตัวแทนมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) โดยมีพันธกิจหลัก คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ตลอดจนการต่อต้านการทำประมง IUU ร่วมสังเกตการณ์การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ของ ศรชล. ในครั้งนี้ด้วย

 

กรุงเทพฯ - ‘นิพนธ์’ มอบแนวทางพัฒนาภาคใต้ชายแดน เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก – สร้างงาน - สร้างรายได้ ฟื้นเกษตรและท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ประชาชนฝากการบ้านลดความเหลื่อมล้ำทำให้เป็นจริง

ที่โรงแรมรอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานช่วยอำนวยการพิจารณาและกลั่นกรองแผนงานโครงการของ อ.ก.บ.ภ. ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ซึ่งมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการภาคใต้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานของคณะทำงานช่วยอำนวยการพิจารณาและกลั่นกรองแผนงานโครงการของ อ.ก.บ.ภ. ภาคใต้และภาคใต้ชายแดนซึ่งได้ประชุมรวม 5 ครั้ง ทำให้ได้ผลการพิจารณากลั่นกรองมีความครบถ้วนสมบูรณ์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยพิจารณากลั่นกรองโครงการ 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1  คือโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดในภาคใต้ (11 จังหวัด) และภาคใต้ชายแดน (3 จังหวัด) และโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดในภาคใต้ (2 กลุ่มจังหวัด) และภาคใต้ชายแดน (1 กลุ่มจังหวัด) ส่วนที่ 2 คือ โครงการของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีความสอดคล้องกับ (ร่าง) ทิศทางการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน (พ.ศ.2566-2570)

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการครั้งนี้ ได้เห็นประเด็นปัญหาของการจัดทำโครงการทั้งของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด เช่น โครงการขาดความพร้อมด้านต่าง ๆ และโครงการที่เป็นภารกิจถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น  ทั้งนี้ได้มอบแนวทาคมงการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยควรดำเนินงานในลักษณะการบูรณาการ โดยใช้แนวคิดเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด รวมทั้งการพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ และมีความหลากหลายของประเภทโครงการ ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนา โดยวางหลักในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากฐาน การสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ทั้งภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานลดความเหลี่ยมล้ำทางสังคม  ทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติ  รวมทั้งการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความเข้มแข็งจากระดับล่าง ประชาชนพึ่งพาตนเองได้

 

 

เพชรบูรณ์ - เปิดงานเนื่องในวัน ‘ป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ ประจำปี 2564’ และพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกัน - ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565

ที่บริเวณหน้าพุทธอุทยานเพชรบุระ อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์  เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเนื่องในวันป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ ประจำปี 2564 และพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565  โดยมีนายนพดล คำนึงเนตร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่ายป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนต่าง ๆ ร่วมกิจกรรม 

       

นายนพดล คำนึงเนตร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสียและผลกระทบจากอุบัติภัย รวมทั้งเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันบูรณาการความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีกิจกรรม การอ่านสารนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี2564 /จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชน /จัดกิจกรรมฝึกทักษะการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อการกู้ชีพกู้ภัยหรือซ้อมแผนตามความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการจัดนิทรรศการ การแสดงสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ มีเป้าหมายให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงเมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดเป้าหมายดำเนินงานด้วยตัวเอง เน้นการดำเนินงานในอำเภอที่มีสถิติความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง และไดกำหนดช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - วันที่ 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน กำหนดแคมเปญในการรณรงค์ว่า “ชีวิตวิถีใหม่ขับขี่อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ”

 

เพชรบุรี - ห่วงใย!! แจกหมวกนิรภัย ช่วยลดอุบัติเหตุปีใหม่ 2565

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางจันทิมา มีโส ผู้อำนวยการภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภาค 7 นางสาวพนอจิต คลอวุฒิเสถียร ผอ.คปภ.จ.เพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ร่วมรับมอบหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน๊อค ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ได้กล่าวแสดงความขอบคุณน้ำใจแห่งความห่วงใย จาก คปภ. ซึ่งในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลมาก ๆ ก็คือความปลอดภัยทางถนน ทั้งการกำหนดมาตรการและรณรงค์ให้ประชาชนขับขี่โดยสวมหมวกกันน็อคเป็นหลัก ไม่ใช้ความเร็วสูง โดยจะได้นำหมวกกันน็อคสำหรับเด็กจำนวน 100 ใบ ส่งต่อให้กับโรงเรียนอนุบาลที่เป็นเด็กขนาดเล็ก ส่วนหมวกกันน๊อคสำหรับผู้ใหญ่ 100 ใบ จะนำไปไว้ที่จุดตรวจต่าง ๆ ซึ่งจะมีรถสัญจรไปมาค่อนข้างมาก ซึ่งหากช่วง 7 วันนี้มีพี่น้องประชาชนขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค เราจะเรียกมาเตือนแล้วมอบหมวกกันน็อคให้ ซึ่งถ้าพี่น้องประชาชนสวมหมวกกันน็อคก็จะช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์ ขับขี่อย่างปลอดภัย ในช่วง 7 วันอันตรายนี้

 

สระบุรี - จัดโครงการ “คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ในพระบรมราชานุเคราะห์ฯ ครั้งที่ 1/2565

วันนี้ (22 ธ.ค.64) นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2565ครั้งที่ 1 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวโพ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

ในสถานการณ์ปัจจุบันมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา covid-19 ทำให้วิถีการทำเกษตรเปลี่ยนไปการรวมกลุ่มการทำกิจกรรมทางการเกษตรไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้เท่าที่ควร เนื่องจากช่องทางจำหน่ายลดลงทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงต้นทุนผลิตสินค้าเกษตรมีราคาสูง ขาดอำนาจการต่อรอง ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และยังประสบปัญหาด้านการเกษตรด้านโรค แมลง ศัตรูพืชระบาด จะเห็นว่าปัญหาด้านการเกษตรมีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องบูรณาการ ออกหน่วยให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพการเกษตรและแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ได้จัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1 เพื่อให้บริการเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรอย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้บริการและแก้ไขปัญหาทางการเกษตรร่วมกัน ให้สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

พิจิตร- ‘ผู้ว่าฯ พิจิตร’ พาปั่นจักรยานเยี่ยมราษฎร - ส่งเสริมกลุ่มชาวบ้าน เป็นของขวัญของฝากในปีใหม่!!

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ความคืบหน้าจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชาวบ้านของ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรคนที่ 58 จึงได้จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ไมตรีของส่วนราชการกับส่วนท้องถิ่นด้วยการนำปั่นจักรยานเพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรในเขตพื้นที่ ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร โดยมี  นายสุภโชค ศิลปคุณ นายอำเภอสามง่าม , นางกัญนิกา อินทรกูล นายกเทศมนตรีตำบลเนินปอ “นายกแหม่ม” ที่นำพาชาวบ้านและส่วนราชการท้องถิ่นรวมถึงกลุ่มเด็ก ๆ และเยาวชนเกือบ 200 คน ร่วมกันขี่จักรยานไปรอบหมู่บ้านโดยได้นำสิ่งของจากเหล่ากาชาดพิจิตรไปเยี่ยมผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย 2 ครัวเรือน

โดยบ้านแรกที่ขี่จักรยานนำสิ่งของไปให้เป็นบ้านของ น.ส.นารี  ไสงาม อายุ 62 ปี อยู่หมู่ 6 ต.เนินปอ และ บ้านหลังที่สองเป็นบ้านของ นางบุญมี รอดผลุย อายุ 79 ปี อยู่หมู่ 5 ต.เนินปอ ซึ่งจากการไปเยี่ยมและให้กำลังใจผู้สูงอายุในครั้งนี้สร้างความปลาบปลื้มให้กับราษฎรทั้ง 2 ราย อีกทั้งผู้ว่าฯ พิจิตร ยังได้สั่งการให้ พม.พิจิตร และสาธารณสุขพิจิตร ช่วยดูแลผู้สูงอายุทั้ง 2 รายนี้

จากนั้นได้ขี่จักรยานไปพบปะชาวบ้านในชุมชนตลาดลาว ซึ่งเป็นย่านชุมชนของ ต.เนินปอ เพื่อดูการทำมาค้าขายและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรรวมถึงปั่นจักรยานไปที่กลุ่มทอผ้าลาวครั่ง บ้านสระยายชี ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าและผลิตสินค้าOTOP ที่สร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านนอกจากอาชีพทำนา โดย ผู้ว่าฯพิจิตร ได้ให้คำแนะนำถึงการทำตลาดแบบระบบออนไลน์เพื่อที่จะได้ขายสินค้าให้เป็นของกิน ของใช้ ของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่เนื่องจากกลุ่มทอผ้าลาวครั่งแห่งนี้มีฝีมือในการทำผ้าทอ ผ้าไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนอีกด้วยจากนั้นได้ชมการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านที่จัดการแสดงมาต้อนรับ

 

เพชบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 สนับสนุนผลผลิตลำใย ที่ได้รับผลกระทบผลไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ของเกษตรกรในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 ได้มอบลำไยพันธ์อีดอ (เกรดเอ) ให้กับกำลังพลของหน่วย โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีผลไม้ล้นตลาด และราคาตกต่ำของเกษตรในพื้นที่ อ.จอมทอง จว.ช.ม. จำนวน 25 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)

โดย มณฑลทหารบกที่ 36 สนับสนุนการรับซื้อลำไยจากเกษตรกรที่ได้รับ ผลกระทบ จำนวน 350 กิโลกรัม (117 ตะกร้า) ณ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 ค่ายพ่อขุนผาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

กรุงเทพฯ - โรงเรียนนายเรือ พัฒนาทำความสะอาด และมอบอุปกรณ์ ATK 400 ชุด ให้โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพฯ

โรงเรียนนายเรือ จัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในการพัฒนา และทำความสะอาด พร้อมมอบอุปกรณ์ Antigen Test Kit หรือชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน 400 ชุดให้แก่ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564  

พลเรือตรี สมรภูมิ จันโท รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือนำกำลังพลจิตอาสาโรงเรียนนายเรือ ร่วมกับครู อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ

“เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในการพัฒนา และทำความสะอาดโรงเรียนวัดบวรนิเวศ พร้อมมอบอุปกรณ์ Antigen Test Kit หรือชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน  ให้แก่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ณ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top