สุโขทัย - เทศบาลเมืองบางขลังสุโขทัย สร้างงานวิจัยสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มาของประเทศไทย

สถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความน่าสนใจควบคู่กับการมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรทางการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละแหล่งท่องเที่ยว “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่สามารถกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ กลายเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชน  ที่มาพร้อมกับทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักเห็นความสำคัญ และคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีการบริหารจัดการและความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้มาเยือน 

งานวิจัยเมืองบางขลังของเทศบาลตำบลเมืองบางขลังในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน นักวิจัยได้แก่ชาวบ้าน พนักงานเทศบาล พระสงฆ์ ครูอาจารย์ โดยได้รับส่งเสริมจาก ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ, ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยสุมล, ผศ.วัลลิกา โพธิ์หิรัญ, ผศ.ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ, กมลรัตน์ บุญอาจ และทีมงานจาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม  มีนายวิทยา เกษรพรหม ปลัด ทต.เมืองบางขลัง และรองปลัด นส.สุวรรณ ทรัพย์ศิริกาญจนา เป็นหัวหน้าโครงการ  

เมื่อปี 2556 สกว.สนับสนุนการวิจัย “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และ ทต.เมืองบางขลัง” ปี 2557 วช. สนับสนุนการวิจัย “การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมโดยเครือข่ายชุมชนโบราณเมืองบางขลัง 9 หมู่บ้าน” ปี 2559  สกว. สนับสนุนการวิจัย“การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรมเมืองบางขลัง” ปี 2562 สกว.สนับสนุนการวิจัย “การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้วิถีชาวนาเมืองบางขลัง” ปี 2563 สกว. สนับสนุน ให้ ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและมนุษยวิทยาของประเทศไทย พร้อมด้วย สุดารา สุจฉายา, เมธินีย์ ชอุ่มผล พร้อมคณะจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และนิตยสารเมืองโบราณ ทำการวิจัย “ประวัติศาสตร์สังคมเมืองบางขลัง” อย่างรอบด้าน 

จากผลงานวิจัยทั้ง 5 เรื่องที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัว รับรู้ถึงของดีมากมายที่มีอยู่ในท้องถิ่นตน เกิดความภาคภูมิใจ ในถิ่นฐานบ้านเกิด อยากเปิดบ้าน เปิดเมืองถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ พูดคุยให้ข้อมูลด้วยร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะ และมีความยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองบางขลัง

นายชาตรี สุขแจ่ม นายกเทศมนตรีตำบลเมืองบางขลัง พร้อมคณะผู้บริหาร เห็นว่า “การสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยฐานงานวิจัยผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน” มีความเป็นไปได้ภายใต้ปัจจัยที่มี  จึงได้หารือกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น คณะสงฆ์ ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน นำองค์ความรู้มรดกวัฒนธรรมที่เป็นผลจากการวิจัย มาสร้างความหมายและการบูรณาการความรู้ของชุมชนกับการท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว และเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์, จัดตั้งชมรมท่องเที่ยววิถีเมืองบางขลัง, ขับเคลื่อน “เมืองบางขลังสะอาดไร้ถัง” ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า, การพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

เป็นที่น่ายินดีที่มีการรวมกลุ่ม “เมืองบางขลังโฮมสเตย์” ภายใต้การนำของ หทัยวรรณ โสรัจประสพสันติ (ครูบัว) จนได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากกรมการท่องเที่ยว  ผู้ประกอบการโฮมสเตย์เกิดการตื่นตัว อยากได้มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย เกิดการเรียนรู้ ลงมือปรับปรุงโฮมสเตย์ของตน  ปัจจุบัน โฮมสเตย์บ้านแจ่มจ้า ได้รับการประเมินมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ผ่านเกณฑ์ คุณภาพที่พักนักเดินทาง HOME LODGE จากกรมการท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มจัดตั้ง “ชมรมท่องเที่ยววิถีเมืองบางขลัง” มีการจัดกิจกรรมในงานประเพณีของตำบลปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 วัน,  มีการนำสินค้าผลิตภัณฑ์ ออกไปขายร่วมกับชมรมท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยอย่างต่อเนื่อง มีปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งแดง ยศวิชัย, อุเทนลำไย, ประพันธ์ ฟุ้งเฟื่อง และอรณี พูลเลิศ เข้ามาให้การส่งเสริมภาคภูมิปัญญาท้องถิ่น     

ผลสำเร็จของคนชุมชนกับงานวิจัยสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนครั้งนี้ หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ของเทศบาลฯได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบ ชุมชนสะอาด “Zero Waste” ปี 2564 จากคนชุมชนมีทักษะอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และครอบครัว โดยการนำวัสดุในท้องถิ่น วัสดุเหลือใช้มาทำดอกไม้จันทน์ ทำผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาที่แก้ปัญหาน้ำเน่าเหม็นด้วย อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ต้อนรับ และขายให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นจุดเรียนรู้ที่ให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ลงมือทำอีกด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เห็นคุณค่า ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำมาสร้างคุณค่าทางจิตใจ สร้างมูลค่าเป็นเงินรายได้ให้แก่ตนเอง แก่คนในชุมชนได้ ได้รับคัดเลือกจาก กสศ. เป็น 1 ใน 5 แห่ง 

โครงการร่วมเสวนาออนไลน์ เรื่อง “เรียนรู้ตลอดชีวิตวิถีการพึ่งพาตนเองจากฐานชุมชน” ได้รับการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระดับดีเยี่ยม และได้รับรางวัลความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองสู่ความน่าอยู่อย่างยั่งยืนในระดับประเทศ และรางวัลผลงานอื่น ๆ มากมายที่ผ่านมา

 


ภาพ/ข่าว สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย