Saturday, 4 May 2024
POLITICS

'เพื่อไทย' ไม่ปิดกั้นตั้งรัฐบาลกับ ‘พลังประชารัฐ’ บนเงื่อนไขต้องไม่หนุน 'บิ๊กตู่' เป็นนายกฯ แต่ยังเชื่อฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงเพียงพอ

24 ต.ค.2565 - นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน)กล่าวถึงกรณีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงท่าที ไม่ปิดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หากมีจุดยืนไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะวางแผนล่วงหน้าไม่ได้ แต่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็อยากตั้งรัฐบาลกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่อยากตั้งกับฝ่ายอื่น ต้องรอดูสถานการณ์จริงๆหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร การรวมเสียงเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลจะพอหรือไม่ ถ้าเสียงไม่พอจริงๆต้องหาจากอีกฝั่งมาสมทบ ต้องดูพรรคที่เป็นไปได้มากที่สุด และดูนโยบายพรรคประกอบด้วยว่าใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ว่า จะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จะต้องสนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐ มนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพียงคนเดียว ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ นายสุทินตอบว่า พร้อมทำงานกับทุกพรรคที่มีจุดยืนใกล้เคียงกัน ถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางเลือก พร้อมจับมือกับฝ่ายรัฐบาลทุกพรรค เป็นไปได้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ต้องดูสถานการณ์ข้างหน้าประกอบด้วย ถ้าจะเอาฝ่ายรัฐบาลมารวมด้วยก็ต้องดูพรรคที่จะมาร่วมทำงานด้วย ต้องมีขนาดพอมีความเหมาะสม ถ้ารวมกันแล้วมีเสียงมากเกินไป คงไม่เอา ต้องมีเสียงมั่นคงในปริมาณที่พอเหมาะ อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นว่าเสียงฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันรวมกันแล้วยังเพียงพอตั้งรัฐบาลได้

‘ชัยวุฒิ’ ลั่น ยังเร็วไป พท.ตั้งเงื่อนไขร่วมรัฐบาลไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ ชี้ ให้รอดูเลือกตั้ง มั่นใจ ‘พปชร.’ ยังเป็นพรรคแกนนำ เชื่อ ‘นายกฯ’ ไม่เป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่จุดอ่อน หวังปชช.ยังเลือก ยัน ไม่ทิ้งพปชร.ซบพรรคอื่น

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่สนามกีฬาอบจ.สิงห์บุรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคเพื่อไทยยื่นข้อเสนอให้พรรคที่จะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยตั้งเงื่อนไข ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา พรรคพปชร.รับได้หรือไม่ ว่า  เรื่องแบบนี้ตอบกันไม่ได้หรอก

ผู้สื่อข่าวถามว่าการยื่นเงื่อนไข หากไม่มีการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ก็อาจจะจับมือ กับพรรคเพื่อไทยได้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มองว่าเรื่องนี้ยังเร็วไปที่จะคุย ที่จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ต้องรอผลการเลือกตั้งก่อน รวมไปถึงเสียงส.ส.ในสภา และนโยบายของแต่ละพรรค แต่โดยหลักการของพรรคพปชร.จะเน้นทำงานเพื่อประชาชนและทำตามนโยบายที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อะไรที่สร้างปัญหาให้กับประชาชน หรือสร้างความแตกแยก เราจะไม่เอาด้วยอยู่แล้ว 

เมื่อถามย้ำว่าฟังจากเงื่อนไขแล้วสามารถรับเงื่อนไขได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมารับหรือไม่ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วค่อยมาคุยกันอีกทีดีกว่า แต่ถ้าเป็นพรรคใหญ่ที่จะจับมือร่วมกับรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก เพราะการเมืองต้องรอการตรวจสอบ แต่ตนมั่นใจว่าพรรคพปชร.ยังเป็นพรรคใหญ่  เพราะขณะนี้ยังเป็นอยู่  

เมื่อถามว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร. ถือเป็นจุดอ่อนหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ขออย่าใช้คำว่าไม่ชัดเจน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค และวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ส่วนแคนดิเดตนายกฯในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีใครบ้าง คงยังไม่ถึงเวลา และต้องดูอยู่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยพล.อ.ประยุทธ์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรค พร้อมผู้สมัคร ส.ส.ได้เนื่องจากยังมีเวลาอยู่

'เพื่อไทย' อัด 'ประยุทธ์' ปล่อยชาวอุบลฯ จมบาดาลหลายเดือน ฟาก 'อิงค์' เตรียมหอบคณะลุยน้ำให้กำลังใจ 24 ต.ค.นี้

(23 ต.ค.65) น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังน่ากังวลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางพื้นที่น้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 และปี 2562 เช่น จ.อุบลราชธานี ประชาชนต้องทนอยู่กับน้ำท่วมนานหลายเดือน บางพื้นที่บ้านเรือนท่วมจมบาดาลมาเกือบ 4 เดือนแล้ว แต่ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐเท่าที่ควร มีแต่หน่วยงานท้องถิ่นที่ร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามยถากรรม ซึ่งยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงกับวิกฤติการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไม่ได้มีข้อจำกัดหรือถูกผูกมัดด้วยกฎเหล็กของ กกต.180 วัน เหมือน ส.ส.และพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจสูงสูดของฝ่ายบริหาร สามารถสั่งการเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันที แต่กลับกลายเป็นว่าการลงพื้นที่น้ำท่วมของพล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงแค่ไปรับฟังการรายงานจากหน่วยงานเฉพาะหน้าเท่านั้น เป็นนายกฯ ที่มองไม่เห็นปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าปัญหาจะกองอยู่ตรงหน้าก็ตาม ไร้มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้  ปล่อยให้ประชาชนลอยคอรอความช่วยเหลือนับเดือน

น.ส.ชญาภา กล่าวต่อว่า ถึงแม้พรรคพท.จะเป็นฝ่ายค้าน ไม่มีอำนาจบริหารในมือ แต่ที่ผ่านมาพรรคพท.และ ส.ส.ของพรรคก็ไม่เคยนิ่งดูดายต่อความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในสภาวะที่ยากลำบากแสนสาหัสที่ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ ที่ผ่านมาพรรคพท.ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด อีกทั้งยังมีหลายข้อเสนอแนะทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้แก่รัฐบาลมาโดยตลอด เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและทันท่วงที แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ต.ค.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคพท.และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พร้อมด้วย ส.ส.อุบลราชธานี จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้กำลังใจและสอบถามรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวอุบลราชธานีเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ส.ส.เพื่อไทยได้เคียงข้างร่วมทุกข์กับพี่น้องชาวอุบลราชธานีมาอย่างต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรียินดีและชื่นชม 'โตโน่' ทำความดีเพื่อสังคม

นายกรัฐมนตรียินดีและชื่นชม 'โตโน่' ทำความดีเพื่อสังคม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความชื่นชม นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ หรือ โตโน่ นักร้องและนักแสดง และยินดีที่สามารถบรรลุภารกิจว่ายน้ำข้ามลำน้ำโขง ระดมเงินจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว ภายใต้ชื่อกิจกรรม One Man And The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้

'ซูเปอร์โพล' เผยผลสำรวจคนไทยคงไว้ซึ่ง ม.112 ไว้ใจ 'ตู่-ป้อม-หนู' ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ความจำเป็นของ ม.112 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง(Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถาม ผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 2,007 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลสำรวจพบว่า...

ทั้งนี้ในหัวข้อที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 ระบุ จำเป็นที่จะต้องรักษากฎหมาย มาตรา 112 เอาไว้เช่นเดิม เพราะการมีอยู่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ สิทธิส่วนบุคคล และยังช่วยรักษาความมั่นคงของชาติเอาไว้ ในขณะที่ร้อยละ 4.6 ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.6 ระบุจำเป็นที่ ประมุขของทุกประเทศต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีกฎหมายคุ้มครอง ในขณะที่ ร้อยละ 2.4 ระบุไม่จำเป็น ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 ระบุ จำเป็นต้องมีกฎหมายป้องกัน การล้มล้างสถาบันหลักของชาติ จากกลุ่มผู้ไม่หวังดี บิดเบือน ใส่ร้าย และจาบจ้วง ในขณะที่ร้อยละ 3.0 ระบุไม่จำเป็น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 เห็นด้วยว่า ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ช่วยหลอมรวมใจของ คนในชาติ ไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตาม ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของทุกคนเป็นส่วนรวมตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ ร้อยละ 2.8 ระบุไม่เห็นด้วย

เมื่อถามถึง นักการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่นวางใจ ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 79.6 และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 75.6 ตามลำดับ

โดยผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเกือบร้อยละร้อยเห็นความสำคัญของสถาบันหลักของชาติได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชนที่สามารถหลอมรวมจิตใจของประชาชนภายในประเทศไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตามเพื่อความมั่นคงผาสุกของทุกคนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในผลการศึกษาที่ผ่านมาเคยพบว่าประชาชนเกือบร้อยละร้อยเช่นกันที่ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติมีส่วนช่วยดูแลบำรุงสุข บำบัดทุกข์ของราษฎร และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตขึ้นในชาติและในหมู่ประชาชนสถาบันพระมหากษัตริย์มีความรวดเร็วฉับไวเข้าช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูให้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมก่อนเกิดวิกฤตการณ์อีกด้วย

'สุชาติ' ชี้!! กรณีสูตร 'หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม' ส่วนตัวมองว่าอาจจะเป็นการพูดกันเองหรือไม่

(23 ต.ค.65) ที่ลานพระราชวังดุสิต นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการประชุมพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 27 ต.ค.เพื่อสรุปผลงานของพรรคว่า...

คณะกรรมการบริหารพรรคคงจะมีการชี้แจง เรื่องในพรรค วันนี้ไม่เหมาะที่ตนจะพูดอะไร ส่วนการเตรียมพร้อมของพรรคในการจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งนั้น ยังไม่ได้คุยอะไรกันเลย คงต้องรอความชัดเจนสักนิด

'นพดล' เผยเพื่อไทยไม่กังวลแคนดิเดทนายกฯ พรรคอื่น

'นพดล' เผยเพื่อไทยไม่กังวลแคนดิเดทนายกฯ พรรคอื่น ขอเน้นนโยบายเลือกตั้งที่ตอบโจทย์ พร้อมเสนอประกาศสงครามกับความยากจน เหลื่อมล้ำ แข่งขันถดถอย และยาเสพติด

นายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงว่าที่แคนดิเดทนายกฯของพรรคพลังประชารัฐว่าจะเป็นพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตร  เพื่อไทยสะดวกที่จะแข่งขันในสนามเลือกตั้งกับทุกคนทุกพรรค การเสนอแคนดิเดทเป็นเรื่องภายในของพรรคเขา ตนไม่ขอวิจารณ์ เนื่องจากพรรคต้องเอาเวลาไปจัดทำนำเสนอนโยบายที่ตอบโจทย์ประเทศและแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลหน้ามีงานหนักรออยู่ และถ้ามีโอกาสเป็นรัฐบาล เพื่อไทยต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาอื่นอย่างเป็นระบบ เริ่มจากเรื่องสำคัญคือการสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างความสามารถในการแข่งขัน และสร้างคุณภาพและความมั่นคงของชีวิต โดยตนจะเสนอให้พรรคพิจารณาก่อนประกาศ สงครามกับปัญหาใหญ่ 4 เรื่องคือ สงครามกับความยากจน สงครามกับความเหลื่อมล้ำ สงครามกับความถดถอยแข่งขันไม่ได้ และสงครามกับยาเสพติดที่ประกาศไปก่อนแล้ว

'ชัยวุฒิ' ปัด พปชร.ยังไม่ได้คุยสูตร 'หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม' โว!! พรรคผลงานเพียบ ยัน ยังหนุน 'ประยุทธ์'

(23 ต.ค.65) ที่ลานพระราชวังดุสิต นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เสนอสูตร 'หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม' ว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบและยังไม่ได้มีการคุยกันในพรรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้แพลนว่าจะเป็นแคมเปญต่อไปของพรรคหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ และภายในพรรคยังไม่ได้คุยกัน เป็นเรื่องที่ต้องถามทางผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรค แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐยังเป็นพรรคหลักของรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในการทำงานเพื่อเดินหน้าสร้างผลงานดูแลพี่น้องประชาชนให้เต็มที่ และตนเชื่อว่าผลงานของรัฐบาลจะเป็นตัวน ไปสู่การเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนยอมรับ และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ซึ่งก็มาจากการทำงานของเรา เพราะฉะนั้นวันนี้อย่าเพิ่งไปพูดถึงประเด็นการเมือง เวลาที่เหลือเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเร่งทำงาน ให้กับประชาชนให้ดีที่สุดก่อน

เมื่อถามว่า แสดงว่าวันนี้พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้เร่งในส่วนของนโยบายใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า เราเน้นทำงาน ทุกอย่างที่ทำไปคือนโยบายของรัฐบาลและเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ดูที่ผลงานและสิ่งที่เราทำ ตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ ถ้าให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลก็มีหลายอย่างที่ดีขึ้นและพัฒนาไปมาก อย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน การแก้กฎหมาย การปรับปรุงหลายอย่างที่ทำให้บ้านเมืองทันสมัย แต่เข้าใจว่าในภาวะแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องของโควิด-19 ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบ หรืออย่างกรณีสงครามยูเครนและรัสเซีย ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นเพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น ยอมรับว่าประชาชนหลายคนลำบาก แต่รัฐบาลพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ถ้ามองจากประเทศอื่นๆ ก็ยังมีตัวเลขด้านเศรษฐกิจหรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เราดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ไทยฟื้นตัวได้มาก เพราะเราสามารถแก้ไขโควิด-19 ได้ดี ซึ่งถ้ามองผลงานต่างๆของรัฐบาล ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนเข้าใจและให้ความเชื่อมั่นกับรัฐบาลที่จะทำงานต่อไปได้

เมื่อถามว่า สูตรที่ออกมาไม่ได้เป็นการหยั่งเสียงประชาชนใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าว "ผมยังไม่รู้ว่าใครพูดเลย เพราะยังไม่เคยได้ยิน ส่วนจะเป็นสมาชิกพรรคที่เสนอความเห็นออกมาหรือไม่นั้นผมไม่ทราบ เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองมีหลายคนสามารถที่จะแสดงความเห็นได้ ทุกคนก็แสดงความคิดเห็นไปต่างๆ นานา ก็แล้วแต่ เป็นความคิดที่แตกต่างหลากหลาย แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับผู้บริหารพรรคและผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะพูดคุยกัน ซึ่งผมคิดว่ายังไม่ได้ข้อสรุป แล้วยังไม่เห็นเรื่องนี้เลย"

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า วันนี้ทุกคนมุ่งมั่นที่จะทำงาน ยังรักและสามัคคีเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหากับประชาชนได้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาถือว่าประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง

นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ทางพรรคพลังประชารัฐจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวผู้สมัครส.ส. ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร

'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจ 'คนที่ใช่พรรคที่ชอบของคนใต้' พบ 'คนใต้' ยังหนุน 'บิ๊กตู่' นั่งนายกฯ เป็นอันดับ 1

(23 ต.ค.65) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนใต้' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,001 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนใต้ การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่คนใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 23.94 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ ซื่อสัตย์สุจริต มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง อันดับ 2 ร้อยละ 13.24 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายพรรคเพื่อไทยสามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร อันดับ 3 ร้อยละ 12.79 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 11.24 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ ชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 6.14 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน มีความซื่อสัตย์สุจริต และชื่นชอบวิธีการทำงาน

อันดับ 6 ร้อยละ 5.95 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ ชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา และชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 7 ร้อยละ 5.30 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) เพราะ มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และเป็นคนสุขุมรอบคอบ อันดับ 8 ร้อยละ 5.10 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ชื่นชอบนโยบายของพรรค ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ อันดับ 9 ร้อยละ 4.00 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ ชื่นชอบนโยบายของพรรคภูมิใจไทย เป็นคนพูดจริงทำจริง และลงพื้นที่ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 10 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) เพราะ เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง อันดับ 11 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (พรรคสร้างอนาคตไทย) เพราะ มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร

อันดับ 12 ร้อยละ 1.50 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย เป็นคนสุขุมรอบคอบ และชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา อันดับ 13 ร้อยละ 1.10 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะ เป็นคนมีความรู้ความสามารถ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการทำงาน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบแนวคิดและวิธีการทำงาน และร้อยละ 4.40 ระบุอื่นๆ ได้แก่ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายเศรษฐา ทวีสิน และไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับพรรคการเมืองที่คนใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 27.49 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 2 ร้อยละ 14.94 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และยังไม่ตัดสินใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 4 ร้อยละ 11.84 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 7.45 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 3.60 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ อันดับ 7 ร้อยละ 3.10 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.50 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคไทยสร้างไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 9 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็น พรรคกล้า อันดับ 10 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น พรรคสร้างอนาคตไทย และร้อยละ 2.35 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรครวมพลัง (พรรครวมพลังประชาชาติไทย) พรรคเศรษฐกิจใหม่ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ

'จุรินทร์' เดินหน้าเปิดตัว 4 ปชป.สมุทรสาคร ชู!! 'ไม่เอาล้มเจ้า-ไม่เอายาเสพติด-เร่งฟื้นประมง'

'จุรินทร์' ควง 'สาธิต' เปิดตัว 4 ปชป.สมุทรสาคร ชาวบ้านเชียร์ลั่นเป็นนายก! ประกาศเดินหน้าฟื้นประมง ไม่เอาล้มเจ้า ไม่เอายาเสพติด

เมื่อ 22 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ซึ่งดูแลภาคกลาง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันนำ 'จุรินทร์ ออนทัวร์' มาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 4 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายชวพล วัฒนพรมงคล นักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นรองนายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร เป็นรองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, เขต 2 นายภูดิส แก้วตระกูลโชติ วิศวกรหนุ่ม อดีตรองนายก อบต.ท่าทราย, เขต 3 นายธนวัฒน์ ทองโต (สจ.ช้าง) เป็นทนายความ และ เขต 4 นายนิติรัฐ สุนทรวร อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เขต 3

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีความรู้จักมักคุ้นกับคนในพื้นที่มาเป็นเวลานาน จึงได้เตรียมการเรื่องพื้นที่โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการเลือกตั้งเที่ยวหน้าจะไม่เหมือนครั้งที่แล้วที่เป็นการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว นำคะแนนพรรคกับคะแนนคนมามัดรวมกันเป็นข้าวต้มมัด แต่การเลือกตั้งเที่ยวหน้า จะแยกเป็นบัตร 2 ใบเพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่แก้ไขเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ให้เสรีภาพกับประชาชนในการเลือกคนกับพรรคได้

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้เตรียมนโยบายไว้ชัดเจนแล้ว โดยในภาพรวมเราจะมุ่งหน้าทำงานทั้งด้านการเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ไม่แยกเฉพาะการเมืองทิ้งเศรษฐกิจ หรือทำแต่เศรษฐกิจทิ้งการเมือง เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองจะต้องเดินไปด้วยกัน เวลาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ต้องแก้ปัญหาการเมืองไปด้วย เพราะฉะนั้นนโยบายทางการเมืองของประชาธิปัตย์ จึงมีจุดยืนชัดเจน คือยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้นประชาธิปไตยที่ประชาธิปัตย์ต้องการเห็น ก็จะต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 'ประชาธิปไตยท้องอิ่ม' เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจได้ภายใต้กลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนล้มเจ้านั้น ประชาธิปัตย์ไม่เอา

นายจุรินทร์ยังกล่าวอีกด้วยว่า เศรษฐกิจสมุทรสาคร จะต้องเดินหน้าด้วยเศรษฐกิจ 3 ขา

ขาที่ 1 อุตสาหกรรม เพราะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสมุทรสาคร

ขาที่ 2 เกษตรกรรม มีความสำคัญกับชาวสมุทรสาครโดยเฉพาะบ้านแพ้วซึ่งปลูก มะพร้าว ลำไย กล้วยไม้ มะนาว และมีพืชผลการเกษตรอื่นๆ ที่เราจะทิ้งฐานการเกษตรไม่ได้เพราะยังทำเงินให้เศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด

ส่วนขาที่ 3 คือ การเดินหน้าด้วยการประมง ซึ่งภายใต้หลักคิดของประชาธิปัตย์คือการพื้นฟื้นประมงกลับคืนมาให้เจริญเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกันได้ ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยรูปธรรมที่เกิดขึ้นในอนาคต คือ การแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีความเคร่งครัดจนทำให้ธุรกิจประมงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

"แม้เราจะยอมรับกติกา IUU แต่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับประเทศไทย และไม่มีผลในการบั่นทอนกิจการการประมงของประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีจุดสมดุลของมันอยู่ ดังนั้นในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า จึงหวังว่าพี่น้องประชาชนจะสนับสนุนผู้สมัครของพรรคทุกคน และให้เราปักธงประชาธิปัตย์ในจังหวัดสมุทรสาครได้อีกครั้งหนึ่ง"

จากนั้นมีเสียงจากชาวบ้านที่เข้าร่วมการเปิดตัวผู้สมัคร ได้ตะโกนให้กำลังใจ นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรค และผู้สมัครของพรรค ว่า “ประชาธิปัตย์จงเจริญ ขอให้ท่านได้เป็นนายก เพื่อมาฟื้นประมงสมุทรสาคร” ท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

หลังจากนั้นหัวหน้าพรรค ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราก็ได้ ส.ส. มาอย่างต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ท่านณรงค์ สุนทรวร ท่านอเนก ทับสุวรรณ มาถึง น.ต.สุธรรม ระหงส์ มาจนถึง นิติรัฐ สุนทรวร เพียงแต่ครั้งที่แล้วเราเว้นไปครั้งเดียว แต่เที่ยวหน้าก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีโอกาส และการเปิดตัวครบทั้ง 4 เขตในวันนี้ถือว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกๆ ที่มีความพร้อมเปิดตัวครบ

“เราก็มั่นใจว่าเสียงตอบรับจากประชาชนมีแน่นอน และมั่นใจว่าเรามีโอกาสที่จะปักธงได้อีกครั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร เพราะชาวบ้านกับเรามีความสัมพันธ์กันมานาน ท่านอเนก ทับสุวรรณก็ยังอยู่กับพรรค และสมาชิกของเราก็สนับสนุนอยู่ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ๆ ที่เดินเข้ามาเป็นสมาชิกก็มีจำนวนมากที่เข้ามาช่วยกัน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

พร้อมกับตอบผู้สื่อข่าวถึงจุดขายใหม่ของพรรค ที่เน้นการแก้ไขเศรษฐกิจคู่กับการเมืองว่า เป็นจุดขายที่เราได้ประกาศมาก่อนหน้านี้แล้วว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการเมืองต้องแก้ควบคู่กันไป ต้องเป็นประชาธิปไตยท้องอิ่ม

“นี่เป็นสิ่งที่ผมมั่นใจว่าประชาชน และประเทศไทยยามนี้ต้องการ และต้องการเห็นความชัดเจนในรายละเอียดของนโยบายที่จะตามมาว่า ประชาธิปไตยท้องอิ่มประกอบด้วยอะไรบ้าง ที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และทำให้คนไทยทั้งประเทศท้องอิ่มขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น นี่คือจุดยืนที่เราประกาศชัดเจน และจุดยืนประชาธิปัตย์ที่เราก็แสดงออกด้วยการพูดจามาก่อนหน้านี้ก็คือ เรายึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และที่สำคัญคือ ไม่เอาล้มเจ้า ไม่เอายาเสพติด ซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ และสังคมก็ต้องการเห็นการเดินหน้าที่มีความชัดเจนในสิ่งเหล่านี้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประกาศจุดยืนลักษณะนี้จะเป็นการแบ่งข้างประชาชนหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "ไม่ได้แบ่งข้างหรอก แต่เป็นการแสดงจุดยืนในทางการเมืองที่พรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนในเรื่องจุดยืนทางการเมือง"

'ชาติพัฒนากล้า' เตรียมเปิดนโยบายปลายปีนี้ ชู!! 'แก้ปัญหาปากท้อง-สร้างโอกาสศก.ระยะยาว'

'ชาติพัฒนากล้า' รวมทีมร่างนโยบาย สู้ศึกเลือกตั้ง 'กรณ์' ย้ำแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อน - สร้างโอกาสระยะยาว เตรียมเปิดนโยบายภายในปลายปีนี้ มั่นใจทีมเศรษฐกิจ รวมตัวท็อปไม่แพ้พรรคอื่น

พรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค และคณะผู้บริหารพรรคพร้อมทีมนโยบาย ประชุมเตรียมความพร้อมนโยบายพรรคที่จะสื่อสารออกต่อสาธารณะ เตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

นายกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการปรับทัพพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว เรามีความตั้งใจช่วยบ้านเมือง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย สร้างโอกาส สร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศชาติและประชาชน จึงเอาแนวความคิดทางนโนบายของทั้งสองพรรคเดิม ที่เคยมีขับเคลื่อนนโยบายไว้ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนของพรรคต่อไป โดยได้สรุปแนวทางคือ 1.) ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว เช่น ราคาน้ำมันแพง ค่าไฟแพง ปัญหาหนี้สิน และ 2.) การสร้างโอกาสระยะยาวให้กับประชาชน บนหลักการวิเคราะห์แนวโน้มโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องผลักดันจุดแข็งของประเทศ เสริมสร้างให้ดีกว่าเดิม เพื่อเป็นโอกาสสร้างรายได้ โดยไม่เกินปลายปีนี้ เราจะเริ่มเปิดแนวความคิดของชาติพัฒนากล้า ให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ 

"เรามีแนวความคิดดีๆ หลายเรื่อง ซึ่งต้องอาศัย ความกล้าเป็นตัวแทนของประชาชน ในการต่อสู้กับโครงสร้างหรือระบบที่เป็นตัวถ่วงโอกาสของประชาชน ต้องอาศัยพลังทางการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุที่เรามาจับมือกัน เพื่อมีพลังที่มากขึ้น ในการที่ปลดล็อกโครงสร้างที่ล้าหลังมานาน และปลดแอกประชาชน เพิ่มโอกาสในการหารายได้ในอนาคต" นายกรณ์ กล่าว

ผงะ!! ความจริงในโลกโซเชียล กว่า 90% ปั่นกระแส 'ไล่นายกฯ-เลิก112' มาจากต่างประเทศ

(22 ต.ค.65) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยข้อมูลโลกออนไลน์ เรื่อง ความจริงในโลกโซเชียล กรณีศึกษาข้อมูลในโลกโซเชียล ผ่านเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้กรอบการปฏิบัติการข้อมูลขั้นสุทธิ (Net Assessment) และระเบียบวิธีวิทยาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Methodology) จากแหล่งข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มบัญชีผู้ใช้สื่อออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 10 กันยายน ถึง 21 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา
.
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความจริงในโลกโซเชียลทางการเมืองในการศึกษาครั้งนี้คือ การปลุกปั่นกระแสกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 27,065 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 24,868 ตัวอย่างหรือร้อยละ 91.88 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเช่น ไล่ประยุทธ์ ประยุทธ์ออกไป ในขณะที่ จำนวน 2,197 ตัวอย่างหรือร้อยละ 8.12 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 621.7 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา ตามภาพประกอบ
.
แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งภายในและภายนอกโลกโซเชียลที่มีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนบุคคลสำคัญในรัฐบาล พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 ยังคงสนับสนุนบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 33.5 ไม่สนับสนุนบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 13.2 ยังคงเปลี่ยนใจได้หรือเป็นกลุ่มคนกลาง ๆ ตามลำดับ จะพบว่า กระแสที่ถูกปั่นในโซเชียลสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัวและมาจากคนเพียงคนเดียวที่ปั่นกระแสให้เห็นว่ามีจำนวนมากเป็นหลักหมื่น หลักแสนขึ้นไป
.
นอกจากนี้ เมื่อนำประเด็น ความจริงในโลกโซเชียลที่กระทบต่อความมั่นคงชาติ เช่น การยกเลิก ม. 112 การปลุกปั่นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายมาพิจารณา ได้พบแนวโน้มของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ยกเลิก ม.112 และการปฏิรูปสถาบัน และอื่น ๆ พบว่า การปลุกปั่นกระแสกระทบความมั่นคงของชาติมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 42,008 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 38,170 ตัวอย่างหรือร้อยละ 90.86 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ในขณะที่ จำนวน 3,838 ตัวอย่างหรือร้อยละ 9.14 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 95.95 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา ตามภาพประกอบ
.
เมื่อเจาะลึกข้อมูลไปยังฐานข้อมูลกลุ่มผู้ปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงชาติทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ พบว่า เกือบร้อยละ 100 ที่เป็นการใช้ชื่อบัญชีอวตาร หรือ บัญชีทิพย์ ไม่มีตัวตนแท้จริง เช่น Mxxxxboobxx1 และกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์อักขระเชิงรูปภาพ การ์ตูน ที่คอยปั่นกระแสยกเลิก ม.112 และปลุกปั่นมาจากต่างประเทศที่มีการใช้ VPN เพื่อซ่อนและปกปิด บิดเบือนที่อยู่ของตนเองให้เข้าใจผิดเรื่องแหล่งที่มาของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ระบุว่ามาจาก แอฟริกาใต้ แต่จริง ๆ อยู่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เช่น ตุรกี สิงคโปร์ อเมริกา เกาหลี และประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ใช้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า มีการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงของชาติมาจากต่างประเทศอย่างชัดเจนที่ยืนยันได้จากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยที่ประชาชนในประเทศจะหลงกระแสไปกับภาพจำว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลและความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และคิดกันไปว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
.
เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานรัฐที่ประชาชนวางใจมากที่สุดในการปกป้องรักษาความมั่นคงของชาติและควบคุมการชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลาย พบว่า ร้อยละ 36.1 ระบุตำรวจ รองลงมาคือร้อยละ 22.4 ระบุทหาร ร้อยละ 21.9 ระบุ มหาดไทย ร้อยละ 10.1 ระบุกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 8.3 ระบุ ปกครองส่วนท้องถิ่น และร้อยละ 1.2 ระบุอื่น ๆ
.
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า ขบวนการปลุกปั่นกระแสในโซเชียลมีเดียใช้ปมละเอียดอ่อนของสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นจากนั้น พ่วงด้วยการติด hashtag (#) ข้อความปลุกปั่นกระแส ทั้ง ๆ ที่ในเนื้อหาข่าวที่นำมาใช้เป็นหัวจรวดปลุกกระแสไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติและความมั่นคงเลย จึงน่าจะเป็นประโยชน์ให้หน่วยงานความมั่นคงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาปัจจัยสำคัญต่อไปนี้ เช่น เหตุการณ์สถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยา และความคงทนยาวนานของความรู้สึกนึกคิดที่ตกค้างในใจของประชาชน หรือจริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นและเป็นไปตามผลลัพธ์ของอิทธิพลโซเชียลมีเดียและการผลักดันกลุ่มประชาชนไปสู่การแบ่งขั้ว เลือกข้าง อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชน

'เพื่อไทย' อัด 'ประยุทธ์' เยียวยาน้ำท่วมไม่ทันใจ แถมชดเชยน้อยกว่ารัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์' เสียอีก

พท.อัด 'ประยุทธ์' เยียวยาน้ำท่วมไม่ทัน ไม่พอ ไม่ถูกหลักการ ติงชดเชยน้อยกว่ารบ. 'ยิ่งลักษณ์' แถมรีดดอกเบี้ยเงินกู้ 4% ซ้ำเติมเกษตรกร  

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.65 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สุรินทร์ กล่าวถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาลนี้ ทั้งไม่ทัน ไม่พอ และไม่ถูกหลักการ จนถึงขณะนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนัก ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งจะมีผลต่อการช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิ์ที่ควรได้ นอกเหนือจากความเชื่องช้าแล้ว เงินเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบก็น้อยนิดและไม่เพียงพอ  เยียวยาเพียงไร่ละ 1,340 บาทเท่านั้น ขณะที่น้ำท่วมในปี 2554 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เยียวยาไร่ละ 2,222 บาท แต่เหตุใดเมื่อเวลาผ่านมากว่า 10 ปีในยุคที่ค่าครองชีพแพงทั้งแผ่นดิน เงินเยียวยาอุทกภัยกลับลดลงจากในอดีตถึง 40% ไม่สมส่วนกับความเสียหายที่ประชาชนต้องได้รับ และค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป 

นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ในเวลาเดียวกันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังประกาศปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่าน ธกส.วงเงินไม่เกินรายละ 1 แสนบาท  คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปในปัจจุบันด้วยซ้ำ ยิ่งสงสัยว่ารัฐบาลเข้ามาบริหารงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หรือมาสร้างภาระให้ประชาชนเพิ่มขึ้นกันแน่ ทั้งที่ควรพิจารณาผ่อนภาระด้วยการพักชำระหนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หรือหากต้องกู้ก็ควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำพิเศษ หรือปลอดดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อเร่งให้ประชาชนกลับมายืนได้เร็ว ไม่เป็นภาระระยะยาว ซ้ำเติมปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวที่ก่อขึ้น

'ก้าวไกล' โดดเดี่ยว พรรคการเมืองแห่ประกาศไม่แก้ 112 จับตา 'เพื่อไทย' หนุนหรือค้าน?

จากกรณีพรรคก้าวไกล เปิดนโยบายหาเสียงเลือกตั้งชุดแรก โดยหนึ่งในนั้นคือนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นการเปิดหน้าชัดเจน และยังเป็นการโยนความกดดันให้กับพรรคพันธมิตรอย่างพรรคเพื่อไทยว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากวันข้างหน้าต้องเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อไทยจะสนับสนุนนโยบายนี้หรือไม่ เพราะหากเพื่อไทยยอมรับนโยบายนี้ก็เท่ากับสนับสนุนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หากไม่สนับสนุน ก้าวไกลก็อาจไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตามจะมีวันนั้นหรือไม่ถึง เรามาสำรวจจุดยืนของพรรคการเมืองอื่นๆต่อกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งชัดเจนว่าส่วนใหญ่ต่างประกาศไม่แก้ไขมาตรา 112

เริ่มที่ พรรคพลังประชารัฐ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้พูดในหลายครั้งว่า พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจนคือ ปกป้องชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายและไม่มีความคิดเรื่องแก้ไขมาตรา 112 อีกทั้งไม่เข้าใจว่าคนที่เสนอแก้ไขเดือดร้อนอะไรกับมาตรา 112 พร้อมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ากฎหมายมาตรา 112 เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะทำผิดกฎหมาย จึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายให้สิ่งที่ตนจะทำเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งพรรคภูมิใจไทยจะขัดขวางการแก้ไขถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือหรือร่วมทำงานกับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหรืออีกกี่ครั้งก็ตาม

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำจุดยืนของพรรประชาธิปัตย์ว่า พรรคยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่มีประเทศใดในโลก ที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ไม่ว่าจะปกครองในระบอบใด

ส่วนนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ตำหนิพรรคก้าวไกลว่า นโยบายหาเสียงไม่สร้างสรรค์ เป็นการสร้างความแตกแยก นอกจากนี้พรรคไทยภักดีได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต .เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงนโยบายของพรรคก้าวไกล ว่าการเสนอนโยบายให้มีการแก้ไขกฎหมาย ม.112 และ ม.116 ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Top Talk ทางท็อปนิวส์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ว่า มาตรา 112 ต่างจากกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทประชาชนทั่วไปอย่างไร ถ้าเราไม่ทำผิดเราก็ไม่ถูกดำเนินคดี พร้อมทั้งถามว่ากฎหมายในลักษณะเดียวกับ 112 สหรัฐอเมริกามีหรือไม่ ทำไมไม่ไปเลิกที่สรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแม่บท ทำไมต้องเลิกที่ประเทศไทย

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า จุดยืนของพรรคพรรคชาติไทยพัฒนาจะไม่ไปยุ่งอะไรกับมาตรา 112 เพราะตั้งแต่ตนเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เห็นคนทั่วไปมีปัญหา อีกทั้งปัจจุบันขนาดบุคคลธรรมดายังมีคดีหมิ่นประมาทอยู่ในศาลตั้งหลายร้อยหลายพันคดี มาตรา 112 ไม่ใช่มาตราที่หาเรื่องใคร แต่ใช้เพื่อปกป้องสถาบันอันเป็นที่รัก หากมีใครอุตริไปหาเรื่องเราจะต้องมีอุปกรณ์หรือกฎหมายปกป้องสถาบันได้ ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดก็ต้องมีมาตรา 112 รอให้ดินกลบหน้า ตนไม่ยอมแก้มาตรา 112 แน่นอน

ขณะที่นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า จุดยืนของพรรคเราชัดเจนคือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นมาแบบนี้โดยตลอด และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะสถาบันไม่ได้ทำอะไรให้ และตนก็ไม่เข้าใจพรรคก้าวไกลว่าทำไมจึงเสนอนโยบายแบบนั้น และหากพรรคก้าวไกลเสนอเรื่องดังกล่าวเข้ามาในสภาฯ ทางพรรคพลังท้องถิ่นไทก็จะคัดค้านอย่างแน่นอน

ด้านพรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรค แสดงความเห็นเรื่องนี้โดยไม่ทราบว่าพรรคก้าวไกลคิดอะไร แต่ในส่วนของพรรคชาติพัฒนากล้าชัดเจนว่าจะไม่นำเรื่องนี้ และเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันมาเป็นนโยบายหาเสียง ตอนนี้ใกล้จะเลือกตั้ง ตนไม่อยากให้หยิบยกเรื่องมาตรา 112 มาเป็นประเด็น อย่าทำทุกอย่างไปสู่ความขัดแย้ง

ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรครวมพลัง หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยเดิม เคยกล่าวถึงจุดยืนต่อมาตรา 112 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ว่า เนื้อหาสาระของกฎหมายคือการห้ามไม่ให้ไปดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แล้วที่ต้องมีกฎหมายนี้เพราะเป็นการถวายพระเกียรติยศ ถวายความเคารพสักการะในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นประมุขของประเทศ เหมือนกับประชาชนในประเทศอื่นทั้งหลายที่เขาให้ความเคารพยกย่องประมุขของประเทศเขา ตนยืนอยู่ข้างกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขมาตร112 เพราะตนเองเห็นว่าที่บัญญัติไว้อย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรับประเทศไทย

ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่ขอวิจารณ์นโยบายแก้มาตรา112ของพรรคก้าวไกล อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจ โดยอ้างว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน

'อ.ไชยันต์' ชี้ สื่ออังกฤษยังแนะปชช.พกวิทยุทรานซิสเตอร์ สะท้อน 'บิ๊กตู่' เป็น 'กัปตัน' ที่สามารถรักษาความปลอดภัยได้

(22 ต.ค.65) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า...

แม้ผมจะขอให้ ลุงตู่ วางมือทางการเมือง

(ซึ่งผมก็ยังเห็นเช่นนั้นอยู่)

แต่ผมยอมรับว่า ท่านไม่ได้เป็นแค่เพียง “รปภ”

แต่เป็นทั้ง “กัปตันที่สามารถรักษาความปลอดภัย” ได้ในเวลาเดียวกัน ครับ

เรื่องวิทยุทรานซิสเตอร์

“The public would be advised to use car radios or battery-powered receivers to listen to emergency broadcasts on FM and long-wave frequencies usually reserved for Radio 2 and Radio 4.”

จาก หนังสือพิมพ์ the Guardian วันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้ อ.ไชยันต์ ได้ให้มุมมองดังกล่าว โดยสะท้อนจากประเด็น เมื่อวันที่ 18 ต.ค.65 ที่สำนักข่าว The Guardian อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าว BBC โดยรายงานว่า สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญปัญหาไฟฟ้าดับนานหลายชั่วโมง ซึ่งถ้าหากรัสเซียปิดท่อแก๊สทั้งหมดที่ส่งมายังยุโรป โรงไฟฟ้าในสหราชอาณาจักรอาจต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าวันละ 3 ชั่วโมง ระหว่าง 16.00 - 19.00 น. โดยเฉพาะในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวมาก แถมยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกระแสลมมากพอในการสร้างกระแสไฟฟ้าจากกังหันลม

ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตขาดแคลนพลังงาน อาจส่งผลกระทบให้สหราชอาณาจักรต้องประสบปัญหาไฟดับนานมากถึง 36-48 ชั่วโมง กว่าจะสามารถกู้ระบบพลังงานกระแสไฟฟ้าให้กลับมาใช้งานได้ปกติ ซึ่งวิกฤตไฟฟ้าดับจะเกิดขึ้นเกือบทั่วประเทศ ทั้งในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และเวลส์ ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน เนื่องจากไอร์แลนด์เหนือ ได้รับพลังงานไฟฟ้าจากประเทศไอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว BBC ได้เตรียมร่างหนังสือสำหรับออกอากาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนในสหราชอาณาจักร ให้เตรียมรับมือกับวิกฤตไฟฟ้าดับ ซึ่งจะทำให้ระบบต่างๆ ใช้งานไม่ได้ เช่น เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต ระบบการเงินธนาคาร สัญญาณไฟจราจร และระบบบริการสาธารณะต่างๆ อีกมากมาย ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

>> พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนในสหราชอาณาจักร เตรียมจัดหาวิทยุทรานซิสเตอร์ (battery-powered receivers) สำหรับรับฟังข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือจะใช้วิทยุภายในรถยนต์ในการรับฟังข้อมูลข่าวสารก็ได้เช่นกัน โดยสถานนีวิทยุ Radio 2 และ Radio 4 ของ BBC จะแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านระบบสัญญาณวิทยุ FM


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top