(26 ก.ย. 67) จากส่วนหนึ่งของรายการ ‘ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร’ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ ‘นายเจือ ราชสีห์’ หนึ่งในคณะกรรมวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน / อดีต สส.สงขลาหลายสมัย ในประเด็น ‘ต้องไม่นิรโทษกรรม ม.112’ ได้สร้างความกระจ่างชัดเบื้องต้นในห้วงเวลานี้ว่า ความผิดใดที่เข้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมและความผิดใดไม่ควรนิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหา ดังนี้...
เจือ กล่าวว่า หากสรุปสาระสำคัญของผลการศึกษาอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ใช้เวลากันอย่างเข้มข้นในช่วงประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ โดยมีเอกสารมากถึง 299 หน้า แล้วมีผนวกอีกสองเล่มใหญ่ พอจะผลสรุปว่าแบบไหนถึงเข้าข่ายการนิรโทษ และแบบไหนไม่เข้าข่ายการนิรโทษ...
โดย เจือ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองเยอะมาก จนนำไปสู่เหตุปะทะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม และก็มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ช่วงพันธมิตรก็ดี เหตุการณ์ นปช.ก็ดี เหตุการณ์นักศึกษาออกมาเรียกร้องชุมนุมก็ดี รวมถึงกลุ่มเยาวชนสามนิ้วนั้น ก็นำมาสู่แนวคิดที่จะหาทางพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองร่วมกันแบบยั่งยืน
ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ จึงถูกผุดขึ้นภายหลังช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเรื่องนี้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการยื่นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดนี้มาที่ ‘พรรครวมสร้างชาติ’ ซึ่ง สส.ของพรรครวมทั้งชาติต่างก็ได้รับฟังและมองว่า เราคงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทางรวมไทยสร้างชาติได้เสนอเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘พรบ.สันติสุข’ ขึ้นมาในนามของพรรคเข้าไปด้วย
“ย้อนไปเมื่อต้นปี (2567) เริ่มมีการพูดคุยกันว่า เราจะเริ่มต้นยังไงดี? เราจะเอาเหตุการณ์ไหนบ้าง? กี่เหตุการณ์? ความผิดไหนเราจะนิรโทษ? หรือความผิดไหนเราไม่นิรโทษ? มาพูดคุยกันในวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าคำถามเหล่านี้แม้จะค่อนข้างตรงประเด็นชัดเจน แต่เวลาตอบเราจะตอบให้มันละเอียดขนาดนั้นทันทีคงไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องร่วม 20 ปี ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก”
นายเจือ ได้เผยต่ออีกด้วยว่า “ก่อนหน้าที่จะมีญัตติให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริง ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นรายละเอียดเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ไปแล้ว (พรบ.สันติสุข) พร้อมด้วยร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และของพรรคประชาชน ซึ่งเท่ากับมีอยู่ 3 ร่างคาสภาอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางรัฐบาล จึงมีความประสงค์ให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็เลยมีคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า ‘คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พรบ.นิรโทษกรรม’ ซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วย”
เจือ เล่าต่อว่า คณะฯ ดังกล่าว ได้เริ่มต้นให้มีการกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพิจารณา ไว้ดังนี้…
1. กำหนดกรอบเวลา ว่าจะกำหนดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มาถึงปัจจุบัน
2. กำหนดกรอบการนิรโทษกรรม ว่าจะให้มีอะไรบ้าง
จากนั้นกำหนดกรอบ ก็เริ่มมีการไล่ลำดับเหตุการณ์ โดยมีการเชิญกลุ่มต่าง ๆ (พันธมิตร / นปช. / กปปส. / นักศึกษา / เยาวชนสามนิ้วที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้น) มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการดังกล่าว
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็มาลงลึกไปอีกว่า ถ้าจะนิรโทษ จะนิรโทษความผิดอะไร โดยยึดโยงเหตุการณ์ที่อิงข้อมูลหลักฐานจากหน่วยงาน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตำรวจ, อัยการ และ ศาล ถึงจะมาสรุปเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าควรคลุมในฐานความผิดอะไรบ้าง
“อันที่จริงแล้ว ผมอยากเรียนกับทุกท่านแบบนี้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดหลายส่วน ต่างก็โดนบทลงโทษกันไปเกือบหมดแล้ว ประเมินก็เรียกว่าลงโทษกันไปเกินครึ่งแล้ว ทั้งพันธมิตร, นปช. และ กปปส. เพียงแต่ยังเหลือกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะได้อานิสงส์ผลพวงจากกฎหมายนิรโทษฉบับนี้” เจือ เสริมและกล่าวต่อว่า...
“ทีนี้ ถ้าจะมามองกันในแง่ของฐานความผิด จะครอบคลุมอย่างไร และเราจะหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยเงื่อนไขไหน ซึ่งตรงนี้เราได้ข้อมูลมาเยอะมาก โดยมีทั้งฐานความผิดหลัก, ฐานความผิดรอง หรือคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาแยกให้ออก ว่าแบบใดถึงจะเข้าข่ายกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ซึ่งเบื้องต้นต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ถ้าเกิดจากการกระทำโดยความแค้นส่วนตัว ก็ไม่เกี่ยว คิดจะโกงบ้านกินเมืองไม่เกี่ยว หรือก่อกบฏ ประทุษร้ายต่อประเทศ ก็ไม่เกี่ยว เป็นต้น…
“พูดง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมจะครอบคลุมและเกี่ยวเนื่องต่อแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ต้องเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นิยามหลักอยู่ตรงนี้”
>> กรอบเวลา และ กรอบการนิรโทษ
เจือ เผยว่า ในส่วนของเรื่องห้วงเวลา ช่วงเวลานิรโทษจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ต่อทั้ง คดีหลัก คดีรอง และ คดีอ่อนไหว โดย ‘คดีหลัก’ จะหมายถึง ความผิดฐานก่อกบฏ ก่อการร้าย ต่อมา ‘คดีรอง’ เช่น การปะทะกับเจ้าหน้าที่ การทำผิดกฎหมายจราจร เป็นต้น ซึ่ง คดีหลัก-คดีรอง ฟันธงให้ นิรโทษกรรม ได้
แต่ที่สำคัญ คือ ‘คดีอ่อนไหว’ ซึ่งเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) กับ มาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พระราชินีฯ) ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งช่วงระยะหลังคนไทยจะคุ้นเคยดีกับ มาตรา 112
>> ‘คดีอ่อนไหว-หมิ่นเจ้าฯ’ ไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม
ทั้งนี้ในส่วนของ ‘คดีอ่อนไหว’ เจือ เผยว่า มีการพูดคุยกันอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่…
1.ไม่นิรโทษกรรมให้เลย
2. นิรโทษทั้งหมด
3. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข
“ในวงคณะกรรมาธิการที่มีการพูดคุยในเรื่องของคดีอ่อนไหว จะพบว่า ทางคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน ซึ่งรวมผมด้วย และมติโดยรวมเกิน 55-60% เห็นว่า ‘ไม่ควรนิรโทษกรรม’ ให้ ส่วน 30% ก็คือต้องการนิรโทษ และเสียงที่เหลืออยากให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ทันที ว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่? อย่างไร? ซึ่งแม้เสียงในวงประชุมจะมีมากกว่า 55% ที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมกับคดีอ่อนไหวนี้ แต่ก็ยังไม่นับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้นจึงต้องมีการไปให้ความเห็นจากแต่ละคนในเชิงของรายงานต่อที่ประชุมสภาต่อไป ในวันที่ 3 ตุลาคม ต่อไป”
>> ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จุดยืนชัดเจน!!
แน่นอนว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความชัดเจนอย่างมาก ที่ไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เพราะอะไร? โดย เจือ ย้ำหนักแน่นว่า “ก็เพราะเราได้มีการนิยามคำว่าการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนแล้ว คือ ต้องเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ในส่วนของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม หากแต่ผู้ที่ต้องการรับพระราชอภัยโทษ ต้องไปรับโทษเสียก่อนเท่านั้น นี่คือหลักของกฎหมาย ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยอย่างไม่มีเหตุผล กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง นี่คือความชัดเจน”
เจือ ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการทำงานร่วมกันนั้น ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอไว้ในสาธารณะ นั่นก็คือเรื่องของ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ และ ‘กฎหมายอาญาร้ายแรง-ฆ่าคนตาย’ ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการระบุแนบเสริมไว้ โดยมองว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกระแสเสียงในวงประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ก็เป็นไปในทางเห็นด้วยค่อนข้างมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีการพูดคุยกันอย่างรอบคอบก่อนออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งความคืบหน้าในการกำหนดกรอบการนิรโทษหรือไม่นิรโทษยังไงนั้น คงทำได้แค่รอดูผลจากการประชุมสภาวันที่ 3 ตุลาคมที่จะถึงนี้อีกรอบ...