Thursday, 10 October 2024
POLITICS NEWS

'สุริยะ' เล็งเพิ่มมาตรการป้องกันไฟไหม้รถโดยสาร พร้อมสั่งระงับใบอนุญาตฯทันที – ลั่นเอาผิดขั้นสูงสุดหากผิดจริง

(1 ต.ค.67) 'สุริยะ' มอบหมาย 'สุรพงษ์' จัดประชุม ขบ. ด่วน เล็งเพิ่มมาตรการป้องกัน ลั่นต้องไม่เกิดเหตุซ้ำ พร้อมสั่งระงับใบอนุญาตผู้ประกอบการทันที หากพบผิดจริงจะดำเนินการขั้นสูงสุด เตือน! รถโดยสารทุกคัน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้โดยสาร 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถบัสชั้นเดียวไฟไหม้ บริเวณหน้าเซียร์รังสิต โดยบนรถบัสคันที่เกิดอุบัติเหตุมีนักเรียน จำนวน 39 คน และครู จำนวน 6 คน สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นคาดว่าภายในวันนี้จะได้ข้อสรุปข้อมูลเบื้องต้น 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประชุมโดยด่วนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รวมถึงเตรียมเพิ่มแนวทางมาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก และจะทำการถอดบทเรียนอย่างละเอียด เพื่อนำมาแก้ไขกระบวนการดำเนินงานอย่างถูกต้อง ซึ่งจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารในระดับสูงสุด

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า สำหรับการหาข้อเท็จจริง ในขณะนี้ หากพบว่าเป็นความผิดของผู้ประกอบการขนส่ง นางสาวปาณิสรา ชินบุตร รถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี จะดำเนินการระงับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที และจะดำเนินตามข้อกฎหมายระดับสูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งระงับใบอนุญาตผู้ประกอบการชั่วคราว อยู่ในช่วงของการสอบสวนถึงอุบัติเหตุเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเตือนถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก สำหรับการตรวจสอบรถโดยสารคันดังกล่าว ขณะนี้ได้สั่งการให้วิศวกรเข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งเช็กอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยอย่างละเอียด 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อถึงแนวทางการเยียวยานั้น รถโดยสารชั้นเดียวคันดังกล่าวมีประกันภัยตามข้อกฎหมาย โดยภายหลังจากนี้จะดำเนินการเยียวยาผู้ประสบเหตุทันที และจะมีการติดตามสถานการณ์เพื่อดูแลสภาพจิตใจและสภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด

‘เท้ง-ณัฐพงษ์’ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ‘ผู้นำฝ่ายค้านฯ’ ลั่น!! จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่

‘ณัฐพงษ์’ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ‘ผู้นำฝ่ายค้านฯ’ ลั่น จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่-พร้อมสนับสนุนกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แม้รัฐบาลเสนอก็ตาม

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม ที่รัฐสภา มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 สส.พรรค ปชน. รวมถึงข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ร่วมพิธีดังกล่าว และร่วมแสดงความยินดี ทั้งนี้ นายภราดรได้มอบแจกันดอกไม้แสดงความยินดีให้กับนายณัฐพงษ์ 

ภายหลังพิธี นายณัฐพงษ์ แถลงว่า ขอบคุณที่ทุกคนให้ความไว้วางใจในการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จากนี้ตนจะหารือกับพรรคฝ่ายค้านถึงการทำงานในสภาฯ และทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ตรงไปตรงมาที่สุดให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชน ให้สมกับที่ประชาชนเลือกมาไม่ว่าเราจะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านก็ตาม 

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เราพร้อมเดินหน้าเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน และร่วมพร้อมสนับสนุนกฎหมายที่เป็นประโยชน์แม้จะมาจากฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายไหนก็ตาม ตราบใดที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ พรรค ปชน. และพรรคร่วมฝ่ายค้านเราจะหารือกันภายในวิปฝ่ายค้านเพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว

”แม้จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย หลังจากนี้การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรจะครบถ้วนสมบูรณ์ ในฐานะที่วันนี้ผมได้รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ ก็จะขอทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่“ นายณัฐพงษ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ขอบคุณทุกแรงสนับสนุน ทำให้ผลคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง-มั่นคง

(30 ก.ย. 67) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและขอบคุณประชาชน หลังมีการรายงานคะแนนนิยมจาก ‘นิด้าโพล’ และปรากฏว่าตนและพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยระบุว่า…

ขอกราบขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่ตอบการทำโพลของสถาบันนิด้าทุก ๆ ครั้ง และที่สนับสนุนผมและพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสมอมา ทำให้คะแนนนิยมจากการสำรวจเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงตลอดมาเป็นลำดับ 

แม้ผลการสำรวจความนิยมดังกล่าวจะไม่ใช่เครื่องแสดงความสำเร็จของผลการเลือกตั้งในอีกสามปีข้างหน้า แต่ก็ทำให้พวกเราทุกคนใน รทสช. รู้สึกดีใจและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น 

ผมบอกกับทุกคนในพรรคเสมอมาว่าสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากการเมืองและพรรคการเมืองในวันนี้คือการทำงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจการเมือง 

ผมบอกกับทุกคนว่าการที่ประชาชนยังชื่นชมและคิดถึงลุงตู่เป็นเพราะผลงานและความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานให้ประเทศและประชาชนของท่าน และการคิดถึงแต่ประโยชน์ชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว นั่นคือสิ่งที่พวกเรา รทสช. จะต้องสืบทอดต่อ ต้องเอา DNA ของลุงตู่มาอยู่กับพรรคอยู่กับเราตลอดไป

หนึ่งปีที่ผ่านมาเราไม่เคยตีกัน ไม่เคยแย่งชิงตำแหน่งการเมืองกัน พวกเราทุกคนพยายามมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่และอย่างจริงจัง แบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำ ในรัฐบาลเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นรัฐมนตรี ในสภาฯ เป็นหน้าที่ของคนที่เป็น สส. และในพื้นที่เป็นหน้าที่ของสมาชิกพรรคแต่ละคน ตามมอตโต้ ‘สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง’ และจากการทำงานแบบลุยจริงตามแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’

ความสำเร็จในคะแนนนิยมของพรรค รทสช. วันนี้จึงมาจากพวกเราทุกคนที่เป็น รทสช. ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นพรรคการเมืองแบบที่ประชาชนอยากให้มีอยากให้เป็น 

ผมขอขอบคุณท่านเลขาธิการพรรค ผู้บริหารพรรค สส. และสมาชิกพรรค ทุกคนที่ช่วยกันทำให้มีวันนี้ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ที่สำคัญกราบขอบพระคุณ DNA ของลุงตู่ที่ส่งต่อมายังพวกเราทุกคนครับ

'เทพไท' ชี้!! ‘เท้ง’ เด่นไม่เท่า ‘พิธา-ไหม-ไอติม’ หลังผลโพลบุคคลตามหลัง ’นายกฯ อิ๊งค์’ ห่าง

(30 ก.ย. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เทพไท-คุยการเมือง’ หัวข้อ ทำไม ‘อุ๊งอิ๊ง’ โดดเด่นกว่า ‘เท้ง’ ระบุว่า…

ผลสำรวจของ ‘นิด้าโพล’ เรื่อง ‘การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567’ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน 2567 นั้น ผลปรากฏว่า 

อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 เป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) 
อันดับ 2 ร้อยละ 23.50 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 
อันดับ 3 ร้อยละ 22.90 เป็น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) 
อันดับ 4 ร้อยละ 8.65 เป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) 
อันดับ 5 ร้อยละ 4.80 เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

แต่ผลการสำรวจความนิยมของพรรคการเมือง พบว่า…
อันดับ 1 ร้อยละ 34.25 เป็น พรรคประชาชน 
อันดับ 2 ร้อยละ 27.15 เป็น พรรคเพื่อไทย 
อันดับ 3 ร้อยละ 15.10 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 
อันดับ 4 ร้อยละ 9.95 เป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ 
อันดับ 5 ร้อยละ 4.40 เป็น พรรคประชาธิปัตย์

จะเห็นได้ว่าคะแนนนิยมตัวบุคคล นางสาวแพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีคะแนนอันดับ 1 ชนะนายณัฐพงศ์ หัวหน้าพรรคประชาชน อยู่อันดับ 3 และยังมีคะแนนเสียงที่ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ 23.50% ซึ่งจะตัวแปรสำคัญ ทั้งนางสาวแพทองธารและนายณัฐพงษ์สามารถช่วงชิงได้ แต่ถ้านายณัฐพงษ์ พัฒนาตัวเองให้เร็วขึ้น น่าจะมีโอกาสช่วงชิงคะแนนกลุ่มนี้ได้มากกว่า

แต่ถ้าดูผลการสำรวจเกี่ยวกับพรรคการเมือง พบว่า ความนิยมของพรรคประชาชน เหนือกว่าพรรคเพื่อไทย ถ้าถามว่าทำไมคะแนนนิยมตัวบุคคลและพรรคการเมืองไม่มีความสัมพันธ์กัน

ผมอยากจะวิเคราะห์ว่า การที่คะแนนของนางสาวแพทองธาร โดดเด่นขึ้นมา เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญก็คือไม่มีตัวบุคคลโดดเด่นพอที่จะเทียบเคียงกับนางสาวแพทองธารได้ เพราะนายณัฐพงษ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนคนใหม่ ก็ยังไม่มีบทบาทโดดเด่นและภาพลักษณ์ยังไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ถ้าเปรียบเทียบกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งดูจากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่า นายพิธา มีคะแนนนิยม 38.43% สูงกว่านายณัฐพงษ์ ที่ได้ 34.10%

ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น พรรคประชาชนยังมีคะแนนนิยมชนะพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เพราะจุดยืนและอุดมการณ์พรรคได้สืบทอดมาจากพรรคก้าวไกล ไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้คะแนนนิยมยังไม่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

สิ่งที่พรรคประชาชน จะต้องพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขนั่นก็คือ บทบาทของนายณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมของประชาชน บทบาททางการเมืองต้องโดดเด่นกว่านี้ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับบทบาทของคนในพรรคประชาชน เห็นว่านายณัฐพงษ์ ยังโดดเด่นน้อยกว่านายพิธา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล หรือนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ด้วยซ้ำไป

จึงเป็นปัญหาสำคัญที่พรรคประชาชน จะต้องขบคิดว่าจะทำอย่างไร ให้บทบาทของหัวหน้าพรรค โดดเด่นควบคู่กับคะแนนนิยมของพรรคในทิศทางเดียวกัน

'อัครเดช' ขอบคุณประชาชน เชื่อมั่น 'พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ' ย้ำจุดยืนปกป้องสถาบัน-เดินหน้า 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ปฏิรูปพลังงานไทย

(29 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เปิดเผยถึง  'การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567' ซึ่งสำรวจโดยนิด้าโพล ว่า 

ในลำดับแรกต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่เชื่อมั่น และไว้วางใจในการดำเนินงานของพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงทำให้ผลสำรวจทั้งสองส่วนคือ ส่วนของคะแนนนิยมที่มีต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ และคะแนนนิยมต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมทั้งสองส่วนต่างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับเหตุผลที่ทำให้คะแนนนิยมทั้งสองส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ตนเชื่อมั่นว่ามาจากการที่พรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้อง 'ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์' ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญต่อชาติ รวมถึงการที่ บุคคลต่าง ๆ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และสมาชิกพรรคที่เป็นรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ทำงานอย่างหนัก มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหัวหน้าพรรคยังมีนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานเพื่อคืนความเป็นธรรมด้านพลังงานให้ประชาชน และ นโยบาย 'เศรษฐกิจแบ่งปัน' ซึ่งใช้หลักการแบ่งปันจากคนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กที่ขาดโอกาสในสังคมนับเป็นแนวคิดหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติ 

การมุ่งมั่นตั้งใจทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นทำให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผลงานในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ผลงานในรัฐสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผลงานการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของบุคลากรของพรรค 

และสำหรับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น นอกจากคุณสมบัติที่ได้กล่าวถึงในรายงานของนิด้าโพลแล้ว ตนยังเห็นอีกว่าประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงความตั้งใจทำงานโดยเฉพาะในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 

สุดท้ายนี้พรรครวมไทยสร้างชาติขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจในจุดยืนและแนวทางการดำเนินการของพรรคที่จะปกป้อง 'ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์' อันเป็นสถาบันหลักของชาติ และจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง 

'ธนกร' ฉะ!! 'ปชน.' หมกมุ่นเสนอ 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบัน' ไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง-ความเดือดร้อนของประชาชน

(29 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ หลังจากที่พรรคประชาชนเสนอ 7 แพ็กเกจในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการแก้เป็นรายมาตรา ว่า...

ตนก็สงสัยการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเหมือนที่หลายฝ่ายสงสัยเช่นกัน ว่า ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้แทนนั้น เพื่อเข้าสภาไปทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อน แก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของประชาชนจริงหรือไม่ หรือหวังจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพรรคการเมืองของตัวเองเท่านั้นหรือไม่ 

เพราะจากที่ตนดูการเสนอกฎหมาย เสนอแนวทางต่าง ๆ ของพรรคประชาชน หลายเรื่องที่ผ่านมา ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนเรื่องความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง มุ่งแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญบ้าง จ้องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพบ้าง อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระมีอำนาจมากเกินไป  และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาจากการรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่องอยู่แค่ไม่กี่คำเท่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามของหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและฝ่ายการเมืองก็ตาม ว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาชนมีจุดมุ่งหมายการทำงานการเมืองเพื่ออะไรกันแน่  

ทั้งนี้ตน มองว่าอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ควรมีอำนาจติดตามตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอำนาจฝ่ายตุลาการ ที่ควรจะต้องคงไว้เพื่อตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการที่ไร้คุณธรรม จริยธรรม คดโกง ทุจริตคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องแล้วตามรัฐธรรมนูญปราบโกงปี 2560 ที่ร่างป้องกันไว้ จึงขอคัดค้าน หากพรรคประชาชน หรือพรรคใดเสนอให้มีการปรับแก้ไข ลดอำนาจองค์กรอิสระลง เพราะจะทำให้เป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองที่ไม่ดีเข้ามาคดโกงงบประมาณแผ่นดิน เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองได้ 

เมื่อถามว่า แต่การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองพรรคประชาชนก็ยอม 'พัก' เรื่องนี้ไว้ก่อน  นายธนกร กล่าวว่า พักไว้ ไม่ได้แปลว่าจะล้มเลิกหรือถอดร่างที่เสนอต่อสภาออก แต่อาจเป็นเพราะถูกสังคมต่อว่าอย่างหนักว่า ต้องการแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง  ไม่ก็อาจจะกลัวทำผิดกฎหมายเสียเอง เพราะการแก้ประเด็นจริยธรรมนักการเมืองจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าขอคัดค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการสนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ไม่ลดมาตรฐานจริยธรรมผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำบริหารราชการแผ่นดิน 

“สังคมตั้งคำถามว่า พรรคประชาชนมัวทำอะไรกัน วนเวียนคิดแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ ติดกรอบความคิดเดิม ๆ เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารของคสช. อ้างแต่เรื่องประชาธิปไตย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติที่พี่น้องประชาชน ประสบอยู่ตอนนี้ แต่ยังก้าวไม่พ้น คสช. ต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนวางกรอบไว้ให้การพัฒนาประเทศเกิดความยั่งยืน ซึ่งก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเสนอ 7 แพ็กเกจของพรรคประชาชน มองว่าเป็น 7 แพ็กเกจสุดซอย สุดโต่ง มุ่งทำเพื่อพรรคการเมือง ทำเพื่อตัวเอง ยังไม่ได้นึกถึงประชาชนชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ" นายธนกร กล่าว

'เอกนัฏ' ปลื้ม!! ความนิยม 'พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้คำมั่น!! มุ่งทำงานบริหาร-ขับเคลื่อนการเมืองเพื่อประเทศชาติต่อไป

(29 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลโพลล่าสุดของ NIDA Poll โดยระบุว่า...

"ดูจากผล NIDA Poll ที่ออกมาวันนี้ 

"คะแนนดีขึ้นทั้งท่านหัวหน้าพีระพันธุ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งจาก 3% เป็น 5% เป็น 8% จนกระทั่งวันนี้กลับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนใกล้แตะ 10% 

"ขอบคุณทุกท่านที่เชื่อมั่นหัวหน้าพีระพันธุ์ ที่เชื่อมั่นพรรคฯ พวกเรายังต้องทำงานกันอย่างหนัก ทั้งงานบริหารบ้านเมือง และขับเคลื่อนงานการเมือง เป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้สนับสนุนทุก ๆ คนครับ"

'สวนดุสิตโพล' กาง 25 ตัวชี้วัด 'ดัชนีการเมืองไทย' พร้อมเทียบฟอร์มนักการเมือง ‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’

(29 ก.ย. 67) 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง 'ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนกันยายน 2567' กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,183 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน 2567 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สรุปผลเรียงลำดับจากค่าคะแนนสูงสุดไปถึงต่ำสุด ได้ดังนี้

1. 'ดัชนีการเมืองไทย' เดือนกันยายน 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.80 คะแนน (เดือนสิงหาคม 2567 ได้ 4.46 คะแนน)

2. ประชาชนให้คะแนน 25 ตัวชี้วัด 'ดัชนีการเมืองไทย' โดยคะแนนเต็ม 10 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ 

3. นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนคิดว่ามีบทบาทโดดเด่นในเดือนกันยายน 67 

4. ผลงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนชื่นชอบในเดือนกันยายน 67 

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า คะแนนดัชนีการเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกตัวชี้วัดครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยได้ปัจจัยเชิงบวกที่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนทั้งการได้นายกฯ คนใหม่ การเร่งแจกเงินหมื่นช่วยคนเปราะบาง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ผลงานเหล่านี้เข้าถึงปากท้องและครัวเรือนของประชาชนโดยตรง ทำให้รับรู้ได้ว่ารัฐบาลกำลังมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้จะมีความกังวลผลของเงินหมื่นในระยะยาวแต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยเหลือประชาชนได้บ้าง

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า คะแนนดัชนีการเมืองไทยปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยคะแนนของฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเป็นเพราะการทำหน้าที่อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ ในขณะที่คะแนนฝั่งรัฐบาลก็ขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยลงตัว และได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ๆ เช่น นโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตที่ปรับเปลี่ยนมาแจกรูปแบบเงินสด ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับเงินหมื่นจริง ๆ รวมทั้งการที่รัฐบาลคลอดมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัย ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน แม้ว่าการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมจะมีความล่าช้าก็ตาม รวมทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คะแนนของนายกรัฐมนตรีและผลงานของรัฐบาลขยับเพิ่มขึ้นนั่นเอง

'ปิยบุตร' ชี้!! แก้รัฐธรรมนูญยืดเยื้อ จบไม่ทันเลือกตั้งปี 70 แนะ!! เลือกทำประชามติ 2 ครั้ง-แก้รายมาตรา ไม่แตะหมวด 1-2

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าออกไปอีก รัฐบาลรัฐสภาควรทำอย่างไร?' ระบุว่า...

รัฐบาลวางแนวทางไว้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขึ้นได้ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง โดยรัฐบาลเห็นว่า การออกเสียงประชามติในครั้งแรก จะเกิดได้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เสียก่อน เพื่อเปลี่ยนจากเกณฑ์ 'ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ + ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' หรือ Double Majority ให้เป็น 'ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' ร่างพ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา 

ปรากฏมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา มีมติให้กลับไปเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามเดิม หากไปจนจบวาระสามในชั้นวุฒิสภา ยังเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า วุฒิสภามีมติแก้ไขจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา ต้องทอดเวลาออกไปอีก หากสภาใดสภาหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาทำกันมา ร่างนั้นก็จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำกลับมาลงมติยืนยันได้ 

เมื่อดูกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีการออกเสียงประชามติรอบแรกในต้นปี 2568 อย่างน้อยๆ ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 8-10 เดือน กว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาทำร่างใหม่ แล้วทำประชามติ ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก อย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นโรดแมปที่แกนนำรัฐบาล พูดกันว่าเลือกตั้งปี 70 จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว

นายปิยบุตร ระบุอีกว่า ด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ผมเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกแรก ลดการออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้ง กล่าวคือ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือนตุลาคม) เมื่อผ่านรัฐสภาก็ไปออกเสียงประชามติ เมื่อผ่าน มีส.ส.ร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ ทางเลือกนี้ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียงสองครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง...

ทางเลือกที่สอง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสีย ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆก็ตกไป การแก้ไข ตั้งแต่ มาตรา 25 ถึง มาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดักประชามติ ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะคือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และกระบวนการนี้ ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทางเลือกนี้ แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ มีแต่ทางเลือกสองทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ทันในปี 2570”

ย้ายทหาร 67 จับตา ผบ.ทบ. 'บิ๊กปู' ถอดรหัสเปลี่ยนยกแผง ผบ.พล.ทัพ 1

ได้วิเคราะห์แบบแผ่วผ่าน...เกี่ยวกับการแต่งโยกย้ายนายทหารไว้ช่วง 'ต้นเดือน-กลางเดือน ก.ย.'

ดังนั้น เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แล้วเมื่อ 20 ก.ย.2567 จำนวน 808 นาย ก็ขอขีดเส้นใต้หมายเหตุเอาไว้พอเป็นสังเขป เพื่อการติดตามสถานการณ์...ดังต่อไปนี้...

>> เป็นการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นรอยต่อระหว่าง รมว.กลาโหมพลเรือนสองคน คือ สุทิน คลังแสง และ ภูมิธรรม เวชยชัย...เอาเข้าจริงบัญชีโยกย้ายจบตั้งแต่มติกรรมการ 7 เสือกลาโหม ที่ 'บิ๊กทิน' ลงนามเชิงธุรการไว้ตั้งแต่ 3 ก.ย.วันสุดท้ายของการเป็นรัฐมนตรี...

ส่วน 'บิ๊กอ้วน' หรือ 'สหายใหญ่' นั้น เพียงแค่ตรวจทบทวน เคลียร์คัทบางประเด็นเกี่ยวกับข่าวลือ ว่าที่กรณี ผบ.ทร.คนใหม่เท่านั้น...สรุปความว่างานนี้โดยภาพรวมฝ่ายการเมืองคือ รมว. และ รมช.กลาโหม...ไม่ได้รุกล้ำโผหรือข้อเสนอของแต่ละเหล่าทัพที่ต่อสู้ฟาดฟันกันมาแต่ประการใด...

>> ส่องกล้องบัญชีรายชื่อแต่ละจุดของกลาโหมยุคใหม่ตั้งแต่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นไป  

- สำนักงานปลัดกลาโหม - พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ 'บิ๊กหนุ่ย' (ตท.24) นายทหารคอแดง เคยเต็งผบ.ทบ.ถูกโยกข้ามห้วยเป็น รองปลัดกลาโหม รอขึ้นปลัดกลาโหม ปีหน้า (2568) ต่อจากเพื่อนรัก พล.อ.สนิทชนก สังขจันทร์

- กองบัญชาการกองทัพไทย - พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ 'บิ๊กหยอย' (ตท.24) นายทหารคอเขียว เคยเต็งผบ.ทบ.เช่นกัน ถูกโยกไปเป็น รองผบ.ทหารสูงสุด รอขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดปีหน้าสืบต่อจากเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

- กองทัพบก - พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ 'บิ๊กปู' (ตท.26) จาก เสธ.ทบ.ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ตามข้อเสนออันแข็งแรงแข็งขันของ 'บิ๊กต่อ' พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ที่กล่าวกันว่างานนี้ 'บิ๊กต่อ' น้องเลิฟของ 'ลุงตู่' และ 'บิ๊กแดง' ใจเกินร้อยในการฝ่าเบียดแรงเสียดทานแรงต้านทั้งในและนอกกองทัพ...แต่ถึงที่สุดเดิมพันของ 'บิ๊กต่อ' ก็คงอยู่ที่ความเป็นทหารอาชีพ (หรือไม่) ของ 'บิ๊กปู' ซึ่งครบเครื่องทั้งบู๊-บุ๋น และที่สำคัญจะเกษียณเดือน ก.ย.2570 โน่น!!

- กองทัพเรือ แม้จะมีคลื่นใต้น้ำต่อต้านรุนแรง แถมมีใบปลิว บัตรสนเทห์สารพัด...แต่ก็ไม่อาจหยุด 'บิ๊กดัน' อย่าง 'บิ๊กดุง' พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม  (ตท.23) ผบ.ทร.ที่กำลังเกษียณ ที่ยืนกรานเสนอ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ 'บิ๊กแมว' (ตท.23) ที่ปรึกษาพิเศษ ทร.ขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ได้...การผงาดของ 'บิ๊กแมว' ที่จบนักเรียนนายเรือเมอร์วิค เยอรมนี และไม่ได้อยู่ในไลน์ 5 ฉลามเสือ...ทำให้ต้องเด้งดึ๋งหนึ่งในตัวเต็งสำคัญที่พลาดหวังมาก่อนอย่าง พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) รองผบ.ทร.ไปเกษียณในตำแหน่งรองผบ.ทหารสูงสุด...

- กองทัพอากาศ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน (พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล-บิ๊กไก่) ยังอยู่ในตำแหน่งจนถึง ก.ย.2568  

>> ขีดเส้นใต้หมายเหตุส่งท้าย...หากจะโฟกัสไปที่กองกำลังสำคัญที่เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลความมั่นคงที่อาจโยงใยกับการเมือง การรัฐประหาร ก็ต้องส่งกล้องไปที่กองทัพภาคที่ 1 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 26 จังหวัดภาคกลาง คุมกองพลสำคัญ มีการจัดทัพปรับแถวใหม่ ทั้งแม่ทัพและผบ.พล.ใน 4 กองพลสำคัญ ดังนี้...

- มทภ.1 พล.ท.อมฤต บุญสุยา 'บิ๊กใหญ่' ( ตท.27) เกษียณ 2571 ตำแหน่งเดิม มทน.1(แม่ทัพน้อย)
- มทน.1 พล.ท.วรยศ เหลืองสุวรรณ 'บิ๊กไก่' (ตท.28) เดิม รองมทภ.1
- ผบ.พล.1 รอ.พล.ต.กิตติ ประพิตรไพศาล (ตท.31) เดิมรอง ผบ.พล.2 รอ.
- ผบ.พล.2 รอ. พล.ต.เบญจพล เตชาติวงศ์ ณ อยุธยา (ตท.32) เดิม รองผบ.พล.2 รอ.
- ผบ.พล.9 พล.ต.อัษฏาวุธ ปันยารชุน เดิมรอง ผบ.พล.9    
-ผบ.พล.11 พล.ต.ยุทธนา มีเจริญ (ตท.30) เดิม รองผบ.พล.11

อันที่จริง 4 รองผบ.พล.ที่ขึ้นเป็น ผบ.พล.ขณะนี้ ยังมีชั้นยศ พ.อ.พิเศษ เท่านั้น แต่ขออนุญาตเพิ่มยศตามตำแหน่งใหม่...

จับตามองบทบาทพวกเขาดี ๆ หากมีความผิดปกติของเหตุบ้านการเมือง !!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top