Friday, 16 May 2025
NEWS FEED

'รมว.ปุ้ย' กางแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ 'ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร-ลดมลพิษ' ยกหูถึง 'พีระพันธุ์' ดันใช้ E20 พร้อมปลดล็อกเอทานอลอ้อย ขายให้อุตฯ อื่นได้

'รมว.พิมพ์ภัทรา' รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ ยกหูถึง 'นายพีระพันธ์' รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ปลดล็อกผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ขายให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม เตรียมดึงแพลตฟอร์มจาก 'ไทยคม' เผยจุด Hot Spot ย้อนหลัง 3 ปี เร่งแก้ปัญหา PM 2.5

(12 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เข้าพบ โดยได้หารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย เนื่องจากปัจจุบันมีความไม่สมดุลในการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยกลุ่มเอทานอล ขอให้รัฐส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานช่วงการเปลี่ยนผ่าน และปลดล็อกให้ผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง สามารถจำหน่ายเอทานอลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

ขณะที่กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล ขอให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม และต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าชีวมวลที่จะหมดอายุในราคาที่เหมาะสม

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารืออยู่ตลอดกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นทางที่รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาสอดคล้องกันอยู่แล้ว จากนี้จะเร่งเรื่องนี้เข้าเพิ่มเติมในรายละเอียดและผลักดันไปในระดับนโยบาย ล่าสุดที่ยกหูถึงพี่พี (รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน) ซึ่งก็ได้รับทราบแนวทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในการที่จะนำเทคโนโลยีดาวเทียม การตรวจหาความร้อน แหล่งกำเนิดฝุ่นควัน PM2.5 มาใช้ในภาคการเกษตร โดยตน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง รวมถึงผู้บริหารจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ร่วมหารือกับ คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นำโดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่จะมุ่งไปที่เรื่องของการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เรียกว่า ‘Sugarcane Intelligence System’ มีข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลแปลงเกษตรไร่อ้อย และสามารถแสดงผลจุดความร้อน (Hot Spot) ดูข้อมูลย้อนหลังได้ 3 ปี

ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผน กำหนดทิศทางเกษตรกรรมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี ครบวงจร ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเผาไร่อ้อยการเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่อง ส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลให้ได้รับสิทธิในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลือกการตัดอ้อยสดแทนการเผา และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อย โดยการจำหน่ายให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นกฎหมายควบคุมมลพิษจากต้นกำเนิด PM 2.5 เป็นการแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน

“เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจร และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราขอเน้นเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเป็นหลัก”

สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมีมูลค่า 235,000 ล้าน แบ่งเป็นน้ำตาล 199,000 ล้านบาท (อ้อย 131,000 ล้านบาท) กลุ่มโมลาสและเอทานอล 22,000 ล้านบาท กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล 14,000 ล้านบาท ที่มาจากใบอ้อยเพื่อต้องการลดภาวะฝุ่นควัน PM 2.5 และลดการเผาทิ้ง กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาคจากเอทานอล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งเกรดบริสุทธิ์ เกรดอุตสาหกรรมเภสัชกรรม เกรดเชื้อเพลิง

‘รอมฎอน 2567’ เดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘ชาวมุสลิม’

‘รอมฏอน’ เป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม แต่ละปีชาวมุสลิมทั่วโลกจะ ‘ถือศีลอด’ ตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี

รอมฎอน ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานลงมาให้แก่ นบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อใช้สั่งสอน และเป็นเครื่องชี้ทางให้แก่อิสลามิกชนทั่วโลก

พระคัมภีร์ระบุว่า วันที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานให้แก่ นบีมูฮัมหมัด คือ ช่วงวันที่ 26-27 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ในเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมทุกคนจึงต้องรักษาศีล อดอาหารเพื่อฝึกฝนการบังคับตนเองและเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของนบีมูฮัมหมัด รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการบูชาพระเป็นเจ้า เดือนนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘เดือนบวช’

ตลอดเดือนรอมฎอน 29-30 วัน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเว้นเครื่องดื่ม พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี รวมทั้งเข้มงวดระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนา ไม่กระทำใดที่ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้…

- ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย
- ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม
- ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก
- ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ
- ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย

การปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำดังกล่าวเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกัน หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

>> ความสำคัญของ ‘เดือนรอมฎอน’
แก่นสาระของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีจุดประสงค์ เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก ได้เรียนรู้อุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต การถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยความเพียร และสติปัญญา

“การถือศีลอด เป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์”

การถือศีลอด จึงเป็นกระบวนการฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ การถือศีลจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม

>> หลักปฏิบัติในการถือศีลอด
การเริ่มต้นวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในเดือนรอมฎอน จะมีขึ้นตั้งแต่วันแรกของเดือน โดยการประกาศการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนจะทำโดยผู้นำทางศาสนาของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะกำหนดจากการสังเกตคืนที่ปรากฎดวงจันทร์เสี้ยวเป็นครั้งแรกหลังจากคืน เดือนมืดให้เป็นวันที่ 1 ของเดือน และนับไปจนครบ 29-30 วันตามแต่ปฏิทินฮิจเราะญ์ของแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ชุมชนมุสลิมหลักของโลก ในตะวันออกกลาง การเริ่มเดือนรอมฎอนจะยึดตามคำประกาศของผู้นำศาสนาอิสลามในอียิปต์เป็นสำคัญ

การอดอาหาร แม้จะเป็นส่วนสำคัญในวัตรปฏิบัติของเดือนรอมฎอน แต่อาหารก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน โดยก่อนและหลังพระอาทิตย์ตก ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญร่วมกับครอบครัว โดยมีข้อบังคับว่าอาหารชนิดแรกที่อิสลามิกชนต้องรับประทานหลังจากถือศีลอดมา ทั้งวัน คือ ‘อินทผลัม’ ตามด้วยอาหารหวานต่างๆ เพื่อชดเชยกับพลังงานที่สูญเสียไปจากการอดอาหาร

แม้ว่าในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ชาวมุสลิมจะสามารถรับประทานอาหารได้ แต่ยังคงต้องสำรวมและถือศีลไม่ปล่อยให้ตนเองมีความสุขกับการรับประทานอาหารและผ่อนคลายจนเกินไป

โดยถือว่าหากศาสนิกชนดื่มด่ำในรสชาติของอาหารและความสุขจากการรับประทาน การฝึกฝนตนเองที่กระทำมาทั้งวันก็เท่ากับเป็นการสูญเปล่า

>> สิ่งที่ควรปฏิบัติในการถือศีลอด
- รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา และรีบแก้ศีลอดเมื่อเข้าเวลา
- ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ อ่านอัลกุรอ่าน
- เคี้ยวอาหารช้าๆ ห้าสิบครั้งต่อคำ ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก
- ดื่มน้ำสะอาด หลังรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก
- เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน อย่างช้าๆ ไม่รีบ
- แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด
- พยายามเลิกสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ ชา กาแฟ
- ควรตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน

>> ข้อห้ามขณะถือศีลอด ในช่วงเวลากลางวัน มีดังนี้...
- ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา
- ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
- ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา
- ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา

>> ดุแลใส่ใจสุขภาพ ‘ช่วงถือศีลอด’
นพ.ปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เคยให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 - 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน จึงอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

>> ในเดือนถือศีลอด ดูแลสุขภาพได้ดังนี้...
- รับประทานอาหารสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
- อาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย เลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
- อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน

>> รู้หรือไม่ ‘รอมฎอน’ ขยับเร็วขึ้นมาทุกปี
เดือนรอมฎอน นอกจากการกำหนดเดือนในปฏิทินอิสลามที่ต้องสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรกแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับ ดาราศาสตร์ อย่างเรื่องการหมุนรอบตัวเองของโลก และการที่แกนโลกเอียง ดังนี้
เดือนรอมฎอน ขยับเร็วขึ้นมาทุกปี เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล

ในแต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา 10 หรือ 11 วัน เมื่อเทียบปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) ปฏิทินสากลนั้นใน 1 ปี มีจำนวนวัน 365 หรือ 366 วัน แตกต่างกับปฏิทินอิสลามแบบจันทรคติ (เดือนกอมารียะห์) ที่มีทั้งหมด 12 เดือน แต่หนึ่งเดือนกอมารียะห์นั้นจะมีจำนวนวัน 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก

ดังนั้น 1 ปีของปฏิทินอิสลาม มีจํานวนวันประมาณ 354 หรือ 355 วัน น้อยกว่าปฏิทินสากลอยู่ประมาณ 10 หรือ 11 วัน ส่งผลให้แต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา และฤดูกาลที่ถือศีลอดจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติ เป็นปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล

สำหรับปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม 2567 (ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี) เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2566
ใน 1 วันระยะเวลาถือศีลอด แต่ละพื้นที่บนโลกไม่เท่ากัน

ระยะเวลาการถือศีลอดของมุสลิมแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะแกนหมุนรอบตัวเองของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งฉากระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆ บนโลก ได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกและระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกัน เช่น ช่วงฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ กลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน

ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน นั่นแปลว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี มุสลิมแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะถือศีลอดใน "ฤดูกาล" ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีระยะเวลากลางวัน - กลางคืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้เดือนรอมฎอนจะสิ้นสุด1 เดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นขอวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง เท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่หากไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง

เมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเป็นการเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่าวัน ‘วันอีฎิ้ลฟิตริ’

เดือนรอมฏอน นับว่ามีความสำคัญ ตามบัญญัติของศาสนา 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือเรียกว่า "การถือบวช" คล้ายกับการถือศีล 5 ของชาวพุทธ แต่ศีลอดของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติศีลนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

อ้างอิง: สำนักสารสนเทศ กอ.รมน.ภาค 4 สน. / สสส. / สำนักจุฬาราชมนตรี / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

‘โรงเรียนพรตพิทยพยัต’ ให้นักเรียนไว้ทรงผมตามเพศวิถีได้ เพศวิถีชาย-ผมสั้น เพศวิถีหญิง-ผมยาว แต่ต้องดูเรียบร้อย

เมื่อวานนี้ (11 มี.ค. 67) ‘โรงเรียนพรตพิทยพยัต’ ประกาศเรื่องให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมตามเพศวิถีได้ ผ่านเพจ ‘โรงเรียนพรตพิทยพยัต Protpittayapayat School’ โดยระบุว่า…

“ประกาศโรงเรียนพรตพิทยพยัต 

เรื่อง การไว้ทรงผมตามเพศวิถี

>> นักเรียนชาย และเพศวิถีชาย สามารถไว้ผมสั้นได้ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย

>> นักเรียนหญิง และเพศวิถีหญิง สามารถผมยาวได้ แต่ให้รวบผมและมัดโบสีตามระดับชั้นให้เรียบร้อย”

กระบี่-นักบินกรมฝนหลวง ดับไฟป่าเขาปากเบนวันที่สอง สามารถสกัดจุดใหญ่ไม่ให้ไฟลุกลามได้มาก ลุยต่อปฏิบัติการพรุ่งนี้อีกวัน

วันนี้ ( 11 มีนาคม 2567 )  นักบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกปฏิบัติการดับไฟป่าภูเขาปากเบน ม.4 บ้านน้ำโครมโครม ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ เป็นวันที่ 2   โดยมีนายสมปราชญ์ ปราบสงคราม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ลงพื้นที่ติดตามปฏิบัติการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอเมืองกระบี่ สถานีควบคุมไฟป่า ท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นต้น  โดยจากการประเมินสถานการณ์ พบว่า บริเวณไฟป่าไหม้อยู่ที่ด้านทิศตะวันออกมีกลุ่มควัน เป็นจุด ๆ ประมาณ 5 จุด ด้านทิศใต้มีกลุ่มควัน1จุด ด้านทิศตะวันตก ด้านบ้านท่าทองหลางบริเวณจุดเดิมที่มีไฟไหม้บนภูเขาได้มีกลุ่มควันขึ้นมาอีก ซึ่งน่าจะมีการลุกลามของเชื้อไฟ โดยลักษณะไฟไหม้ป่าภูเขาหินปูนความสูงชัน 90 องศา เป็นไฟผิวดิน ไม่รุนแรง ลุกไหม้ตามยอดภูเขา แต่มีการลุกลามจำนวนหลายจุด  และในวันนี้ เจ้าหน้าที่ปกครองในพื้นที่ตำบลเขาทอง ได้ร่วมสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลเขาทองแหล่งใหม่ เพื่อลดระยะทางในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งใช้น้ำในสระน้ำบ้านคลองกรวด หมู่ที่ 6 ตำบลเขาทองเป็นแหล่งน้ำในการดับไฟ แทนแหล่งเดิมที่อ่างเก็บน้ำเขาค้อม ที่มีระยะทางไกลกว่า 

โดยนักบินกรมฝนหลวง เริ่มปฏิบัติการภารกิจโปรยน้ำเวลา 11.00 น. ในทิศตะวันตก บ้านคลองกรวด ได้จำนวน 1 เที่ยวบิน แต่มีปัญหาอุปสรรคไม่สามารถปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าต่อได้ เนื่องจากวาล์วปิด – เปิดถังดับน้ำหล่นหายในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องวางแผนหาอุปกรณ์ทดแทน และเริ่มปฏิบัติการอีกครั้งในเวลา 15.20 น รวมตักน้ำดับไฟได้จำนวน 18 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 500 ลิตร ได้ปริมาณน้ำ จำนวน 9,000 ลิตร และหยุดปฏิบัติภารกิจ เวลา 16.55 น ผลการปฏิบัติการสามารถดับไฟป่าได้จำนวน 2 จุดในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลเขาทอง ซึ่งสามารถสกัดไฟไม่ให้ลุกลามได้เป็นอย่างมากในบริเวณที่ลุกลามช่วงกลางวันของวันนี้  ส่วนเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าในระดับพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเขาทองและอบต.เขาทอง ก็ยังได้จัดเวรยามเตรียมพร้อมเฝ้าระวังไฟลุกลามตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย  และในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.67) จะมีการปฏิบัติการดับไฟป่าต่อเป็นวันที่สาม 

สำหรับไฟไหม้ป่าบริเวณเขาปากเบน เกิดไฟไหม้ป่ามาตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม โดยขยายลุกลามกินพื้นที่ไปแล้ว กว่า 100 ไร่ พบผลกระทบฝุ่นปกคลุมพื้นที่หมู่ที่ 1,2,6 ตำบลเขาทอง และหมู่ที่ 2 ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ และเนื่องจากเป็นพื้นที่เทือกเขาสูงชัน ทำให้การดับไฟป่าเป็นไปได้ยากและใช้เวลาหลายวัน...

กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน  

'ผบช. ตชด' สั่งวาง 4 มาตราการเข้ม แนวตะเข็บชายแดนพื้นที่ ภ.7 เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ทุกรูปแบบ เร่งขานรับนโยบาย 'สร.1- ผบ.ตร.'

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจชายแดน ถนนพหลโยธิน พล.ต.ท.ยงเกียรติ มนปราณีต ผบช.ตชด. เปิดเผยว่าได้มีคำสั่งเป็นวิทยุในราชการฯด่วนที่สุด ถึงผู้รับปฏิบัติ ผกก.ตชด.13,14,33,34,41 ผู้รับทราบ ศปก.ตร., รอง ผบช.ตชด.,ศปก.ตชด., ผบก.ตชด.ภาค 1,3,4

คำสั่งดังกล่าวมีใจความระบุว่า (1.)อ้างถึง แผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของ บช.ตชด. เพื่อให้หน่วยปฏิบัติในสังกัดใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ นั้น    

(2.) ตามข้อ 1 ด้วยในห้วงเดือน ก.พ.67 นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ ผบ.ตร. ติดตามการทำงานของ ภ.7 พื้นที่ จว.กาญจนบุรี ในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด โดยเฉพาะยาเสพติด และแรงงานผิดกฎหมาย ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศ เพื่อนบ้านมีความไม่สงบ ทำให้เกิดการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก  

(3.)เพื่อให้การปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ บช.ตชด. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงกำชับการปฏิบัติ ดังนี้ -กำชับกำลังพลทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจ ,จุดสกัดต่างๆ โดยเฉพาะชุดเฝ้าตรวจชายแดน (ชฝต.)ให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เคร่งครัด เพื่อระมัดระวังและป้องกันปราบปรามการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง
โดยเฉพาะตามช่องทางธรรมชาติ

เพิ่มความเข้มในการลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจ,จุดสกัด ตามช่องทางเข้า-ออก ตามแนวชายแดน ช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามต่างๆ ทั้งในเส้นทางหลัก และเส้นทางรอง เพื่อป้องกันและสกัดอั้นการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง

ขี้แจง ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับผลกระทบและบทลงโทษตามกฎหมายที่เกิดจากการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง
รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว

การรายงานผลการปฏิบัติกรณีที่มีเหตุสำคัญเร่งด่วนในเขตพื้นที่รับผิดของหน่วย ให้รายงาน ผบช.ตชด.และ รอง ผบช.ตชด. ที่รับผิดชอบตามสายงานทราบ ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่เร็วที่สุด และให้รายงานเหตุเบื้องต้นเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ บช.ตชด.ผ่าน ศปก.ตชด.)  ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุม กำกับ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ
การกระทำความผิดในการลักลอบลำเลียงยาเสพติด, การลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง หรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด หากตรวจพบว่ากระทำความผิดให้ดำเนินการทางวินัยและอาญาโดยทันที

(4.) จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด คำสั่งดังกล่าวระบุ

รำลึก 'มณเฑียร บุญตัน' ผู้ขับเคลื่อนโอกาสแก่ 'คนพิการ-ผู้คนในสังคม' เปลี่ยนความเวทนา เป็นความศรัทธาว่า "ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน"

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 67 ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งข้อความผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ว่า 'มณเฑียร บุญตัน' สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน บรรดาผู้คนในภาคสังคมต่างก็ออกมาร่วมไว้อาลัย เสียใจ ถึงการสูญเสียผู้สร้างคุณูปการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิความเสมอภาคให้กับคนพิการ และผู้คนในสังคมในสังคมไทยมาโดยตลอด

นั่นก็เพราะ อ.มณเฑียร เป็นผู้ที่มีความชัดเจนในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช่เฉพาะการขับเคลื่อนแค่คนพิการ แต่ทุกคนในสังคมก็ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ อ.มณเฑียร ขับเคลื่อน ผลักดันร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป้องกัน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในสังคม 

โดย อ.มณเฑียร ได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาคประชาชน และกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นในช่วงหลังมานี้ เพื่อที่ต้องการอยากเห็นกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นกฎหมายกลางให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน 

และที่ผ่านมา อ.มณเฑียร ได้ตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ หลายครั้งเพื่อให้ทุกส่วนได้เข้าใจ และเห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ อ.มณเฑียร ยังมีส่วนช่วยทำงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ถึงขั้นที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้มอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่อง ในฐานะบุคคลที่เป็นผู้เชื่อมสัมพันธไมตรี และทำคุณประโยชน์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น กันเลยทีเดียว (เมื่อ 22 มี.ค.64 ) 

แม้วันนี้ท่านจะจากไป แต่คุณประโยชน์ที่ท่านทำไว้ต่อคนพิการ และผู้คนอื่น ๆ เป็นพลัง ที่มอบวิถีที่จะให้ผู้สานต่อได้ขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้กับสังคมภายใต้ปณิธานต่าง ๆ ที่ท่านวางเอาไว้ก็จะได้รับการสานต่ออย่างแน่นอน

ทุกวันนี้ ท่านได้เปลี่ยนความเวทนาคนพิการ เป็นความเชื่อแห่งสังคมเท่าเทียม ซึ่งเป็นความฝันสำคัญที่ท่านมองว่า สังคมควรจะเลิกมองคนพิการในเชิงเวทนานิยม คือ เลิกสงสารและเลิกเวทนาคนพิการ แต่ให้มองคนพิการเป็นคน ๆ หนึ่งที่มีคุณค่าเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรจะต้องสานต่อความคิด ความเชื่อ และร่วมมือกันเพื่อทำให้สังคมมองคนให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

ในหนังสือพิมพ์สกุลไทย ฉบับที่ 2833 วันที่ 3 ก.พ. 2552 ได้เผยแพร่เรื่องราวน่าประทับของ อ.มณเฑียร บุญตัน ส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า…

“ผู้ที่เคยได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-mail จาก มณเทียร บุญตัน ย่อมต้อง เคยเห็นคำลงท้ายใต้ชื่อของเขา ซึ่งไม่ใช่คำว่า ‘สมาชิกวุฒิสภา’ หรือ ‘นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย’ แต่เป็น servant of the blind and the poorest ‘ผู้รับใช้คนตาบอดและผู้ยากไร้ที่สุด’ คำนิยามที่เขาใช้อธิบายสถานภาพของตัวเองในฐานะ ‘ผู้รับใช้’ สะท้อนทัศนคติที่น่าสนใจบางประการของสมาชิกวุฒิสภาผู้พิการทางสายตาท่านนี้ อาจจะมากกว่าตำแหน่งอันทรงเกียรติอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือฉายา ‘คนดีศรีสภา’ ในการตั้งฉายาของผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยคำถามที่ว่าชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในฐานะผู้พิการทางสายตา เหตุใดจึงเลือกที่จะเป็น ‘ผู้รับใช้’ สังคมแทนการเป็น ‘ผู้รับ’ จากสังคม? คำตอบของคำถามนี้ มีอยู่ในเรื่องราวทั้งชีวิตของเขา ทั้งภูมิหลัง แรงบันดาลใจ พลังของการเรียนรู้และสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยมอย่างที่โลกอันมืดมิดไม่อาจตีกรอบไว้ได้”

และในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนั้น อ.มณเฑียร ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องอุปสรรคของผู้พิการทางสายตา และการต่อสู้ไว้ว่า…

“ตั้งแต่เด็ก ๆ มาแล้วผมไม่ชอบคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ คำว่าผู้ใหญ่เป็นคำที่ผมแสลงหูมากที่สุด จนถึงทุกวันนี้เลยยนะครับ ตอนเด็ก ๆ ผมมักจะถูกขู่ว่าทำไมไม่เชื่อผู้ใหญ่ เวลาจะทำอะไรผู้ใหญ่ต้องมาก่อน เราเป็นเด็กต้องอ่อนน้อม ผมจะเป็นพวกที่...เฮ่ย ฝากไว้ก่อนเถอะ แล้วผมก็เป็นเด็กที่ชอบแกล้งผู้ใหญ่ด้วย ถ้าผู้ใหญ่ได้รับความอับอาย ผมสนุกมากเลย เป็นพวกรวมตัวกันกบฏต่อผู้ใหญ่เป็นประจำ ทำให้ผู้ใหญ่เสียหน้าเป็นความสุขของผม เพราะผมเป็นคนที่ไม่ชอบอำนาจไง ผมจะต้องอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจเสมอ ใครใช้อำนาจกับผม ผมก็ต้องตอบโต้ ด้วยวิธีแบบใดก็แล้วแต่ แต่ผมต้องเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจอยู่เสมอ”

อ.มณเฑียร กล่าวต่อว่า “ความด้อยโอกาสของคนตาบอดก็เหมือนกับการต่อสู้กับอำนาจ คืออำนาจของคนที่ไม่ต้องดิ้นรนมากก็มีการศึกษา ไม่ต้องดิ้นรนก็มีงานทำ แต่พวกเราต้องดิ้นรนมาก เหมือนกับว่าเราต้องต่อสู้กับฝ่ายที่มีอำนาจเหนือเรา เพราะฉะนั้นแรงขับของผมก็คือต้องเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจ อาจไม่ถึงขนาดล้มล้าง แต่ต้องอยู่ด้วยกันได้ เขาก็ต้องไม่สามารถมาขี่เราได้ ผมทำอย่างนี้ตั้งแต่คนในครอบครัวเลยนะครับ ถ้าใช้อำนาจกับผม ผมจะตอบโต้ทันที”

นอกจากนี้ อ.มณเฑียร บุญตัน ยังได้เล่าถึงแรงขับเคลื่อนในชีวิต และประโยคทองประจำใจของตนไว้ในหนังสือพิมพ์ สกุลไทย ฉบับที่ 2833 วันที่ 3 ก.พ. 2552 หน้าที่ 40 ว่า…

แรงขับเคลื่อนของผมคือครอบครัวของผม ที่ทำให้ผมเป็นนักสู้ พ่อของผมซึ่งเป็นนักสู้ กับคำพูดของแม่ที่ว่า ‘ใต้ฟ้านี้ไม่มีอะไรน่ากลัว’ ต่อมาคือครูของผม ‘คุณครูปราณี สุดเสียงสังข์’ ท่านเป็นคนตาบอด ท่านไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่ต้องไปสอนหนังสือที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2507 แล้วท่านต้องส่งเสียครอบครัวท่านจนถึงเกษียณ มันน่าเอาอย่างไหมล่ะครับ”

อ.มณเฑียร กล่าวต่อว่า “แล้วคนที่ผมได้เรียนรู้ประวัติทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นคนที่จุดประกายให้กับผมทั้งนั้นเลย อย่าง ‘อาจารย์เจเนวีฟ คอลฟิลด์’ ท่านเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งมาตั้งโรงเรียนคนตาบอดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในช่วงที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับอเมริกา คือความรักอันยิ่งใหญ่ ความไม่ยอมแพ้ของผู้หญิงตาบอดชาวอเมริกัน ซึ่งมาตั้งโรงเรียนในแผ่นดินศัตรู ฟังแล้วขนลุกไหมครับ” 

อ.มณเฑียร เล่าถึงที่มีของประโยคทองที่ใช้ในชีวิตประจำวันว่า “แล้วพอตอนที่ผมมาเรียนที่มงฟอร์ต ผมก็เจอครูอีกท่านหนึ่งชื่อ ‘มาเซอร์จิมมี่’ ท่านเป็นผู้ลี้ภัยชาวพม่า ท่านเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด แต่ท่านต้องมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่เชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ก็ให้บทเรียนกับผมว่าคนเรานี่มันต้องไม่ยอมจำนน ตอนผมสอบชิงทุนไปอเมริกาได้ ผมไปหาท่าน ท่านให้โอวาทผมสั้น ๆ ว่า “No Pain No Gain” ผมจำขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมมีประโยคทองอยู่สองประโยค ประโยคแรก คือที่มาเซอร์จิมมี่ให้ อันที่สองคือ “I have giving up on giving up” อันนี้ผมคิดขึ้นเอง ก็คือข้าเลิกล้มความคิดที่จะ
เลิกล้มความคิดโดยสิ้นเชิง หรือปฏิเสธการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง แต่ไม่ได้หมายความว่าเวลาเราแข่งขัน
เราจะไม่รู้จักแพ้ แต่หมายถึงว่าเราไม่รู้จักการยอมจำนน"

สำหรับ นายมณเฑียร บุญตัน เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2508 ปัจจุบันมีตำแหน่งในวุฒิสภา เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2551 - 2557 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557 - 2562

อีกทั้งยังเป็นผู้แทนคนพิการคนแรกในประเทศไทย และคนแรกในอาเซียนที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (UN-Committee Convention on the Rights of Persons with Disabilities-CRPD) วาระปี พ.ศ. 2556-2559

นอกจากนี้ ท่านยังเคยได้รับฉายา 'คนดีศรีสภา ปี 2551' จากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาอีกด้วย

ความจริงที่คนส่วนใหญ่ ยังเข้าใจผิด กับ ‘ย่านคนดำในนิวยอร์ก’ เมื่อหลายเชื้อชาติเข้ามามากขึ้น จนเมืองถูกพัฒนาไปในทางที่ดี

เมื่อไม่นานมานี้ จากยูทูบช่อง ‘Mara Mara In New York’ โดย คุณการ์ด ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ขณะสำรวจ ‘ย่านคนผิวสี’ หรือ ‘ย่านคนดำ’ (Harlem) ของมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อฉายภาพให้เห็นว่ามันจะอันตรายจริง ๆ อย่างที่เขาเล่าขานกันหรือไม่ และคนที่นี่จะเหยียดคนไทยหรือคนเอเชียอย่างเราหรือเปล่า ว่า…

มีคนเตือนมาว่า ย่าน ‘Harlem New York City’ ไม่น่าเที่ยว ไม่ต้องมา เพราะมันไม่มีอะไรที่น่าสนใจ แถมยังดูอันตรายด้วย แต่ความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ จะน่ากลัวจริงหรือเปล่า และผู้คนแถวนี้จะมีปฏิกิริยายังไงกับคนเอเชียอย่างเรา

หากเริ่มต้นกันที่ถนน W 125 ST ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของฮาเล็ม ก็จะมีร้านขายของเต็มไปหมด อย่างเช่น ร้านไก่ทอด Popeyes ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอยู่บ่อย ๆ หรือร้านขายวิก เพราะคนดำมักจะนิยมใส่อีกเช่นกัน ก็จะมีวิกหลากหลายรูปแบบให้เลือก หรือถัดมาก็จะมีห้างที่เหมือนเดอะมอลล์ในบ้านเรา ที่รวมสิ่งของหลาย ๆ อย่าง มีทั้งโรงหนัง ร้านขายขนม ร้านเสื้อผ้าอย่างแบรนด์ Old Navy ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่มีราคาย่อมเยาว์ สามารถจับต้องได้ ราคาไม่ได้แพงมาก หรือร้านเสื้อผ้าที่ขายอยู่ตามข้างทางก็จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาทเมืองไทย ส่วนคุณภาพเสื้อก็โอเคเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากที่ได้เดินมาก็รู้สึกได้ว่าไม่มีใครมองเราแบบว่า ไอ้เจ็กมาเดินอะไรอยู่แถวนี้…

นอกจากนี้ สิ่งที่ขึ้นชื่ออีกอย่างที่ฮาเล็มก็คือ เรื่องของดนตรีนั่นเอง อย่างพวก ฮิปฮอป ดนตรีแจ๊ส ที่ได้รับความนิยม แล้วก็มีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างจุดที่ได้มาสำรวจก็คือ ‘Apollo Theater’ ซึ่งถ้าให้ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1930 โรงละครแห่งนี้เป็นโรงละครแห่งเดียวเลยที่ให้มีการแสดงของคนชาวแอฟริกัน-อเมริกันมาแสดง โดยจะมีผู้ชมคอยให้คะแนนจากการแสดงนั้น พูดง่ายๆ ผลงานไหนจะดังหรือดับก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมล้วนๆ เลย

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีตึกที่ชื่อว่า Adam Clayton Powell Jr. ซึ่งเป็นตึกที่มาจากชื่อชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้รับเลือกจากนิวยอร์กเข้าสู่สภาคองเกรส และเป็นโฆษกประจำชาติด้านสิทธิพลเมืองและประเด็นทางสังคม และเป็นบุคคลสำคัญที่พัฒนาการเมืองในย่านฮาเล็ม ที่ทำให้ฮาเล็มในปัจจุบันมีความพัฒนา ซึ่งการที่ Adam Clayton Powell Jr. เป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้เข้าไปทำงานในเกี่ยวกับสภาของนิวยอร์ก ทำงานในวงการการเมืองของนิวยอร์ก ตัวเขาก็เลยมีความสำคัญ จนมีตึกชื่อของเขาขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์

จากที่ลองสำรวจคร่าวๆ แล้ว สิ่งที่รู้สึกได้จากย่านนี้ คือ ความเป็นมิตร เพราะจากที่ได้เห็นพบว่าผู้คนยิ้มแย้มทักทาย ไม่ได้รู้สึกว่ามีสายตาโกรธหรือโหดกับคนเอเชียแบบเรา ถ้าให้เทียบกับตอนที่ไป เดอะบร็องซ์ จะรู้สึกว่าอันนั้นดูไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไร เพียงแค่มองหน้ากันก็มีโกรธแล้ว 

นอกจากนี้ คุณการ์ด เจ้าของช่อง ก็ยังได้สัมภาษณ์คุณป้าใจดีท่านหนึ่งที่อาศัยอยู่แถวฮาเล็มมาแล้ว 20 ปี โดยคุณป้าระบุว่า “ในสมัยก่อนนั้นฮาเล็มไม่ได้เปิดกว้างมาก และไม่ได้มีความหลากหลายเหมือนปัจจุบัน มันเป็นเหมือนชุมชนของคนดำอย่างเดียวซะมากกว่า แต่ในปัจจุบันฮาเล็มมีคนมาอยู่อาศัยหลากหลายเชื้อชาติ และต่างคนก็ต่างใช้ชีวิตของตนเอง”

ต่อมาคุณป้าได้ตอบคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการเหยียดคนเอเชียว่า “คนชอบมาถามว่าอยู่แถวนี้ปลอดภัยไหม? แน่นอนมันปลอดภัย ซึ่งคนขาวสามารถวิ่งออกกำลังกายแถวนี้ได้ แต่ถ้าเป็นแต่ก่อน คนขาววิ่งแถวนี้ไม่ได้เลย และคนส่วนใหญ่ก็กลัว เพราะแต่ก่อนยาเสพติดมันเยอะ อาชญากรรมก็เยอะ คนโดนปล้น โดนขโมยของเป็นประจำ แต่ปัจจุบันนี้มันปลอดภัยแล้ว ถ้าเทียบกับยุค 80 หรือ 90 เพราะรัฐบาลเข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเลย…”

ดังนั้นฮาเล็มในวันนี้ จึงไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป…เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ส่วนหนึ่งก็คงเพราะด้วยความที่หลายๆ เชื้อชาติได้เข้ามาอาศัยอยู่ในฮาเล็มมากขึ้น ก็เลยทำให้ชุมชนตรงนี้มีความหลากหลาย แล้วก็เกิดการพัฒนาไปตามกาลเวลาในทางที่ดีขึ้น อย่างพวกยาเสพติดหรือการปล้นอะไรพวกนี้ ก็ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

คุณการ์ด พาทัวร์ต่อ โดยเธอพาไปร้าน Sylvia’s Restaurant ซึ่งที่มาของชื่อมาจาก Queen of Soul food ที่เป็นเจ้าของของที่นี่ โดยอาหาร Soul Food เป็นคำที่ใช้เรียกอาหารของชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งเป็นอาหาร Style Home Cook ภายใต้การตกแต่งในร้านที่ดูเรียบง่ายไม่หวือหวา ประกอบด้วยรูปภาพตามกำแพงที่เป็นรูปในอดีตของคุณซีเรีย และก็มีรูปของคนดังหลายคนที่มาทานที่ร้าน หรือแม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็มากินที่นี่

หลังจากนั้น เธอได้พาไปต่อกับ ย่านฮาเล็มฝั่งตะวันออก (East Harlem) ซึ่งเป็นย่านหนึ่งที่ผู้มีรายได้น้อยมักอยู่อาศัยกันเยอะ ซึ่งหลายๆ คนบอกว่าเป็นย่านที่อันตราย แต่พอได้ลองมองดูจริงๆ แล้ว ย่านนี้ดูเหมือนจะเงียบสงบ ไม่ได้มีอะไรที่ดูน่ากลัว และผู้คนก็อยู่อาศัยกันตามปกติ รวมถึงยังมีร้านขายของ ผู้คน ใช้ชีวิตกันตามปกติ ภายใต้การดูแลของตำรวจที่อยู่ข้างทางคอยดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้ คุณการ์ด ได้เล่าอีกว่า จากข้อมูลของ ‘NBC News’ Professor Janelle Wong จาก University of Maryland ได้ทำการศึกษาเคสที่คนเอเชียถูกทำร้ายหรือถูกบูลลี่ ซึ่งวิเคราะห์จากวิดีโอ กล้องวงจรปิด หรือคลิปเสียงทั้งหลาย ค้นพบว่า 75% ผู้ก่อเหตุเป็น ‘คนผิวขาว’ ซึ่งจะเห็นได้จากคลิปที่คนขาวชอบไล่คนเอเชียให้ออกนอกประเทศไปเสียมาก

ทว่า ทำไมคลิปวิดีโอส่วนใหญ่ที่เราเห็น ถึงมีแต่คลิปที่เป็นคนผิวสีทำร้ายร่างกาย ซึ่งคุณการ์ด เล่าว่า เพราะคลิปวิดีโอส่วนใหญ่ที่เราเห็น ได้มาจากย่านที่เป็นเหมือนคนรายได้ไม่สูงรวมตัวกันอยู่ ซึ่งย่านเหล่านี้ ก็มักจะมีคนผิวสีอาศัยอยู่เยอะ แล้วมันก็ถูกจับจ้องด้วยกล้องวงจรปิดเยอะเป็นพิเศษ ทำให้มีพวกข้อมูลด้านความรุนแรงหลุดออกมาเยอะนั่นเอง…

รู้จัก ‘กมลพรรณ’ จิตอาสาผู้รักและหวงแหนผืนป่า  สู่เจ้าหน้าที่ตัวจริงของอุทยานเขาคิชฌกูฏ

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ โพสต์ข้อความแนะนำ ‘กมลพรรณ วงค์วิจิตร์’ เจ้าหน้าที่ตัวจริงของอุทยานเขาคิชฌกูฏ ผู้มีจิตใจรักและหวงแหนผืนป่า โดยระบุว่า…

พามารู้จัก ‘น้องกมลพรรณ’ อดีตผู้เข้าร่วมโครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ สู่เจ้าหน้าที่ตัวจริงของอุทยานเขาคิชฌกูฏในปัจจุบัน

นางสาวกมลพรรณ วงค์วิจิตร์ ได้เข้าร่วมโครงการนักเรียน นักศึกษาช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ เมื่อปีงบประมาณ 2557 ขณะนั้นศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ หลังจบโครงการฯ น้องเข้าศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะศิลปศาสตร์​ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นเข้าทำงานที่ จ.เชียงใหม่ เป็น Operator ของบริษัทเอกชน 5 ปี ก่อนมาทำงานที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ตำแหน่ง พนักงานธุรการ

และเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 67 ได้มีแถลงข่าวตัวโครงการนักเรียน นักศึกษาช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ กมลพรรณ วงค์วิจิตร์ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและเส้นทางก่อนจะได้เป็นมาเจ้าหน้าที่ของอุทยานเขาคิชฌกูฏว่า…

"โครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ เป็นโครงการที่ดี นอกจากจะได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แล้วยังสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำงานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย พี่ ๆเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใจดี ตนรู้สึกอบอุ่นใจ ช่วงนั้นก็ได้ทำงานหลายอย่างเพราะพี่ ๆ อยากให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติไปด้วย ทั้งงานบริการ งานเอกสาร งานปรับปรุงภูมิทัศน์ เรียกได้ว่าช่วยแบ่งเบางานของพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ หลังจบโครงการก็กลับไปศึกษาต่อจนจบ และก็ได้ทำงานในบริษัทเอกชน ก่อนกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดจันทบุรี” 

“ต่อมาอุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฏรับสมัครงาน จึงเข้ามาสมัครงาน พอได้เข้ามาทำงานก็ได้นำประสบการณ์จากที่เคยช่วยงานกับอุทยานฯ ในครั้งนั้นมาปรับใช้ในการทำงาน สิ่งที่แตกต่างจากครั้งนั้นคือได้รับผิดชอบงานเฉพาะทางมากขึ้น แต่ที่นี่ยังอบอุ่นเหมือนเดิมค่ะ" กมลพรรณ กล่าว

เชียงใหม่-ชุด“แรด” หนึ่งเดียวในไทย”soft power “ limited edition สวนสัตว์เชียงใหม่

มาแล้วชุด“แรด” หนึ่งเดียวในไทย”soft power “ limited edition สวนสัตว์เชียงใหม่ ใส่ต้อนรับสงกรานต์ นี้ รายได้ส่วนหนึ่งจะนำบริจาคทำบุญเป็นค่าอาหารสัตว์สวนสัตว์เชียงใหม่

นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ขานรับกิจกรรม“soft power” โดยได้ให้ผลิตเสื้อผ้าชุดลำลอง คลายร้อน เป็นเสื้อเชิ้ตคอฮาวาย กางเกงขาสั้นแบบสุภาพ ใส่สบาย สวยน่ารัก หล่อเท่ห์  ต้อนรับสงกรานต์ โดยเสื้อและกางเกงเนื้อผ้าพื้นสีครีมโอรส พิมพ์ลายด้วยทองกวาวสีแสด ดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และพิมพ์ลายตัวกาลิแรดอินเดียที่มีอยู่หนึ่งเดียวประเทศไทย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่สกรีนลายและตัดเย็บโดยช่างมืออาชีพติดกระดุมกะลาแท้ 

เบื้องต้นนี้ ผู้ประกอบการได้ผลิตและจำหน่าย จำนวนทั้งสิ้น 800 ชุดๆ ละ 399.-บาทเท่านั้น ได้ทั้งเสื้อและกางเกง ทุกชุดของการสั่งซื้อรายได้ส่วนหนึ่งจะนำบริจาคทำบุญเป็นค่าอาหารสัตว์สวนสัตว์เชียงใหม่ อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถเข้าไปได้ที่ Facebook สวนสัตว์เชียงใหม่ และสั่งจองได้ที่ ช่องทาง link https://cmzcollectionbywarinn.page365.net หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง Line :    https://lin.ee/ezu1Guo  สั่งตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2567  รับสินค้าได้ภายใน10 เมษายน 2567 ก่อนสงกรานต์ ใส่ปีใหม่เมือง แน่นอน

นภาพร/เชียงใหม่

“เชียงราย”ทัพเจ้าตากปะทะเดือดกลางป่าชายแดนแม่ฟ้าหลวงตรวจยึดยาบ้าจำนวน1,600,000 เม็ด”

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 เวลา 19.30 นาฬิกา กองกำลังผาเมือง โดย หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก จัดกำลังพลจาก กองร้อยทหารม้าที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 ปฏิบัติภารกิจ เฝ้าตรวจ เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการกระทำผิดตามแนวชายแดน บริเวณ บ้านปูนะ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ตรวจพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ประมาณ 7 - 8 คน เจ้าหน้าที่ จึงได้แสดงตัวเพื่อขอทำการตรวจค้น แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดยิงใส่ฝ่ายเรา  และเกิดการปะทะกันประมาณ 5 นาที ฝ่ายเราปลอดภัย เนื่องจากเป็นห้วงเวลากลางคืน ทำให้ ไม่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้ จึงได้จัดกำลังเพิ่มเติม จำนวน 2 ชุดปฏิบัติการ วางกำลังควบคุม พื้นที่เกิดเหตุ เพื่อรอการพิสูจน์ทราบเมื่อสามารถตรวจการณ์ได้

จนกระทั่งเมื่อเวลา 06.30 นาฬิกา ของวันที่ 11 มีนาคม 2567 จึงได้จัดกำลัง เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจพบเป้สะพายหลังดัดแปลง จำนวน 8 เป้ ภายในบรรจุยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) รวมจำนวนประมาณ 1,600,000 เม็ด

ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 นาฬิกา พันเอก มีชัย  นิลศาสตร์ รองผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง พร้อมด้วย กองบังคับการควบคุมผาแด่น หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้นำของกลางทั้งหมดส่งให้กับสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

สันติ วงศ์สุนันท์/ผู้สื่อข่าวเชียงราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top