Tuesday, 23 April 2024
TODAY SPECIAL

17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ รำลึกถึง ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบง

17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึง การจากไปของ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบงที่เสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติก

วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 

โดยในที่ประชุมครั้งนั้น ยังมีมติเห็นชอบแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน การดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน การจัดการท่องเที่ยว/ประมงเพื่อลดการรบกวนพะยูน การจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิต การสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากและศูนย์เรียนรู้ฯ และการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์พะยูน

16 สิงหาคม พ.ศ.2520 ‘เอลวิส เพรสลีย์’ ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์ เสียชีวิตกะทันหันด้วยวัยเพียง 42 ปี

ครบรอบ 45 ปี การจากไปอย่างกะทันหันของ เอลวิส เพรสลีย์ นักร้องดังที่รู้จักกันดีในฉายา ‘ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์’ 

เอลวิส เกิดที่เมืองทูเพอโล รัฐมิสซิสซิปปี เมื่ออายุได้ 13 ปีครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เริ่มต้นอาชีพนักร้องที่เมืองนี้ในวัย 19 ปีแซม ฟิลลิปส์ เจ้าของค่ายซันเรคคอร์ดส์เห็นหน่วยก้านและความสามารถ จึงปลุกปั้นให้ เอลวิส นำเพลงของคนผิวดำ(อเมริกันแอฟริกัน)มาขับร้องในลีลาใหม่ เพื่อขยายฐานคนฟังให้กว้างขวางมากขึ้น โดยได้นักดนตรีฝีมือดีมาร่วมงานเช่นมือกีตาร์ สก็อตตี้ มัวร์และมือเบส บิล แบล็ค

เพลงที่ เอลวิส เพรสลีย์ นำเสนอในช่วงแรก จะผสมผสานจังหวะแบบอัปเทมโป แบ็คบีตของคนผิวดำ คลุกเคล้าให้เข้ากับการร้องและเอื้อนเสียงแบบเพลงคันทรีและริธึ่มแอนด์บลูส์ ต่อมา เอลวิส เซ็นสัญญากับค่ายเพลงอาร์ซีเอ วิกเตอร์ โดยมีผู้จัดการส่วนตัวคือผู้พัน ทอม พาร์คเกอร์ มีซิงเกิลแรก ออกขายในเดือนมกราคม ปี 1956 “Heartbreak Hotel” ซึ่งสามารถขึ้นไปติดอันดับ 1 ของชาร์ตจัดอันดับเพลงดังของยุคนั้น

เอลวิส ออกโทรทัศน์รายการ Stage Show ของช่อง CBS เมื่อ 16 มกราคม 1956 ความโด่งดังของ เอลวิส ทำให้มีโอกาสออกโชว์ตัว ทางเครือข่ายสถานีโทรทัศน์หลายครั้ง มีเพลงฮิตติดอันดับ 1 มากมาย เพลงของ เอลวิสเต็มไปด้วยพลัง ความแปลกใหม่ ฟังแล้วเร้าใจ ใครที่ได้ฟังมักจะอดห้ามใจไม่ได้ ต้องโยกย้ายส่ายเอวตามจังหวะเพลงทุกที เป็นที่มาของการ “โยก และ คลึง” หรือ ร็อก แอนด์ โรล ซึ่งเป็นอิทธิพลจากเพลงของเอลวิส ในยุคนั้น ต่อมาจึงมีการเรียกขานแนวดนตรีแบบใหม่ ที่นำเสนอโดย เอลวิส ว่าดนตรีแบบ ร็อกแอนด์โรล ความโด่งดังของเอลวิส ทำให้มีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยผลงานเรื่องแรก ที่ เอลวิสได้ร่วมแสดงคือภาพยนตร์เรื่อง Love Me Tender

วันที่ 15 สิงหาคม 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ถนนราชดำเนิน ถนนสายหลักกลางเมืองหลวงที่ทุกคนล้วนรู้จักกันดี  ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 เมื่อกลับมาจึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพระนครตามแบบยุโรปด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้น และพระราชทานนามว่า ถนนพระราชดำเนิน

โดยแบ่งถนนราชดำเนิน เป็น 3 ช่วง คือ ราชดำเนินนอก, ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน
                - ถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่พระบรมมหาราชวัง ไปจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา
                - ถนนราชดำเนินกลาง สร้างหลังจากถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา มีความยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร
                - ถนนราชดำเนินนอก เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เขตดุสิต

 

14 สิงหาคม พ.ศ.2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการ หลังพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปีที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่าสองล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน

13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 โศกนาฎกรรม ‘ร.ร.รอยัลพลาซ่า’ ถล่ม คร่าชีวิตผู้คน 137 ราย เจ็บกว่า 300 คน

วันนี้ เมื่อ 29 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่า อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถล่ม เกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.12 น. ของวันที่ 13 ส.ค. 2536 

สำหรับโรงแรมรอยัลพลาซ่า ในอดีตตั้งอยู่ระหว่างถนนจอมสุรางค์และถนนโพธิ์กลาง สามารถเข้า-ออกได้ 2 ทาง ในขณะเกิดเหตุนั้น ภายในโรงแรมมีการเปิดอบรมสัมมนาอยู่ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 400 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 47 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมและพนักงานโรงแรม จนเมื่อเวลา 10.12 น. อาคารโรงแรม 6 ชั้น ที่ต่อเติมใหม่ได้พังถล่มลงมา

เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหลายหน่วยงาน ได้ร่วมค้นหาผู้รอดชีวิตภายใต้ซากตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ ต้องระดมความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับสาเหตุของตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มนั้น เกิดจากการก่อสร้างต่อเติมจากสถานบันเทิงเก่าจากอาคาร 3 ชั้น เป็นโรงแรม 6 ชั้น โดยมีห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ไม่เป็นตามหลัก พรบ.ควบคุมอาคาร ทำให้เสาคานรองรับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว

๑๒ สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ทรงเป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนราชินี ก่อนที่จะย้ายไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ต่อมาพระบิดาต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตยังประเทศอังกฤษ จึงทรงตามเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมา ทรงได้เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ซึ่งทรงเสด็จประพาสกรุงปารีส จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพระราชสัมพันธ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 จึงได้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม ก่อนที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 วันเกิด ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ พี่ใหญ่แห่ง ‘บูรพาพยัคฆ์’ และ ‘พี่น้อง 3ป.’

11 สิงหาคม เป็นวันคล้ายวันเกิด ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หรือ บิ๊กป้อม พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ และ พี่น้อง 3ป. หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นทหารบกและนักการเมืองชาวไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างปี 2551 ถึง 2554 และ 2557 ถึง 2562 ผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2547 ถึง 2548, หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบัน อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ชื่อว่าเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์และกลุ่มพี่น้อง 3ป. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นบุตรของ พล.ต. ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ และสายสนี วงษ์สุวรรณ มีพี่น้องร่วมกัน 5 คน ได้แก่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ และพันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ

10 สิงหาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ เชิดชูเกียรติผู้ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขชาวบ้าน

วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี คือ ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.5 ที่ทรงได้พระราชทานกำเนิดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก) ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 10 สิงหาคม 2435 จึงถือได้ว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2435 เป็นวันที่มีการจัดตั้ง สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านและเป็นการเน้นให้เห็น ความสำคัญของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชน ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน”

สถาบันกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับประชาชน และยังเป็นกลไกที่สําคัญของรัฐ กํานันและผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2557 โดยกําหนดให้กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ทําหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นหัวหน้าราษฎรในตําบล หมู่บ้าน มีอํานาจหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎร สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในตําบล หมู่บ้าน และการประสานหรืออํานวยความสะดวกแก่ราษฎรในการติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของราษฎรในตำบลหมู่บ้าน แจ้งต่อหน่วยงานของรัฐ รวมทั้ง ให้การสนับสนุน ส่งเสริมการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานของทางราชการทุกกระทรวง กรม องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชน และหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย 

9 สิงหาคม พ.ศ. 2517 ริชาร์ด นิกสัน ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 37 ลาออกจากตำแหน่ง หลังพัวพัน ‘คดีวอเตอร์เกต’

วันนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน ริชาร์ด นิกสัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่สภาจะลงมติถอดถอน เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องใน “คดีวอเตอร์เกต”

ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา อยู่ในตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2512 – 2517 และเคยเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 36 ระหว่างปี พ.ศ. 2496 – 2504 ริชาร์ด นิกสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวที่ลาออกจากตำแหน่ง สาเหตุที่ลาออกนั้นเกิดจากคดีวอเตอร์เกต

สำหรับคดีวอเตอร์เกต นับเป็นคดีที่สั่นสะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันต่อประธานาธิบดีมากที่สุด เพราะมันทำลายภาพทุกอย่างสหรัฐพยายามสร้างขึ้นมา ตั้งแต่บทบาทตำรวจโลก แนวคิดที่ยึดมั่นในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และระบบการปกครองแม่แบบของประเทศประชาธิปไตย ทั้งหมดที่ว่านี้กลายเป็นภาพจอมปลอมเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ผู้ชื่อว่าทำประโยชน์ต่อชาติอเมริกามากที่สุดผู้หนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว คือคนที่ใช้วิธีสกปรกเพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้ง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น บิดเบือนซุกซ่อนข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด และเมื่อคดีแดงขึ้น คดีนี้จึงกลายเป็นแผลใจของชาวอเมริกันไปตลอด

คดีวอเตอร์เกตมีจุดเริ่มต้นที่โรงแรมวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1972 ช่วงนั้นเป็นเวลากลางคืนและเจ้าหน้าที่โรงแรมได้สังเกตเห็นสิงผิดปกติในที่ทำการพรรคเดโมแครตจึงโทรเรียกตำรวจ ส่งผลสามารถจับกุมผู้ต้องหา 5 คนได้พร้อมของกลาง ผู้ต้องหาเหล่านี้ประกอบด้วย เบอร์นาร์ด บาร์เกอร์,  เวอร์จิลิโอ กอนซาเลซ, ยูจินิโอ มาร์ติเนซ, เจม แม็คคอร์ด  และแฟรงค์ สเตอร์กิส (Frank Sturgis) โดยก่อนหน้านี้กลุ่มคนร้ายเคยแอบเข้าในออฟฟิศแห่งนี้แล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ ก่อนจะถูกจับ

เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดต่อมาตำรวจจึงพบว่าบรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ไม่ใช่โจรกระจอก เพราะแต่ละคนต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ) โดยชายทั้ง 5 ได้รับคำสั่งให้บุกเข้าไปขโมยข้อมูลที่พรรคเดโมแครต ซึ่งเตรียมไว้เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่แข่งกับริชาร์ด นิกสัน เจ้าของตำแหน่งเดิม ในตัวผู้ต้องหาคนหนึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว และในบัญชีของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง มีเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐที่ขึ้นด้วยแคชเชียร์เช็คประทับตรา นอกจากนั้น เอฟบีไอยังเจอบันทึกมีชื่อย่อซึ่งอาจหมายถึงทำเนียบขาวก็ได้ เช่น W.House และ W.H (White House)

ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภาสหรัฐจึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตขึ้นจากการสอบสวนได้พบว่าในสมุดโน้ตของ เจม แม็คคอร์ด มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจาก นี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่าเขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ

ต่อมาแฟรงค์ วิลส์ ยามรักษาความปลอดภัยประจำส่วนที่เป็นสำนักงานของโรงแรมพบว่ามีเศษเทปติดอยู่ที่ประตูห้องใต้ดินของอาคารส่วนที่เปิดไปโรงรถซึ่งทำให้ประตูไม่ได้ล็อก ตอนแรกเขาคิดว่าคนทำความสะอาดอาจจะลืมไว้จึงดึงออกแต่เมื่อกลับมาดูอีกครั้งก็พบว่ามีเทปติดอยู่อีกวิลส์จึงติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจวอชิงตัน ดี.ซี.

แต่กระนั้นการสอบสวนของเอฟบีไอก็ไม่ได้ราบรื่นมากนักเพราะถูกซีไอเอคอยดึงเรื่องและขัดขวาง เหมือนกับว่าต้องการให้เอฟบีไอไขว้เขวและวางมือ ในช่วงปี ค.ศ. 1972 ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับเอฟบีไอมีมากยิ่งขึ้นและดูเหมือนทุกอย่างจะมาถึงทางตันเสียแล้ว ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 38 ปรากฏว่า นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1972 ด้วยคะแนนท่วมท้น ระหว่างนั้นเอง ดีพ โธรท (Deep Throat) ซึ่งเป็นนามแฝงของ มาร์ค เฟลท์ (Mark Felt) ก็ปรากฏตัวขึ้น ดีฟ โธรท อ้างตนว่าเป็นแหล่งข่าวลับที่พร้อมจะแฉคดีนี้ โดยเขาหวังว่าจะขยายความคดีวอเตอร์เกต เขาจะคอยชี้ให้ว่าข้อมูลชิ้นไหนสำคัญชิ้นไหนไม่เกี่ยว ทำให้ข่าวได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เป็นประจำ

โดยมีบ็อบ วู้ดเวิร์ด และคาร์ล เบิร์นสไตน์ สองนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ เป็นผู้เปิดโปงคดีวอเตอร์เกต การขุดคุ้ยและเปิดโปงเรื่องต่อเนื่องจากคดีวอเตอร์เกตของวู้ดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์ดำเนินไปนานนับเดือนสร้างแรงกดดันต่อทำเนียบขาวขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ทางการก็โกรธเกรี้ยวต่อ ดีพ โธรท มากขึ้นรุนแรงขึ้นแต่ ดีพ โธรท ก็ยังเพิ่มระดับการช่วยเหลือไปถึงขั้นเริ่มให้ข้อมูลชี้นำและเบาะแสที่จะนำไปสู่การเผยความจริงว่ามีการรู้เห็นสมรู้ร่วมคิดกันปกปิดความลับในทำเนียบขาว แน่นอนถ้าคดีนี้เป็นเรื่องจริงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสกปรกมากในเรื่องของผู้นำที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดและด้วยความกลัว นิกสันจึงบีบให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวต้องลาออกและไล่ที่ปรึกษาจอห์น ดีน ออกด้วย

วันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น ‘วันแมวโลก’ โดยถูกกำหนดขึ้นมาในปี พ.ศ.2545 เพื่อกระตุ้นความเข้าใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับแมวโดยเฉพาะ

โดยวัน International Cat Day หรือวันแมวโลกนั้นถูกกำหนดขึ้นมาโดย International Fund for Animal Welfare หรือ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิการสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป้าหมายหลักคือเพื่อกระตุ้นความเข้าใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับเจ้าสัตว์ตัวน้อยนี้

เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งในยุโรป แมวถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ อีกทั้งถูกมองว่าเป็นพาหะนำโรค จนทำให้แมวจำนวนมากถูกฆ่าตายในยุคนั้น เลยต้องมีการปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top