Saturday, 20 April 2024
TODAY SPECIAL

23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เป็นวันเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างเป็นทางการวันแรก

“รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link)” หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันต้นสถานีของ ARL คือ พญาไทและปลายสถานี คือสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้ระยะเวลาการเดินทาง 25 นาที

วันนี้ เมื่อ 80 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิงเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2485 กรมยุทธศึกษาทหารบก (ร.ร.จปร.) ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิง โดยประกาศด้วยใบปลิว ทางหนังสือพิมพ์ และทางวิทยุกระจายเสียง และได้เริ่มเปิดรับสมัคร ณ ที่ว่าการกรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2485 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2485

สำหรับคุณสมบัติสำคัญของผู้สมัครมีดังนี้

1. สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า

2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 24 ปีบริบูรณ์ การนับอายุถือตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร

3. มีนามตัว นามสกุล และสัญชาติเป็นไทย ทั้งบิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด

4. มีอัธยาศัยและความประพฤติเรียบร้อย

5. ไม่ถูกปลดจากยุวนารี

6. มีอวัยวะสมบูรณ์ปราศจากโรค รูปร่างท่าทางและขนาดร่างกายเหมาะเป็นทหาร

7. มีเสียงดังแจ่มใส

8. เป็นหญิงโสด

9. บิดามารดาผู้ให้กำเนิดต้องเป็นผู้มีหลักฐานหรืออาชีพอันชอบธรรม

10. ต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
 

21 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 154 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 154 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ไทยใช้หน่วยของเงินเป็น ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ซึ่งถือเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายต่าง ๆ

โดย 100 สตางค์ มีการกำหนดค่าให้เท่ากับ 1 บาท และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยสากลที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ประหารชีวิต ‘นางล้วน’ นักโทษหญิงรายสุดท้ายที่ถูกตัดหัว

20 สิงหาคม พ.ศ 2447  มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ด้วยการตัดศีรษะเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร)

มีการบันทึกว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2447 ได้มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ชื่อ ‘นางล้วน’ ด้วยวิธีตัดหัวเป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย

แต่เป็นรายสุดท้ายสำหรับผู้หญิง ส่วนรายสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยวิธีตัดหัวเป็นผู้ชาย ก็คือนายบุญเพ็ง นักโทษผู้โด่งดัง เจ้าของฉายา ‘บุญเพ็งหีบเหล็ก’ ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ฆ่าชิงทรัพย์ตั้งแต่ขณะอยู่ในผ้าเหลือง สุดท้ายถูกประหารที่วัดภาษี คลองตัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2462

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่ในพระทัยของในหลวง ร.9 มาโดยตลอด พร้อมกับได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน "เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์" พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดินในครั้งนั้น

ในช่วงนั้น บรรยากาศแห่งความเศร้าสลดครอบคลุมชาติไทย มองไปทางไหนมีแต่สีแห่งความทุกข์ คือสีดำเต็มไปหมด ความมหาวิปโยคเพิ่งเกิดขึ้นกับทวยราษฎร์ข้าแผ่นดิน เพราะเพิ่งสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระปิยราชบรมราชกษัตริย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่" เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่จะเป็นความหวังและที่พึ่งของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนได้ทุ่มเทความรัก ความหวงแหนยิ่งถวายแด่พระองค์จนหมดสิ้น

18 สิงหาคม ของทุกปี วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 4

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของไทย ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี โดยเป็นวันที่้มีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย 

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี 2525 ให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"  พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 

ที่มาของการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เกิดขึ้นเนื่องจากในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ตำบลบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ หลังจากที่ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งแรกได้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี

17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ รำลึกถึง ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบง

17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึง การจากไปของ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบงที่เสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติก

วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 

โดยในที่ประชุมครั้งนั้น ยังมีมติเห็นชอบแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน การดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน การจัดการท่องเที่ยว/ประมงเพื่อลดการรบกวนพะยูน การจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิต การสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากและศูนย์เรียนรู้ฯ และการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์พะยูน

16 สิงหาคม พ.ศ.2520 ‘เอลวิส เพรสลีย์’ ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์ เสียชีวิตกะทันหันด้วยวัยเพียง 42 ปี

ครบรอบ 45 ปี การจากไปอย่างกะทันหันของ เอลวิส เพรสลีย์ นักร้องดังที่รู้จักกันดีในฉายา ‘ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์’ 

เอลวิส เกิดที่เมืองทูเพอโล รัฐมิสซิสซิปปี เมื่ออายุได้ 13 ปีครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เริ่มต้นอาชีพนักร้องที่เมืองนี้ในวัย 19 ปีแซม ฟิลลิปส์ เจ้าของค่ายซันเรคคอร์ดส์เห็นหน่วยก้านและความสามารถ จึงปลุกปั้นให้ เอลวิส นำเพลงของคนผิวดำ(อเมริกันแอฟริกัน)มาขับร้องในลีลาใหม่ เพื่อขยายฐานคนฟังให้กว้างขวางมากขึ้น โดยได้นักดนตรีฝีมือดีมาร่วมงานเช่นมือกีตาร์ สก็อตตี้ มัวร์และมือเบส บิล แบล็ค

เพลงที่ เอลวิส เพรสลีย์ นำเสนอในช่วงแรก จะผสมผสานจังหวะแบบอัปเทมโป แบ็คบีตของคนผิวดำ คลุกเคล้าให้เข้ากับการร้องและเอื้อนเสียงแบบเพลงคันทรีและริธึ่มแอนด์บลูส์ ต่อมา เอลวิส เซ็นสัญญากับค่ายเพลงอาร์ซีเอ วิกเตอร์ โดยมีผู้จัดการส่วนตัวคือผู้พัน ทอม พาร์คเกอร์ มีซิงเกิลแรก ออกขายในเดือนมกราคม ปี 1956 “Heartbreak Hotel” ซึ่งสามารถขึ้นไปติดอันดับ 1 ของชาร์ตจัดอันดับเพลงดังของยุคนั้น

เอลวิส ออกโทรทัศน์รายการ Stage Show ของช่อง CBS เมื่อ 16 มกราคม 1956 ความโด่งดังของ เอลวิส ทำให้มีโอกาสออกโชว์ตัว ทางเครือข่ายสถานีโทรทัศน์หลายครั้ง มีเพลงฮิตติดอันดับ 1 มากมาย เพลงของ เอลวิสเต็มไปด้วยพลัง ความแปลกใหม่ ฟังแล้วเร้าใจ ใครที่ได้ฟังมักจะอดห้ามใจไม่ได้ ต้องโยกย้ายส่ายเอวตามจังหวะเพลงทุกที เป็นที่มาของการ “โยก และ คลึง” หรือ ร็อก แอนด์ โรล ซึ่งเป็นอิทธิพลจากเพลงของเอลวิส ในยุคนั้น ต่อมาจึงมีการเรียกขานแนวดนตรีแบบใหม่ ที่นำเสนอโดย เอลวิส ว่าดนตรีแบบ ร็อกแอนด์โรล ความโด่งดังของเอลวิส ทำให้มีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยผลงานเรื่องแรก ที่ เอลวิสได้ร่วมแสดงคือภาพยนตร์เรื่อง Love Me Tender

วันที่ 15 สิงหาคม 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ถนนราชดำเนิน ถนนสายหลักกลางเมืองหลวงที่ทุกคนล้วนรู้จักกันดี  ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 เมื่อกลับมาจึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพระนครตามแบบยุโรปด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้น และพระราชทานนามว่า ถนนพระราชดำเนิน

โดยแบ่งถนนราชดำเนิน เป็น 3 ช่วง คือ ราชดำเนินนอก, ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน
                - ถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่พระบรมมหาราชวัง ไปจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา
                - ถนนราชดำเนินกลาง สร้างหลังจากถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา มีความยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร
                - ถนนราชดำเนินนอก เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เขตดุสิต

 

14 สิงหาคม พ.ศ.2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการ หลังพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปีที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่าสองล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top