Friday, 26 April 2024
TODAY SPECIAL

15 เมษายน พ.ศ. 2455 โศกนาฏกรรมสุดเศร้า ‘ไททานิค’ จมดิ่งสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก หลังปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต-สูญหายจำนวนมาก

เรือที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ในเวลานั้น เดินทางออกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร มุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะจมดิ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติก หลังปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) เป็นเรือโดยสารเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การจมของไททานิค เป็น 1 ใน 3 เรือโดยสารชั้นโอลิมปิก ซึ่งดำเนินการโดยไวต์สตาร์ไลน์ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2452-2454 เป็นเรือที่ได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายและความหรูหราที่สุด โดยบนเรือมียิมเนเซียม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคารชั้นสูงและห้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีโทรเลขไร้สายทรงพลังซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร 

ก่อนที่ไททานิคจะออกเดินทาง ได้เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณส่วนเก็บถ่านหินที่ บล็อก 5 และ 6 และไฟยังไหม้ต่อเนื่องตลอดการเดินทาง ส่งผลให้ผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ก่อนถึงห้องเครื่อง และ ส่วนที่เก็บถ่านหินนั้นร้อนมากจนผนังกั้นนํ้าร้อนจนแดง และตัวเหล็กของผนังกั้นนํ้าบิด งอ ลดการทนทานนํ้าลง

ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2455 เมื่อเดินทางห่างจากเซาท์แทมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค เกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้แผ่นลำเรือเกิดความเสียหาย จนนํ้าทะลักเข้าไปในเรือ และเนื่องจากผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ส่งผลให้นํ้าทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ จนกระทั่งเรือจมลงสู่ก้นมหาสมุทรในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

เหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่สูญเสียเป็นอย่างมาก สมาชิกลูกเรือและผู้โดยสารมากมายต้องเสียชีวิตและสูญหาย นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลที่มีผู้เสียชีวิตมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

14 เมษายน ของทุกปี ครม.กำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ หวังให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว

ผ่านพ้นวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนไปแล้ว ถัดมาในวันที่ 14 เมษายน ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วง ‘สงกรานต์’ เช่นกัน นั่นก็คือ ‘วันครอบครัว’ (Family Day) หรือ ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่แม้ว่าจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็มี ‘วันแห่งครอบครัว’ เช่นเดียวกันแต่อาจมีการกำหนดช่วงวันและเดือนที่แตกต่างกันออกไป 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตราได้เสนอมติให้ ครม. พิจารณาให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย 

สาเหตุที่เลือกวันครอบครัวในช่วง ‘เทศกาลสงกรานต์’ เนื่องจากถือเป็นโอกาสดีในการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา ทั้งนี้ ต่อมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันดังกล่าวเป็น ‘วันครอบครัว’ มาจนถึงปัจจุบัน

13 เมษายน ของทุกปี ครม.กำหนดให้เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' ชวนคนไทยร่วมแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่

วันนี้ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็น ‘วันสงกรานต์’ หรือ ‘วันปีใหม่ไทย’ แล้ว รัฐบาลไทยกำหนดให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ อีกด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่บุพการี ญาติพี่น้อง ผู้อาวุโส หรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม

หากย้อนกลับไปในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

จึงได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อนมีความทุกข์ยาก ประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง (แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการกำหนด ‘วันผู้สูงอายุ’ ขึ้นมา)

กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้ง ‘สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค’ ขึ้นมาเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

- ให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
- ให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการ บริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ
- แบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
- ป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม และให้สามารถอยู่ในสังคม ได้อย่างผาสุกตามอัตภาพ
- เป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
- ช่วยให้ผู้สูงอายุได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ทางรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเป็นผู้อุปการะคุณเลี้ยงดู

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ผู้สูงอายุ’ ไว้ว่า หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 

อีกทั้งได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญไว้ว่า ‘Add life to years’ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

หลังจาก WHO ประกาศให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ประเทศไทยเองก็ได้ตอบรับการรณรงค์เรื่องนี้ด้วย โดยสมัยนั้นตรงกับรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกันในวันสำคัญเช่นนี้

ต่อมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงประเด็นดังกล่าว และที่ประชุม ครม. ได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’

สำหรับสาเหตุที่เลือกวันที่ 13 เมษายน เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ซึ่งถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ ทางรัฐบาลเองมองว่ามีความสำคัญและมีความสอดคล้องกัน จึงกำหนดวันสงกรานต์ให้เป็นวันผู้สูงอายุร่วมด้วย

โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยในขณะนั้น ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญวันผู้สูงอายุ เป็นภาษาไทยว่า ‘ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน’ 

นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เลือก ‘ดอกลำดวน’ เป็นดอกไม้แทนสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย สาเหตุที่เลือกดอกไม้ชนิดนี้ เนื่องจากว่าต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่สำคัญ.. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

12 เมษายน พ.ศ. 2476 ‘ปรีดี พนมยงค์’ เดินทางออกนอกประเทศไทย ก่อนไปพำนักที่ฝรั่งเศส ตามคำสั่งของรัฐบาล

12 เมษายน เป็นวาระครบรอบ 91 ปีที่ ‘ปรีดี พนมยงค์’ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ต้องเดินทางไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศสตามคำสั่งของรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ภายหลังการเสนอร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘สมุดปกเหลือง’ แต่แนวคิดของปรีดีกลับถูกคัดค้านด้วยเสียงส่วนใหญ่ในสภา รวมถึงยังมีการออก ‘สมุดปกขาว’ ซึ่งเป็นข้อวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ตอบโต้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ว่า เป็นแนวคิดที่ลอกเลียนพรรคบอลเชวิคของรัสเซีย อีกทั้งยังเกิดข้อกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปรีดีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศในที่สุด

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปรีดีต้องถูกเนรเทศออกจากประเทศ ไปยังประเทศฝรั่งเศสในช่วงนั้น รวมถึงคณะผู้ก่อการคณะราษฎรถูกจำกัดบทบาทให้หมดอำนาจหน้าที่ไป แต่ในท้ายที่สุดปรีดีก็ได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารครั้งที่ 2 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 และเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้เชิญปรีดีกลับมาช่วยเหลืองานรัฐบาลต่อไป โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่รื้อฟื้นเค้าโครงการเศรษฐกิจอีก

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ เปิดทางเดินรถไฟสายแรกของสยาม เส้นทาง ‘กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ’ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ครบรอบ 131 ปี เปิดทางเดินรถไฟสายปากน้ำ ระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์คสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์คจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

ต่อมาวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ และจากนั้นวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี และหลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

10 เมษายน พ.ศ. 2455 ‘ไททานิค’ เรือที่ไม่มีวันจม ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ ก่อนชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งจนอับปางในอีก 5 วันต่อมา

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิค เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ ‘ผู้หญิงและเด็กก่อน’ ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิคแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น ที่ถูกช่วยเหลือด้วยเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พา เธีย (RMS Carpathia) อุบัติเหตุในครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักความปลอดภัยในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวของลูกเรือจากเซาแธมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา

9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ พร้อมกำหนดให้วันนี้ในทุกๆ ปีเป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2464 กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหารบกเป็น 'กรมอากาศยาน' และเป็น 'กรมทหารอากาศ' ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลง เครื่องแบบจากสีเขียว มาเป็นสีเทา ดังเช่นในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2479 ตราไว้ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในมาตรา 9 ได้กำหนดผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศไว้ว่า ‘กองทัพอากาศ มีผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชาดำเนินกิจการ’ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2540 กองทัพอากาศ ได้ออกประกาศกองทัพอากาศ เรื่อง วันที่ระลึกกองทัพอากาศ และวันกองทัพอากาศ โดยได้กำหนดให้ วันที่ 27 มีนาคม เป็น ‘วันที่ระลึกกองทัพอากาศ’ และวันที่ 9 เมษายน เป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทย เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกองทัพอากาศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกองทัพอากาศหน่วยแรกของโลกเพียง 4 ปีเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นกองทัพอากาศที่ก่อตั้งเป็นลำดับแรก ๆ ของเอเชีย และมีวีรกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นมากมายในช่วงกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ปัจจุบันมีกองบัญชาการอยู่ที่เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และภายในปี พ.ศ. 2554 หลังจากได้รับมอบฝูงบิน Gripen กับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศจากบริษัท Saab และการปรับปรุงครึ่งชีวิตให้กับฝูงบิน F-16A/B ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับรุ่น C/D กองทัพอากาศไทยจะมีอิทธิพลทางอากาศมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ในแง่ของขีดความสามารถและความทันสมัยของอากาศยาน

โดย ภารกิจของกองทัพอากาศนั้น มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

8 เมษายน พ.ศ. 2537 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สะพานมิตรภาพไทย-ลาว’ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก สร้างผลประโยชน์ในด้าน ‘เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม’ ของทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว ทรงเป็นประธานทำพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก เชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว

ทั้งนี้ ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร ทางเท้า 2 ช่องทาง และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537

นอกจากนี้ สะพานแห่งนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวอีสานและชาวลาวเรียกสะพานนี้ว่า ‘ขัวมิดตะพาบ’

7 เมษายน พ.ศ. 2562 ‘ในหลวง ร.10’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ “ขอให้นำความรู้ที่เรียนมา ใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเอง-ส่วนรวม”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 1

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราโชวาท โดยมีความว่า “ขอให้บัณฑิต นำวิชาความรู้ที่เรียนมานั้น นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเองและส่วนรวม โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนเมตตาธรรม และความตั้งใจที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเจริญของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนตนเองได้ต่อไป”

6 เมษายน พ.ศ. 2325 ‘ในหลวง ร.1’ เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พร้อมก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงปัจจุบัน

วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง กว่าจะมาเป็นสยามได้ในทุกวันนี้

ทั้งนี้ วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 10 รัชกาล

จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง
จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกชาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซมและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top