Friday, 29 March 2024
TODAY SPECIAL

12 มกราคม 2566 เปิดฉากดีลยักษ์ 'เอสโซ่ - บางจาก' ปิดฉากตำนาน 'ปั๊มเสือ' 129 ปีในไทย

นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงในวงการพลังงาน หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ได้มีมติเอกฉันท์อนุมัติการเข้าทำธุรกรรมและเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. 

โดยบางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ ExxonMobil เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการซื้อขายและชำระเงินค่าหุ้นแก่ผู้ขายได้ภายในครึ่งหลังของปี 2566 โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนด และเตรียมพร้อมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (tender offer) ของเอสโซ่ หลังจากการทำธุรกรรมกับ ExxonMobil เสร็จสิ้น

ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ ESSO ประเทศไทย โดยมีสัดส่วน 65.99% โดยคิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นราว 20,000 ล้านบาท โดยราคากิจการที่ซื้อจะเป็นราคาที่ตั้งต้นด้วย 55,000 ล้านบาท ก่อนปรับปรุงรายการทางการเงินต่าง ๆ อีกราว 25,000 ล้านบาท ทำให้เหลือเป็นราคากิจการเบื้องต้นราว 30,000 ล้านบาท และการลงทุนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่มากขึ้นของบางจากฯ และประเทศไทย เป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เพิ่มความยั่งยืนและเพิ่มการเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น

สำหรับการลงทุนครั้งนี้มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องคือโรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง ก่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของบริษัท โดยจะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน 

และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง ซึ่งการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว เป็นการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ เอสโซ่ จาก ExxonMobil โดยมีมูลค่ากิจการ 55,500 ล้านบาท และมีกลไกการปรับราคาซื้อขายหุ้นตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้น

ดังนั้นเมื่อ บางจาก ได้รวมกับ เอสโซ่ แล้ว จะทำให้ บางจาก มีความยิ่งใหญ่เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยหากมองจากจำนวนสาขาบริการน้ำมันหากรวมกันจะอยู่ที่กว่า 2,100 สาขา ทั้งนี้หากนำไปเทียบกับสถานีบริการน้ำมันของผู้ประกอบการราย อาทิ เช่น โออาร์ (OR) มีสถานบริการน้ำมันอยู่ที่ 2,473 สาขา และ พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) มีสถานีบริการน้ำมัน 2,212 สาขา 

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการปิดตำนาน ‘ปั๊มพี่เสือ’ อย่างเป็นทางการ หลังเปิดให้บริการมาทั้งสิ้น 129 ปีในประเทศไทย และหลงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำให้นึกถึง...

11 มกราคม พ.ศ. 2465  ‘Leonard Thompson’ มนุษย์คนแรก  ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

วันนี้เมื่อ 102 ปีก่อน Leonard Thompson เป็นมนุษย์คนแรกของโลก ที่ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

ในปี ค.ศ. 1889 นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski พบสาเหตุของโรคเบาหวานโดยบังเอิญ จากการทดลองตัดตับอ่อนของสุนัขออกไปเพื่อดูว่าสุนัขจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อไม่มีอวัยวะนี้

ปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขสูงขึ้น และสุนัขมีอาการของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก และน้ำหนักลด นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองยังพบอีกว่า ตับอ่อนทำงานผลิตสารอีกชนิดที่ไม่ได้หลั่งออกไปตามท่อสู่ลำไส้ แต่หลั่งออกไปสู่ร่างกายตามกระแสเลือด การค้นพบนี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในเรื่องของฮอร์โมนขึ้น

หลังจากนั้น Frederick Banting ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาผู้สนใจเรื่องเบาหวาน เขาอ่านพบงานวิจัยของ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski ซึ่งพบว่าตับอ่อนเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน Frederick Banting ตั้งสมมติฐานว่า หากผูกท่อน้ำย่อยของตับอ่อนไม่ให้หลั่งออกมา น้ำย่อยจะไหลกลับไปที่ตับอ่อนทำให้ตับอ่อนอักเสบและเซลล์ที่สร้างน้ำย่อยสลายไป ก็จะเหลือแต่เซลล์ที่สร้างสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และจะทำให้การสกัดเอาสารนี้ออกมาได้ผลดีขึ้น และเริ่มทำการทดลองกับสุนัขตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ด้วยการขออนุญาต ศาสตราจารย์ John Macleod เพื่อใช้ห้องทดลองเล็กของมหาวิทยาลัยโตรอนโต โดยมี Charles Best-นักศึกษาแพทย์ เป็นผู้ช่วย และ James Collip-นักชีวเคมี เป็นที่ปรึกษา

หลังการทดลอง 3 เดือนเต็ม ก็ประสบความสำเร็จ สามารถสกัดสารออกมาจากตับอ่อนของสุนัข ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในเลือดของสุนัขที่เป็นเบาหวาน สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ เขาเรียกสารที่สกัดออกมานี้ว่า Isletin ซึ่งต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น อินซูลิน (Insulin) การค้นพบนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องเสียชีวิตด้วยภาวะกรดในเลือด (Diabetic Ketoacidosis-DKA) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้เป็นเบาหวานเวลานั้น

โดย Leonard Thompson อายุ 21 ปี คือคนไข้คนแรกที่ได้รับการฉีดอินซูลินเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) หลังได้รับอินซูลิน Leonard Thompson มีชีวิตอยู่ได้อีก 13 ปี

และจากผลการค้นพบอินซูลินซึ่งสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์จำนวนมหาศาล ทำให้ Frederick Banting, John Macleod, Charles Best, และ James Collip จึงได้รับรางวัลโนเบล ใน ค.ศ. 1923 อีกด้วย

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน มีสมาชิกเข้าร่วม 51 ประเทศ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ‘สหประชาชาติ’ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน 

ซึ่ง สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมักจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่าง ๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ อาจมีเปิดวาระการประชุมในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการประชุม กลไก อำนาจหน้าที่ และการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่เพื่อออกเป็นมติสมัชชาใหญ่ในหัวข้อสำคัญ ข้อแนะนำด้านสันติภาพและความมั่นคง ข้องบประมาณ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การระงับหรือเพิกถอนสมาชิกภาพ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม

ส่วนหัวข้อย่อยอื่น ๆ นั้นใช้เพียงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกในที่ประชุม โดยที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น สมัชชาใหญ่อาจให้ข้อแนะนำเรื่องใด ๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของสหประชาชาติ ยกเว้นอำนาจในการดำเนินการรักษาสันติภาพและความมั่นคงซึ่งเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบัน สมัชชาใหญ่มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งกว่าสองในสามเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีผู้สังเกตการณ์ 2 ประเทศ คือ นครรัฐวาติกัน กับ รัฐปาเลสไตน์

9 มกราคม พ.ศ. 2472 ครบรอบ 95 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

สำหรับชาวกรุงเทพฯ แล้ว หลายคนคงคุ้นเคยกับสะพานพระพุทธยอดฟ้ากันเป็นอย่างดี ทั้งจากภาพลักษณ์ของสะพานที่งดงาม หรือเป็นสะพานที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร แต่หากย้อนเวลากลับไป 95 ปี วันนี้ถือเป็นสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

กล่าวสำหรับสะพานพระพุทธยอดฟ้า ถูกสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี โดยมีพระราชดำริที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อันเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นผู้สถาปนากรุงเทพมหานคร

สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกออกแบบเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร สามารถยกตอนกลางให้เรือใหญ่แล่นผ่านได้ โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า กระทั่งกาลเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน สะพานอันงดงามแหง่นี้ก็ยังคงดำรงอยู่ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในด้านการสัญจรเรื่อยมา

8 มกราคม วันคล้ายวันประสูติ  ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 37 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชันและเครื่องประดับ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ ‘SIRIVANNAVARI’ และ S’Home เสื้อผ้าของสตรีและบุรุษ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างเนืองแน่นในวงการแฟชั่นโลก กับการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีความประณีต ที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงนิยม ทั้งยังมีแบรนด์ต่างๆ อย่าง Sirivannavari maison แบรนด์ของแต่งบ้าน รวมไปถึงแบรนด์ชุดแต่งงาน

นอกจากทรงออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันต่างๆ แล้ว พระองค์ยังทรงสนับสนุนผ้าไทย ด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ ทั้งนี้ยังทรงออกแบบชุดให้กับ เดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ มิสยูนิเวิร์ส 2017 และโศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่ในการประกวดรอบไทยไนท์ของเวทีนางงามจักรวาลที่จัดประกวดที่ประเทศไทยอีกด้วย ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมถวายรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชันและเครื่องประดับ) ด้วยความสนพระทัยด้านแฟชัน พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรงานปารีสแฟชันวีกอยู่เสมอ และได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างชาติ อาทิ นิตยสาร Grazia ประเทศอังกฤษ จัดอันดับให้พระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ของเจ้าหญิงที่มีสไตล์ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น ‘เจ้าหญิงแฟชัน’

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนปริญญาเอก ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย

7 มกราคม ของทุกปี รำลึก 'พระปิ่นเกล้าฯ' พระคุณูปการต่อศิลปวัฒนธรรมของชาติ เจ้านายไทยยุครัตนโกสินทร์ ผู้ทรงไว้หนวดเป็นพระองค์แรก

7 มกราคมของทุกปี กรมศิลปากร, กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (7 มกราคม) ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ พร้อมทั้งให้ข้าราชการกรมศิลปากร เหล่าทัพ หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนเข้าร่วมในพิธีถวายราชสักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

นอกจากนี้ สำนักการสังคีตได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ณ บริเวณลานหน้าพระบวรราชานุสาวรีย์ เพื่อถวายกตเวทิตาคุณและร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ 

สำหรับ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า ‘วังหน้า’ มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก 

นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า ‘ปี่พาทย์เครื่องใหญ่’ เบื้องปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 

ทั้งนี้ เท่าที่หลักฐานปรากฏ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ‘พระปิ่นเกล้า’ ยังเป็นเจ้านายไทยในยุครัตนโกสินทร์ ที่ทรงไว้พระมัสสุ (หนวด) เป็นพระองค์แรก แตกต่างจากเชื้อพระวงศ์ระดับสูงพระองค์อื่น ๆ ที่กว่าจะมาไว้พระมัสสุกันก็ล่วงเข้ารัชกาลที่ 5 อีกด้วย

โดยเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2460 ว่า ผู้ดีเพิ่งจะมาไว้หนวดกันเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นแม้สังเกตดูรูปคนที่ถ่าย จะเป็นเจ้านายก็ตาม ขุนนางก็ตาม ก็โกนหนวดทั้งนั้น ยิ่งราษฎรถ้าใครไว้หนวดก็มักมีฉายาเรียก เช่น นายมากหนวด นายคงเครา เป็นต้น 

ส่วนเหตุผลที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้พระมัสสุ อาจเป็นเพราะทรงนิยมศึกษาหาความรู้วิทยาการจากตะวันตก อย่าง การทหาร ช่างจักรกล ฯลฯ ทั้งยังทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลด้านการต่างประเทศ ความนิยมในตะวันตกของพระองค์ สะท้อนได้อีกจากการพระราชทานนามแก่พระราชโอรสพระองค์หนึ่งว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ซึ่งมาจากชื่อ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การไว้พระมัสสุ จึงอาจเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งถึงความนิยมชมชอบวัฒนธรรมตะวันตกของพระองค์ก็เป็นได้

6 มกราคม พ.ศ. 2567 ครบรอบ 3 ปีที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ใช้เวลา 187 นาที นั่งดูผู้ชุมนุม ‘ก่อจลาจล-โจมตี’ รัฐสภาสหรัฐฯ

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 หรือ ค.ศ. 2021 ประชาชนนับพันผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ชิงตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้บุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ขัดขวางการนับคะแนนเพื่อยืนยันชัยชนะอย่างเป็นทางการของ ‘โจ ไบเดน’ ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต

เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับเป็นเหตุจู่โจมสภาคองเกรสที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามในปี ค.ศ. 1812 และถูกโหมโดย ‘ทรัมป์’ ซึ่งกล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ความพ่ายแพ้ของเขาในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2020 นั้นเกิดจาก ‘การโกง’

เหตุการณ์จลาจลดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายเสียชีวิตหลังจากปะทะกับผู้ประท้วง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้อง 4 นาย เสียชีวิตในเวลาต่อมาจากการฆ่าตัวตาย อีก 140 นายได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ฝั่งผู้ประท้วงเสียชีวิต 4 ศพ ประชาชนมากกว่า 700 คน ถูกจับกุมด้วยข้อหามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้

ทรัมป์ได้โพสต์วิดีโอเมื่อ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 โดยเขาใช้เวลา 40 วินาทีให้ความเห็นอกเห็นใจผู้ประท้วง “ผมรับรู้ถึงความเจ็บปวด ผมรู้ว่าพวกคุณเจ็บปวด แต่ตอนนี้ผมอยากให้พวกคุณกลับบ้าน เราต้องมีสันติ เราต้องรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย เราต้องเคารพกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชน”

นอกจากนี้ยังโพสต์ข้อความเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับม็อบ ระบุว่า…“นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อชัยชนะของการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอันศักดิ์สิทธิ์ถูกพรากไปจากผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ยุติธรรมมาเป็นเวลานาน” 

เขาโพสต์ต่อว่า “กลับบ้านด้วยความรักและความสงบสุข จดจำวันนี้ไว้ตลอดไป!”

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ทรัมป์ถูกเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง และเข้ารับการสอบสวน โดยคณะกรรมการสภาสอบสวนเหตุการณ์ 6 มกราคม (Select Committee to Investigate the January 6th Attack on the United States Capitol) ที่จัดตั้งขึ้น เมื่อ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2021

โดยเบนนี ธอมป์สัน (Bennie Thompson) ประธานคณะกรรมการ และผู้แทนจากมิสซิสซิปปี กล่าวว่าคณะกรรมการทั้ง 9 คน ต้องการทราบว่าทรัมป์ทำอะไรบ้างระหว่าง ‘187 นาที ของการไม่ทำอะไรเลย’ ขณะที่เขานั่งดูผู้ประท้วงในโทรทัศน์จากห้องรับประทานอาหารในทำเนียบขาว

ทางด้านลิซ เชนีย์ รองประธานคณะกรรมการ และผู้แทนจากไวโอมิง หนึ่งในผู้วิพากษ์ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์รายการ ‘This Week’ ทางสถานี ABC ว่า “ทรัมป์ควรบอก (ผู้ประท้วง) ให้หยุดได้แล้ว แต่เขากลับไม่ได้ทำ”

5 มกราคม พ.ศ. 2537 ห้างสรรพสินค้า ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ เปิดให้บริการสาขาแรก บนถนนแจ้งวัฒนะ

วันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน หรือ 5 มกราคม พ.ศ. 2537 ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ ห้างสรรพสินค้าที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันดี เปิดให้บริการสาขาแรก บนถนนแจ้งวัฒนะ

‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ (Big C) เป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ดำเนินกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฮ่องกง 

โดย ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ ในไทยเกิดขึ้นจากกลุ่มเซ็นทรัล ได้มีแนวคิดในการขยายธุรกิจออกสู่รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ต่อมาได้ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ ในนาม ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และเปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในนาม ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ บนถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2537

นับจากวันแรกที่เปิดให้บริการสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะ จนถึงวันนี้ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ หรือ ‘บิ๊กซี’ ที่คนไทยรู้จักกันดีก็ขยายสาขาออกไปมากถึง 1,810 สาขา โดยแบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา บิ๊กซีมินิ 1,449 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพรส 1 สาขา และร้านค้าส่ง เอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 1 สาขา มีร้านค้าขายยาเพรียว 146 สาขา รวมถึงมีรูปแบบที่เป็น ตลาด จำนวน 7 สาขา

ทั้งนี้ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “ห้างค้าปลีกของคนไทยที่อยู่ในใจชุมชน
โดยยึดถือลูกค้าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน”

4 มกราคม พ.ศ. 2547 จุดเริ่มต้น ‘ความไม่สงบ-ขัดแย้ง’ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ค่ายปิเหล็ง’ ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็น ‘จุดปะทุของความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้’ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย ทางด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน โดยมีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2555

โดยในระหว่างปี 2547 - 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบนี้กว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คน นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่อง เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง และการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่สงบเหล่านี้ ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเอง ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองออกมาชัดเจน จึงไม่สามารถสาเหตุได้ชัดเจนว่า เหตุใดความไม่สงบจึงปะทุกลับมาอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ วิเคราะห์ว่า การก่อเหตุได้มีการเปลี่ยนจากเป้าหมายด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์และแบ่งแยกดินแดนมาเป็นอิสลามิสต์หัวรุนแรง สถานที่ก่อเหตุย้ายจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน เมืองและนคร ในโครงสร้างแบบเซลล์ โดยใช้กลุ่มผู้ก่อเหตุขนาดเล็กประมาณ 5-10 คน โครงสร้างแบบเซลล์นี้ทำให้ไม่ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนมากนัก

ช่วงกลางปี 2549 ตำรวจประเมินว่ามีแนวร่วมก่อเหตุราว 3,000 คน ปฏิบัติการใน 500 เซลล์ จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 1,574 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

รายงานของกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศปี 2548 ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน เคร่งศาสนา ติดอาวุธไม่ดีและพร้อมสละชีพเพื่ออุดมการณ์ กลางปี 2548 ยอดผู้เสียชีวิตชาวมุสลิมสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่ามุสลิมที่ตกเป็นเป้านั้นใกล้ชิดกับทางการไทยหรือค้านความคิดอิสลามิสต์

จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ความถี่ของการก่อเหตุขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สูงสุดในปี 2550 (2,409 เหตุการณ์) และ ปี 2555 (1,851 เหตุการณ์) ซึ่งศูนย์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าความถี่ของเหตุการณ์อาจเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นวัฏจักรโดยจะมีความถี่สูงสุดทุก 5 ปี ยอดผู้เสียชีวิตรายปีลดลงทุกปีนับแต่ปี 2556

3 มกราคม ค.ศ. 1959 ‘รัฐอะแลสกา’ ถูกยกให้เข้าเป็นรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหมุดหมายที่หลายคนอยากมา

‘อะแลสกา’ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซียเมื่อในอดีต เป็นดินแดนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ กระทั่งราวปี ค.ศ. 1867 อะแลสกาก็ได้กลายไปเป็นของสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้นชาวอเมริกันเอง ต่างพากันแปลกใจที่รัฐบาลใช้เงินซื้อพื้นที่ที่ไกลแสนไกล แถมยังร้างไร้ผู้คน หนำซ้ำยังมีแต่ก้อนน้ำแข็ง

แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป อะแลสกากลายเป็นดินแดนแห่งความหวัง เริ่มมีการค้นพบทองคำ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมากมาย พื้นที่แห่งนี้ค่อย ๆ ถูกยกระดับจากทางการสหรัฐฯ กระทั่งเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1959 (หรือราวปี พ.ศ. 2502) อะแลสกาก็ถูกยกสถานะให้กลายเป็น ‘รัฐที่ 49’ ของประเทศสหรัฐอเมริกาในที่สุด

เสน่ห์ของรัฐอะแลสกา คือความเป็นอเมริกาที่ไม่ใช่อเมริกา ด้วยพื้นเพของผู้คนดั้งเดิมในพื้นที่นั้นเป็นชาวเอเชียที่มาตั้งรกรากอยู่เมื่อกว่า 10,000 ปีก่อน จึงทำให้ผู้คนที่นี่มีลักษณะที่ต่างจากชาวอเมริกันออกไป มากไปกว่านั้น คือพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล (เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา) ที่นี่จึงเต็มไปด้วยธรรมชาติอันหลากหลาย เป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักเดินทางทั่วโลกที่อยากมาเยือนให้ได้สักครั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top