Friday, 29 March 2024
TODAY SPECIAL

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ครบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนา ‘กองอาสารักษาดินแดน’

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันอาสารักษาดินแดน’

ทั้งนี้ ‘กองอาสารักษาดินแดน’ มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 นับเป็นเวลายาวนานถึง 70 ปี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกำลังสำรองในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติ และในยามสงคราม โดยการรับสมัครจากราษฎรชายหญิงที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งส่วนราชการกองอาสารักษาดินแดนออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนกลาง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ

2. ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (กองร้อย อส.อ.) โดยนายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา  

โดยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ดังนี้

1.) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทําของข้าศึก
2.) ทําหน้าที่ตํารวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ
3.) รักษาสถานที่สําคัญและการคมนาคม
4.) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว
5.) ทําการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกําลังข้าศึก
6.) เป็นกําลังสํารองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกําลังทหารได้เมื่อจําเป็น

นอกจากการทำหน้าที่ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 แล้ว ยังมีหน้าที่ภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย โดยทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายปกครองในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จวบจนวันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2567 นับเป็นเวลา 70 ปี ของเหล่าสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกับการทำหน้าที่ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ “ปวงข้าฯ อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพารา จนสิ้นใจ” ถือเป็นการทำงานของผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง

9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันพิซซ่า’  อาหารอิตาลีที่โดนใจคนทั่วโลก

รู้หรือไม่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันพิซซ่า (Pizza) วันแห่งการร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล ซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ

พิซซ่า (Pizza) เป็นอาหารอิตาลีและอาหารจานด่วนประเภทหนึ่งที่ชาวอิตาลีเป็นผู้คิดค้น มีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ โดยในประเทศอิตาลีจะมีการเสิร์ฟพิซซ่าในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การทานในภัตตาคาร ซึ่งจะเสิร์ฟโดยไม่หั่นและจะรับประทานโดยใช้มีดและส้อม ในขณะที่ชาวอิตาเลียนโดยทั่วไป เมื่อรับประทานพิซซ่าในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น ทานกันเองที่บ้าน พิซซ่าจะถูกหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำและนิยมทานโดยใช้มือ

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า พิซซ่า ได้รับการบันทึกครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 ในบันทึกเอกสารภาษาละติน ณ เมืองกาเอตา (Gaeta) ทางตอนใต้ของอิตาลีในแคว้นลัตซีโอ บนพรมแดนติดกับกัมปาเนีย โดยพิซซ่าสมัยใหม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นในเนเปิลส์ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

พิซซ่าได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมที่สุดในโลกและเป็นรายการอาหารจานด่วนที่หาทานได้ทั่วไปในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ โดยหาทานได้ง่ายทั้งในร้านที่ขายพิซซ่าโดยเฉพาะ (Pizzerias), ในภัตตาคารอาหารตะวันตกทั่วไป และในรูปแบบของการจัดส่ง (Delivery) ซึ่งหลายบริษัทได้มีการจำหน่ายพิซซ่าในรูปแบบแช่แข็ง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการนำเข้าไมโครเวฟพร้อมทานได้ทันที

ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Associazione Verace Pizza Napoletana (True Neapolitan Pizza Association) ซึ่งได้ก่อตั้งในปี ค.ศ.1984 ได้จดทะเบียนกับสหภาพยุโรปเพื่อรับรองให้พิซซ่าเป็นอาหารที่มีความพิเศษและสะท้อนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้ผลิต และในปี ค.ศ.2017 ศิลปะการทำพิซซ่าได้ถูกรวมให้อยู่ในรายการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ครบรอบ 4 ปี ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช หนึ่งในโศกนาฏกรรม ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

เรียกว่ายังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ และยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ แถมเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่าได้ทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ จึงได้ขับรถเข้าไปในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกราดยิงผู้คนตามรายทาง และจับผู้คนในห้างเป็นตัวประกัน ทั้งยิงถังแก๊ส ทำให้เกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ในห้าง

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ยังถ่ายทอดสดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊กของตัวเองอีกด้วย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันถัดมา สรุปมีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 32 คน เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย…

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 ‘พินอคคิโอ’ ภาพยนตร์แอนิเมชันรางวัลออสการ์ ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

พินอคคิโอ (Pinocchio) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องที่สองของวอลท์ ดิสนีย์ โดยได้ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 โดยฝีมือการกำกับโดย Ben Sharpsteen

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องพินอคคิโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้ที่มีชีวิต กับพ่อผู้ยากจนของเขา เจปเปตโต ซึ่งเป็นช่างไม้ โดนลักษณะเด่นของหุ่นไม้มีชีวิตพินอคคิโอ มีที่รู้จักกันดี คือ เมื่อใดที่พูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้น

โดยเนื้อเรื่องแต่เดิมนั้น กอลโลดี นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กตั้งแต่แรก เพราะในเนื้อเรื่องดั้งเดิม พินนอคคิโอ ปิดฉากลงด้วยการถูกแขวนคอตาย เนื่องจากทำความผิดนับครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการแก้ไขในฉบับถัดมา ซึ่งตอนจบนั้น ได้แก้ให้หุ่นกระบอกนั้นกลายเป็นเด็กที่มีชีวิตจริงๆ ซึ่งก็เป็นตอนจบที่เรารู้จักกันดี

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้รางวัลชนะเลิศรางวัลออสการ์ ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์พินอคคิโอ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันในตำนาน ที่อยู่ในความทรงจำวัยเด็กและได้กลายเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ‘โศกนาฏกรรมมิวนิค’ เครื่องบินไถลชนขอบรันเวย์ พรากชีวิตนักเตะปีศาจแดง-เจ้าหน้าที่ รวม 23 ราย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 นักเตะ 8 คน และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน ของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ‘ปีศาจแดง’ ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินระเบิดในมิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 23 ราย

โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพวกเขาบินกลับจากการแข่งขันกับเรดสตาร์เบลเกรดในเกมยูโรเปียนคัพ ซึ่งเครื่องบินของพวกเขาได้แวะจอดเติมเชื้อเพลิงในมิวนิค และพยายามขึ้นบินท่ามกลางพายุหิมะ ซึ่งนักบินได้ล้มเลิกการขึ้นบินกลางคันแล้ว 2 ครั้ง และในความพยายามขึ้นบินครั้งที่ 3 นี่เองที่ทำให้เกิดหายนะขึ้น เครื่องบินลื่นไถลออกนอกรันเวย์ชนรั้วสนามบินจนเกิดการระเบิด

ผู้โดยสาร 21 รายได้เสียชีวิตทันทีหลังเกิดเหตุระเบิด กัปตันผู้บังคับเครื่องบิน เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ส่วนดันแคน เอ็ดเวิร์ด หนึ่งในนักเตะแมนยูฯ เสียชีวิตหลังเกิดเหตุได้ 15 วัน

ขณะที่ แมตต์ บัสบี ผู้จัดการทีม และบ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งอายุเพียง 20 ปี ในขณะนั้น เอาชีวิตรอดมาได้ และมีส่วนในความสำเร็จครั้งใหญ่ในการสร้างทีมใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง และสามารถคว้าถ้วยยูโรเปียนคัพมาครองได้สำเร็จในอีก 10 ปีต่อมา

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของไทย

‘ถนนเจริญกรุง’ เป็นถนนที่ ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ’ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ

ในปี พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน

และในปี พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้ เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘WHO’ กำหนดให้เป็น ‘วันมะเร็งโลก’ สร้างความตระหนักรู้ ให้กำลังใจผู้ป่วยโรคมะเร็ง

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก มีความรู้ มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้แก่ ‘มะเร็งสามารถป้องกันได้’  

โดยโรคมะเร็งนั้น ถือเป็นวายร้ายคุกคามสุขภาพอันดับต้นๆ ในศตวรรษที่ 21 โดยใกล้จะแซงหน้าโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจเต็มที ทุกวันนี้เราแทบทุกคนมีคนใกล้ตัวที่เคยเผชิญหรือเฉียดใกล้กับโรคมะเร็ง การรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชนทั่วไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เมื่อปี ค.ศ. 2000 ในงานประชุม World Summit Against Cancer ที่ปารีส ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรวมพลังกันช่วยชีวิตและปกป้องผู้คนหลายล้านคนจากโรคมะเร็ง ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็งในทุกๆ ด้าน และร่วมกันผลักดันให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานในภาครัฐของแต่ละชาติ

จากสถิติพบว่าในช่วงปี 1990 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านคนในแต่ละปี จนเป็น 18.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2018 และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็ง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งจะมากกว่า 13.1 คนต่อปี

อย่างไรก็ตาม กว่าร้อยละ 40 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทางป้องกันและรักษาได้ ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลลัพธ์อันน่าทึ่งจากการทุ่มเทศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เรื่องโรคมะเร็งในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิธีวินิจฉัยโรค ตัวยาที่ใช้ ขั้นตอนการรักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถอุ่นใจได้ว่า ต่อให้พบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็ยังรักษาให้หายได้ถ้าเราตั้งใจจริง

มะเร็งนั้นเป็นภัยร้ายที่คุกคามทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในทวีปใด จะร่ำรวยหรือยากจน จะเป็นข้าราชการระดับสูงหรือผู้อพยพก็ตามที วันมะเร็งโลกจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์เพื่อย้ำเตือนว่า หนทางไปสู่ประกายแสง ณ เส้นขอบฟ้าแห่งการมีสุขภาพที่ดีได้ ก็คือ การร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกัน ตรวจสอบ และรักษาโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดังคำขวัญประจำวันมะเร็งโลกที่ว่า ‘I Am and I Will’ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินร่วมกันไปสู่วันที่โลกไร้มะเร็งได้

‘วันทหารผ่านศึก’ ร่วมรำลึกวีรกรรมทหารกล้า เชิดชูความเสียสละ ต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมือง

‘วันทหารผ่านศึก’ ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้รำลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของทหารผ่านศึก การที่ประเทศไทยสามารถดำรงเอกราชจนเป็นปึกแผ่นมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นเพราะเรามีบรรพบุรุษที่กล้าหาญ มีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่พร้อมสู้เพื่อบ้านเมืองและส่วนรวม โดยไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตราย ซึ่งต่างเรียกขานเขาเหล่านั้นว่า ‘ทหารผ่านศึก’

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยกะทันหัน ส่งผลให้ทหารที่ไปร่วมรบและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาให้การช่วยเหลือ โดยจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน ซึ่งต่อมาเมื่อมีการขยายการสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้น

กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติ จัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ขึ้น เป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยตรง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2491 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 เหตุนี้เองจึงได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น ‘วันทหารผ่านศึก’

2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ‘วันนักประดิษฐ์’ วันทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย’ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอ โดยกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริม ให้เยาวชนไทยให้มีทุนทางสังคมของความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์ ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ด้วยทรงสนพระราชหฤทัย ในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการพัฒนาการเกษตรรูปแบบต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้ภูมิปัญญาของเราเอง ใช้วัสดุภายในประเทศ เน้นความง่ายต่อการใช้งาน การซ่อมบำรุงและราคาถูก เช่น เครื่องสีข้าว กังหันน้ำ และทรงออกแบบเรือใบมด ซึ่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เครื่องกลเติมอากาศ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น ‘สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก’

>> สิ่งประดิษฐ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่... 

1.) เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา)
ยื่นคำขอวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ประกาศวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536

2.) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล)
ยื่นคำขอวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544 ประกาศวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2544

3.) กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)
ยื่นคำขอวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ประกาศวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

4.) ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
ยื่นคำขอวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

5.) เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
ยื่นคำขอวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 ประกาศวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2544

6.) อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง)
ยื่นคำขอวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

7.) การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน เป็นสิ่งประดิษฐ์ชื่อ ‘ฝนหลวง’
ยื่นคำขอวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545

8.) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
ยื่นคำขอวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545

9.) ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย
ยื่นคำขอวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2546 ประกาศวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

10.) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ
ยื่นคำขอวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เกิดเหตุระเบิดป่วนเมือง 2 จุดกลางกรุง ส่งผลทรัพย์สินเสียหาย ไร้ผู้เสียชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 20.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุเสียงดังคล้ายระเบิด 2 ครั้งที่บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม และลานน้ำพุศูนย์การค้าสยามพารากอน ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

เบื้องต้นพบจุดเกิดเหตุมี 2 จุด จุดแรก ระเบิดเวลา 20.05 น. บริเวณหม้อแปลงไฟฟ้าป้ายหน้าห้างสยามพารากอน แรงระเบิดทำให้ฝากล่องเหล็กเปิดออก แผ่นกระจกที่ติดตั้งบนทางเชื่อมแตก 3 บาน 

จุดที่ 2 ระเบิดเวลา 20.06 น. ที่อยู่ใกล้กันหน้าบริษัทบีเอ็มเอ เอ็กซ์เพรส เซอร์วิส เปิดเป็นบริษัทรับส่งเอกสาร ได้รับความเสียหายประตูด้านหน้าที่เป็นแผงเหล็กฉีกขาด ผนังกำแพงด้านข้างเปิด ฝ้าเพดานร่วง 3 แผ่น เจ้าหน้าที่สามารถเก็บเศษตะปูยาว 1.5 นิ้ว ได้จำนวนมาก ทั้ง 2 จุดไม่พบผู้เสียชีวิต 

จากเหตุระเบิด 2 จุด เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องทำการกั้นพื้นที่ไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในจุดเกิดเหตุ ทำให้ประชาชนที่จับจ่ายซื้อของและสัญจรรถไฟฟ้าพากันแตกตื่น ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสงดหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารสถานีสยามชั่วคราว 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top