Friday, 26 April 2024
TODAY SPECIAL

26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่มีการศึกษาแบบตะวันตก ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.5’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตก ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้

เมื่อสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคต เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ทรงดำรัสไว้ว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้ โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘กระทรวงยุติธรรม’ ปรับโฉมระบบยุติธรรมไทยให้ทันสมัย - แก้ปัญหาพิจารณาคดีล่าช้า

ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในกระบวนการพิจารณาคดีความ ทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก จนนำไปสู่วิกฤตทางการศาลขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจาก 

1. ความไม่เหมาะสมของระบบการศาลเดิมที่ขึ้นตามกระทรวงต่าง ๆ ทำให้เกิดความล่าช้าสับสน

2. ความไม่เหมาะสมของวิธีพิจารณาความแบบเดิม ที่มีวิธีการพิจารณาและพิพากษาคดี รวมถึงขอบเขตการลงโทษที่ไม่เหมาะสม

3. ความบีบคั้นจากต่างประเทศในด้านการศาล สืบเนื่องมาจากการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงในเอกราชของไทย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ระบบยุติธรรมในสยามมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้แก่ประชาชนทั่วไปในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยมีการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้ามาในระบบภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม และกำหนดรูปแบบวิธีพิจารณาและพิพากษาคดีขึ้นใหม่อีกด้วย

24 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ พระราชทานพระโอวาทแก่บัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ “ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณในทางที่ดีที่ชอบ”

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน ทรงเปิดอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา ซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา รวมถึงในโอกาสการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปี โดยได้รับพระราชทานนาม จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกับพระราชทานพระอนุญาต ให้เชิญอักษรพระนาม จภ. ประดับที่อาคาร โดยเป็นอาคารคู่ สูง 6 ชั้น และ 12 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ภายในมีการออกแบบ ให้เป็นอาคารต้นแบบประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน รองรับงานปฏิบัติการค้นคว้าวิจัย และการจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการดำเนินงานอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ในการส่งเสริมการผลิตบัณฑิต ที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในการทำงาน และสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และการจัดการเทคโนโลยี ที่รวบรวมผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมชุมชนและสังคม ให้นำความรู้ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางการเกษตร อาหาร พลังงาน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป

จากนั้น เวลา 13.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปยังอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา, คณะพาณิชยนาวี-นานาชาติ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวม 1,714 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติม ถึงคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง อีกประการหนึ่ง คือความกตัญญู ความกตัญญูนั้น หมายถึง ความตระหนักรู้ถึงคุณความดี ของบุคคลต่าง ๆ และสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ว่าบิดามารดาและผู้ปกครอง ซึ่งให้ชีวิตและเลี้ยงดูมา ครูบาอาจารย์ ซึ่งถ่ายทอดสรรพวิชา และอบรม บ่มนิสัย สังคมและชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัย และประกอบอาชีพการงาน ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณ ด้วยการประพฤติตน ปฏิบัติงานแต่ในทางที่ดีที่ชอบ ก่อให้เกิดผลดี ที่พึงประสงค์ คือความเจริญมั่นคง ทั้งในชีวิตและกิจการงาน พร้อมทุกส่วน จึงขอให้บัณฑิตทุกคน พิจารณาคุณค่าของความกตัญญู ให้ทราบชัด แล้วตั้งใจปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมข้อนี้ให้งอกงาม"

23 มีนาคม พ.ศ. 2277 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ผู้นำทัพปราบข้าศึกพม่าและสถาปนา ‘อาณาจักรธนบุรี’

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 ตรงกับปีขาล ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 จุลศักราช 1096 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีก 7 เดือนถัดมา โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง 

นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน’ และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด

22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงโปรดเกล้าฯ ‘พระราชบัญญัติขนานนามสกุล’ ขึ้นครั้งแรก กำหนดให้คนไทยมีชื่อตัว-ชื่อสกุล ง่ายต่อการทำทะเบียนเกิด-สมรส-ตาย

ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นประเทศสยามยังไม่มีการใช้ ‘นามสกุล’ ดังนั้นจึงมีเพียงชื่อที่บิดามารดา หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือตั้งให้ การจะรู้ว่าใครเป็นใครจึงต้องจำแนกจากรูปลักษณ์ หรือต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครและตั้งบ้านเรือนที่ใด ดังเรียกกันว่า ‘ฉายา’

ซึ่งการไม่มีชื่อสกุลประจำตระกูลนี้ เป็นเหตุให้เกิดความขัดข้องยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการ ไม่ว่าทางราชการหรือทางส่วนตัว หรือในการปกครองบ้านเมืองก็ดี ในระหว่างสังคมมนุษย์ย่อมสับสนอลเวงเป็นอันมาก ถ้าญาติผู้น้อยไม่รู้จักญาติผู้ใหญ่ ใครอาวุโสทางศักดิ์ญาติก็แทบนับกันไม่ถูก หรือไม่รู้จักลำดับสูงต่ำในสกุลกำเนิดของตนเอง ที่ควรใกล้ชิดกลมเกลียวกันก็เป็นเหินห่าง ไม่อาจรวมกันติด ไม่มีการติดต่อรวบรวมกันเป็นหมู่เหล่า ต่างครอบครัวต่างตั้งตนเป็นเอกเทศหมด ไม่มีใครรักใคร่นับถือเชิดชูใคร ใครก็ไม่ช่วยเหลือใคร นาน ๆ เข้าก็อาจถึงกลับกลายเป็นอื่นกันไปทั้งสิ้น หรือกลับไปรวมอยู่แต่กับสิ่งใกล้ชิดที่ไม่มีสายสัมพันธ์กัน โดยไม่เคยคำนึงถึงการสืบสกุลรุนชาติ นานหนักเข้าก็อาจทำให้ชาติไทยแตกแยกกันทีละน้อยๆ จนถึงสลายตัวไปในที่สุด นอกจากนั้นในทางปกครองหรือทางศาล ซึ่งเกี่ยวกับจะต้องให้ความคุ้มครอง ความยุติธรรมตลอดจนการลงโทษหรือในกรณีอื่น ๆ ก็เช่นกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมือง ตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป

21 มีนาคม พ.ศ. 2497 วันเกิด ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ‘ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-สร้างความเจริญ’ ให้กับประเทศไทยตลอด 9 ปี

‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในนาม ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ ‘ลุงตู่’ เกิดที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยคนหนึ่งคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

สำหรับประวัติการศึกษาของ ‘ลุงตู่’ ได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จ.ลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ‘ลุงตู่’ เคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 และในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 และเป็นศิษย์เก่า และในปี พ.ศ. 2550 เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 2

สำหรับเส้นทางทางการเมือง ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ภายหลังจากได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (สมัยที่ 2)

แม้จุดเริ่มต้นของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ ‘ลุงตู่’ ก็พิสูจน์ให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่าตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยได้มุ่งมั่นทำงานแรงกาย สร้างความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างให้แก่ประเทศไทย ตลอด 9 ปีที่ทำหน้าที่ ‘ผู้นำประเทศ’

และนี่คือ 9 เรื่องดี ๆ ที่ ‘ลุงตู่’ ได้ฝากไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

1. กำหนด ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ 

2. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ยกบทบาทของประเทศจากความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ด้านการบิน ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

3. สร้างความพร้อมเรื่อง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ และ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล และ 5G ที่โดดเด่นในภูมิภาค เป็นที่ดึงดูดการลงทุนบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน 5G - Data center - Cloud services ที่สำคัญในภูมิภาค มีการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชีวิตประจำวัน การศึกษาหาความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและสร้างรายได้ที่สูงขึ้นของคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ  

4. กำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21

5. สร้างกลไกในการบริการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ได้แก่ 

-‘น้ำ’ ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ 

-‘ดิน’ ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร 
-
‘ป่า’ ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ

6. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกในอนาคต

7. ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถแก้ไขวิกฤตชาติได้ในหลายเรื่อง เช่น ปลดธงแดง ICAO และแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก 

8. ประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย - สะดวก - โปร่งใส เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ และ UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น

9. สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารประเทศของ ‘ลุงตู่’ และแม้การเดินทางของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จะไม่ได้ราบรื่น หรือง่ายดาย ซ้ำยังคงมีวิกฤตโควิด วิกฤตความขัดแย้งในโลก ที่ส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจนถึงในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ช่วยให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และฟื้นตัวมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวนแปรปรวน

ก็ต้องบอกว่า ‘ประเทศไทย’ นับจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่ได้เริ่มนับที่ 1 อีกต่อไป หากทุกอย่างที่ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างมานั้นได้รับการ ‘ต่อยอด’ ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ ‘เส้นชัย’ ได้เร็ววันยิ่งขึ้น

21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ ติดตามการดำเนินงาน ‘โครงการชั่งหัวมัน’ พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง สู่โครงการต้นแบบด้าน ‘การเกษตร’ เพื่อคนไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง (เป็นการส่วนพระองค์) ในการทอดพระเนตรโรงเลี้ยงโคนม ทรงป้อนนมโคและทรงป้อนหญ้า พันธุ์แทงโกล่า แก่ลูกโค เพศเมียอายุ 3 เดือน จำนวน 2 ตัว ซึ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรที่สนใจ และทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

ทั้งนี้ ก่อนจะมาเป็น ‘โครงการชั่งหัวมัน’ ในอดีตนั้นเป็นพื้นที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เคยเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสไว้ตัดขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 และ ไร่อ้อยประมาณ 30 ไร่

ปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

โดยกองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคาร และสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับชื่อโครงการ ‘ชั่งหัวมัน’ ความหมายนั้นมาจาก ‘การชั่งน้ำหนักมันเทศ’ ตามปฐมเหตุที่รองเลขาธิการพระราชวัง ‘ดิสธร วัชโรทัย’ เล่าไว้ ก่อนจะสาธยายต่อไปถึงแก่นแท้หัวใจอันเป็นที่มาแห่งโครงการพระราชดำริอีกหนึ่งโครงการนี้ที่คนไทยทุกคนต่างทราบกันเป็นอย่างดี

“เหตุผลจริงๆ คือ ขนาดว่าหัวมันที่วางอยู่บนตาชั่งซึ่งเป็น ‘เหล็ก’ ยังสามารถงอกขึ้นมาได้ บนผืนดินที่แห้งแล้ง มันก็ต้องขึ้นได้ ดังนั้น นี่ก็จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ที่หมู่บ้านหนองคอกไก่ ซึ่งแห้งแล้งมากๆ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่ยังมีแต่ต้นยูคาลิปตัส จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็อย่างที่เราทุกคนคงทราบนั่นล่ะว่าอะไรที่ยากลำบาก พระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าทำได้ เพื่อจะได้เป็นแม่บท และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่”

“เมื่อก่อนนั้น ที่ดินแถวนี้ดินไม่ดี พระองค์ท่านทรงเลือกซื้อที่ดินที่ไม่ดี ที่ดินดีทรงไม่โปรด เพราะพระองค์ท่านทรงอยากแก้เรื่องที่ดิน จึงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีต้นยูคาลิปตัส เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องดิน”

แต่ปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้ว ผืนดินที่เคยแห้งแล้งแห่งนี้ ได้แปรสภาพกลายเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบด้านการเกษตร มีการจัดสรรทําการเกษตรทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว ข้าว ฟักทอง มันเทศ พืชผักสวนครัว ยางพารา ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนสวยให้ผู้มาเยือนแวะมาเยี่ยมชมเพื่อการท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

20 มีนาคม พ.ศ. 2280 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี บูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือ ทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ครั้น พ.ศ. 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา 

ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ หรือเรียกอย่างสังเขปว่า ‘กรุงเทพมหานคร’

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า ’สงครามเก้าทัพ‘ นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า ’กฎหมายตราสามดวง‘ สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน  พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา

19 มีนาคม พ.ศ. 2502 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่ ‘ทหารค่ายเสนาณรงค์’ “ประเทศเราอยู่มาได้แต่โบราณ ต้องอาศัยความสามัคคี-ความพร้อมเพรียงของทุกคน”

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ณ ท่าเรือเทศบาลสงขลาเพื่อประทับเรือยนต์ ‘พัทลุง’ ซึ่งจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรทะเลสาบสงขลา วิถีชีวิตของชาวบ้านและการแข่งเรือของชาวประมงในทะเลสาบสังขลา ชาวบ้านจัดซุ้มเฉลิมพระเกียรติอย่างสวยงามไว้กลางน้ำเพื่อรับเสด็จ ปัจจุบันเรือพัทลุงได้รับการซ่อมแซมและขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรจอดอยู่ในคลองลำปำ หลังวังเจ้าเมืองพัทลุง

ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรกิจการของสถานีการยางคอหงส์แล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังค่ายเสนาณรงค์ ทรงมีพระปฏิสันถารและพระราชดำรัสตอบแก่ทหารและข้าราชการที่มารอรับเสด็จดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมค่ายเสนาณรงค์ ซึ่งค่ายนี้เป็นค่ายของกองทัพบกที่อยู่ทางใต้ที่สุดของประเทศไทยเรา อาณาเขตกรมผสมที่ 5 ที่จะต้องปกครอง ที่ต้องป้องกัน ที่เป็นอาณาเขตที่สำคัญ ยิ่งเป็นชายแดนข้าพเจ้าก็พอใจที่ท่านได้ฟัง ท่านแสดงความเจตนาอันแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่ป้องกันประเทศ โดยที่ท่านได้กล่าวเสียงให้คำปฏิญาณ ขอให้การเปล่งเสียงปฏิญาณนั้นจงเป็นสัญลักษณ์ว่าทุกคนจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถในเวลาปกติไม่ทำสงคราม ทหารก็มีหน้าที่หลายอย่าง แต่หน้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือฝึกฝนอดทนและเรียนรู้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอเพื่อที่จะให้ตนเองดีขึ้นมีความสามารถดีขึ้น และให้หมู่คณะเข้มแข็งขึ้น ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของทหารมาก่อนอื่น คือต้องรู้จักรักชาติ การเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศเราอยู่มาได้แต่โบราณก็ต้องอาศัยความสามัคคีและความพร้อมเพรียงของทุกคน ขอให้ทหารทุกคนมีกำลังใจกำลังกายที่จะประกอบกิจการของตน เพื่อให้เป็นกำแพงป้องกันประเทศชาติในเมื่อมีความจำเป็น ขอให้ค่ายเสนาณรงค์นี้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปชั่วกาลนาน”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมเหล่าทหารและข้าราชการที่ค่ายเสนาณรงค์แล้ว จึงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังโรงเรียนหาดใหญ่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย) ประทับ ณ พลับพลา ที่ประทับ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 16.45 น. เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรซึ่งมีทั้งคณะครู นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จอย่างหนาแน่น

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเขาน้อย ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรซุ้มรับเสด็จของอำเภอหาดใหญ่ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม

18 มีนาคม พ.ศ. 2448 'ในหลวง ร.5' ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ ต.ท่าฉลอม เป็น ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ จุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองแก่ ปชช.ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันท้องถิ่นไทย’ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ ‘ตำบลท่าฉลอม’ ขึ้นเป็น ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 ถือเป็น ‘ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย’ และเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) สุขาภิบาลแห่งแรกของไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเรียกว่า ‘สุขาภิบาลกรุงเทพ’ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ขึ้น โดยผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามที่ทรงทอดพระเนตรมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศ

หลังจากนั้น 8 ปี คือในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็น ‘สุขาภิบาล’ เรียกว่า ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ ซึ่งถือว่าเป็นสุขาภิบาล ‘หัวเมือง’ แห่งแรกของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘เทศบาลนครสมุทรสาคร’

สำหรับเหตุที่การจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองล่าช้าไปมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรง เล็งเห็นว่า การสุขาภิบาลซึ่งเป็นรูปแบบที่ประชาชนปกครองตนเองนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การร่วมกันดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากบังคับให้มีขึ้นโดยที่ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนและเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ในวันท้องถิ่นไทย หน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นจะร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top