21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ร. 9 พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์

หลังจากเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปฏิบัติระราชกรณียกิจ ในพระฐานะพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ที่ 5 ทั้งในรูปแบบสืบเนื่องจากสมเด็จพระปิตุลาธิราช และพระบรมเชษฐาธิราชของพระองค์คือ พระบาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นั่นคือการพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษา รวมทั้งที่ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษคือ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ที่สนามหน้าหอประชุมจุฬาฯ และได้พระราชทานรางวัลแก่นิสิตผู้ชนะการแข่งขัน

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 153/2493 เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2493 ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มประชุมเวลา 9.50 น. มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานในที่ประชุม ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ เรื่องที่ประชุมซึ่งสำคัญยิ่งมี 2 เรื่องคือ เรื่องแรกคณบดีห้าคณะ ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์และครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เสนอชื่อนิสิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรคณะต่างๆ ในระดับปริญญาตรีและอนุปริญญา เพื่อขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย เรื่องที่สำคัญยิ่งคือ การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งที่ประชุมอนุมัติให้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีกิตติมศักดิ์

สำหรับการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนั้น เป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยบัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ของพระองค์เป็นคนแรกคือ นายประกายเพ็ชร อินทุโสภณ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้พระราชทานรางวัลเหรียญทองแดง สาขาวิชาชีววิทยาแก่ นายจรัส สุวรรณเวลา ซึ่งต่อมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ และนายกสภามหาวิทยาลัยในสมัยต่อมาอีกด้วย 

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ