Friday, 2 May 2025
TODAY SPECIAL

3 กุมภาพันธ์ ‘วันทหารผ่านศึก’ รำลึกถึงผู้กล้าที่สละชีพเพื่อชาติ

ในอดีต ประเทศไทยต้องพบกับภาวะสงคราม และส่งทหารเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมาก โดยปี พ.ศ.2488 เป็นต้นมา ทหารที่ได้รับการปลดระวางจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบปัญหาเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

ในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารไทยที่กลับจากการรบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเอเชียมหาบูรพา รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้เป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ในปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ ด้านอาชีพ ด้านนิคมเกษตรกรรม ด้านกองทุน ด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 กลุ่มภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดย ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นประธานร่วมกันจัดตั้ง 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึก และ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 300,000 บาท เป็นทุนประเดิม หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคสมทบจากผู้บริจาคอื่นๆ และคณะกรรมการก็ได้หาวิธีหารายได้ด้วยการจำหน่ายดอกป๊อปปี้จำหน่าย

ปี พ.ศ.2512 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' ได้ยกระดับเป็น 'มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ ให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันทหารผ่านศึก ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น 'ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก'

ความหมายของดอกไม้ประจำวันทหารผ่านศึก มาจากสีแดงของดอกป๊อปปี้ที่หมายถึงเลือดของเหล่าทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เพื่อปกป้องแผ่นดินด้วยความกล้าหาญ เหมือนสีแดงของกลีบดอกที่ปกคลุมผิวดิน

2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันนักประดิษฐ์’ น้อมรำลึก วันทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งต่อมากำหนดเป็น วันนักประดิษฐ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักการและรูปแบบของเครื่องกลเติมอากาศให้แก่กรมชลประทานเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลน้ำ กองโรงงาน กรมชลประทาน ได้ประดิษฐ์ 'กังหันน้ำชัยพัฒนา' เพื่อใช้ในโครงการแก้ไขน้ำเสีย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับพระราชทานเงินทุนจาก 'มูลนิธิชัยพัฒนา' เพื่อจัดสร้างอุปกรณ์ต่างๆ และทำการวิจัย หากทำการทดลองได้ผลดีจะได้นำไปเผยแพร่เป็นต้นแบบแก่ส่วนราชการและแหล่งชุมชนต่างๆ ให้นำไปจัดสร้างเพื่อใช้กำจัดน้ำเสียต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงคิดค้น และได้พระราชทานรูปแบบและความคิด ในการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างมาก มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อขอรับสิทธิบัตร เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้า แบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเลขาธิการของมูลนิธิชัยพัฒนา นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้แทนขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 และได้รับเลขที่สิทธิบัตร 3127 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536

ซึ่งนับได้ว่ากังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระราชวงศ์ รัฐบาลไทยได้มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้กังหันชัยพัฒนา ยังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ รางวัลที่ 1 ประจำปี 2536 จากคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายโรงจำนำเป็นครั้งแรกในไทย

วันนี้เมื่อ 130 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติโรงจำนำ ร.ศ.114 ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย มีผลบังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ.120

ทั้งนี้ การรับจำนำมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานยืนยันได้จากการตราพระราชกำหนดของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ห้ามจำนำสิ่งของเวลากลางคืน ในสมัยนั้น สิ่งของที่เอามาจำนำ ได้แก่ ทองรูปพรรณ เงิน นาก เครื่องทองเหลือง ผ้าแพรพรรณมีค่า ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมผู้จำนำไม่ต้องเอาของไปจำนำที่คนรับจำนำ แต่มีการจำนำตามบ้าน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กิจการโรงจำนำเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดย จีนฮง ตั้งโรงจำนำ ย่องเซี้ยง ที่แยกสำราญราษฎร์ ดึงดูดให้คนมาจำนำด้วยการกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำ มีการทำบันทึกรับจำนำ หรือ 'ตึ๊งโผว' มีการออกตั๋วรับจำนำเป็นเอกสารหลักฐาน

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะโรงจำนำเมื่อ รศ.114 หรือ พ.ศ.2438 โรงจำนำสมัยนี้ กิจการรุ่งเรือง มีโรงจำนำในกรุงเทพฯ ราว 200 โรง โรงจำนำที่มีชื่อเสียงคือโรงจำนำ ฮั่วเส็ง ของนายเล็ก โทณวณิก จนถึงปี พ.ศ.2498 มีการตั้ง โรงรับจำนำของรัฐ ขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกัน 2 โรง คือ ที่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ โรงหนึ่ง และต้นถนนเทอดไทอีกโรงหนึ่ง และในพ.ศ.2500 เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานธนานุเคราะห์

ต่อมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ.2503 รัฐบาลอนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งโรงรับจำนำได้ กรุงเทพมหานครจึงตั้งกิจการโรงรับจำนำใช้ชื่อว่า 'สถานธนานุบาล'

31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 ถูกปล่อยสู่อวกาศ ยานลำที่ 3 พามนุษย์เหยียบดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ได้เริ่มออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ภารกิจครั้งนี้นำโดย อเลน บี. เชพเพิร์ด เจ อาร์ (Alan Shepard) ผู้บัญชาการภารกิจ ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางสู่อวกาศ และเป็นนักบินคนที่ 5 ที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายในอาชีพการทำงานอวกาศของเขา

โดยยังมีนักบินอวกาศอีกสองคนร่วมทริปคือ เอดการ์ ดี. มิทเชลล์ (Edgar Mitchell) นักบินโมดูลดวงจันทร์ และ สตูท เอ. รูสา (Stuart Roosa) นักบินโมดูลคำสั่ง ซึ่งสำหรับมิทเชลล์และรูสา ภารกิจอพอลโล 14 ถือเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกและครั้งเดียวของทั้งสองคน

ภารกิจอพอลโล 14 มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสำรวจภูมิภาค Fra Mauro บนดวงจันทร์ นักบินอวกาศได้รับการฝึกฝนด้านธรณีวิทยาเพื่อสำรวจและรวบรวมตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์มากยิ่งขึ้น

ยานอพอลโล 14 ออกเดินทางในวันที่ 31 มกราคม 2514 เวลา 16.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภารกิจนี้ใช้เวลาเดินทางไปยังดวงจันทร์ 3 วัน นักบินอวกาศใช้เวลา 2 วันบนดวงจันทร์ และอีก 3 วันสำหรับการเดินทางกลับมายังโลก

ระหว่างที่อยู่บนดวงจันทร์ เชพเพิร์ดและมิทเชลล์ใช้เวลาประมาณ 34 ชั่วโมงเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเก็บตัวอย่างหินและดินน้ำหนักรวมกว่า 42 กิโลกรัม ก่อนเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 โดยยานลงจอดอย่างปลอดภัยที่มหาสมุทรแปซิฟิก

ภารกิจอพอลโล 14 เป็นยานอวกาศลำที่ 8 ของโครงการอพอลโลที่นำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และเป็นภารกิจที่สำเร็จต่อจากอพอลโล 13 ซึ่งประสบปัญหาจนไม่สามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ โดยในภารกิจครั้งนี้ เชพเพิร์ดได้แอบนำหัวไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ 2 ลูกขึ้นไปยังดวงจันทร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนาซา ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรเพื่อนร่วมงาน เขาได้ดัดแปลงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างหินให้สามารถติดกับหัวไม้กอล์ฟได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างหิน เชพเพิร์ดใช้หัวไม้กอล์ฟหวดลูกกอล์ฟบนพื้นผิวดวงจันทร์ ลูกแรกกระเด็นได้ระยะไม่ไกลเนื่องจากติดทราย แต่ลูกที่สองถูกหวดอย่างเต็มแรง และคาดการณ์ว่ามันอาจพุ่งไปไกลถึง 200-300 เมตร ซึ่งลูกกอล์ฟก็ยังคงอยู่บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้ 

30 มกราคม 2491 การลอบสังหาร 'มหาตมา คานธี' นักต่อสู้อหิงสาเพื่อเอกราชของอินเดีย

มหาตมะ คานธี เกิดเมื่อปี 1869 ในครอบครัวชนชั้นพ่อค้าและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทางศาสนา ซึ่งมีผลต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตของเขา พ่อของเขานับถือศาสนาฮินดูและบูชาเทพวิษณุ ขณะที่แม่ของเขานับถือนิกายที่ผสมผสานระหว่างฮินดูกับมุสลิม จึงมีการปฏิบัติประเพณีอดอาหารตามคำสอนของศาสนาแม่ที่มีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก เมื่อคานธีอายุครบ 18 ปี เขาถูกส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในสาขากฎหมาย

ในปี 1930 คานธีนำประชาชนอินเดียเดินขบวนต่อต้านภาษีเกลือของอังกฤษ โดยการเดินทางระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร และในปี 1947 เขากลายเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียโดยใช้หลักอหิงสา (การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง) ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 มกราคม 1948 นาถูราม โคทเส ได้ยิงคานธี 3 นัดที่หน้าอกในระยะใกล้ สาเหตุเกิดจากความไม่พอใจที่คานธีมีแนวคิดเป็นมิตรกับชาวมุสลิมและปากีสถาน

หลังจากการยิงโคทเสไม่ได้หลบหนีและถูกจับกุม ต่อมาศาลสูงของรัฐปัญจาบพิพากษาประหารชีวิตเขาด้วยการแขวนคอในวันที่ 15 พฤศจิกายน 1949 พร้อมกับผู้ร่วมสมคบคิดอีกคนหนึ่ง

29 มกราคม 2519 สวนสนุกแดนเนรมิต เปิดทำการครั้งแรก สร้างประวัติศาสตร์ มีผู้มาเที่ยวชมกว่า 80,000 คน

สวนสนุกแดนเนรมิต เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519 และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 80,000 คนในวันแรก ซึ่งสร้างความสุขให้กับนักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี ก่อนที่จะปิดตัวลงในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เนื่องจากหมดสัญญาเช่าระยะเวลา 25 ปีและไม่สามารถต่อสัญญาได้ โดยพื้นที่ของสวนสนุกกลายเป็นพื้นที่ในเมืองที่ไม่เหมาะกับการดำเนินกิจการสวนสนุกอีกต่อไป หลังจากนั้น เจ้าของกิจการได้พัฒนาและสร้างสวนสนุกแห่งใหม่ในย่านรังสิต คือ ดรีมเวิลด์

หนึ่งในความโดดเด่นของแดนเนรมิตคือปราสาทเทพนิยายที่ตั้งอยู่หน้าสวนสนุก ซึ่งสร้างขึ้นโดยการผสมผสานระหว่างปราสาทเทพนิยายของดิสนีย์แลนด์และปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ของเยอรมนี ภายในสวนสนุกมีเครื่องเล่นหลากหลาย เช่น รถไฟเหาะ, เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว, เรือไวกิ้ง และส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี นอกจากนี้ยังมีพาเหรดแฟนตาซีที่ออกเดินไปตามถนนรอบสวนสนุก พร้อมกิจกรรมพิเศษอย่างการจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง และการแสดงจากต่างประเทศ เช่น ประติมากรรมปราสาทน้ำแข็งจากประเทศจีน, กายกรรมจากเวียดนาม และ ซูเปอร์ด็อก บ๊อก บ๊อก โชว์จากสหรัฐอเมริกา

สวนสนุกแดนเนรมิตตั้งอยู่บนพื้นที่ 33 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนกว่า 70-80 ล้านบาท มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิดและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาที่เปิดให้บริการ

เมื่อปิดกิจการในปี 2543 เครื่องเล่นบางส่วนถูกย้ายไปยังดรีมเวิลด์ และยังคงเหลือเพียงปราสาทเทพนิยายที่เป็นสัญลักษณ์ของแดนเนรมิต ซึ่งได้กลายเป็นที่รู้จักและเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในประวัติศาสตร์สวนสนุกของไทย

28 มกราคม 2529 รำลึก โศกนาฏกรรม 'ยานชาเลนเจอร์' ระเบิดกลางฟ้า นักบินอวกาศ 7 ชีวิตสูญเสีย

วันนี้เมื่อ 39 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ที่ช็อคโลก เมื่อกระสวยอวกาศ ‘ชาเลนเจอร์’ เกิดระเบิดขึ้นบนท้องฟ้า หลังจากถูกปล่อยขึ้นไปเพียงไม่กี่นาที

ย้อนไปถึงที่มาของ ‘ยานชาเลนเจอร์’ เป็นกระสวยอวกาศขององค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสำรวจอวกาศ ก่อนเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ยานชาเลนเจอร์เคยบินไปในอวกาศมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ในการบินครั้งที่ 10 หลังจากถูกปล่อยออกไป ท่ามกลางผู้ชมหลายล้านคนที่ติดตามชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพียง 73 วินาทีเท่านั้น ยานก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้มีนักบินอวกาศเสียชีวิต 7 คน หนึ่งในนั้นคือ คริสตินา แมคคอลิฟ อดีตครูประถมที่มีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แม้เธอจะได้มาเป็นนักบินอวกาศในที่สุด แต่เธอก็ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหันในเหตุการณ์นี้

การสอบสวนภายหลังพบว่า สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากชิ้นยางวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดไม่สามารถยืดหยุ่นได้ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็น ทำให้เกิดการรั่วไหลของแก๊สที่ไปกระทบกับถังเชื้อเพลิงระหว่างจรวดขับดัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการระเบิดฉีกตัวยานและจรวดออกเป็นชิ้นๆ

โศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ถือเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดในโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ และส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องหยุดโครงการขนส่งอวกาศไปนานเกือบ 3 ปี แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 35 ปี แต่ความสูญเสียในครั้งนั้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนเสมอมา

27 มกราคม 2501 วันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันเริ่มต้นของนายร้อย 4 เหล่า

โรงเรียนเตรียมทหาร หรือ Armed Forces Academies Preparatory School เป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศกองบัญชาการกองทัพไทย และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โดยผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร เรียกว่านักเรียนเตรียมทหาร (นตท.)

การรับสมัครบุคคลพลเรือนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารนั้น โรงเรียนเตรียมทหารมิได้เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารด้วยตนเอง หากแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือก

โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดจำนวนรับนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากนั้นแต่ละเหล่าทัพจะส่งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นเวลา 2 ปี

ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว นักเรียนเตรียมทหารเหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทัพ (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) ตามที่นักเรียนได้สมัครและผ่านการสอบคัดเลือก

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทัพแล้ว นักเรียนนายร้อยเหล่านี้ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหาร และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พร้อมทั้งเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จแทนพระองค์

สำหรับประวัติการก่อตั้งและสถาปนามีว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2500 จอมพลถนอม กิตติขจร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอดำริต่อสภากลาโหมว่า หากจะรวมโรงเรียนที่อยู่ในระดับการศึกษาเดียวกันจากกองทัพต่าง ๆ เป็นสถาบันเดียวกันก็จะเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติ

ทั้งยังทำให้ผู้ศึกษามีโอกาสได้รู้จักคุ้นเคย มีความสนิทสนมกลมเกลียว มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความคิดจิตใจร่วมกันแต่เยาว์วัย ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลเหล่านี้สามารถประสานงานกันได้ด้วยดีและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สุด สภากลาโหมได้เห็นชอบในดำรินี้เป็นเอกฉันท์ ในขั้นแรกให้รวมโรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ และโรงเรียนเตรียมนายเรืออากาศ เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร สังกัดกรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2501

จึงถือว่าวันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร  และในปี 2506 กรมตำรวจได้ขอให้โรงเรียนเตรียมทหารรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย โรงเรียนเตรียมทหารจึงเป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับนายทหาร นายตำรวจ โดยสมบูรณ์

‘ยายชา เถิดเทิง’ เสียชีวิตแล้ว!! หลังป่วยมะเร็งปอด เปิดโพสต์สุดท้าย ‘โจอี้ กาน่า’ เยี่ยมบ้านที่นครปฐม

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 68) นาย บุญฤทธิ์ คุ้มเงินแสน หรือ ทอมมี่ เถิดเทิง หรือ ยายชา เถิดเทิง อดีตศิลปินตลกชื่อดัง ซึ่งรับบทเป็น ยายชา หญิงชราขายกล้วยแขก ตัวตัวละครในระเบิดเถิดเทิง เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ภายหลังรักษาอาการป่วยมะเร็งที่ปอดมาระยะหนึ่ง 

ทั้งนี้ โอบะ เสียงเหน่อ เปิดเผยว่า ยายชา เถิดเทิง เสียชีวิตที่บ้านพักวันนี้จริง รดน้ำศพ 26 ม.ค. ที่วัดรางหมัน กำแพงแสน จ.นครปฐม 

สำหรับครอบครัว และภรรยาของ ยายชา เถิดเทิง นั้น เปิดร้านอาหารในวัดรางหมัน กำแพงแสน จ.นครปฐม เคยเล่าว่า ยายชา เถิดเทิง แข็งแร งเพิ่งจะมาป่วยเอาเมื่อปีที่แล้วเอง 

ทั้งนี้ ยายชา เถิดเทิง ได้ภาพ โจอี้ กาน่า ศิลปินตลกชื่อดังไปเยี่ยมที่บ้าน จ.นครปฐม พร้อมข้อความระบุว่า “ขอขอบคุณ คุณโจอี้ กาน่า และทีมงาน มาเยี่ยม ยายชา เถิดเทิง ที่บ้าน นำสิ่งของอุปโภค-บริโภค มาให้ยายชาและผู้ดูแล ขอกราบขอบพระคุณค่ะ” ซึ่งเป็นโพสต์สุดท้ายของ ยายชา เถิดเทิง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ "กิ๊ฟ โคกคูน" ศิลปินตลกชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความอาลัย ยายชา เถิดเทิง ไว้ว่า “ดาวร่วงไปอีกหนึ่งดวง ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของยายชาด้วยนะครับ ไม่ต้องเจ็บไม่ต้องปวดไม่ต้องทรมานอีกต่อไป แล้วขอให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีนะน้องรัก”

26 มกราคม 2525 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อ 'ค่ายจุฬาภรณ์' จังหวัดนราธิวาส

ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นนายทหารเรือหญิง พรรคนาวิกโยธินพระองค์แรก นาวาเอก สงบ ศรลัมพ์ จึงได้ยื่นหนังสือถึงกรมนาวิกโยธินเพื่อขอพระราชทานชื่อค่ายดังกล่าว โดยได้รับการเห็นชอบจาก พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน และได้ส่งหนังสือไปยังกองทัพเรือเพื่อขอพระราชทานชื่อ "ค่ายจุฬาภรณ์" ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากกองทัพเรือ กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหมตามลำดับ

ในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กราบบังคมทูลนายกรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อค่ายทหารของกองบังคับการกรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน และกองพันทหารราบที่ 9 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 3 กรมนาวิกโยธิน โดยชื่อค่ายได้รับการยืนยันเป็น "ค่ายจุฬาภรณ์" หรือ "CHULABHORN CAMP" ในภาษาอังกฤษ

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2525 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีได้นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาและได้รับพระราชทานชื่อค่ายตามที่ขอ

ในวันที่ 24 กันยายน 2526  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเรือเอกหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเปิด "ค่ายจุฬาภรณ์" ที่กรมทหารราบที่ 3 กรมนาวิกโยธิน บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีพลเรือเอก สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเรือเอก โสภณ สุญาณเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน, และนายทหารผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ร่วมพิธีเปิดค่ายอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและแขกผู้มีเกียรติจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top