Saturday, 3 May 2025
TODAY SPECIAL

7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัย ร. 4

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2408 หรือวันนี้ เมื่อ 160 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่าต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ 

ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"

หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเสนอพระองค์เจ้ายอดยิ่งเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัย 

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็นเพียงแค่ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เท่านั้น ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย

6 มกราคม พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี

วันนี้เมื่อ 87 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี

โรงพยาบาลอานันทมหิดล (อังกฤษ: Ananda Mahidol Hospital) กรมแพทย์ทหารบก ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย ให้บริการทั้งข้าราชการทหารและพลเรือนรวมถึงประชาชนทั่วไป และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามรองจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี

โรงพยาบาลอานันทมหิดลก็ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 และแล้วเสร็จในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มากระทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

5 มกราคม พ.ศ. 2516 ในหลวง ร.9 เสด็จฯหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลั๊วะ อ.แม่สะเรียง เยี่ยมราษฎรพร้อมส่งเสริมการปลูกกาแฟและการเลี้ยงไหม

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ หมู่บ้านป่าแป๋ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลั๊วะ ทรงพระราชทาน ห่าน สิ่งของและยารักษาโรค พระองค์ทรงให้ส่งเสริมการปลูกต้นกาแฟและพระราชทานเงินให้หญิงชาวเขาเข้าเรียนการเลี้ยงไหมและกลับมาสอนให้ชาวเขาภายในครอบครัวต่อไป

และในวันเดียวกันนัน ยังได้เสด็จองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) หน่วยแม่โจ้ครั้งแรก ณ อาคารแผ่พืชน์ วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ พร้อมทั้งทรงมีพระบรมราโชวาทสำคัญตอนหนึ่งความว่า 

"แม่โจ้นั้นรักสามัคคีกันมาก และหากพลังแห่งสามัคคี ถ้าไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ที่ดี ที่สร้างสรรค์ จะนำไปสู่ความเจริญ ไปสู่ความดี และผู้ปฏิบัติจะได้รับผลดีคือ ความยกย่องของชุมชน และความยกย่องของประชาชนทั้งประเทศ..."

4 มกราคม ของทุกปี ‘วันทหารม้า’ น้อมสดุดีวีรกรรม ‘พระเจ้าตาก’ ทำการรบบนหลังม้าต่อสู้กับทหารพม่าจนได้ชัยชนะ

วันทหารม้าถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้นำกำลังทหารตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ทหารพม่ารวบรวมกำลังไล่ติดตามมาถึง ณ บ้านพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยจำนวน 4 นาย ได้ทำการรบบนหลังม้าต่อสู้กับทหารพม่าจำนวน 30 นายจนได้รับชัยชนะ

โดยตลอดการรบในครั้งนั้นชาวบ้านได้จัดส่งข้าวเม่าให้เป็นเสบียงและส่งธนูให้แก่ทหารใช้เป็นอาวุธ กองทหารได้ปะทะกับพม่าที่คลองแห่งหนึ่ง จนเมื่อพระยาตากตีทหารพม่าแตกพ่าย จึงตั้งชื่อคลองว่า 'คลองชนะ' ฝ่ายทหารพม่าได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิดตลอดระยะทางที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากต้องต่อสู้กับพม่าถึง 4 ครั้ง แต่กองทหารพม่าก็ไม่ยอมลดละ และไล่ตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร ซึ่งมีหญิงสาวชาวบ้านชื่อนางโพ ได้ช่วยรบกับพม่าจนเสียชีวิต โดยภายหลังจากพระยาตากกู้ชาติได้แล้วจึงได้ระลึกถึงกลับมาตั้งชื่อหมู่บ้านโพธิ์สังหาร เป็นหมู่บ้านโพสาวหาญและยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ 'พรานนก' หรือเฒ่าคำ ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดเสบียงอาหารให้กับกองทหารพระยาตากในระหว่างสงคราม โดยในปัจจุบันมีรูปปั้นให้ประชาชนเคารพที่หมู่บ้านพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ จากการสู้รบในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงการใช้คุณลักษณะของทหารม้าในการรบ คือความคล่องแคล่วและรวดเร็วในการเคลื่อนที่ จึงยกย่องพระองค์เป็นบูรพาจารย์แห่งการรบบนหลังม้า และเป็นพระบิดาของเหล่าทหารม้า และได้ถือเอาวันที่พระองค์สร้างวีรกรรมในครั้งนั้นคือวันที่ 4 มกราคม ของทุกปีเป็น 'วันทหารม้า'

3 มกราคม พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงวางศิลาฤกษ์ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย’ ในปัจจุบัน

วันนี้ครบรอบ 110 ปี พระราชพิธีก่อพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปัจจุบันคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์) โดยต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย'

ในวันนั้นพระราชดำรัสตอบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ ผู้ที่มาชุมนุมอยู่ในงานพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ ในวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พระพุทธศักราช 2458 ความว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้ว ในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีเหตุติดขัด"

"ซึ่งการยังจะดำเนินไปไม่ได้ตลอดปลอดโปร่ง ตัวเราเป็นรัชทายาทจึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ โดยรู้ว่าเมื่อได้ทำสำเร็จแล้วจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์ เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเราเป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์ อันใหญ่และถาวรเช่นนี้”

“ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราจะได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้ส่วนการที่ดำเนินไปได้จนเป็นรูปถึงเพียงนี้แล้ว ก็ต้องอาศัยความอุตสาหะของกรรมการผู้ได้รับมอบเป็นหน้าที่ผู้อำนวยการ ประกอบกับความอุตสาหะแห่งบรรดาผู้มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์สั่งสอนในโรงเรียนนี้ ของกรรมการที่ได้รับมอบหน้าที่ไปจากเราให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจงได้รับความขอบใจของเราแล้ว"

"และขอให้แสดงความขอบใจของเรานี้แก่ครู อาจารย์ทั้งหลายที่พยายามทำการตามหน้าที่อย่างสามารถด้วย ขอจงมีความเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลทั่วกัน ความมุ่งหมายและกิจการซึ่งต่างก็ตั้งหน้าพยายาม เพื่อจะให้เป็นความดีความงามแก่มหาวิทยาลัยในเบื้องหน้านั้น ก็ขอให้ได้ผลสำเร็จ สมปรารถนาโดยเร็วเทอญฯ”

อนึ่ง สำหรับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในปัจจุบันคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้

โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

ต่อมาตึกนี้ใช้เป็นสถานที่เรียนของคณะอักษรศาสตร์ คือ ตึกอักษรศาสตร์ 1 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

2 มกราคม พ.ศ. 2551 วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระธิดาใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2466 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงเป็นพระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่8 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติในหลายสาขา ทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยเฉพาะทรงสืบสานงานมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (มูลนิธิ พอ.สว.) พระองค์ทรงนำหน่วยแพทย์ พอ.สว. ออกเยี่ยมราษฎรและตรวจรักษาผู้ป่วยตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ในผู้ป่วยบางรายทรงรับไว้ในพระอนุเคราะห์ และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2538 ในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณีพระองค์เดียวในรัชกาล โดยทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

ปลายปี 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประชวร และเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช และสิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 หรือ วันนี้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว สิริพระชันษา 84 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2551

1 มกราคม ‘วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ’ เจ้านายพระองค์สำคัญ

วันที่ 1 มกราคม นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว ยังถือเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพเจ้านายพระองค์สำคัญในอดีตด้วยเช่นกัน ดังนี้

1 มกราคม 2407 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทำให้พระองค์ทรงเป็นปฐมบรมราชินีนาถของประเทศไทย มีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย 

1 มกราคม 2423 วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ ด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 ปี 

1 มกราคม 2437 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 
 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2437 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 86 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์" หรือ "พระราชบิดา" และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า "เจ้าฟ้าทหารเรือ" และ "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล" ทรงเป็นสมเด็จพระบรมชนกใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

31 ธันวาคม วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568

ในปฏิทินเกรกอเรียน วันที่ 31 ธันวาคม หรือที่เรียกว่า 'วันส่งท้ายปีเก่า' เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของปีเก่าและการต้อนรับปีใหม่ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปี ในหลายประเทศ การเฉลิมฉลองคืนวันปีใหม่มักจะเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง และการชมพลุดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ ในบางประเทศที่มีคริสเตียนก็จะมีการไปทำพิธีนมัสการในคืนวันปีใหม่ การเฉลิมฉลองมักจะดำเนินต่อไปจนถึงเที่ยงคืนและต้อนรับวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม

ประเทศในแถบเกาะไลน์ อาทิ คีริบาส, ซามัว และ ตองกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก จะเป็นพื้นที่แรกของโลกที่ต้อนเข้าสู่ศักราชใหม่ ขณะที่ อเมริกันซามัว, เกาะเบเคอร์ และ เกาะฮาวแลนด์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอเมริกัน) จะต้อนรับปีใหม่เป็นพื้นที่สุดท้ายของโลกที่เข้าสู่ปี 2025 

ในแต่ชาติจะมีวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกัน ในประเทศจีน แม้ว่าจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนอยู่แล้ว แต่ก็มีการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามแบบปฏิทินเกรกอเรียนเช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง ที่มีการจัดแสดงพลุและคอนเสิร์ตร็อก และในเซี่ยงไฮ้ที่มีการแสดงแสงและเสียงก่อนเที่ยงคืน

ใน ญี่ปุ่น, ค่ำคืนวันปีใหม่ถือเป็นเวลาที่ชาวญี่ปุ่นจะเตรียมตัวต้อนรับ 'เทพเจ้าแห่งปีใหม่' หรือ โทชิกามิ ชาวญี่ปุ่นมักนิยมทำความสะอาดบ้านและเตรียม 'คาโดมัตสึ' หรือ 'ชิเมนาวะ' เพื่อการต้อนรับเทพเจ้าถือเป็นประเพณีที่สำคัญ โดยที่วัดพุทธในญี่ปุ่นจะตีระฆัง 108 ครั้งในคืนวันปีใหม่เพื่อขจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลาย

ใน ประเทศไทย มีหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยต่างจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่ากันอย่างคึกคัก อาทิ  กรุงเทพฯ และพัทยา มีการจัดงานเคานต์ดาวน์ การแสดงพลุไฟ และคอนเสิร์ต รวมไปถึงงานปาร์ตี้ในโรงแรม ร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่าง ๆ 

ใน ฝรั่งเศส, การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ หรือ 'la Saint-Sylvestre' มักจะมีการจัดเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ หรือ 'Réveillon de la Saint-Sylvestre' ซึ่งมีอาหารพิเศษเช่น ฟัวกราส, ซีฟู้ด, และแชมเปญ และมีไฮไลต์คือการแสดงพลุที่หอไอเฟลเป็นประจำทุกปี

ใน รัสเซีย, การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ที่เรียกว่า 'Novy God' แม้ว่ารัสเซียจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) ที่จะมีการเฉลิมฉลองบางอย่างแตกต่างจากคริสตชนประเทศอื่น แต่ก็มีรัสเซียก็มีวันหยุดที่เหมือนกับวันคริสต์มาส โด จะมีการประดับตกแต่งไฟและขอของขวัญจาก 'Ded Moroz' หรือ ซานตาคลอสในภาษารัสเซีย 

ในสหรัฐอเมริกา ไฮไลท์การถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ที่ไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก เริ่มต้นครั้งแรกในปี 1970 ก่อนที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเฉลิมฉลองนี้ในเวลาต่อมา ในปีนี้ลูกบอลยักษ์ที่ประดับด้วยคริสตัล จำนวน 2,688 ชิ้นที่ผลิตโดยบริษัท Gillinder Glass พร้อมติดตั้งไฟ LED มีน้ำหนักถึง 11,875 ปอนด์และเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ฟุต จะตกลงมาในไทม์สแควร์ช่วงเวลาใกล้เที่ยงคืน พร้อมอักษรไฟคำว่า '2025' ที่มีน้ำหนักราว 545 กิโลกรัม มีความสูง 7 ฟุต ได้รับการประดับประดาด้วยหลอดไฟแอลอีดีจำนวน 620 ดวง จะสว่างไสวสร้างความประทับใจให้กับคนทั่วโลกในคืนสุดท้ายของปี

30 ธันวาคม 2549 ประหารชีวิต ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีอิรัก

ย้อนกลับไปในอดีต ซัดดัม ฮุสเซน มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในอิรักเมื่อปี พ.ศ. 2511 ซึ่งทำให้พรรคบะอัธของเขาขึ้นสู่อำนาจ และเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก่อนจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2522

ซัดดัมกลายเป็นที่จับตามองของโลกในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย พ.ศ. 2534 เมื่ออิรักบุกยึดครองคูเวต ส่งผลให้เกิดสงครามกับประเทศพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา สงครามกินระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ และอิรักก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2538 แต่ผลพวงจากสงครามยังคงยืดเยื้อไปหลายปี

ซัดดัม ฮุสเซน กลายเป็นศัตรูสำคัญของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2533 ถึงแม้ว่าในช่วงแรกสหรัฐฯ เคยช่วยอิรักในการทำสงครามกับอิหร่าน แต่เมื่อซัดดัมบุกยึดคูเวตเพื่อใช้แหล่งน้ำมันกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอยจากสงครามยาวนานกับอิหร่าน การกระทำนี้ถูกประณามจากนานาชาติและนำไปสู่การคว่ำบาตร รวมถึงการเริ่มต้นสงครามอ่าวเปอร์เซียในวันที่ 16 มกราคม 1991 เมื่อสหประชาชาติอนุมัติการใช้กำลังเพื่อลงโทษอิรัก

สงครามสิ้นสุดใน 6 สัปดาห์ เมื่อกองกำลังพันธมิตรสามารถขับไล่อิรักออกจากคูเวต หลังจากนั้น ซัดดัมตอบโต้การก่อจลาจลจากกลุ่มชีอะฮ์และชาวเคิร์ดด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรง

ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง อิรักถูกห้ามผลิตอาวุธเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ แต่การที่อิรักไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของสหประชาชาติ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษใช้เหตุผลนี้ในการโจมตีทางอากาศในปี 1998 พร้อมกับประกาศสนับสนุนกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มซัดดัม

หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯ พยายามเชื่อมโยงซัดดัมกับกลุ่มก่อการร้ายและยืนยันในการปลดอาวุธรัฐบาลซัดดัม ในปี 2002 ซัดดัมยินยอมให้ฝ่ายตรวจสอบจากยูเอ็นเข้าประเทศ แต่ไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษไม่พอใจและตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิรัก

วันที่ 17 มีนาคม 2003 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ข่มขู่ให้ซัดดัมลงจากตำแหน่งภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่เช่นนั้นจะประกาศสงคราม และเมื่อซัดดัมปฏิเสธ สหรัฐฯ และพันธมิตรจึงเปิดฉากโจมตีอิรักในวันที่ 20 มีนาคม

การโจมตีอย่างหนักทำให้ซัดดัมต้องหลบหนีพร้อมกับสมบัติของชาติ แต่ลูกชายของเขาสองคนถูกฆ่าตายในเมืองโมซุลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 จนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม ซัดดัมถูกจับกุม

ซัดดัมถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษในปี 2548 และถูกกล่าวหาว่าสั่งสังหารชาวชีอะห์ 148 คนในเมืองอัล-ดูจัย์ล ในเดือนกรกฎาคม 2549 ศาลตัดสินให้เขามีความผิดในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

29 ธันวาคม 2453 รัชกาลที่ 6 สถาปนา 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย'

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 พระราชทานกำเนิด 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย' โดยมีวัตถุประสงค์ในการทดลองจัดการศึกษาของชาติและให้การศึกษาแก่ราษฎรเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต นอกจากนี้ยังพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รับทราบการจัดการศึกษาของชาติ โดยในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงพระกรุณาให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะพระราชทานชื่อใหม่ว่า 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง'

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เงิน 100,000 บาทเพื่อเป็นทุนของโรงเรียน และในภายหลังได้พระราชทานที่ดินสวนกระจังจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนถาวร ซึ่งมีการออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ และพระสมิทธเลขา

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงดำเนินการตามหลักการของระบบการศึกษาของอังกฤษ แต่พระราชดำริของพระองค์คือการสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและพร้อมรับภาระในอนาคต แทนที่จะเน้นผลการเรียนเพียงอย่างเดียว

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า 'วชิราวุธวิทยาลัย' เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์

วชิราวุธวิทยาลัยได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน และยังคงมีตึกที่พักนักเรียนที่เรียกว่า 'คณะ' ซึ่งแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top