Thursday, 8 May 2025
TODAY SPECIAL

รัฐประหารรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ฝีมือ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ นำทีมยึดอำนาจ

ครบรอบ 17 ปี คณะทหารในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ คปค. ได้ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่าการปกครองภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ของปวงชนชาวไทย อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าหลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

โดยทางทหารได้เตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่ และบีเอ็มซีก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ.สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ...

ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

รัฐประหารครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤติแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย โดยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ

18 กันยายน พ.ศ. 2505 ประกาศให้ ‘เขาใหญ่’ เป็นอุทยานแห่งชาติ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 61 ปีก่อน ผืนป่าเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็น ‘อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่’ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี ประกอบด้วยป่าหลายประเภท ทั้งป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และป่าที่กำลังฟื้นตัวหลังถูกทำลาย 

ในอดีตป่าผืนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าดงพญาไฟ มีการสำรวจพบพืชพรรณ 2,000-2,500 ชนิด นก 340 ชนิด ผีเสื้อ 189 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง กระทิง ชะนี เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ผืนป่าเขาใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำและลำธารใหญ่น้อยหลายสาย มีน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง น้ำตกเหวนรก น้ำตกผากล้วยไม้ ฯลฯ 

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในแถบเอเชียอาคเนย์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการมรดกโลก แห่งองค์การยูเนสโกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผืนป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นบัญชีเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก นับเป็นแห่งที่ 2 ของไทยต่อจากเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 

17 กันยายน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประกาศใช้เงินเหรียญบาทครั้งแรกในประเทศสยาม

วันนี้ เมื่อ 163 ปีก่อน สยาม ประกาศใช้เงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ เพื่อใช้แทนเงินพดด้วง เป็นตราพระมหามงกุฎ-ช้างในวงจักร

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์สิทธิการ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

และเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

อนึ่ง โรงกษาปณ์แห่งนี้ ภายหลังจากการสร้างโรงกษาปณ์แห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงหมอตอนหนึ่ง และเป็นคลังราชพัสดุอีกตอนหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง

ทัวร์ราชมรรคาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เส้นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความสัมพันธ์อันแนบแน่น ‘ไทย-กัมพูชา’

📌ห้ามพลาด!!
ทัวร์ราชมรรคาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 
เส้นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความสัมพันธ์อันแนบแน่น ‘ไทย-กัมพูชา’ 

🗓ระหว่างวันที่ 12 - 20 ตุลาคม 2566 (8 คืน 9 วัน)

จัดโดย: คณะอนุกรรมการพลังวัฒนธรรมไทย สภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

🎤คณะวิทยากร: อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม และอาจารย์กฤษณพงศ์ เกียรติศักดิ์

ประเทศไทยและประเทศกัมพูชามีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต มีแผ่นดินเดียวกันมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันมานานนับพันปี อีกทั้งให้อิทธิพลซึ่งกันและกันในบางยุคสมัยโดยเฉพาะ รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้มีการสร้างเส้นทางทางการค้า ศาสนา และการเมืองที่เราเรียกว่า ‘ราชมรรคา’ ซึ่งในปัจจุบันยังปรากฏ เมือง ศาสนสถาน โรงพยาบาล ที่พักสำหรับผู้คนที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญ อันเป็นประจักษ์ พยานหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์

ปัจจุบัน ‘ราชมรรคา’ จึงกลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ คณะอนุกรรมการพลังวัฒนธรรมไทย สภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ไทย ไท แชนเนล เห็นความสำคัญของเส้นทางราชมรรคา เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมกับประเทศกัมพูชาให้มีความแนบแน่นมากขึ้น จึงได้จัดทัศนศึกษาขึ้น โดยมีสถานที่ที่น่าสนใจดังนี้ เมืองศรีเทพ-ปราสาทพิมาย-ปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ-อโรคยศาลา-ปราสาทพระวิหาร-นครธม-ตงเลสาป-นครวัด-สมโบร์ไพรกุก-พนมเปญ-พิพิธภัณฑ์-ทำเนียบรัฐบาลกัมพูชา

📌ค่าบริการ : พักคู่ ท่านละ 79,000 บาท 
พักเดี่ยวเพิ่ม ท่านละ 25,000 บาท

📌รายละเอียดกำหนดการในแต่ละวัน อ่านเพิ่มเติมในคอมเมนต์

🟢ค่าบริการดังกล่าว รวม :
✅️ค่าเดินทางรถโค้ชปรับอากาศ พร้อมคนขับ รวมค่าน้ำมัน
✅️ค่าตั๋วเครื่องบิน ขากลับ พนมเปญ-สุวรรณภูมิ ชั้นประหยัด สายการบินบางกอกแอร์เวย์
✅️ค่าอาหารที่ระบุตามรายการ
✅️ค่าที่พัก 8 คืน (พัก 2 ท่านต่อห้อง)
✅️ค่าบัตรเข้าชมสถานที่และพิพิธภัณฑ์
✅️คู่มือนำชม ราชมรรคา
✅️กิจกรรมพิเศษและค่าวิทยากรบรรยาย
✅️หัวหน้าทัวร์ คอยอำนวยความสะดวก จำนวน 1 ท่าน ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา
✅️ประกันการเดินทางเฉพาะอุบัติเหตุ (ไม่รวมสุขภาพ) ตามเงื่อนไขกรมธรรม์

🔴ค่าบริการดังกล่าว ไม่รวม :
❌️ค่าบริการ 30 - 5 กรณีที่ชำระค่าใช้จ่ายตอนต้นด้วยบัตรเครดิต
❌️ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% (กรณีนิติบุคคล)
❌️ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุในรายการ
❌️ค่าทิปคนขับรถ ผู้ช่วยคนขับ และหัวหน้าทัวร์ไทยและกัมพูชา

📢เงื่อนไขและความรับผิดชอบ

ทางบริษัททัวร์ฯ เป็นเพียงตัวแทนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไม่อาจรับผิดชอบต่อความเสียหาย รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง 1 ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทฯ ทั้งก่อนเดินทางและระหว่างการเดินทาง อาทิ การนัดหยุดงาน การประท้วง เหตุจลาจล การก่อการร้าย โรคระบาด การประกาศฉุกเฉิน เหตุจากภัยธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน และเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ ที่เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือการเลื่อน หรือต้องยกเลิกการเดินทาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือการสำรองค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงทางอ้อมระหว่างการเดินทาง อาทิ การเจ็บป่วยทางสุขภาพ - โรคประจำตัว อุบัติเหตุ การสูญหายของทรัพย์สินส่วนตัว ความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้าในการเดินทาง การถูกทำร้าย การถูกจับหรือกักตัว

16 กันยายน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

กันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน

15 กันยายน ของทุกปี วัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

15 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้บุกเบิกวงการศิลปกรรมของไทยให้ก้าวหน้าสู่สากล และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2435 ในเขตซานโจวานนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ อาตูโด เฟโรชี และซานตินา เฟโร มีบุตร 2 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

เป็นบุคคลที่มีใจรักในศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ท่านก็สามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ 1 และสามารถสอบเข้าเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2466 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน

แม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็น ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ

14 กันยายน พ.ศ. 2485 ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันเป็นวันแรก แสดงถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

วันนี้เมื่อ 81 ปีก่อน 14 กันยายน พ.ศ. 2485 ประชาชนชาวไทยยืนตรงเคารพธงชาติไทยครั้งแรก ในเวลา 08.00 น. และ เวลา 18.00 น. หลังก่อนหน้านี้มีการกำหนดเป็นกฎหมาย แต่ไม่ได้รับความนิยม

ปีพ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีเพลงชาติเป็นครั้งแรก แต่ยังคงใช้ชื่อว่า ‘เพลงชาติสยาม’ (เปลี่ยนชื่อเป็น เพลงชาติไทย ปี พ.ศ. 2482) และในปีต่อมา คือ พ.ศ. 2478 ทางราชการก็ได้ประกาศกฎหมายให้ประชาชนยืนเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น. แต่ในสมัยนั้นกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร

จนในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรายการวิทยุนายมั่น นายคง ซึ่งเป็นรายการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อโฆษณาแนวคิดรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการนัดหมายประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2485 เป็นวันแรก โดยภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้กล่าวผ่านทางวิทยุกระจายเสียงในทำนองว่า ตนเองรู้สึกสบายใจ และพบความเป็นไทยมากขึ้น รวมทั้งประณามคนที่ไม่เคารพธงชาติไทยว่า เป็นผู้คิดทรยศต่อชาติ เท่ากับการด่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระพุทธเจ้า เนื่องจากสีของธงชาติไทยมีสีแทนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีการทำตามมาจนถึงปัจจุบัน

13 กันยายน พ.ศ. 2528 นินเทนโด เปิดตัว ‘ซูเปอร์ มาริโอ’ ก่อนเป็นวิดีโอเกมฮิตครองใจคนทั่วโลก

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน นินเทนโด (Nintendo) บริษัทเกมของญี่ปุ่นเปิดตัววิดีโอเกม ‘ซูเปอร์ มาริโอ’ (Super Mario Bros.) เป็นครั้งแรก

เกมซูเปอร์ มาริโอ เวอร์ชันแรกใช้กับเครื่องเล่นวิดีโอเกมขนาด 8-Bits รุ่น Nintendo Entertainment System (NES) ต่อมาได้รับความนิยมอย่างสูง จนนินเทนโดต้องออกภาคต่อตามมาอีกหลายภาค และพัฒนาให้สามารถเล่นได้กับเครื่องเล่นเกมประเภทใหม่ ๆ เช่น เกมบอย เพลย์สเตชัน หรือในคอมพิวเตอร์ 

เกมซูเปอร์ มาริโอ ออกแบบโดย ชิเกรุ มิยาโมโต (Shigeru Miyamoto) ส่วนภาคของเสียงออกแบบโดย โคจิ คอนโดะ (Koji Kondo) เป็นเกมประเภท ‘Platform game’ คือแบ่งออกเป็นฐานต่าง ๆ จากง่ายไปยาก โดยมีตัวละครเอกเป็นช่างประปาชาวอิตาลีสองคนคือ ‘มาริโอ’ (Mario) ชุดสีแดง และ ‘ลุยยี’ (Luigi) ชุดสีเขียว ผู้เล่นจะต้องพามาริโอหรือลุยยีฝ่าอาณาจักรเห็ด ดำน้ำ เหินฟ้า ต่อสู้กับเต่าหนาม เต่าบิน มังกร ดอกไม้กินคน ปลาปักเป้า ฯลฯ เพื่อไปช่วยเหลือ เจ้าหญิงลูกท้อ (Princess Peach) แต่ละด่านจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่าศัตรูก็เก่งขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ซูเปอร์มาริโอนับเป็นวิดีโอเกมสุดฮิตที่เด็ก ๆ เกือบทุกคนทั่วโลกจะต้องเคยเล่น จนกลายเป็นวิดีโอเกมขายดีตลอดกาล

11 กันยายน พ.ศ. 2544  เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชน ‘เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์’

วันนี้เมื่อ 22 ปีก่อน เกิดเหตุวินาศกรรมช็อคโลก หลังผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน 4 ลำ พุ่งชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน

11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center) ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมาลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center) ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก

จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน (Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 3 พัน โดยเป็นผู้โดยสารลูกเรือรวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คนและตำรวจอีก 60 คน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน

เหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ได้ออกมาแถลงการณ์ว่ามันเป็นการกระทำของอสูรร้าย พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5 พันคนออกแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คน โดยมีโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ (al-Qaeda) เป็นเบอร์หนึ่ง แม้บินลาเดนจะออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอเมริกา

10 กันยายน พ.ศ. 2463  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พันเอก (พิเศษ) จอมพลเรือ นายแพทย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (1 มกราคม พ.ศ. 2435 - 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ

และในขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 นั้นเอง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เพื่อทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน ก่อนจะประสูติพระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top