30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 วันสถาปนา ‘คุณหญิงโม’ ขึ้นเป็น ‘ท้าวสุรนารี’ ตำนานหญิงกล้าศูนย์รวมจิตใจของชาวโคราช

วันนี้ เมื่อ 196 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘คุณหญิงโม’ ขึ้นเป็น ‘ท้าวสุรนารี’ พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ จากวีรกรรมอันกล้าหาญที่ต่อสู้กับทหารเจ้าอนุวงศ์ จากลาว จนแตกพ่าย

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า ‘โม’ (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือ ท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา 

เมื่อปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระภักดีสุริยเดช’ ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา ‘พระภักดีสุริยเดช’ ได้เลื่อนเป็น ‘พระยาสุริยเดช’ ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า ‘คุณหญิงโม’ และ ‘พระยาปลัดทองคำ’

ในปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ (วีระกษัตริย์ของชาวลาว) บุตรเจ้าศิริบุญสาร ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างและเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสยาม ต้องการเป็นเอกราชจากสยาม จึงประพฤติเป็นกบฏยกทัพหมายจะเข้าตีกรุงเทพมหานคร นำชาวลาวที่มาอยู่ในแผ่นดินสยามกลับมาตุภูมิ เจ้าอนุวงศ์ใช้อุบายลวงเจ้าเมืองตามรายทาง โดยปลอมท้องตราพระราชสีห์ว่า สยามขอให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพมาช่วยรบกับอังกฤษ (ขณะนั้นมีข่าวลือหนาหูว่า สยามจะมีศึกกับอังกฤษ) ซึ่งยกทัพเรือจะมาตีกรุงเทพ ๆ จึงไม่มีผู้ใดขัดขวาง

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสยามและ มีความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่เจ้าพระยามหานครราชสีมา ไม่อยู่ และพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการเมืองขุขันธ์ กองทัพเจ้าอนุวงศ์มาถึง จึงเข้ายึดเมือง ยึดทรัพย์สินและให้เพี้ยรามพิชัย หรือพระยารามพิชัย กวาดต้อนชาวเมืองไปเป็นเชลยศึก เดินทางกลับไปเวียงจันทน์

ส่วนทัพเจ้าอนุวงศ์เดินทัพต่อไปยังสระบุรีเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ในบรรดาเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนกลับเวียงจันทน์ มีคุณหญิงโมรวมอยู่ด้วย คุณหญิงโม เป็นหญิงที่ฉลาดหลักแหลมและออกอุบายให้ทหารเวียงจันทน์ ตายใจ โดยให้หญิงที่ถูกต้อนเป็นเชลย หน่วงเหนี่ยวทหารให้เดินทัพช้าลง และวางแผนให้พวกผู้หญิง หลอกขอมีด จอบ เสียม มาใช้ซ่อมเกวียนและทำอาหาร แท้จริงแล้วกลับนำมีด จอบ เสียมนั้นมาลอบตัดไม้เป็นอาวุธแอบซ่อนไว้

ระหว่างพักที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงพิมาย ซึ่งห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 40 กิโลเมตร ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2369 สบโอกาสเหมาะ พวกผู้หญิง ช่วยกัน หลอกล่อ มอมเหล้าทหารจนเมามายไร้สติไปทั้งกองทัพ แล้วช่วยกันทั้งหญิงและชายแย่งอาวุธฆ่าฟัน จนทหารล้มตายเป็นจำนวนมาก กองทัพแตกพ่ายไป เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว จึงตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ชาวเมืองที่หนีรู้ข่าวการชนะศึก จึงพากันกลับมาสมทบ และพระยาปลัดก็ยกทัพตามมาช่วยทันเวลา ส่วนเจ้าอนุวงศ์รู้ข่าวว่ากรุงเทพฯ ยกทัพขึ้นมาช่วย จึงเลิกทัพกลับไปเวียงจันทน์

การศึกที่ทุ่งสัมฤทธิ์นี้ มีสตรีผู้กล้าหาญได้พลีชีพจุดไฟทำลายเกวียน ที่บรรทุกดินระเบิดจนตัวตาย คือ นางสาวบุญเหลือ ชาวบ้านทุ่งสัมฤทธิ์และชาวโคราชได้ให้ความเคารพนับถือ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าย่าโมและเรียกนางบุญเหลือว่า ย่าเหลือ และกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสดุดี วีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ และทางจังหวัดนครราชสีมา กำหนดให้วันที่ 23 มีนาคม เป็นวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี

เมื่อความทราบไปถึง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘คุณหญิงโม’ ขึ้นเป็น ‘ท้าวสุรนารี’ พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ซึ่งในตอนนั้นคุณหญิงโมมีอายุ 57 ปี
เครื่องยศทองคำประดับเกียรติ ดังนี้

-ถาดทองคำใส่เชี่ยนหมาก 1 ใบ
-จอกหมากทองคำ 1 คู่
-ตลับทองคำ 3 เถา
-เต้าปูนทองคำ 1 อัน
-คณโฑทองคำ 1 ใบ
-ขันน้ำทองคำ 1 ใบ

ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2395 รวมสิริอายุ 81 ปี อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประดิษฐานอยู่ที่หน้าประตูชุมพล ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2477 และได้บูรณะใหม่ให้งามสง่ายิ่งขึ้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ท่ามกลางพสกนิกร ที่เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีอย่างเนืองแน่น ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานบรมราโชวาท มีความตอนหนึ่งว่า

“ท้าวสุรนารีเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี รู้จักหน้าที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมา ได้แสดงพลังต้องการ ความเรียบร้อยความสงบเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง”