26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี 

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ย้อนไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’