29 สิงหาคม พ.ศ. 2483  สภาผ่านกฎหมาย เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทย จากวันที่ 1 เม.ย. เป็น 1 ม.ค. แบบสากล

วันนี้เมื่อ 83 ปีก่อน สภาฯ ได้มีมติเห็นชอบ แก้ไขวันขึ้นปีใหม่ จาก ‘1 เมษายน’ เป็น ‘1 มกราคม’

สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยไม่เหมาะสม เพราะประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต่างถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเพื่อสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องปีปฏิทิน ทำการศึกษาค้นคว้าและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ จึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พ.ศ. .... ในวันที่ 1 สิงหาคม 2483 โดยมีเหตุผลว่า เพื่ออนุโลมตามปีประเพณีของไทยแต่โบราณที่ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่และให้ตรงกับที่นิยมใช้ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว จากนั้นที่ประชุมรับหลักการวาระที่ 1 และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พ.ศ. ...

ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2483 มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศใช้พระราชบัญญัติปีปฏิทิน พุทธศักราช 2483 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2483 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงปีปฏิทิน โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติ โดยให้หน่วยงานราชการหยุดทำการ 2 วัน คือ วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ประเทศไทยจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 และเป็นการเปลี่ยนการใช้ปีปฏิทินของประเทศไทยครั้งแรกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน