30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล รำลึกถึงบุคคลที่ถูกอุ้มหายทั่วโลก

30 สิงหาคม วันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances)

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การบังคับให้สูญหาย หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า ‘การอุ้มหาย’ ถูกพิจารณาเป็น ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง’ และถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CPED) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กำหนดนิยามของ ‘การอุ้มหาย’ ไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

การบังคับให้สูญหายมักถูกใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ สิทธิในการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เช่น สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ อันเกิดจากการที่ขาดบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ สิทธิในการมีสุขภาพดี เนื่องจากความวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CPED) เมื่อปี 2555 แต่การลงนามดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย 

แต่อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนของประเทศไทย ได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทุกคนมิให้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอีกต่อไป