Friday, 9 May 2025
NEWS FEED

‘ดร.อธิป’ เผย!! Jensen Huang ประธานบริษัท NVIDIA ผู้นำด้านชิปประมวลผล ให้ข้อมูลสำคัญ!! ‘จีน’ กำลังไล่ทัน ‘สหรัฐฯ’ ในเทคโนโลยี AI แล้ว

(5 พ.ค. 68) ดร.อธิป อัศวานันท์ นักเขียน อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพทางอินเทอร์เน็ต ที่ประสบความสำเร็จ ไดโพสต์คลิป โดยมีใจความว่า …

Jensen Huang ประธานบริษัท NVIDIA เพิ่งเปิดเผยว่าจีนกำลังไล่ทันสหรัฐในเทคโนโลยี AI แล้ว!!
ประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะบอร์ด AI แห่งชาติ ควรจะเรียนรู้อะไรบ้างจากตรงนี้?

1: การทุ่มงบสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน AI! ... จีนตั้งกองทุนขนาดยักษ์กว่า 4.5 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน AI โดยเฉพาะ!
แล้วไทยล่ะ? เรายังทำแบบเล็กๆ แค่ร้อยถึงพันล้านบาทเท่านั้น ไม่ต้องเทียบกับจีน เทียบกับเพื่อนบ้านเราก็ยังสู้ไม่ได้
และไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่เราต้องสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ตั้งแต่การลดภาษี จัดตั้งเขตนวัตกรรมพิเศษ ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาร่วมงาน และมี Sandbox ให้ทดลองผลิตภัณฑ์ AI ได้จริง

2: ลงทุนสร้าง "ทุนทางปัญญา"! ... Jensen Huang เน้นย้ำว่า "นักวิจัย AI ราว 50% ของโลกเป็นชาวจีน" และในสหรัฐเองก็มีนักวิจัย AI จีนมากกว่านักวิจัยอเมริกัน!!

นี่คือจุดเปลี่ยนเกม - ทุนมนุษย์สำคัญกว่าเทคโนโลยี!
ไทยต้องมีโครงการทุนการศึกษาระดับแสนคนต่อปีในด้าน AI ตั้งแต่มัธยมถึงปริญญาเอก
มีโครงการดึงคนเก่งกลับประเทศด้วยค่าตอบแทนที่แข่งขันได้จริงๆ
และสร้างสถาบันวิจัยด้าน AI แห่งชาติที่ให้เงินเดือนนักวิจัยแข่งกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ได้!
และเราต้องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทั้ง ระบบให้เน้น AI, Coding และ Data Science ตั้งแต่ประถม เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่คิดเป็นระบบ และพร้อมนำ AI ไปใช้ในทุกสาขาอาชีพ!!

3: เล่นเกมระยะยาวไร้เส้นชัย! ... Jensen Huang บอกว่า AI คือ "เกมที่ไม่มีวันจบ" ไม่มีวันที่คนใดคนหนึ่งจะชนะตลอดกาล!
ไทยต้องวางยุทธศาสตร์ AI 20 ปี ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล

มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องที่ไม่หวังผลเร็ว และมีความอดทนสูง เหมือนที่เกาหลีใต้ทำกับอุตสาหกรรม K-Pop ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จระดับโลก!!

ต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมของชาติด้าน AI ที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกัน และยึดมั่นในเป้าหมายระยะยาว แม้จะมีอุปสรรคหรือความล้มเหลวระหว่างทาง
เพราะการพัฒนา AI ไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่เป็นมาราธอนที่ต้องอาศัยความอดทนและการปรับตัวตลอดเวลา!
ถ้าจีนทุ่มงบกว่า 4 ล้านล้านบาทให้สตาร์ทอัพ AI ไทยจะให้แค่พันล้านไม่ได้อีกแล้ว! เราต้องทุ่มงบพัฒนาคนและสตาร์ทอัพแบบจริงจัง!
ถ้าเราไม่เริ่มตอนนี้ เราจะเป็นได้แค่ผู้บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้นำด้านนวัตกรรม! และในยุคที่ AI กำลังเปลี่ยนโลก ประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไม่มีทางตามทัน!!

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็น และเราจะร่วมกันผลักดันต่อเพื่อประเทศไทยของเราครับ

‘ดร.เสรี วงษ์มณฑา’ ตอบโต้คอมเมนต์!! ‘แก่แล้ว ปล่อยวางบ้าง’ ย้ำ!! การวิพากษ์ เสนอแนะ คือหน้าที่ของ ‘สื่อวิเคราะห์’

(5 พ.ค. 68)  ดร.เสรี วงษ์มณฑา  นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร  โพสต์เฟซบุ๊กว่า เราเป็นสื่อประเภทวิเคราะห์ คือเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเป็นข่าว เราจะวิเคราะห์ว่าเรื่องต่างๆมันเป็นเช่นนั้นได้ไง มันจะส่งผลอะไร และเราควรจะทำอะไร

แนวทางการทำงานของเราคือ "แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด" คืออะไรไม่ดี จะไม่ปล่อยผ่าน ที่ควรตำหนิก็จะตำหนิอย่างสุภาพแล้วเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข

เป็นการแสดงทัศนะส่วนตัวประการหนึ่ง หวังจะประเทืองปัญญาเพื่อนร่วมชาติให้ช่วยกันป้องกันประเทศชาติ ไม่ให้ใครทำลาย

วันนี้มีคนมา comment การทำงานของเราว่า "ปล่อยวางบ้างเถอะ แก่แล้ว" เรื่องบ้านเมือง ถ้ามีคนคิดแบบนี้เยอะๆ ประเทศของเราน่าห่วงนะคะ

การปกป้องประเทศด้วยความกตัญญูต่อแผ่นดินเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยนะคะ เห็นสิ่งผิด แล้วนิ่งเฉย ไม่น่าจะถูกต้องนะคะ

เวทีเอฟเคไอไอ. ชี้ไทยเผชิญ3ภัยคุกคามใหญ่เสนอ“ทางออกประเทศไทย” หวั่นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทำไทยโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารั้งท้ายอาเซียน

(5 พ.ค. 68) นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบรรยายในงานเสวนาโต๊ะกลมของสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ (FKII National Dialogue) “โอกาสหรือวิกฤติใหม่เศรษฐกิจไทยภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน“ ว่า  ประเทศไทยกำลังเผชิญภัยคุกคามใหญ่และความท้าทาย 3 ประการได้แก่ภูมิเศรษฐศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบซับซ้อนต่อกัน ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม “เศรษฐกิจของเราโตต่ำโตช้าและอ่อนแอเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากปัญหาหลักๆเช่นปัญหาหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน การขาดดุลงบประมาณ ความเหลื่อมล้ำ ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพึ่งพาการส่งออก การวิจัย เทคโนโลยีการศึกษาและการคอรัปชั่น ปัญหาเหล่านี้คือจุดอ่อนจุดตายโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะส่งผลกระทบซ้ำเติมประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น

ล่าสุดไอเอ็มเอฟ.(IMF)ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตจากเดิม 2.9% (คาดการณ์ในเดือนมกราคม 2568) เหลือ1.8%ถือว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียและรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งมูดีส์ประกาศปรับลดแนวโน้ม(Outlook)อันดับเครดิตของประเทศไทยจากStableสู่สถานะNegative (เชิงลบ)ถือเป็นสัญญาณอันตรายล่าสุดซึ่งประเทศไทยต้องยกเครื่องปฏิรูปครั้งใหญ่ทันทีอย่างต่อเนื่องจริงจังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นการปรับสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในประเทศกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เร่งกระจายตลาดลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนพร้อมกับเดินหน้าลดโลกร้อนมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2050และในทางยุทธศาสตร์ต้องยึดอาเซียนเป็นศูนย์กลางนโยบายการต่างประเทศทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ“

อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงโอกาสของการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า “การค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็นสัดส่วน 3% ของตลาดการค้าโลกซึ่งมีมูลค่า24 ล้านล้านดอลลาร์โดยเมื่อปี 2024 มูลค่าการส่งออกนำเข้าของสหรัฐและจีนอยู่ที่ 582.4 พันล้านดอลลาร์ โดย สหรัฐส่งไปจีน 143.5 พันล้านดอลลสาร์ และจีนส่งไปสหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ซึ่งองค์การการค้าโลก(WTO)มองว่าถ้าสงครามการค้ายังสู้กันด้วยการขึ้นภาษีทำให้2ชาติมหาอำนาจยุติการค้าขายกันแต่ตลาดโลกอีก97%ก็ยังค้าขายต่อไปได้ และนี่คือโอกาสในวิกฤตที่มองเห็นได้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้ง2มหาอำนาจและอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงลำดับต้นๆที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและนโยบายทรัมป์2.0

เสนอ”ทางออก ทางเลือก และทางรอด“

ทางด้านนายชยดิฐ หุตานุวัตร์ ประธานสถาบันทิวา และ ผู้อำนวยการ FKII  Thailand กล่าวว่า
”ไทยเสนอแนวทางใหม่ฝ่าวิกฤตโลก: การอยู่อย่าง ยั่งยืน ทางเลือกสู่อนาคตที่ ชีวิตดี สังคมดี โลกดี ท่ามกลางยุคที่โลกผันผวนจากสงครามการค้า วิกฤติพลังงาน ภูมิอากาศ และสังคมสูงวัย ประเทศไทยต้องเร่งหา “ทางออก ทางเลือก และทางรอด” โดยนำ 5 จุดเเข็งของประเทศไทย คือ 3F2H: Forest, Farm, Food, Health และ Hospitality มาเป็นแกนหลัก

เราเสนอแนวคิด Sustainable Longevity Living  โดยยึดหลักการ พึ่งพาตนเอง Self-Sustainable
และชู 3 แกนหลัก คือ Localization การใช้ทรัพยากรท้องถิ่น, Deurbanization การกระจายประชากรออกจากเมือง, และ Rural Revitalization การฟื้นฟูชนบท แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่สร้าง “คุณภาพชีวิต” ที่แท้จริง Sustainable Longevity Living เป็นการผสมผสานเกษตรอินทรีย์  อาหารปลอดภัย การเรียนรู้ และชุมชนร่วมดูแลกัน เป็นทางรอดของคนรุ่นใหม่และผู้สูงวัย ในโลกที่ต้องการ “อยู่ดี” อย่างยั่งยืน ไทยสามารถเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและขับเคลื่อน แนวคิดใหม่ “ชีวิตดี สังคมดี โลกดี” ด้วยพลังจากรากหญ้า นี่ไม่ใช่เพียงการอยู่รอด แต่คือการสร้างอนาคตใหม่อย่างยั่งยืนร่วมกัน“ 

“3 ปมไทยอ่อนแอ
ไร้ยุทธศาสตร์-คอรัปชั่นฝังลึก-ศึกษาล้มเหลว”

นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานซีเอ็ดนักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
กล่าวว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะจบลงเหมือนสงครามครั้งแรกที่จีนเป็นผู้ชนะ และเวียดนามจะเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดในอาเซียน ถึงแม้จะไม่มีสงครามการค้า เศรษฐกิจไทยก็อ่อนแออย่างมากอยู่แล้ว การเจริญเติบโตต่ำมาต่อเนื่องยาวนาน สาเหตุสำคัญคือการที่ไทยไร้ยุทธศาสตร์ คอร์รัปชันฝังรากลึกและระบบการศึกษาที่ล้มเหลว
ดังนั้นเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทย และสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ เราควรทำ 3 เรื่องด้วยกันคือ
1.รื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเขียนใหม่ให้เป็นยุทธศาสตร์แบบที่ประเทศที่เขาพัฒนาได้สำเร็จเขียนกัน เช่นสิงคโปร์
2.เร่งแก้ไขคอร์รัปชันด้วยการปราบ แบบเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์เช่นเดียวกับไทยแต่ก็ยังปราบคอร์รัปชันได้สำเร็จ
3.เร่งปฏิรูปการศึกษา โดยใช้ AI แบบ  Khanmigo ของ Khan Academy ซึ่งจะเปลี่ยนห้องเรียนแบบที่คนไทยคุ้นเคยให้เป็นห้องเรียนที่กลับหัวกลับหางหรือ flipped classroom ทำให้เกิดการเรียน Active Learning

“รัสเซีย โมเดล กับโอกาสของไทยในสงครามการค้า 2.0”

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านจีน
วิเคราะห์ว่าโอกาสหรือวิกฤติของไทยในสงครามการค้า 2.0ดังนี้
1. การท่องเที่ยว ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของประเทศไทยและสินค้า/บริการของไทยถดถอยลง จากเป็นบวกสู่มิติเชิงลบ ทำให้คฝนีกท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลงเดือนละกว่า 1 หมื่นคนนับแต่ต้นปี แต่ไทยยังมีโอกาสอยู่มากในการกลับไปสู่จุดเดิมของนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน โดยเราต้องรีแบรนด์ประเทศและสินค้า/บริการของไทยในสายตาของคนจีน ต้องยึดหลัก “สร้างข่าวบวก 3 ข่าวทุกครั้งที่มีข่าวเชิงลบ 1 ข่าว” นั่นหมายความว่า ไทยต้องลงทุนกับการสร้างคอนเท้นต์สำหรับตลาดจีน เรายังสามารถเรียนลัดจาก Russia Model ในการพัฒนาตลาดสินค้ารัสเซียในจีนผ่านออฟไลน์และออนไลน์
2. การค้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการของไทยพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันน้อยมาก ขณะที่สินค้าและบริการของจีนพัฒนาคุณภาพและแบรนด์อย่างต่อเนื่องจนทั้ง ”ถูกและดี“ ซึ่งหากเรามองในแง่ของการค้าทวิภาคี เราคงอยากลดการค้ากับจีนเพื่อลดการขาดดุลการค้า แต่เนื้อแท้แล้ว หากพิจารณาจากมุมมองของการค้าพหุภาคี การค้ากีบจีนอาจช่วยให้ไทยลดการขาดดุลการค้า เพราะเป็นการลดการนำเข้าโดยรวม สิ่งสำคัญก็คือ ไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับระหว่างประเทศ
3. การลงทุนและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ผลจาก BRI, Made in China 2025 และสงครามการค้าและเทคโนโลยี การลงทุนของจีนในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยก็เป็นประเทศจุดหมายปลายทางของการลงทุน ไทยจึงควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการศึกษา และระบบราขการ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการปราบปรามคอรัปชั่น ทั้งระบบนิเวศอย่างจริงจังเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม.

‘อ.เจษฎา’ ออกโรงป้อง!! ‘นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน’ เผย!! เป็นอาจารย์แพทย์ ‘Harvard Medical School’

(5 พ.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

"เขาหาว่า คุณหมอ ธนีย์ ไม่เคยเป็นอาจารย์ Harvard " !?

สรุปกรณีที่มีคนมาโพสต์หาเรื่อง คุณหมอ ธนีย์ Tany (คุณหมอชื่อดัง ที่ทำช่องยูทูปให้ความรู้ด้านสุขภาพ และคอยแก้ไขข่าวปลอม ข่าวมั่ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องโรคโควิด และวัคซีน) นะครับ

- มีคนโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ้คหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อจริง ระบุเพียงเป็นคนนครศรีธรรมราช) ซึ่งเมื่อเลื่อนดูแล้ว จะเห็นได้ว่าเคยโพสต์ข้อความจำนวนมากในเชิงต่อต้านวัคซีน mRNA โควิด และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

- เขาได้โพสต์ตั้งคำถามว่า "แพทย์หรือตัวแทนบริษัทวัคซีนกันแน่ ? " โดยเน้นไปที่โจมตี คุณหมอ ธนีย์ (หรือ นพ. ธนีย์ ธนียวัน (Tany Thaniyavarn, MD) เจ้าของช่องยูทูป Doctor Tany https://www.youtube.com/@DrTany อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด (Pulmonary and Critical Care Medicine/ Lung Transplant) ทำงานอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ) ว่า คิดว่าเป็นผู้แทนวัคซีนไฟเซอร์ เป็นแพทย์หรือตัวแทนบริษัทผู้ผลิตวัคซีนกันแน่

- โดยเขาได้อ้างว่า "ไม่มีข้อมูลที่ระบุชัดเจน ว่า นพ.ธนีย์ ธนียวัน ทำงานที่ Harvard Medical School โดยตรง" , การเป็นอาจารย์แพทย์ในสหรัฐอเมริกานั้น ก็ "ไม่ได้ระบุชื่อสถาบันอย่างชัดเจน" , ช่อง YouTube ชื่อ "Doctor Tany" ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกับ Harvard , หนังสือ Health Talk กับ Doctor Tany และหนังสืออื่น ๆ ของเขา ไม่ได้ระบุสถานที่ทำงานปัจจุบัน 

- ทำให้เขาสรุปว่า "ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน ในผลการค้นหาปัจจุบัน ที่ยืนยันว่า นพ.ธนีย์ ธนียวัน ทำงานที่ Harvard Medical School" รวมทั้งการสืบค้นในฐานข้อมูลของแพทยสภา พบ นพ. ธนีย์ ธนว*** TANY TNYV***, M.D. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2549 แต่ข้อมูลไม่บอกสถานะความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่แพทยสภารับรอง 

(ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก และเข้าข่ายให้ฟ้องหมิ่นประมาทได้ .. เพราะมีทั้งคำที่กล่าวหาให้เสียชื่อเสียง และมีคนมาคอมเม้นต์ร่วมกล่าวหา เสียๆ หายๆ อีกเป็นจำนวนมาก)

ล่าสุด คุณหมอ ทนีย์ ได้โพสต์คลิปยูทูป อธิบายตอบประเด็นข้อกล่าวหาดังกล่าว ในชื่อคลิปว่า "เขาว่าผมไม่เคยเป็นอาจารย์ Harvard!? ไม่ใช่หมอเฉพาะทาง!? — งั้นมาดูหลักฐานชัดๆ #กรี๊ดสิครับ" ( https://www.youtube.com/watch?v=mxxUJkDpXX4 ) โดยชี้แจงหลายประเด็น ดังนี้

- คุณหมอเคยทำงานที่เป็นอาจารย์แพทย์ Harvard Medical School และ Brigham and Women's Hospital แต่ปัจจุบันลาออกแล้ว เนื่องจากเกิดการควบรวมเข้ากับโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหาร ระบบที่สับสน ตัดงบงานวิจัย ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงลาออกมา

- ส่วนการที่ใช้คำว่า "อาจารย์แพทย์" นั้น คุณหมอบอกว่าเป็นความคิดส่วนตัว จากการที่เขายังคงทำงานด้านการให้ความรู้ด้านการแพทย์อยู่ เหมือนกับอาจารย์แพทย์ที่เกษียณแล้ว ก็ยังเรียกกันว่าเป็นอาจารย์ ..ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร

- ตั้งแต่เริ่มทำคลิปยูทูปมา คุณหมอก็ไม่ได้โปรโมทว่าตนเองเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลไหน ไม่ได้จงใจพูดในรายการเพื่อให้คนเชื่อตนจากสังกัด อยากให้เน้นที่เนื้อหามากกว่า ... แต่ผู้ชมไปทราบกันทีหลังเอง 

- คุณหมอได้แสดงหลักฐานต่าง ๆ ดังเช่น บัตรประจำตัว ที่ Harvard Medical School และที่โรงพยาบาล Brigham and Women's Hospital , บัตรประจำตัวที่ โรงพยาบาล Dana-Farber Cancer Institute (เป็นที่ปรึกษาอยู่ที่นั้น) , หนังสือรับเข้าทำงานที่ Harvard Medical School และ Brigham and Women's Hospital เมื่อปี 2018 (มีระบุชัดเจนว่า ได้เงินเดือนจ้าง หลักแสนเหรียญ ไม่ใช่แค่ไปทำ fellow ที่นั่น) , ประกาศนียบัตร รับรองให้ทำอาชีพแพทย์ที่รัฐแมสสาชูเซต เมืองบอสตัน ได้ , เอกสารระบุการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายปอด และการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะระยะวิกฤติ ในการจัดคอร์สสอนต่างๆ ของ Brigham and Women's Hospital 

- คุณหมอแสดงหลักฐานผลงานทางวิชาการ เช่น ร่วมแต่งหนังสือ Lung Transplantation (2 เล่ม ปี 2022 และ 2023) และระบุว่า ยังทำงานที่ Veterans Affairs Boston Health Care ที่บอสตัน อีกแห่งหนึ่งด้วย

- ส่วนประวัติการศึกษานั้น ตอนประถมและมัธยมต้น เรียนที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิก มัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดม ฯ และคุณหมอมีหลักฐานแสดงถึงการจบแพทยศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (จบปี พ.ศ. 2549) ผลการเรียนดีทุกวิชา , เคยทำกิจกรรมใหญ่ อย่างการเป็น chairperson ให้กับงาน The 25th Asian Medical Students Conference สมัยเรียนปี 5 , เคยเป็นหัวหน้าแผนกวิเทศสัมพันธ์ (หมายถึง ติดต่อกับต่างประเทศ) ของสโมสรนิสิตคณะแพทย์ , เรียนจบ เป็นสมาชิกแพทย์สภา , ทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาล สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 3 ปี , สอบผ่านประกาศนียบัตร ECFMG (Educational Commission for Foreign Medical Graduates ) ด้วยคะแนนดีมาก เพื่อไปที่สหรัฐอเมริกา , ไปเรียน residency (Resident in Internal Medicine อยุรกรรม) ที่สถาบัน Albert Einstein Medical Center ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย และมีภาพข่าวประกอบในหนังสือพิมพ์ และจดหมายระบุถึงการเป็นคนไม่กี่คนที่ได้คะแนนสูงสุด รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกหลายอย่างของสถาบัน , สอบ หมออยุรกรรม ได้ประกาศนียบัตรจาก The American Board of Internal Medicine , ไปเรียนต่อจนจบ ด้าน โรคปอดและวิกฤติบำบัด จาก Department of Medicine School of Medicine Emory University และได้รางวัล outstanding fellow และ The Brainiac Award รวมทั้งชนะเลิศการแข่งขันรางวัลทางวิชาการต่างๆ , สอบได้ใบประกาศนียบัตร ด้านโรคปอด และอีกใบ ด้าน เวชบำบัดวิกฤติ จาก The American Board of Internal Medicine , ไปเรียนด้านการปลูกถ่ายปอด จากมหาวิทยาลัย Duke University Medical Center 

- คุณหมอทิ้งท้ายว่า จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ไม่เคยเอามาเล่าให้ใครฟังเลย ไม่คิดจะนำมาอวดอะไร แค่บอกแนะนำตัวว่าเป็นอาจารย์แพทย์ที่อเมริกา .. แต่อยากให้ฟังจากเนื้อหาข้อมูล รวมถึงตรรกะ ที่นำมาอธิบายทางรายการมากกว่า 

สรุปสั้นๆ ก็คือ โพสต์ของคนคนนั้น เป็นการกล่าวหาคุณหมอ ที่มั่ว และน่าเกลียดมากครับ โดยคุณหมอได้ชี้แจงอย่างชัดเจนมาก พร้อมหลักฐานประกอบครบถ้วน แก้ข้อกล่าวหาได้ (แถมอึ้งเลย ว่าคุณหมอจะโคตรเก่งอะไรปานนั้น 55) 

ป.ล. โดยส่วนตัว ผมไม่เคยได้พบคุณหมอ ทนีย์ ตัวจริงๆ เลย (เคยบังเอิญได้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุพร้อมกันครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับชุดตรวจ ATK โควิด) แต่ติดตามช่องยูทูปคุณหมอมานาน ตั้งแต่ยุคโควิดแล้ว ซึ่งหลายครั้งก็ได้เอาข้อมูลความรู้จากรายการมาช่วยเผยแพร่ต่อ เพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก

กระทรวงอุตฯ จับมือ สถาบันทดสอบและวิจัยของเกาหลีใต้ พัฒนางานด้านมาตรฐาน หนุน ‘อุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม’

(5 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับ Korea Testing & Research Institute (KTR) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการทดสอบและวิจัยที่ดำเนินงานร่วมกับสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบรับรองในด้านความปลอดภัย โดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีสีเขียว และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (BCG) แล้ว จำนวน 757 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์มือสอง ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก ฉนวนกันความร้อน     ฟิล์มติดกระจกประสิทธิภาพพลังงาน เครื่องย่อยสลายขยะชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ระบบสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ กระจกสะท้อนแสง  ยางล้อสูบลม  และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการมาตรฐานของไทยในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน” 

“สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 13 ของไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่าการค้าทวิภาคี รวมกว่า 15,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 520,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% จากปี 2566 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำตาลทราย รวมทั้งยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการลงทุนรวม 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,325 ล้านบาท ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี เครื่องจักรและยานพาหนะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมการแพทย์”

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับ KTR ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองในสาขาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดสัมมนาทางวิชาการ กระบวนการทดสอบ การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานตามแนวปฏิบัติสากล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่คู่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองหน่วยงาน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการจัดประชุมวางแผนจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองต่อไป

‘วารินทร์ สัจจเดว’ โพสต์เฟซ!! ขอบคุณ ‘Harvard Club of Thailand’ ที่มอบหมายให้เป็นพิธีกร ในงานใหญ่ แม้ไม่ได้เป็นศิษย์เก่าของสถาบันนี้

(5 พ.ค. 68) ‘วารินทร์ สัจจเดว’ ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ดำเนินรายการอยู่ดีๆ ลำโพงในห้องก็ร่วง ผมเลยเปรย

Trump is here! หุหุกันทั้งห้อง…

ผมไม่ได้จบ Harvard แต่จบตรีเศรษฐศาสตร์ มธ และ โท MBA Finance จากจุฬาฯ ก่อนไปทำโทอีกใบด้านสื่อที่ Boston ก็มีข้ามแม่น้ำ Charles ไปเที่ยว Harvard ฝั่ง Cambridge อยู่บ่อยครั้ง ขอบคุณพี่โจ้ นายกฯ Harvard Club of Thailand ที่มอบหน้าที่สำคัญในงานใหญ่ของสมาคมที่ทรงเกียรตินี้นะครับ 

#Moderator #ผู้ดำเนินรายการ

Rethinking Development in the Age of Discontent ตั้งสติใหม่เมื่อต้องพัฒนาโลกที่เต็มไปด้วยความคับข้องใจ ขอบคุณ #ITD ด้วยครับ ที่ช่วยประสานให้งานผ่านไปอย่างราบรื่น เข้าออกตึกสหประชาชาติไม่ใช่เรื่องง่าย

อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich

(5 พ.ค. 68) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ระบุว่า …

ท่านมหาเธร์ อาจจะลืมไปว่า สมัยก่อน มาเลเซียยังไม่เป็นประเทศ มีรัฐเล็ก ๆ และสุลต่านปกครอง ยังเจริญไม่เท่าสยาม

การศึกษาสยามดีกว่า ตนกูอับดุลเราะห์มาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนแรก เลยต้องมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และมาพักที่บ้านพิบูลย์ธรรมของเจ้าพระยาธรรมากรณาธิบดีแห่งราชสกุลมาลากุล แล้วเดินไปโรงเรียน จากเชิงสะพานกษัตริย์ศึก

ตนกูอับดุลเราะห์มานนั้น ใช้ชีวิตวัยเรียนอย่างมีความสุขยิ่งที่เมืองไทยครับ

คำพูดท่านมหาเธร์ น่าจะระมัดระวังกว่านี้ครับ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2568

วันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00 น.) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการ ดร.สุทัศน์ เตชะวิบูลย์ รองประธานกรรมการ นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย คณะกรรมการ ผู้ช่วยกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหาร  ร่วมในพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2568 โดยมี ศิษยานุศิษย์และสาธุชน ร่วมในพิธี ณ ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ

โดยระหว่างวันที่ 4 - 9 พฤษภาคม 2568 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอเชิญศิษยานุศิษย์และสาธุชน ร่วมงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2568  สักการะหลวงปู่ไต้ฮง (ไต้ฮงกง) เพื่อความเป็นสิริมงคล ชมการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) และ รับประทานสาคูสิริมงคล (อี๊)  โดยมูลนิธิฯ จัดเตรียมบริการเฉพาะบรรจุถุงให้ผู้มีจิตศรัทธานำกลับบ้านเท่านั้น  ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมงานสาธารณกุศลของศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รวมถึงงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ได้ที่ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง [ www.facebook.com/atpohtecktung ]

#ป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต 
#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418
#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top