Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ

‘อลงกรณ์’ เปิดวิสัยทัศน์ ลุยปฏิรูปเกษตรไทย ชี้ ต้องปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่

วันที่ 4 ม.ค. 64 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต ส.ส. 6 สมัย และอดีตรัฐมนตรี เขียนบทความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง “ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย” “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” เป็นตอนที่ 2 ของซีรีส์ ”ก้าวใหม่ประเทศไทย” โดยระบุว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program) องค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการประชุมสุดยอดระบบอาหารโลก (UN Food System Summit 2021) โดยสรุปว่า โลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชากรโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารและราคาอาหารจะแพงขึ้นเป็นวิกฤติของโลกแต่ก็เป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก 

ประเทศไทยของเรามีศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านเกษตรและอาหารสูงมาก
ปี 2560 เราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 14 ของโลก
ปี 2561 ขึ้นเป็นอันดับ 12 ของโลกซึ่งมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ปีเดียวขึ้น 2 อันดับและเป็นครั้งแรกที่ขึ้นเป็นที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศจีนเท่านั้น
ปี 2562 ขยับต่อเนื่องขึ้นเป็นอันดับ 11 ของโลกและยังครองอันดับ 2 ของเอเชีย
นับเป็นประเทศ “หนึ่งเดียวในโลก” ที่ 2 ปีขึ้น 3 อันดับ
ไทยแลนด์ โอนลี่ครับ

หลังโควิดคลี่คลาย เราจะสานฝัน “ครัวไทย ครัวโลก” สู่อันดับท็อปเท็นของโลกตามนโยบายของรัฐบาล

วันนี้สินค้าเกษตรสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยติดท็อปเท็นของโลกจำนวนไม่น้อย เช่น ยางพารา ยางรถยนต์ ถุงมือยาง น้ำตาล ทุเรียน ข้าว สับปะรดกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เอทานอล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบและสินค้าแปรรูปขั้นต้นมูลค่าต่ำแบบที่เรียกว่า “ทำมากได้น้อย (More for Less)” ประเทศและเกษตรกรจึงมีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน เราจึงต้องเปลี่ยนใหม่สู่การ “ทำน้อยได้มาก (Less for More)”

ถ้าทำแบบเดิมๆ จะไม่สามารถยกระดับอัปเกรดภาคเกษตรเทคออฟสู่เพดานใหม่ได้

อย่างไรก็ตามแม้โจทย์จะชัดเจนในตัวเอง แต่คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร

ผมจะยกตัวอย่างการถอดสมการนำมาสู่การออกแบบโมเดลการปฏิรูปภาคเกษตรไทย

ถ้าเราย้อนมองบริษัท เช่น Amazon Alibaba Google Apple Tesla จะได้คำตอบว่าทำไมบริษัทเหล่านี้จึงสามารถทะยานขึ้นสู่บริษัทแนวหน้าของโลกภายในเวลา 20 ปี โดยเฉพาะ Apple เป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (มากกว่างบประมาณไทย 30 ล้านเท่า)

คำตอบคือ วิสัยทัศน์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใหม่ๆ

อีกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่พัฒนาตัวเองจากประเทศยากจนด้อยพัฒนาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 และมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีภายใน 30 ปี

คำตอบก็เหมือนกัน

การถอดบทเรียนจากตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้การดีไซน์การปฏิรูปง่ายขึ้น

การปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่จึงเกิดขึ้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นกระบวนการปฏิรูปการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแก่นกลาง

2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดการปฏิรูปภาคเกษตรเดินหน้าภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ. (จบปริญญาเอกด้านยุทธศาสตร์โดยตรง) และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ (เจ้าของสโลแกน “ทำได้ไวทำได้จริง”) ด้วยการสร้างกลไก 4 แกนหลัก คือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคเกษตรกร เป็น 4 เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ 3S (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนและยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานเชิงรุก นโยบายโลจิสติกส์เกษตร นโยบายอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการ 22 หน่วยงาน เพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรและพัฒนาต้นน้ำการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ลดต้นทุน การพัฒนาคนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ

เคลียร์แล้วส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ก.เกษตรประสานเปิดด่าน 4 ม.ค. เน้นตรวจเข้มโควิด19

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศจีนได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวด ณ ด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย และทูตเกษตรได้ประสานงานกับทางการจีนมาโดยตลอด ขณะนี้ประเทศจีนได้เปิดด่านรถไฟผิงเสียง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)แล้ว

โดยกำหนดให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เพื่อคลี่คลายปัญหากรณีด่านตงซิง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)ปิดด่าน ส่งผลให้ทุเรียนและลําไยสดปริมาณมากต้องติดค้างอยู่ที่ด่าน โดยทางการจีนพร้อมอํานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลไม้ไทยทําการเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านตงชิงเป็นด่านรถไฟผิงเสียง จะได้ขนส่งเข้าประเทศจีนได้ และต้องระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิด19 ทั้งคนขับ รถและสินค้าเพราะถ้าพบทางการจีนจะปิดด่านทันที รัฐบาลจึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขันอย่างเต็มที่ 

นางสาวรัชดา ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำเอกสารประกอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระเบียบใหม่ของสำนักงานศุลกากรจีน ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา เอกสารประกอบด้วย 1) คู่มือการเข้าใช้ระบบฉบับภาษาไทย 2) คู่มือการดำเนินงานการให้บริการของทางการ “การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการผลิตอาหารในต่างประเทศที่นำเข้ามายังสาธารณรัฐประชาชนจีน” ฉบับภาษาไทย และ 3) เอกสารรวบรวมประเด็นข้อคำถามของผู้ผลิตอาหารที่พบบ่อยในการปฏิบัติตามระเบียบฯ จากการประสานงานกับศุลกากรจีน หากผู้ประกอบการผลิตอาหารต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://www.moac.go.th/site-home หรือ https://www.opsmoac.go.th/news-preview-432991791570

'มัลลิกา' เผย ราคาข้าวขยับขึ้น! จ่ายส่วนต่างลดลง “ข้าวเปลือกเจ้า” รับชดเชยสูงสุด ตามด้วย “ข้าวเปลือกหอมมะลิ ชาวนายิ้มแป้น! "จุรินทร์" เดินหน้า จ่ายงวดที่ 11-12 ข้าวฤดูนี้ ชดเชย 5 ชนิดเหมือนเดิม v

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อเนื่อง ล่าสุดให้แจ้งเกษตรกรโดยเฉพาะพี่น้องชาวนาที่แจ้งการเก็บเกี่ยวตรงกับงวดที่ 11-12 การเพาะปลูกข้าวปี 2564/2565 ในขอบล่าสุดซึ่งเป็นการจ่ายส่วนต่างราคาข้าวผู้ที่ทราบ ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 3 ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

สำหรับงวด 12 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงได้ประกาศอนุมัติราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 24-30 ธ.ค.2564 จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว 

สำหรับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการจ่ายเงินส่วนต่าง งวดที่ 12 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 11,221.50 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,778.50 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 10,895.61 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,104.39 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,925.94 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,074.06 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,191.25 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,808.75 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 9,511.47 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 2,488.53 บาท โดยงวด12 เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 12 สูงสุด ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 52,899 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 49,670.24 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,851.50 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 54,262.50 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 39,816.48 บาท

ส่วนงวดที่ 11 มีมติจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 17-23 ธ.ค.2564 และประกาศราคากลางฯเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 หรือก่อนหน้านี้งวดล่าสุด 1 สัปดาห์ โดยราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 11,200.61 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,799.39 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 10,867.60 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,132.40 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,936.67 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,063.33 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,154.29 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,845.71 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 9,316.15 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 2,683.85 บาท โดยเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 11 สูงสุด ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 53,191.46 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 50,188.40 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,583.25 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 55,371.30 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 42,941.60 บาท

ททท. หวังท่องเที่ยวปีนี้กลับมา 50% หลังปีก่อนเจอโควิดทุบหลุดเป้า

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ททท.ยังคงเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในภาพรวมประมาณ 50% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือ ปี 2565 ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7.5-8 แสนล้านบาท ตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องหาทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการท่องเที่ยว

ส่วนตัวเลขตลอดปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.84 แสนล้านบาท ลดลง 21% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 4.82 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 4 แสนคน สร้างรายได้ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท 

เฮ! คลังรับ คนละครึ่ง เฟส 4 ไม่ต้องลงทะเบียน กดยืนยันได้เลยเฮ! คลังรับ คนละครึ่ง เฟส 4 ไม่ต้องลงทะเบียน กดยืนยันได้เลย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.2565 ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมโครงการ เบื้องต้น ผู้ที่ได้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 แล้วที่มีอยู่จำนวน 27.98 ล้านราย ไม่ต้องมีการลงทะเบียนใหม่ แต่จะต้องกดยืนยันตัวตนอีกครั้งผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เหมือนการลงทะเบียนคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ส่วนผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียน ก็จะต้องสมัครผ่านทาง www.คนละครึ่ง.com ส่วนวงเงินที่จะให้นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะให้วงเงินเท่าใด เพราะอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณที่จะมาใช้ในโครงการ

สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2564 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย และมีจำนวนผู้ใช้สิทธิครบ 4,500 บาท แล้วกว่า 10.87 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 109,985.8 ล้านบาท 

นายกฯ จี้ ก.พาณิชย์ เร่งแก้ปม ราคาเนื้อหมูแพง ลดผลกระทบผู้บริโภค 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความเดือดร้อนของผู้บริโภคจากปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ยารักษาโรค และโรคระบาดหมู  ส่งผลให้หมูในระบบมีปริมาณลดลง ราคาหมูขายปลีกหน้าเขียงมีราคาสูงขึ้น  ขณะเดียวกันการที่ภาคบริการ การท่องเที่ยว ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคหมูโดยรวม กลับมาเพิ่มมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ตั้งแต่ภาระเกษตรกรฟาร์มสุกร พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายหมูหน้าเขียง ประชาชนผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบราคาหมูแพงในขณะนี้ โดยไม่ให้เสียกลไกตลาด 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ขยายการดำเนินการโครงการพาณิชย์ลดราคา (หมูเนื้อแดง) พร้อมให้พาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายอย่างใกล้ชิด  เข้มงวดผู้ขายในตลาดปิดป้ายแสดงราคา และ ขอความร่วมมือทางห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ช่วยตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ออกไปอีกระยะหนึ่ง 

สสว. หวังปีหน้า เอสเอ็มอีรายเล็กกลับมาฟื้นได้หากคุมโอมิครอนอยู่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอมอี (MSME) ในปี 2565 ว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ คาดว่า จีดีพี MSME จะเติบโตระหว่าง 3.2 – 5.4% หรือมีมูลค่าประมาณ 5.669 – 5.789 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 

ทั้งนี้ สสว. ประเมินว่า ในปีหน้าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 30 – 40% มีรายได้จากการท่องเที่ยว 5.9 แสนล้านบาท คาดว่าธุรกิจในภาคบริการจะเติบโตระหว่าง 3.4 – 5.8% และธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจให้ความบันเทิง (สันทนาการ) ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจแปรรูปยางพารา

แบงก์ชาติ ชี้ เศรษฐกิจไทยพ.ย. ปรับตัวดี พร้อมจับตาโอมิครอนปีหน้า

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย. 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ซึ่งอุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น

ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

เจาะศักยภาพ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ โปรเจกต์เชื่อม ‘เศรษฐกิจ-อนาคต’ ชาติ

ตามที่ทราบกันดีว่า การขนส่งและการเดินทางด้วยระบบราง มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

นั่นเพราะการขนส่งระบบราง มีต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า อีกทั้งยังสามารถกำหนดเวลาจัดส่งได้ค่อนข้างแน่ชัด ทำหลายๆ ประเทศเดินหน้าพัฒนาระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบโลจิสติกส์ของตนเองกันอย่างต่อเนื่อง

เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลที่พยายามยก ‘ระบบราง’ ให้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกยิ่งขึ้น ผ่าน ‘รถไฟฟ้าหลากสี’ ที่ทยอยเปิดให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเส้นสายรถไฟฟ้าที่มีบทบาทดังกล่าวชัดสุดในตอนนี้ คือ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ซึ่งนอกจากจะทำให้การเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังเชื่อมโยงความเจริญ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ตลอดแนวเส้นทาง 41 กิโลเมตร และพื้นที่โดยรอบ 13 สถานี ให้มีความคึกคักยิ่งขึ้นได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้หากมองย้อนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามนโยบายเดิมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น เกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนระบบรถไฟดีเซลระบบเดิม รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการรถไฟฟ้าสู่ย่านชานเมืองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จากตอนเหนือของกรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่อยุธยา ไปจรดตอนใต้กรุงเทพฯ คือ ‘มหาชัย’ แต่ในระยะแรกที่เปิดให้บริการไปแล้วคือ ‘รังสิต - บางซื่อ’ และ ‘ตลิ่งชัน - บางซื่อ’ 

(ส่วนต่อขยายอื่นๆ คาดว่า จะเริ่มทยอยเปิดประมูลภายในปลายปี 2565)

ศูนย์รวมแห่งระบบราง
นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดี เส้นทางส่วนใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีแดง จะขนานไปกับแนวเดียวกับรถไฟระบบเดิม เหตุผลก็เพื่อให้บริการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ในอนาคตได้ด้วยนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง เหมือนจะถูกวางตำแหน่งให้เป็นแกนกลางหลักของระบบขนส่งทางราง ก็คงจะดูไม่ผิดนัก

เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีแดง มีพิกัดของสถานีหลักอยู่ตรง ‘บางซื่อ’ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้วยระบบรางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รองรับทั้งรถไฟฟ้าในเมือง (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตนั่นเอง 

กระจายความแออัดของสังคมเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น หากมองข้อดีของ รถไฟฟ้าสายสีแดง ในมิติการเดินทางของพี่น้องประชาชนแล้ว จะช่วยสร้างการกระจายของพื้นที่อยู่อาศัยจากใจกลางเมือง ไหลไปสู่พื้นที่รอบนอก ช่วยลดปัญหาการจราจร และความแออัดของกรุงเทพฯ ภายใต้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่ช่วยพาคนเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างว่องไว

โอกาสทางเศรษฐกิจจากเส้นเลือด (สีแดง) สายใหม่
ขณะเดียวกัน หากมองในมิติด้านเศรษฐกิจ การมาของรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังจะทำให้เกิดพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ในแถบชานเมือง ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งจะมีราคาที่ดินถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ

เรียกว่าไล่ไปตั้งแต่รอบ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ จะเริ่มถูกเรียกขานให้เป็นทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ชัดขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นในย่านบางซื่อ และบริเวณใกล้เคียง จากแบรนด์ระดับท็อปของไทยเรียงหน้ากันมาจับจองทำเล

ทั้งนี้ มีการคาดเดากันว่า หากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ไม่เกิดวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 เชื่อว่าในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวเฉพาะที่เข้ามาผ่านสนามบินดอนเมือง จะเลือกใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้เท่าเหมือนก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ก็เชื่อได้ว่า ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ จะเป็นพระเอกหลักในการนำพานักท่องเที่ยว เข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างแน่นอน

‘คนกลางคืน’ เฮ! เตรียมรับเงินเยียวยา รายละ 5,000 บาท งวดแรก เริ่ม 29 ธ.ค. 64 นี้!

(28 ธ.ค. 64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีมติเห็นชอบอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเยียวยา พี่น้องผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงานกลางคืนในกิจการสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ 

โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ให้กับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ทั้งมาตรา 33 ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าทำงานในสถานบันเทิงกลางคืนนั้นจริง

‘ซัมซุง’ เผย 'ไทย' ฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘ใหญ่สุดในโลก’ ชี้!! 32 ปี ลงทุนร่วม​ 5​ แสนล้านดอลฯ

“ไทยซัมซุง” ฉลอง 32 ปี เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในไทย ชูฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่สุดในโลก หลังลงทุนแล้วกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ นายจุนฮวา ลี ประธาน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยซัมซุงฯ ถือเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังผลิตสูงสุดใน 28 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนประเภทสินค้า (SKU) มากที่สุด แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เตาอบ และเครื่องล้างจาน

โดยมีกำลังการผลิตรวมสูงถึง 10 ล้านยูนิตต่อปี คิดเป็นสัดส่วนสินค้าส่งออกถึง 90% เรียกได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงในครัวเรือนทั่วโลกถูกผลิตและส่งออกจากโรงงานแห่งนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเตาอบและเครื่องล้างจานที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเพียงรายเดียวในโลก

“ซัมซุงดำเนินธุรกิจเคียงคู่ประเทศไทยมาแล้วกว่า 32 ปี นับเป็นบริษัทสาขาที่ดำเนินกิจการนอกประเทศเกาหลีใต้ยาวนานที่สุด ซึ่งการที่เราสามารถพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงดังเช่นทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนอย่างดีของคนไทย

ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (โรงงานศรีราชา) มีมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยรวมแล้วกว่าห้าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน มีการสร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้หมุนเวียนที่สู่ 4,000 ครอบครัว รวมถึงพนักงานจากบริษัทคู่ค้าอีกกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ

เที่ยวบินปีใหม่ลดฮวบ 17% หลังคนหวั่น 'โอมิครอน'

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านปฏิบัติการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า บวท. ประเมินตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.64-3 ม.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก จะมีเที่ยวบินรวม 9,440 เที่ยวบิน หรือ 944 เที่ยวบินต่อวัน อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณเที่ยวบินลดลง 17% ซึ่งมีเที่ยวบินรวม 11,443 เที่ยวบิน 

ทั้งนี้จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 23% มีเที่ยวบินรวม 30,457 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินภายในประเทศ 20,002 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 7,287 เที่ยวบิน นอกนั้นเป็นเที่ยวบินผ่านน่านฟ้า (Overfly) และอื่นๆ

'ออมสิน' ดันโครงการช่วยคนตกงานจากพิษโควิด-19 จัดเงินทุน-พื้นที่ค้าขายอ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ขยายผลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นช่วงของการฟื้นฟูและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยธนาคารได้จัดทำโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น 

ทั้งนี้ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ และเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการอบรมอาชีพที่ได้รับจะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป ให้เงินทุน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการให้เงินทุนผ่านมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดย ครม. มีมติอนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายจาก NPL 30% ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพื่อสนับสนุนผลักดันความสำเร็จของการมอบความช่วยเหลือในระยะแรกของโครงการ ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการสินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

‘อลงกรณ์’ เปิดมุมมองเศรษฐกิจใหม่ หนุนผนึก ‘ลาว’ ผุดระเบียงเศรษฐกิจ ‘อีสาน’

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุข้อความว่า ก้าวใหม่ประเทศไทย (ตอนที่ 1) ‘อนาคตลาว อนาคตไทย’

เรากำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘เชื่อมไทย เชื่อมลาว เชื่อมโลก’ และการวางหมุดหมายใหม่ที่เรียกว่า ‘อีสาน เกตเวย์’ และ ‘ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน’ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแล

ยุทธศาสตร์นี้เป็นคานงัดที่จะเปลี่ยนอนาคตของอีสานและประเทศของเรา

ผมจึงขอเล่าเรื่องสปป.ลาว บ้านพี่เมืองน้องของไทยที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นคำตอบว่าทำไมไทยกับลาวต้องผูกอนาคตไว้ด้วยกัน

ล่าสุด ลาวเพิ่งเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีนเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปี โดยอยู่ระหว่างการทดสอบรถไฟโดยสารและรถขนส่งสินค้าจากหลายมณฑลของจีนมาเวียงจันทน์และคาดว่าจะมีขบวนรถไฟจากยุโรปด้วย

หลังจากผ่านการทดสอบและระบบตรวจตราผ่านแดนเสร็จเรียบร้อย เส้นทางรถไฟสายนี้จะเปิดบริการได้อย่างสมบูรณ์ภายในครึ่งแรกของปีหน้า

ทำให้หนองคายกลายเป็นเกตเวย์ที่มีศักยภาพใหม่ของประเทศเชื่อมไทยเชื่อมลาวเชื่อมจีนเชื่อมเอเชียกลางเชื่อมยุโรป

ความจริง ลาวกำลังพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายโครงการตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดโดยทุกโครงการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เช่น จีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซียและเกาหลี เป็นต้น 

ลาวต้องการเปลี่ยนข้อจำกัดเดิมจากประเทศไม่มีทางออกทะเลอยู่ในมุมอับ (Land Locked) เป็นประเทศแห่งความเชื่อมโยง (Land of Connectivity)

อีกโครงการที่สำคัญมากสำหรับอนาคตลาวและรวมถึงอนาคตของประเทศไทยคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

ลาวเร่งพัฒนาเส้นทางเชื่อมเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซกับแขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) ไปยังจังหวัดฮาติงห์ของเวียดนาม

โครงการนี้สำคัญมากๆ เป็นช่องทางสู่โลกกว้างแห่งโอกาสที่สั้นที่สุด

เหนืออื่นใดคือ เป็นท่าเรือน้ำลึกในแผ่นดินเวียดนามที่เสมือนลาวเป็นเจ้าของ

บริษัทรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม (ลาวถือหุ้น 60% เวียดนาม 40%) ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2573 ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจะสามารถให้บริการแก่เรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 5,000 ตัน ถึง 100,000 ตัน เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 50,000 ตู้ ถึง 1,200,000 ตู้ และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 3 ล้านตัน ถึง 20 ล้านตัน 

ทั้งนี้จะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2566 หรือภายใน 2 ปีข้างหน้า

นครพนมจะเป็นเกตเวย์ใหม่ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยใช้บริการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างด้วยระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร 

ท่าเรือดังกล่าวเมื่อพัฒนาเต็มรูปแบบจะสามารถขนส่งสินค้าจากไทย ลาวและเวียดนามไปอเมริกา แคนาดา ลาตินอเมริกา จีน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซียและยุโรปเหนือ โดยไม่ต้องผ่านสิงคโปร์

ลาวไม่ได้พัฒนาระบบคมนาคมเท่านั้นแต่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษควบคู่ไปด้วย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้วทางภาคเหนือใกล้กับฝั่งเชียงรายของเรา หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดรในแขวงจำปาศักดิ์ตรงข้ามจังหวัดอุบลราชธานีขนาดของวงเงินลงทุน เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดรตั้งเป้าใช้เงินลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ และใช้พื้นที่ 6 หมื่นไร่มากกว่าโครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่ลงทุน 6,800 ล้านดอลลาร์ ใช้พื้นที่ 19,112 ไร่

ยังไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ 

'พาณิชย์' ปลื้ม ผัก-ผลไม้ไทยครองตลาดจีน มันสำปะหลังแชมป์ผัก-ทุเรียนแชมป์ผลไม้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผักและผลไม้ไทย ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนสูงถึง 45% ส่วนยอดส่งออก 11 เดือนปี 64 มีมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 81% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ระบุ “มันสำปะหลัง” นำโด่งส่งออกผัก “ทุเรียน” อันดับหนึ่งส่งออกผลไม้

27 ธ.ค. 64 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในตลาดจีน พบว่า ในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนมีการนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้สูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45% แคนาดา อันดับ 4 มีส่วนแบ่ง 4.14% และนิวซีแลนด์อันดับ 5 มีส่วนแบ่ง 3.75%

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ของไทยในจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถิติการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ทำได้มูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้าจากจีน มูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 105%

โดยในการส่งออกไปจีน เป็นการส่งออกผัก มูลค่า 1,199.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 96% โดยมันสำปะหลังส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 1,145.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 90% รองลงมา คือ พริกสดและแช่เย็น มูลค่า 36.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 157,369% และถั่วเขียวและถั่วทองแห้ง มูลค่า 6.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 131% และผลไม้ มูลค่า 4,813.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 78% โดยทุเรียนสด ส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 3,054.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 105% รองลงมา คือ มังคุดสด มูลค่า 506.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 39% และลำไยสด มูลค่า 472.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 64% ส่วนการนำเข้าจากจีน มีสินค้าผัก เช่น เห็ดแห้ง แคร์รอตสด แช่เย็น กะหล่ำปลีสด แช่เย็น และผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล องุ่นสด ลูกแพร์ และส้ม เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top