Thursday, 27 March 2025
ECONBIZ

ฟรุ้ทบอร์ด สั่งด่วนแนวทางบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) ว่า ได้รับทราบผลการดำเนินงานการบริหารจัดการผลไม้ในรอบฤดูกาลผลิตที่ 2/2564 โดยการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ของภาคเหนือ (ลำไย) และภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 - 2566 โดยจังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558 - 2564 และในเชิงปริมาณที่เน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน

โดยผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปริมาณ 671,308 ตัน และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปริมาณ 785,459 ตัน มีการกระจายผลผลิตผ่านกลไกตลาดปกติ โดย คพจ. และเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลสูงกว่าราคาต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่า 30%

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อแผนการบริหารจัดการผลไม้ทำให้ทั้งการส่งออก การแปรรูป และการกระจายในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนนั้น ได้มีการจัด Focus group วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ โดยร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาและอุปสรรค” ใน ประเด็นโครงสร้าง ระบบ และการบริหารจัดการ Fruit Board ประเด็นกลไกการทำงานในภาวะวิกฤต ประเด็นแผนงาน โครงการ และงบประมาณ 

‘บีโอไอ’ โชว์เทพ!! สร้างความสำเร็จจับคู่ธุรกิจผ่านออนไลน์ 248 คู่ เชื่อมโยงมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนกว่าพันล้านบาท

บีโอไอเผยตัวเลขการจัดงาน SUBCON Thailand 2021 Virtual Edition รูปแบบออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรก จับคู่ธุรกิจได้มากถึง 248 คู่ คาดสร้างมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนในอนาคต 952 ล้านบาท ตลอด 8 วันพบผู้เข้าชมงาน 2,833 ราย มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา 29 หัวข้อผ่านแพลตฟอร์มมากถึง 2,695 คน 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ผลการจัดงาน SUBCON Thailand 2021 Virtual Edition งานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และการจับคู่ธุรกิจชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 20 - 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่จัดงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ และตลอดการจัดงาน 8 วัน มีผู้เข้าชมงานจำนวน 2,833 ราย จาก 16 ประเทศ โดย 5 อันดับแรกของผู้เข้าชมงาน คือ ไทย, อินเดีย, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ตามลำดับ ในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจที่เป็นไฮไลต์ของงานทุกปี

สำหรับปีนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ผู้ซื้อในประเทศที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างชัดเจน อาทิ เมอร์เซเดส-เบนซ์, อีซูซุมอเตอร์, ดูคาติ มอเตอร์, เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ และ อีเลคโทรลักซ์ เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสะท้อนการเปลี่ยนแปลงการจัดการซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ โดยมีการปรับแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในอนาคตจากแหล่งที่มีความเสี่ยงลดลง หรือกระจายความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น แทนการซื้อจากแหล่งเดียว ส่วนผู้ซื้อจากต่างประเทศก็จะมาจากแหล่งที่เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของโลก เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย และอาเซียน เกิดการจับคู่ธุรกิจได้มากถึง 248 คู่ สร้างมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนประมาณ 952 ล้านบาท 

รมว.เฮ้ง เร่งฝึกอาชีพทั่วประเทศหลังผู้ติดเชื้อโควิดลดลง

ก.แรงงาน ใช้โอกาสยอดผู้ติดเชื้อโควิดลดเปิดฝึกทั่วประเทศ สร้างแรงงานฝีมือป้อนสถานประกอบกิจการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกเมษายน 2564 เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติมากยิ่งขึ้น รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและกำลังแรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานโดยการกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

มุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รักษาสภาพการจ้างงาน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนโยบายแฟคตอรีแซนด์บ็อกซ์ ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งเริ่มฟื้นและเดินหน้าธุรกิจเต็มรูปแบบอีกครั้ง จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มุ่งพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ   สร้างอาชีพสร้างรายได้ ขับเคลื่อนประเทศหลุดพ้นวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ              

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จัดฝึกอบรมเพื่อเร่งพัฒนาทักษะฝีมือทั้งหลักสูตร Upskill และ Reskill และ New Skill ให้แก่กำลังแรงงานทั่วประเทศ โดยเน้นให้สามารถทำงาน สร้างรายได้ ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่กำลังแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และประชาชนทั่วไปนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมระหว่าง 3- 8 เดือน    

"จุรินทร์" เห็นด้วยเปิดประเทศ 1 พ.ย. เชื่อการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นจีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 พ.ย.ว่า ตนเห็นด้วย เพราะหลักสำคัญที่ตนเคยพูดคือเราต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด19ไปให้ได้ ต้องยอมรับความจริงว่าสองเครื่องยนต์หลักที่ช่วยประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการส่งออกกับการท่องเที่ยว และเมื่อเราเจอสถานการณ์โควิด เราเหลือแค่เพียงการส่งออก ส่วนการท่องเที่ยวนั้นหายไปเยอะ จากตัวเลขก่อนสถานการณ์โควิดคิดเป็น 11%ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  แต่ช่วงวิกฤตโควิดจนถึงวันนี้เหลือเพียงแค่เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ขณะที่การส่งออกเพิ่มไปถึง 51% จึงถือว่าการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อเราเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา โดยมีเงื่อนไขดูแลมาตรการโควิดควบคู่กันไป ก็จะมีการท่องเที่ยวเติมเข้ามา ทำให้จีดีพีของเราเพิ่มขึ้นไปได้  ส่วนเรื่องของสถานการณ์นั้นกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ตอบ แต่ตนมองว่าก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

ทส. ขานรับประกาศ "บิ๊กตู่" เปิดประเทศ 1 พ.ย. รับนทท.เข้าอุทยานฯ วางมาตรการนิวนอร์มอล กำชับอย่าทำแหล่งธรรมชาติเสื่อมโทรม 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของ ทส.  หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 พ.ย.ว่า ขอบคุณนายกฯที่ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย. ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาตนกำชับหน่วยงานของ ทส. โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในการดำเนินการปัดกวาดเช็ดถูและปรับปรุง และทำให้เป็นสถานที่ ที่ออกแบบ Friendly Design หรือพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับผู้คน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ทุกสถานะ และกำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะกิจกรรมดำน้ำหรือเดินป่า ต้องไม่ทำให้ทรัพยากรของเราโดนทำลายจนเสื่อมโทรม เหมือนตอนช่วงก่อนสถานการณ์โควิด19 ห้ามไม่ให้อุทยานกลับไปมีสภาพสกปรกและเสื่อมโทรมเป็นอันขาด เพราะโอกาสที่เราจะได้พักปรับปรุงเช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว

BOI เผยยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่ง 5 แสนล้าน ส่วนคำขอจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 200%

บีโอไอ เผยภาวะการลงทุน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุน มีมูลค่ารวมมากกว่า 5 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปี 2563 ทั้งปี ขณะที่การลงทุนผ่าน FDI มูลค่าก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน โดยมีอัตราเติบโตมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี (432,000 ล้านบาท) และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 - 2562 (483,664 ล้านบาท) 

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนกิจกรรมของคนทำงานในรูปแบบ WFH ทำให้มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น 

อันดับ 2 อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นอย่างมาก อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท อันดับ 4 การเกษตรและแปรรูปอาหาร 31,660 ล้านบาท และอันดับ 5 เทคโนโลยีชีวภาพ 20,950 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ FDI ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีจำนวน 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 220 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐฯ 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 348 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 91,670 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 54,310 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท ตามลำดับ 

กกร.ปรับกรอบ GDP ใหม่โต 0-1% ลุ้นพบ ‘บิ๊กตู่’ ชงมาตรการขับเคลื่อนเพิ่ม

‘กกร.’ ปรับ GDP ปีนี้ใหม่ไม่ติดลบ วางกรอบโต 0-1% แต่คงเป้าส่งออก เงินเฟ้อ หลังเริ่มผ่อนคลายกิจกรรม ศก.มากขึ้น รวมถึงมาตรการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกันเฟส 3 หนุน จ่อร่อนหนังสือถึงนายกฯ ขอเข้าพบสัปดาห์นี้ เล็งเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและ ศก.อื่นๆ เพิ่มเติม แนะอัดเงินคนละครึ่งเป็น 6 พันบาท ใช้ช้อปดีมีคืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 11 ต.ค. ว่า กกร.ได้ปรับประมาณการการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2564 ดีขึ้นจาก ณ ก.ย. 64 ที่คาดการณ์ไว้ GDP จะโตในกรอบ -0.5-1% เป็น 0.0-1% ส่งออกยังคงเดิมที่ 12-14% และเงินเฟ้อทั่วไปคงกรอบเดิมที่ 1-1.2% 

ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในปีนี้และระยะต่อไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น กกร.จึงกำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษีเพื่อส่งหนังสือที่จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้

“เราเชื่อว่า GDP ปีนี้จะไม่ติดลบ เพราะเศรษฐกิจไทยเรามีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงจากแผนกระจายการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และรัฐเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเปิดดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางเดือน ต.ค.ถึงต้นเดือน พ.ย.ต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐได้มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการเสริม ทั้งช้อปดีมีคืนที่เห็นว่าควรต้องเร่ง พ.ย.-ม.ค. 65 นี้ และอยากให้เติมเงินคนละครึ่งเป็น 6,000 บาทเพื่อให้หมุนเวียนดีขึ้น และแผนเปิดประเทศต้องการให้ชัดเจนเพื่อที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาวางแผนได้ล่วงหน้า” นายสนั่นกล่าว

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวขยายเวลาหนุนลงทุนเอสเอ็มอี อีก 1 ปี 

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับเอสเอ็มอี อีก 1 ปีจนถึงสิ้นปี 65 โดยมีมาตรการพิเศษสำหรับเอสเอ็มอีคือ กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5 แสนบาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามเกณฑ์ และยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

โดยได้กำหนดเกณฑ์การยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง แต่ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 65 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม 

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย.64) มีจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 63 ทั้งปี ที่มี 432,000 ล้านบาท และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 – 2562 ที่มี 483,664 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ดีกับการลงทุนที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยบีโอไอ ประเมินตัวเลขคำขอทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท 

‘คลัง’ เรียกเงินคืนผิดเงื่อนไข 'เราชนะ' ขีดเส้นให้ยื่นอุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วัน

11 ต.ค. 64 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในโครงการเราชนะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยประชาชนผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 33.2 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการ ด้วยการใช้จ่ายกับผู้ประกอบการร้านค้าในโครงการ 1.3 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชันเป๋าตัง และบัตรประจำตัวประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการเราชนะมาโดยตลอด รวมถึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ สามารถแจ้งเบาะแสและส่งหลักฐานการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขโครงการ ให้ สศค. ทราบ และได้มีประชาชนส่งเบาะแสและหลักฐานมาให้ ซึ่ง สศค. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการต่อไป

“สศค. ได้กำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการเราชนะอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนที่ได้รับในโครงการ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโครงการ ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม (Consent) ที่ได้ตกลงไว้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะเพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืน เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น ก็จะดำเนินการระงับสิทธิการเข้าร่วมโครงการ และร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป” นายพรชัย กล่าว

ยัน!! รัฐทำตามกฎหลังร้านค้าเจอริบเงินเราชนะเพราะผิดเงื่อนไขจริง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังเกิดกรณีที่เกิดกระแสในโลกออนไลน์กรณีกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการในโครงการเยียวยาของรัฐ โครงการเราชนะ ตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไขทั้ง ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มวงเงินสิทธิ (1,000 หรือ 2,000 บาท ) จำนวนมาก และร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ  จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่ การระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ รวมทั้งยังจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างใกล้ชิด 

รัฐบาลหนุนไมโคร-เอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่อง บสย.ปรับเกณฑ์ค้ำประกันเป็น 100% เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยกู้พ.ร.ก.สินเชื้อฟื้นฟู อนุมัติแล้ว 1.08 แสนลบ.

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยตัวเลขการปล่อยสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 หรือ ที่เรียกว่าพ.ร.ก.สินเชื้อฟื้นฟู ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564 แบ่งเป็น 1. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อได้อนุมัติแล้วจำนวน 1.08 แสนล้านบาท  ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3.5หมื่นราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท 2.5 หมื่นราย) คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยจำนวน 3.07 ล้านบาท/ราย โดยประมาณร้อยละ 45  ของผู้ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ 2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้  มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือไปแล้ว 112  ราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1 พันล้านบาท มี 16 ราย) รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการที่สนใจรายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการเจรจาด้วย 

ขณะเดียวกัน การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ ยอดการค้ำประกันจะเกิน 2 แสนล้านบาท โดยประมาณ 1 แสนล้านบาท มาจากการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. และอีกประมาณ 8-9หมื่นล้านบาท มาจากการค้ำประกันตามปกติของบสย. ทั้งนี้บสย.เพิ่งได้ขยายกรอบวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.ออกไปอีก 1 แสนล้านบาท และปรับหลักเกณฑ์ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่มเอสเอมอีที่เปราะบาง ได้ลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งรายละเอียดประกอบด้วย

1. ปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันทันทีตั้งแต่ปีแรก สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่มเอาเอ็มอีเปราะบาง จ่ายเริ่มต้นเพียง 1% ต่อปีต่อเนื่อง 4 ปีแรก รวม 13% ตลอดระยะเวลา 10 ปี 
2. เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และกลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง ได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย
3. เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อโดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเต็ม 100% ในกลุ่มไมโครจากเดิม 90%  และ กลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง จากเดิม 80%  

กพร. ปัด เอื้อประโยชน์บริษัท อัคราฯ ปมออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปฏิเสธการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ยันดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ อย่างรอบคอบแล้ว

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 44 แปลง โดยมองว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มีลักษณะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัคราฯ เพื่อไม่ให้เกิดการประมูลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กพร. ขอชี้แจงว่า 

การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 แต่ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72/2559 ระบุให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทุกรายทั่วประเทศ ระงับการประกอบกิจการไว้เป็นการชั่วคราว รวมถึงให้ระงับการอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำไว้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จะมีมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคม 2560 คนร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำได้ภายใต้ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560 

อสังหาฯ ยังซมพิษโควิด ลุ้นอีก 6 เดือนข้างหน้าค่อย ๆ ฟื้น

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังคงชะลอตัวลง และตั้งแต่ต้นปี 2563 จนมาถึงไตรมาส 3 ปี 2564 โดยค่าดัชนีไตรมาสนี้ยังต่ำกว่าระดับ 50.0 หลังจากจากการบังคับใช้มาตรการควบคุม LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2562 รวมทั้งประเทศไทยต้องประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน 

ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ปี 2564 สถานการณ์การระบาดของโควิดมีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 15,000 คนต่อวัน และมีการล๊อคดาวน์ในบางพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศที่มีการล๊อคดาวน์อีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน 2564 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรงและยังคงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความวิตกกังวลต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวในภาวะปัจจุบันเป็นอย่างมาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 57.2 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.5 และมีการเพิ่มขึ้นในทุกปัจจัยสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกเพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้า อาจเป็นเหตุผลจากการที่รัฐบาลประกาศให้บริการวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

รวมทั้งการที่ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาโดยเร่งฉีดให้บุคลากรด่านหน้า กลุ่มเปราะบาง และนักเรียนที่มีอายุอยู่ในช่วง 12 -18 ปี โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็มให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้มีการเสนอต่อ ครม. ออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ โดยเห็นชอบร่างแก้ไขกฎหมาย ขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้เกิน 49% ตลอดจนให้สิทธิ์เพิ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เพื่อให้สิทธิ์นักลงทุนต่างชาติ เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยและนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น 

โฆษกรัฐบาล เผย โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 เปิดจองโรงแรม/ที่พักแล้ววันนี้! พร้อมเพ็คเกจ “ทัวร์เที่ยวไทย” 1 ล้านสิทธิ เริ่ม Check-In วันแรก 15 ต.ค. เป็นต้นไป 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 พร้อมเปิดให้ประชาชนจองโรงแรม/ที่พักแล้ว หลังจากที่มีการเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา จำนวน 2 ล้านสิทธิ โดยประชาชนสามารถจองโรงแรม/ที่พักได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม – 23 ตุลาคม 2564 เข้าพักได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน  รัฐบาลจะสนุนค่าโรงแรม 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน ทั้งนี้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อห้องต่อคืน จำกัดสิทธิคนละไม่เกิน 15 ห้อง หรือ 15 คืน พร้อมสนับสนุนส่วนลด e-voucher คูปองอาหาร/ท่องเที่ยวมูลค่า 600 บาท ต่อห้องต่อคืน เมื่อเข้าพัก Check-In ที่โรงแรม

โดยคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว สามารถใช้ได้ที่ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ ประชาชนชำระ 60% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 40% ผ่านการตัดเงินจากคูปอง ทั้งนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิผู้โดยสาร ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง 40% ของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่อผู้โดยสาร พร้อมมีสิทธิเพิ่มเติมสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินเท่ากับ 40% ของราคาตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อผู้โดยสาร เมื่อเดินทางท่องเที่ยวไปยัง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับโครงการทัวร์เที่ยวไทย มีบริษัททัวร์สมัครลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 366 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2564) โดยประชาชนสามารถเริ่มจองแพ็คเกจทัวร์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 ผ่านผู้ประกอบการนำเที่ยวโดยตรง ใช้ได้ 1 สิทธิต่อ 1 คน จองแพ็คเกจก่อนเดินทางล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าแพ็คเกจท่องเที่ยว 40% ไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ จำนวน 1 ล้านสิทธิ 

‘รมว.ท่องเที่ยว ยัน 1 พ.ย. เปิดกทม.และ 4 จังหวัด รับต่างชาติ พร้อมตั้งธงปี 65 คืนชีพรับนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า คาดการณ์เป้าหมายรายได้รวมของภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย เกิดการเดินทาง 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งหากประเมินในแง่รายได้ของตลาดรวมจะคิดเป็น 50% ของปีปกติก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศ อยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งระบบ อาทิ โรงแรม ขนส่ง บริษัทนำเที่ยว นวดสปา ซึ่งคิดเป็น 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวหายไป ทั้งตลาดไทยเที่ยวไทย และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจากข้อมูลพบว่า การเดินทางของคนไทยหายไป 84.75% ส่วนต่างชาติหายไปกว่า 99.98% กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับ ททท. ในการจัดทำแผนขับเคลื่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายเปิดประเทศใน 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top