Friday, 9 May 2025
ECONBIZ

“ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.” จี้ “คลัง” เร่งพิจารณางบ “ประกันรายได้ ปี 3” หวั่นอนุมัติช้า อาจส่งผลกระทบราคาข้าว 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 

โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือเป็นนโยบายหลัก 1 ในเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล และประกาศเดินหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขัดอยู่ที่กระทรวงการคลังยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศที่ทำได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่ประเทศไทยไม่ได้ถังแตก ไม่ได้ขาดเงินหรือขาดงบประมาณแต่อย่างใด โดยเห็นได้จากการออก พ.ร.ก.1 ล้านล้าน และพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน รวมไปถึงการขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% และจะมีเงินกู้เพิ่มเติมอีก เม็ดเงินเหล่านี้จึงจำเป็นจะต้องใช้ให้ทันท่วงที และตรงกับกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากวิกฤติโควิด ซึ่งรวมถึงกลุ่มพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ส่งออกข้าวด้วย 

“เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ข้าวราคาตก ถ้าเราช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเหมือนที่ทำมาแล้วในโครงการประกันรายได้ ปีที่ 1 และปีที่ 2 ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ รมว.คลัง มีความเข้าใจในบริบทและกฎหมายดีอยู่แล้วว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีที่ต้องเซ็นอนุมัติงบประมาณให้จ่ายออกมาเป็นเงินส่วนต่างสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที แม้ในการอนุมัติโครงการของปีที่ 1 และปีที่ 2 จะมีความล่าช้าทำให้ต้องมีการดำเนินการจ่ายย้อนหลังอยู่บ้าง แต่สำหรับในปีที่ 3 หากมีความล่าช้าในการจ่ายเงินประกันรายได้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าว และกระทบข้าวที่กำลังจะออกมาในเดือนพฤศจิกายน สร้างความเจ็บปวดให้พี่น้องเกษตรกรมากขึ้นไปอีก” นายปริญญ์ กล่าว 

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวแทนเกษตรกรจาก อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้ร้องเรียนถึงทีมเศรษฐกิจทันสมัย โดยขอให้ ครม. ได้เร่งดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 การจ่ายเงินส่วนต่างล่าช้านอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อมาตรการคู่ขนานที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรกร หรือที่เรียกว่า “ค่าเก็บเกี่ยว”

ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ จนถึงปัจจุบันเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครการดังกล่าวแต่อย่างใด หากไม่จ่ายเงินประกันรายได้ จะกระทบโครงการคู่ขนานตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลลบที่เกิดเป็นห่วงโซ่ เป็นวัฎจักรที่กระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ กระทรวงการคลังจึงไม่ควรล่าช้าในการอนุมัติเม็ดเงิน เพื่อมาจ่ายให้ทันท่วงที และต้องเร่งทำการเบิกจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน 
 

'ดีพร้อม' โชว์พลังคลัสเตอร์หุ่นยนต์ รวมกลุ่มฝ่าวิกฤตสร้างระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ ลดนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมเปิดทางสร้างพันธมิตรธุรกิจหุ่นยนต์ หวังดันเอสเอ็มอีไทยไปสู่ยุค 4.0 

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายผลักดัน 12 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยมีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ 

ด้วยนโยบายดังกล่าว ‘ดีพร้อม’ จึงเร่งพัฒนาและฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวผ่านการสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ ‘คลัสเตอร์’ (Cluster) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ตลอดจนบูรณาการการทำงานระหว่างกันได้ ซึ่ง ‘ดีพร้อม’ ได้ดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน โดยมีกลไกและกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ การกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการรวมกลุ่ม การพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง การพัฒนาธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมให้เติบโต เข้มแข็ง และยั่งยืน 

โดยเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เครื่องมือและกระบวนการอันสำคัญหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้คือการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ หรือ ‘คลัสเตอร์’ ซึ่งมีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่อง จำนวน 123 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจพบว่าเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 11 กลุ่ม ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนเป็นการปูทางสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี 

สำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก และถือเป็นก้าวสำคัญของ SMEs 4.0 คือ ‘คลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ’ ซึ่งได้รวมตัวและบูรณาการการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2562 ประกอบด้วยธุรกิจ SMEs จำนวน 22 บริษัทมีเป้าหมายและจุดยืนร่วมกันคือการเพิ่มกำลังการผลิต การลดนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การนำความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาช่วยแก้จุดอ่อน (Pain Point) ของพันธมิตรภายในคลัสเตอร์ รวมถึงผลักดันให้ธุรกิจ SMEs มีโอกาสได้ใช้หุ่นยนต์เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลง

ด้านกำลังแรงงาน และการลดต้นทุนด้านต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันจะพบว่าการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานของประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับสถานประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น มี SMEs จำนวนน้อยที่ใช้ระบบดังกล่าวในการจัดการกระบวนการผลิต เพราะส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้เครื่องจักร รวมถึงเทคโนโลยีมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง 

“สิ่งสำคัญที่ ดีพร้อม พยายามพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ให้มีความเข้มแข็งได้มุ่งเน้นทั้งการกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากเดิมที่ต่างคนต่างทำหรือต่างคนต่างเก่ง เปลี่ยนการดำเนินงาน จากการแข่งขันเพียงเพื่อความอยู่รอดของตัวเองฝ่ายเดียวมาเป็นพันธมิตร พร้อมวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจในคลัสเตอร์ทราบถึงระดับความสามารถในการแข่งขัน และนำสิ่งต่างๆ มาเติมเต็มได้ รวมถึงยังได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับความต้องการการพัฒนาธุรกิจ ผลักดันเวทีหรือกิจกรรมการปฏิบัติจริง ทั้งในด้านการทดสอบตลาด การพัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยี และยังติดตามความสำเร็จ และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ ต่อไป”

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดีพร้อม ยังได้มีการติดตามผลลัพธ์ ซึ่งพบว่าสิ่งที่คลัสเตอร์หุ่นยนต์
และระบบอัตโนมัติประสบความสำเร็จ คือ มีการซื้อขายระบบเทคโนโลยีรวมถึงหุ่นยนต์ระหว่างกันคิดเป็นมูลค่า ทางเศรษฐกิจประมาณ 95 ล้านบาท หรือ 4.75 ล้านบาทต่อกิจการ พร้อมด้วยความสำเร็จของการพัฒนาระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ Low Cost Automation ซึ่งทำให้ธุรกิจในกลุ่มสามารถมีระบบอัตโนมัติช่วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตในราคาที่เอื้อมถึงได้ คืนทุนได้เร็วเฉลี่ยประมาณ 12 เดือน และมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเฉลี่ย 300,000 - 500,000 บาท จากปกติที่ต้องนำเข้าในราคาระดับหลักล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดีพร้อม ยังมีแนวทางในการต่อยอดให้กลุ่ม SMEs มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 

1.) การดึงกลุ่มสถานประกอบการที่มีความต้องการใช้หุ่นยนต์เข้ามาร่วมในกลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาระบบทราบถึงความต้องการของพันธมิตร และต่อยอดสู่เทคโนโลยีเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น 

2.) การส่งเสริมและเชื่อมโยงผ่านกลไกด้านการเงิน พร้อมให้ความรู้กับผู้ประกอบการได้เห็นถึงสิทธิประโยชน์จากการนำหุ่นยนต์มาใช้ เช่น มาตรการด้านภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราต่ำ รวมถึงจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินสำหรับ SMEs เพื่อใช้ในการขอสินเชื่อจากกองทุนและจากธนาคารพาณิชย์

3.) จัดหาหรือดึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ / ประสบการณ์ในด้านระบบอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์มาช่วยให้ความรู้ หรือเทคนิคสำคัญให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านที่ปรึกษา พร้อมช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาเทคโนโลยีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

และ 4.) ส่งเสริมแผนงานด้านการตลาด เนื่องจากในปัจจุบันแม้คลัสเตอร์จะเริ่มประสบความสำเร็จในการแบ่งปัน - ซื้อขายเทคโนโลยีระหว่างกัน แต่ยังจำเป็นต้องทำให้เกิดการซื้อขายนอกกลุ่ม หรือช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าและการเป็นที่รู้จักที่มากขึ้นต่อไป 

ธปท.คาดผ่อนเกณฑ์อสังหาฯ กระตุ้นกำลังซื้อ ดึงเม็ดเงินใหม่ 9.8% ของจีดีพี - จ้างงาน 2.8 ล้านคน

ธปท.คาดว่าผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยฯ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์กว่า 9.8% ของจีดีพี และมีการจ้างงานกว่า 2.8 ล้านคน หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

วันนี้ (21 ต.ค. 64) นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้เปิดประเทศได้เร็วกว่าคาด แต่การฟื้นตัวยังเปราะบางจากความไม่แน่นอนสูงและฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซบเซาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและภาคก่อสร้างที่ได้รับผลจากการระบาด ธปท. ประเมินแล้วเห็นว่า เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงาน จึงควรเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งหรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ผ่านการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว

รัฐค้ำเงินกู้ช่วยธุรกิจทะลุ 2 แสนล้าน หนุนจ้างงาน 2 ล้านราย

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง วันที่ 1 ม.ค. - 15 ต.ค.2564 ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อทุกโครงการ รวมวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 187,446 ฉบับ สร้างสถิติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. รอบ 30 ปี ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 215,237 ล้านบาท คิดเป็น 1.07 เท่า สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.13 เท่าของวงเงินค้ำประกัน คิดเป็นมูลค่า 833,333 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันยังก่อเกิดการจ้างงาน จำนวน 2,050,661 ราย แบ่งเป็น การรักษาการจ้างงาน จำนวน 1,667,657 ราย และการจ้างงานใหม่ จำนวน 383,004 ราย โดยมีภาระค้ำประกันสินเชื่อ (Outstanding) ณ ไตรมาส 3/2564 จำนวน 604,076 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs ในระบบ คิดเป็น 10% ของ มูลค่า GDP SMEs   

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. อนุมัติวงเงินค้ำ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 1-2 วงเงิน 103,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% และ LG จำนวน 33,803 ฉบับ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 71,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35% และ LG จำนวน 16,878 ฉบับ 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 15,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7% และ LG จำนวน 130,699 ฉบับ 4.โครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ วงเงิน 11,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% และ LG จำนวน 6,066 ฉบับ   

ปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วน “ศรีรัช-วงแหวนฯ” ดีเดย์ 15 ธ.ค. นี้ รถ 4 ล้อ ปรับขึ้น 15 บาท

บอร์ด กทพ.รับทราบขึ้นค่าผ่านทาง “ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก” ตามสัญญา 15 ธ.ค. 64 รถ 4 ล้อ / 6-10 ล้อ / มากกว่า 10 ล้อ เพิ่มเป็น 65 / 105 / 150 บาท ตามลำดับ 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ที่มี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน วันที่ 20 ต.ค. ได้รับทราบตามที่ กทพ.เสนอการปรับค่าผ่านทางโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ข้อ 11.4 ที่กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี นับจากเปิดโครงการเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 ซึ่งจะครบ 5 ปีในวันที่ 15 ธ.ค. 2564

ตามร่างประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ สำหรับรถ 4 ล้อ อัตราปัจจุบัน 50 บาท ปรับเพิ่ม 15 บาท เป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้อ อัตราปัจจุบัน 80 บาท ปรับเพิ่ม 25 บาท เป็น 105 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ อัตราปัจจุบัน 115 บาท ปรับเพิ่ม 35 บาท เป็น 150 บาท

ทั้งนี้ บอร์ด กทพ.ได้มีข้อห่วงใยจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงมีข้อสั่งการให้ กทพ.ไปดำเนินการหารือกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น อาจจะชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางออกไปก่อน หรือจัดทำแคมเปญทางการตลาด กรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งได้จัดแคมเปญเป็นคูปองเพื่อลดภาระผู้ใช้ทาง เป็นต้น 

ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา กทพ.ได้มีการหารือกับ BEM แล้วครั้งหนึ่งเพื่อขอให้บริษัทพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชน และจะนัดหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ตามที่บอร์ด กทพ.มีความห่วงใย หากได้ข้อสรุปอย่างไรจะต้องนำเสนอบอร์ด กทพ.พิจารณาอนุมัติในการประชุมเดือน พ.ย. 2564

‘ก้าวไกล’ ติงภาครัฐ ควรรับมือเงินรั่วไหลดีกว่านี้  ย้ำ!! ลูกค้าไม่ผิด อย่าผลักภาระให้ผู้เสียหาย

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ประชาชนกว่าหมื่นคนถูกตัดเงินจากบัตรเดบิตและบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัวว่า เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่จากการตรวจสอบพบข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่า ธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้ดีกว่านี้

“แม้ข้อสันนิษฐานตามแถลงการณ์ล่าสุด ของ ธปท. จะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดจากมิจฉาชีพที่สุ่มเลขบัตรและรหัส โดยใช้บอตหรือโปรแกรมอัตโนมัติ และนำไปทำธุรกรรมกับร้านค้าออนไลน์ ที่อยู่ต่างประเทศ แต่ทั้งกว่าหมื่นกรณีอาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุนี้ทั้งหมดก็ได้ และแม้จะยังไม่สามารถกล่าวโทษได้อย่างชัดเจนว่าเป็นช่องโหว่จากจุดใด แต่ก็ชัดเจนว่า ไม่ใช่ความผิดพลาดจากผู้ใช้หรือลูกค้าธนาคารอย่างแน่นอน และแม้ผู้ที่ไม่เคยทำธุรกรรมทางออนไลน์ ก็สามารถตกเป็นเหยื่อในกรณีนี้ได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ ปกรณ์วุฒิ ยังมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ว่า เบื้องต้น ธนาคารควรให้ข้อมูลที่ชัดเจน และการระบุผู้เสียหายโดยธนาคาร แต่หลายวันที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน รวมถึง Line Official Account ของธนาคารต่างๆ เท่าที่ตนมี หรือช่องทาง SMS ก็ยังคงไม่มีการแจ้งเตือนให้ข้อมูลถึงกรณีดังกล่าวมาถึงเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

“ที่สำคัญ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเกิดกับคนที่ไม่เคยใช้งานออนไลน์เลย หลายคนที่มีแค่บัญชี และบัตรเอทีเอ็ม แต่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังของตนเองได้อย่างสะดวก และอย่างที่กล่าวว่า กรณีนี้ ‘ไม่ใช่ความผิดของลูกค้า’ ดังนั้น ภาระในการ ‘สืบหาผู้เสียหาย’ จึงควรจะเป็นของธนาคาร และติดต่อกลับไปแจ้งลูกค้า ไม่ใช่ให้ลูกค้าตรวจสอบความเสียหายของตนเองและแจ้งไปที่ธนาคาร และที่สำคัญคือการชดใช้จะต้องทำทันทีและเร่งด่วน”

รมว.สุชาติ ห่วงเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตรองเท้า ย่านกิ่งแก้ว หวั่นตกงานกว่า 200 ชีวิต เร่งสั่งการอธิบดีกรมการจัดหางานเตรียมตำแหน่งงานรองรับ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยลูกจ้าง พนักงานโรงงานผลิตรองเท้า บริษัท วัฒนา ฟูตแวร์ จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 9 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานจนตัวอาคาร เครื่องจักรและทรัพย์สินเสียหายเกือบทั้งหมด และยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานลูกจ้างหรือไม่ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน  และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนโรงงานและพนักงาน ลูกจ้างที่ประสบเหตุ เพื่อหาทางออกและแนวทางช่วยเหลือให้ได้รับค่าชดเชยหรือหากถูกเลิกจ้าง ก็ให้กรมการจัดหางานเตรียมตำแหน่งงานในพื้นที่ใกล้เคียงรองรับ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางงาน กล่าวว่า ได้มอบหมายนายธนภูมิ ชัยฤกษ์ จัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ดูแลแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นทราบว่าบริษัท วัฒนาฟุตแวร์ จำกัด มีพนักงาน จำนวน 261 คน ซึ่งขณะนี้มีการหารือร่วมกันระหว่างกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ตัวแทนโรงงาน และตัวแทนพนักงานซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ
 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมวงเสวนา ASEAN Sustainable Energy Week 2021 ชู 4 ปัจจัยหลักสอดคล้อง Smart Eco สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประชุมและนิทรรศการนานาชาติด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อมนานาชาติ หรือ ASEAN Sustainable Energy Week 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมรากฐานพัฒนายั่งยืนสู่ไทยก้าวไกลระดับโลก” ภายใต้หัวข้อ “Smart Eco Industrial อุตสาหกรรมยั่งยืน” โดยระบุตอนหนึ่งว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ กนอ.มุ่งส่งเสริมเพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนและเป็นรากฐานในการจัดทำแผนแม่บทในอนาคต ที่ กนอ.ดำเนินงานอย่างเข้มงวด ขณะนี้มี 4 แนวทาง คือ...

1.) กนอ.จะนำแนวคิด BCG Economy ของรัฐบาลมาเป็นแกนหลักในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตลอดจนปรับใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่สอดคล้อง ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งการประสานงานเข้าด้วยกันจะก่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม 

2.) การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการ Eco Efficiency ของ กนอ. โดยในปี 2563 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 1.2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5 แสนกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสำนักงาน การจัดทำโครงการลดของเสียในหน่วยงาน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปี 2564 และคาดว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 7 แสนกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)

‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ แนะธนาคาร ลูกค้า หน่วยงานกำกับ ปรับแก้ระบบชำระเงิน กันเงินรั่วไหล ยัน Mobile Banking ยังเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย เพราะโทรศัพท์เป็นทรัพย์สินส่วนตัว 

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษานโยบายด้านเทคเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล พรรคกล้า อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงกรณีเงินรั่วไหลจากบัญชีของธนาคารที่เป็นกระแสข่าวอยู่ตอนนี้ว่า จุดรั่วใหญ่สุดน่าจะอยู่ที่ร้านค้าหรือแอปพลิเคชันที่ปล่อยให้มีการชำระผ่านบัตรเครดิต หรือเดบิต ที่หละหลวมเกินไป ทำให้เกิดกรณีการใช้โปรแกรมเดาเลขที่บัตรได้ 

ฉะนั้นวิธีแก้ไขที่ควรเร่งปฏิบัตินั้น สมคิด ได้แนะแนวทางต่อผู้เกี่ยวข้อง 3 ด้านดังนี้...

>> ด้านธนาคาร 
1.) ควรมีระบบ Fraud Detection (ระบบตรวจจับการทุจริต) ที่ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ผิดปกติเช่นนี้
2.) ควรมีระบบเตือนให้ลูกค้าทราบทุกๆ รายการทาง Mobile Banking หรือ SMS
3.) ไม่ควรรับการชำระเงินจากร้านค้า หรือแอปพลิเคชันที่หละหลวมเช่นนี้ 

จีดีพีเกษตรไตรมาส 3 บวก 6.5% คาดทั้งปีทุกสาขาฟื้นตัว

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์และประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ของปี 2564 (ก.ค. – ก.ย. 2564) ว่า เศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว 6.5% ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่หดตัว 1.1% เนื่องจากในปี 2563 หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร ขณะที่ในปี 2564 สถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น และการเริ่มต้นฤดูฝนที่เร็วกว่าปี 2563 ทำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต 

ทั้งนี้ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% โดยสาขาการผลิตสำคัญ ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ และฤดูฝนที่มาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูกได้เร็วและขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิต และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน 

“บิ๊กตู่” สั่งตรึง "ดีเซล" 30 บาท ต่อลิตร  ชี้เห็นใจผู้ประกอบการ- ปชช. แต่ราคาน้ำมันพุ่งตามกลไกตลาดโลก  สั่ง ก.พลังงาน แจง 

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันพุ่งสูงว่า รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อน ของสมาคมขนส่งหรือสมาคมรถบรรทุก ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์น้ำมันโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่รู้ว่าจะขึ้นอีกเท่าไหร่ 

ในช่วงที่ผ่านมาทุกรัฐบาลได้มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้มาตลอด โดยการเอากองทุนน้ำมันออกไปช่วย ซึ่งเราก็ช่วยมาตลอด ทั้งที่ความจริงแล้วราคาน้ำมันสูงมากกว่านี้ เราจะพยายามตรึงราคาให้ได้ลิตรละ 30 บาท ซึ่งในราคานี้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเดือนละประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท และสถานการณ์ปัจจุบันนี้ติดลบแล้วเราก็ต้องมาพิจารณาว่าอีกสองเดือนข้างหน้าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป 

“เห็นใจผู้ประกอบการขนส่งทุกคน แต่ที่สำคัญต้องเข้าใจสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ยังมีความขัดแย้งในหลายส่วน หลายกลุ่มด้วยกัน สถานการณ์น้ำมันยังคงเป็นอย่างนี้อีกระยะ รัฐบาลพยามตรึงให้ได้ลิตรละ 30 บาท ปัจจุบันเรามีน้ำมันอยู่หลายประเภท เช่น บี7 บี 10 บี 20 ราคา ซึ่งราคาต่างกัน เพราะมีส่วนผสมที่แตกต่าง โดยหากเราใช้เงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันประเภทใดประเภทหนึ่งมากไป ก็จะทำให้น้ำมันอีกส่วนสูงขึ้น จะต้องดูตรงนี้ด้วย แต่เราก็จะคุมราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ 30 บาทต่อลิตรก่อน” พล.อ.ประยุทธ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะทำอย่างไรให้กองทุนน้ำมันเกิดความคล่องตัว ต้องมาดูว่าหาเงินมาจากไหน  เงินกู้จะกู้ได้หรือไม่ ถ้าได้จะได้เท่าไร สิ่งเหล่านี้นายกฯ ได้พิจราณามาตลอด และเตรียมพร้อมในเรื่องนี้

ส่วนการเรียกร้องให้ราคาน้ำมันลิตรละ 25 บาท นั้นก็ต้องดูต้นทุนเป็นอย่างไร เรื่องน้ำมันมีปัญหาเยอะมาก เพราะเราใช้น้ำมันภายในประเทศมาก ต้องยอมรับว่า บ้านเราเจริญเติบโต ถนนหนทางพอดี จึงมีการใช้น้ำมันเยอะ  

"บิ๊กตู่" สั่งเตรียมพร้อมพื้นที่บลูโซน ปลดล็อกกิจกรรมรับต่างชาติ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานพูดคุยและทำความเข้าใจกับสถานประกอบการต่าง ๆ ให้เข้าใจถึงสถานการณ์ และความจำเป็นในการดำเนินมาตรการของรัฐบาลกรณีการเตรียมพร้อมเปิดพื้นที่บลูโซน และแนวทางเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลด้านสาธารณสุขของประชาชนไทย รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศด้วย 

ทั้งนี้ การเปิดพื้นที่บลูโซนนั้นเป็นมาตรการเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น แรงจูงใจให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยสามารถกำหนดหรือปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้เป็นไปตามระดับการจัดการตามพื้นที่เฝ้าระวังได้เอง และสามารถเปิดกิจกรรมได้ทุกประเภท ยกเว้นสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกันที่ยังไม่อนุญาตให้เปิด รวมถึงห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนมากกว่า 500 คน โดยการเปิดพื้นที่บลูโซนจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นได้เกิน 70% รวมถึงความพร้อมด้านสาธารณสุข อัตราการครองเตียงเหลืองแดงต้องไม่เกิน 80% สัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องไม่เกิน 5-10 คน ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนต่อวัน 

กนอ.เซ็นสัญญาตั้งนิคมฯ ‘เอเพ็กซ์กรีน’ ในพื้นที่อีอีซี ดันฐานอุตฯ ใหม่ เชื่อ!! ดึงเงินการลงทุนได้ 64,000 ลบ.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ บริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เม็ดเงินพัฒนาโครงการ 1,767.73 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง และสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ คาดหวังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะก่อให้เกิดการลงทุนในนิคมฯ 64,000 ล้านบาท เกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มประมาณ 16,000 คน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) โดยในวันนี้ (19 ต.ค. 64) ได้มอบหมายให้ นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการ กนอ.ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน กับ บริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve 

โดยนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหัวสำโรง และตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 66 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี ซึ่งหลังจากประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 

“โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท เน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง ชิ้นส่วนยานพาหนะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำต่ำ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว 

ครม. เคาะมาตรการกระตุ้นลงทุน ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯ แลกวีซ่าระยะยาว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อการทำงาน และร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงาน รวม 2 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อการทำงาน รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทุน เพื่อเข้าร่วมโครงการ Flexible Plus Program

สำหรับรูปแบบโครงการ Flexible Plus Program ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องลงทุนในประเทศไทยตามประเภทของการลงทุนที่กำหนด ในมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับจากเข้าร่วมโครงการและให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถขอรับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ในราชอาณาจักรได้ เพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

“บิ๊กตู่” สั่งจัดงานปีใหม่ให้ดึงศิลปินพื้นบ้านไทยร่วมด้วย 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในรูปแบบร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดคอนเสิร์ตโดยศิลปินไทย ศิลปินพื้นบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ และกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มศิลปินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงสิ้นปี โดยย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และนายกฯ ยังบอกถึงการจัดประชุม ครม.สัญจร ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ ในจังหวัดนำร่องพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย

ทั้งนี้นายกฯ ยังขอทุกฝ่ายร่วมมือเตรียมความพร้อมเปิดประเทศตามเป้าหมาย ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ โดยต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างรอบคอบชัดเจนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศต่าง ๆ เป็นไปตามเงื่อนไข ข้อตกลงระหว่างประเทศต้นทางและประเทศไทย ควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข สำหรับผู้เดินทางมาท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจในการดูแลด้านความปลอดภัยสาธารณสุข 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top