ครม.ไฟเขียว ออมสินปล่อยกู้รายละ 3 แสน ดอกเบี้ย 3.99% กลุ่มไหนเข้าเกณฑ์ เช็กเลย!

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ธนาคารออมสิน ดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ อนุมัติงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ในส่วนที่ธนาคารออมสิน ขอชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นเงินทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หรือสินเชื่อนอกระบบ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1.) ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ผ่านการอบรมอาชีพช่างทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้าช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น เสริมสวยหรือตัดผมชาย คนขายของออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน หรือเอกสาร อื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพหรือมีประสบการณ์ ในการประกอบอาชีพดังกล่าว

2.) ผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่น ๆ

3.) ผู้ขับขี่รถสาธารณะ เช่น ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ หรือเอกสารอื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพ

ทั้งนี้ ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 300,000 บาท ระยะเวลาการขอยื่นสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ คือ 23 พฤศจิกายน 2564 ถึง 30 กันยายน 2565 ระยะเวลาการกู้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 5 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี

ทั้งนี้ นายธนกร กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลี่คลาย แต่ยังมีประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งรายได้ลดลง ขาดเงินทุนสำหรับการมาเริ่มประกอบอาชีพใหม่ หรือต้องการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ธนาคารออมสิน ดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งธนาคารออมสินยังจะจัดให้มีการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินละยกระดับทักษะในการประกอบอาชีพให้กับลูกค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์การค้าและสถานที่จำหน่ายสินค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ประมาณ 60,000 รายด้วย