Thursday, 27 March 2025
ECONBIZ

เชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศก็ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะฉีดได้ครบ 70% ของประชากร ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยบวกคือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบด้วย โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยลบได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ระดับระคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด และ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

กรมบัญชีกลางเปิดผลเบิกจ่ายงบปี 64 อยู่ที่ 98.89%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้เร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564) โดยมีผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,249,520 ล้านบาท คิดเป็น 98.89% แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,652,607 ล้านบาท คิดเป็น 98.92% และรายจ่ายลงทุน 596,913 ล้านบาท คิดเป็น 98.78% สำหรับผลการใช้จ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 202,975 ล้านบาท คิดเป็น 99.07% 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และในวาระที่กรมบัญชีกลางครบรอบ 131 ปี กรมบัญชีกลางมีแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการเงินการคลังภาครัฐ ให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ ภายใต้บริบทของความถูกต้องและเป็นธรรม 

อธิบดีกรมสวัสดิ์ ฯ ยัน ช่วยเหลือลูกจ้าง บ.บริลเลียนท์ เต็มที่ ทั้งเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาและดำเนินคดีนายจ้าง 

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่พนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด และตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทยผู้ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นในสตรี จ.สมุทรปราการ ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากปิดกิจการและไม่ได้รับเงินชดเชย ได้ไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำงบกลางมาจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ผ่านนายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเมื่อวันที่ 28 เม.ย.- 11 ส.ค.64 ให้แก่ลูกจ้าง 1,231 คน รวมเป็นเงิน 22,321,856 บาท ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินประกันการว่างงาน 65,540,768 บาท และกรมการจัดหางาน จัดตำแหน่งงานว่างรองรับ 1,834 ตำแหน่ง 

นายนิยม กล่าวต่อว่า รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยใส่ใจพี่น้องแรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม และได้สั่งการให้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยเร็ว วันนี้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินประกันการว่างงานของประกันสังคม ท่านสุชาติ ยังได้ดำเนินการให้มีการแก้ไขระเบียบให้สามารถจ่ายเงินประกันสังคมได้ก่อนที่จะจบกระบวนการศาล ซึ่งแต่เดิมการที่จะจ่ายเงินประกันการว่างงานให้กับผู้ใช้แรงงานในกรณีที่มีคดีฟ้องร้องในชั้นศาลจำเป็นจะต้องให้กระบวนการศาลจบเรียบร้อยก่อน 

ออมสิน พักหนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้เจอน้ำท่วม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า  ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทของธนาคาร โดยให้พักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน (ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจวงเงินเกิน 100 ล้านบาท) ที่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน หรือสถานประกอบธุรกิจอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและมีประกาศของทางราชการให้เป็นพื้นที่ประสบภัย รวมถึงลูกค้าที่พักชำระหนี้มาตรการอื่น ๆ ของธนาคารอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ สามารถขอเข้ามาตรการดังกล่าวนี้ได้ โดยให้ติดต่อสาขาธนาคารออมสินที่มีบัญชีสินเชื่ออยู่ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

ทั้งนี้ หลังครบกําหนดผ่อนผันพักชำระหนี้ 3 เดือนแล้ว ให้ชําระเงินงวดตามสัญญาเดิม หากยังไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ ขอให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือเข้ามาตรการอื่นที่ธนาคารมีอยู่ได้ ซึ่งธนาคารได้มีการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานกาณ์ต่าง ๆ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19             

รัฐบาลสั่งเตรียมพร้อมฟื้นท่องเที่ยว เร่งจัดกิจกรรมหนุนคนเดินทาง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล ได้มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งเตรียมความพร้อมรองรับการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ทั้งรับนักท่องเที่ยวในประเทศและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไฮซีซั่น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 64 และไตรมาสแรกของปี 65 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และททท. ได้จัดโครงการเที่ยวบินพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางภายในประเทศ โดยร่วมกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย นำคณะภาครัฐและเอกชน เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ และขยายไปยังพื้นที่อื่นๆที่เปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะที่ 2 ซึ่งนอกจากเชียงใหม่แล้วยังมี กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) และชลบุรี (พัทยา บางละมุง สัตหีบ) ต่อไป และตั้งแต่กลางเดือนต.ค.64 เป็นต้นไปสายการบินแอร์เอเชียจะเพิ่มเที่ยวบินไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต และหัวหิน เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น หลังโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทยเริ่มแล้ว

กบง.อุ้มดีเซล ตรึงราคาไม่ถึง 30 บ./ลิตร ลดจัดเก็บเงิน B7 เข้ากองทุนน้ำมันฯ เหลือ 1 สตางค์

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือกบง. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ว่า จากความกังวลของประชาชนในส่วนของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องซึ่งเกิดจากดีมานด์ที่มีเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ทำให้กำลังการผลิตหายไปบางส่วน บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจึงทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นซึ่งรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยที่ประชุมกบง. ได้มีการประชุมหารือ เพื่อลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานแพงตามภาวะตลาดโลก และมีมติเข้ามาดูแลในระยะสั้นจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

โดยที่ประชุม กบง. มีมติดูแลราคาน้ำมันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งน้ำมันพื้นฐานบี 10 และน้ำมันบี 7 ที่มีรถยนต์ที่ใช้อยู่ประมาณ 10 ล้านคัน โดยจะดำเนินการ 3 ส่วน คือ 

1.) ปรับลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดเก็บจากบี 7 อัตรา 1 บาทต่อลิตร เหลือ 1 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 ลดเหลือต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันขึ้นไปอยู่ที่ 31.29 บาทต่อลิตร

2.) ลดค่าการตลาดกลุ่มดีเซล จาก 1.80 บาทเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร ลดลง 40 สตางค์ต่อลิตร จะทำให้ ราคาบี 6 จะอยู่ที่ประมาณ 28.29 บาท/ลิตร โดยมีผลวันที่ 5 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2564 หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่อยู่ที่ 76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันก็จะเข้ามาช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเพื่อให้ประชาชนที่ใช้งานอยู่ประมาณ 10 ล้านคัน ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

3.) ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงจากเดิมที่ผสมอยู่ในสัดส่วน 10% หรือบี 10 และ 7% หรือ บี 7 ให้เหลือ 6% หรือบี 6 เป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ราคาน้ำมันบี 6 อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร โดยเป็นมาตรการระยะสั้นให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งจากมติดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2564 จะเหลือน้ำมันดีเซลชนิดเดียว คือ บี 6 โดยใช้เงินอุดหนุนส่วนนี้เดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นจะมีเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันดูแลได้อยู่ ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท

สศค. เปิดยอด 'คนละครึ่ง' สั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่วันแรกเฉียด 12 ล้านบาท

5 ต.ค. 64 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 24.52 ล้านราย จากผู้เข้าร่วมโครงการรวม 27.31 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 72,726 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 37,004.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 35,721.7 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวน 78,451 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 496,336 ราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมรวมทั้งหมด 2,444 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 1,911 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 208 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายส่วน e-Voucher 102 ล้านบาท 

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (4 ตุลาคม 2564) ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ (โครงการฯ) สามารถใช้สิทธิซื้ออาหาร และเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มได้เป็นวันแรก ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 2 ราย ได้แก่ Grab และ LINEMAN และมีผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการฯ สามารถขายอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มแล้วกว่า 47,000 ราย จากผู้ลงทะเบียน 57,000 ราย โดยประชาชนสามารถใช้บริการ เวลา 06.00 - 20.00 น. ของทุกวัน ตามขั้นตอนดังนี้

1.) เข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กดแถบแบนเนอร์ (Banner) ฟู้ดเดลิเวอรี่ในหน้าแรก หรือสามารถเข้าผ่าน g-Wallet กด Banner โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แล้วจึงกด Banner ฟู้ดเดลิเวอรี่

2.) กด “สั่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วจึงเลือกผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ต้องการใช้งาน หรือสามารถกด “ค้นหาเมนูหรือร้านอาหาร” เพื่อเลือกซื้ออาหาร/เครื่องดื่มได้ 

3.) หลังจากเลือกตามข้อ 2 ระบบจะเชื่อมไปที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านอาหาร/เครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยประชาชนจะต้องชำระค่าส่งที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มก่อน 

4.) ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนให้ชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มบน g-Wallet และกดปุ่มชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มพร้อมใช้สิทธิผ่าน g-Wallet โดยต้องชำระเงินภายใน 5 นาที

ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง ในพื้นที่ EEC ตั้งเป้าลงทุน 10 ปี กว่า 3 แสนล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในอนาคต เนื่องจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563) จำนวน 15,836 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ดังนี้...

1.) การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 280,772 ล้านบาท ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2564 - 2573) ประกอบด้วย...

>> นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
>> นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
>> นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
>> นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล
>> นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ 

โฆษกรัฐบาลเผย ‘S&P’ คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือประเทศ (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพคาด GDP ไทยเติบโตร้อยละ 1.1 โดยประมาณในปีนี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings (S&P) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยยังเป็นระดับเดียวกับปี 2563 ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโต (GDP Growth) ประมาณร้อยละ 1.1 และในช่วงปี 2565-2567 ร้อยละ 3.6 ต่อปีด้วย

รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings (S&P) ได้เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เมื่อ 4 ตุลาคม 2564 โดยคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2563 สาระสำคัญ ดังนี้...

1.) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance มีความเข้มแข็ง แม้ว่าไทยจะขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564-2565 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่ S&P คาดว่า ปีนี้ GDP จะเติบโตที่ประมาณร้อยละ 1.1 และในช่วงปี 2565-2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.6 ต่อปี จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 และประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ที่ระดับเดิมก่อนเกิด COVID-19 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จากการที่รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐและเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ

พาณิชย์เปิดภาวะเงินเฟ้อ เดือนก.ย.กลับมาบวก 1.68% 

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อประจำเดือนก.ย. 2564 ว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ย. อยู่ที่ 1.68% หลังจากในเดือนส.ค.ติดลบเป็นเดือนแรกปีนี้ 0.02% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังเคลื่อนไหวเป็นปกติและค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหารสดที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน แต่ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักสดและผลไม้สด ยกเว้น ไข่ไก่ที่ยังมีราคาสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมากแต่แนวโน้มราคาเริ่มลดลงตามลำดับ

สำหรับเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้ง ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า มูลค่าการส่งออกสินค้า รายได้เกษตรกร ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ชี้ว่าราคาสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายในระยะต่อไปยังมีแรงส่งจากราคาสินค้าในภาคการผลิตบางชนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

ครั้งแรก รัฐเปิดมาตรฐานตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าหนุนการผลิตได้คุณภาพสากล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถาบันยานยนต์ (สยย.) ได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำร่างมาตรฐานรถยนต์สามล้อ (ตุ๊กตุ๊ก) ไฟฟ้า (มอก.3264-2564) และร่างมาตรฐานด้านยานยนต์อัจฉริยะอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ โดยยึดหลักมาตรฐานอียู 168/2013 อ้างอิงในการจัดทำมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล 

สำหรับมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากำหนดคุณสมบัติที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น ด้านความปลอดภัย สมดุลการเข้าโค้ง ต้องไม่ลื่นไถลออกนอกโค้ง เมื่อขับขี่เข้าโค้งที่รัศมีโค้ง 3 เมตร ด้วยความเร็วเข้าโค้งที่ (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบเบรก ต้องมีระยะเบรกไม่เกิน 20.09 เมตร และไม่พลิกคว่ำหรือลื่นไถลออกนอกช่องทางที่กำหนด เมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้แรงเบรกที่เท้าไม่เกิน 500 นิวตัน การเบรกขณะจอดบนพื้นลาดเอียง ต้องหยุดนิ่งได้มากกว่า 60 วินาที โดยไม่ลื่นไถลลงบนพื้นลาดเอียงที่ 12 % เมื่อใช้แรงดึงเบรกมือไม่เกิน 200 นิวตัน ขณะที่ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า ต้องมีเกณฑ์การปล่อยสัญญาณรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และภูมิคุ้มกันต่อการรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นไปตามที่กำหนด 

รัฐบาลเคาะแผนลงทุนอีอีซี 5 ปีข้างหน้า มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพอ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผ่านระบบ Video Conference ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับแผนลงทุนอีอีซีในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-69) มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท เน้นขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นกลไกหลักช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 72

สำหรับตามแผนการลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ 2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร รวมปีละ 150,000 ล้านบาท 3.ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน  

‘สุริยะ’ เผยมติ ร่างมาตรฐาน ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า - EV’ ดัน สยย. เดินหน้าให้บริการทดสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงถึงผลการดำเนินงานของสำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ว่าคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้มีมติเห็นชอบให้สมอ. นำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (มอก.3264-2564) และร่างมาตรฐานด้านยานยนต์อัจฉริยะอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ ไปประกาศใช้เป็นมาตรฐานแล้ว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (EV) ที่สำคัญของโลกตามนโยบายของประเทศ

สถาบันยานยนต์ (สยย.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะผู้จัดทำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ได้ใช้มาตรฐาน EU 168/2013 อ้างอิงในการจัดทำ เพื่อให้รถตุ๊กตุ๊กตามมาตรฐานนี้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสากล และเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการผลิตรถตุ๊กตุ๊กสันดาปภายใน สู่การผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าตามนโยบายของประเทศ โดยมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากำหนดคุณสมบัติที่สำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้...

1.) ด้านลักษณะทั่วไป
>> ขนาด ต้องมีความยาวไม่เกิน 4,000 มิลลิเมตร ความกว้างไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร ความสูงไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร และความสูงภายในไม่น้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร
>> โครงสร้าง ต้องมั่นคงแข็งแรง ที่นั่งทุกที่นั่งต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
>> มวลรถเปล่า ต้องไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม
>> มอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์

2.) ด้านความปลอดภัย 
>> สมดุลการเข้าโค้ง (J-Turn) ต้องไม่ลื่นไถลออกนอกโค้ง เมื่อขับขี่เข้าโค้งที่รัศมีโค้ง 3 เมตร ด้วยความเร็วเข้าโค้งที่ (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง 
>> ระบบเบรก (Brake Performance) ต้องมีระยะเบรกไม่เกิน 20.09 เมตร และไม่พลิกคว่ำหรือลื่นไถลออกนอกช่องทางที่กำหนด เมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้แรงเบรกที่เท้าไม่เกิน 500 นิวตัน 
>> การเบรกขณะจอดบนพื้นลาดเอียง (Parking Brake) ต้องหยุดนิ่งได้มากกว่า 60 วินาที โดยไม่ลื่นไถลลงบนพื้นลาดเอียงที่ 12% เมื่อใช้แรงดึงเบรกมือไม่เกิน 200 นิวตัน 
>> ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) ต้องมีเกณฑ์การปล่อยสัญญาณรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radiated Emission) และภูมิคุ้มกันต่อการรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Immunity Radiation Fields) เป็นไปตามที่กำหนด
>> การป้องกันน้ำ ต้องมีค่าความต้านทานทางฉนวนไฟฟ้าของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรงมากกว่า 100 โอห์ม/โวล์ท หรือมีค่าความต้านทานทางฉนวนไฟฟ้าของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับหรือที่ใช้ระบบไฟฟ้าผสมระหว่างกระแสตรงและกระแสสลับ มากกว่า 500 โอห์ม/โวล์ท เมื่อนำรถตุ๊กตุ๊กไปวิ่งฟรีอยู่กับที่ในน้ำที่ระดับความสูงของน้ำ 30 เซนติเมตร ด้วยความเร็ว (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง
>> มาตรวัดความเร็ว ต้องอ่านค่าความเร็วได้มากกว่าค่าความเร็วจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของค่าความเร็วจริง บวกกับ 4 กิโลเมตร/ระยะเวลา 1 ชั่วโมง

เฮ!! พรุ่งนี้ราคาดีเซลบี 7 ลด 1 บาท หลังรัฐโดดอุ้ม เล็งตรึงราคาแอลพีจีถึงสิ้นม.ค.

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร นโยบายพลังงาน หรือ กบง. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดเก็บจากบี7 อัตรา1  บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาบี 7 พรุ่งนี้เช้า (5 ต.ค.) ลดลงประมาณ 1 บาท โดยราคาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะลดจากลิตรละ 31.29 บาท เหลือประมาณลิตรละ 30.29 บาท

พร้อมกันนี้ในวันที่ 11-31 ต.ค. 64 กระทรวงพลังงานจะประกาศลดส่วนผสมดีเซลพื้นฐาน บี 10 เหลือ บี 6 พร้อมทั้งขอความร่วมมือ ผู้ค้าน้ำมันลดค่าการตลาดกลุ่มดีเซล จาก 1.80  บาท เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร คาดว่าจะทำให้ ราคาบี 6 จะอยู่ที่ประมาณ 28.29 บาท/ลิตร ขณะที่ภาพรวมการใช้บี 100 เพื่อผลิตน้ำมัน จะลดลงจาก 4 ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 3 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้จะช่วยดูแลลดค่าครองชีพประชาชนระยะเวลาสั้น ถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้ก่อน แต่ถ้าหากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มสูงขึ้นหรือลดลงไปกว่าปัจจุบัน กระทรวงพลังงานก็พร้อมเข้าไปดูแลเพิ่มเติม

‘กรณ์’ ชี้ Evergrande ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ สัญญาณวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ จี้ ทีมเศรษฐกิจไทยจัดทัพรับมือด่วน 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเป็นห่วง ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจจาก บ.อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ Evergrande ว่า กำลังจะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับเศรษฐกิจจีน แต่สะเก็ดระเบิดนี้จะกระจายมาโดนเมืองไทยด้วยเหมือนสมัยวิกฤตแฮมเบอเกอร์ เมื่อสมัยที่ตนเป็นรมว.คลัง 

โดยในช่วงนั้นเราทำงานจับตาเรื่องซับไพรม์ใกล้ชิดตั้งแต่ต้น ทำงานเชิงลึกและทำความเข้าใจตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตจนจัดการได้อยู่ และแก้ไขจนไทยฟื้นตัวไวเป็นอันดับ 2 โลก แต่ครั้งนี้หนักกว่า เพราะความพึ่งพาที่ใกล้ชิดในหลายมิติระหว่างไทย-จีน มากกว่า ไทย-อเมริกา คำถามคือ วันนี้ไทยเตรียมรับมือกับประเด็น Evergrande หรือยัง 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยเรารับมือกับเรื่องน้ำท่วมเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้ต้องคอยจับตาให้ดี สื่อและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจต่างชาติยังคงเกาะติดไม่หยุดกับประเด็นดังกล่าว

“Evergrande ใช้ยุทธศาสตร์ 3 สูง 1 ต่ำ คือหนี้สูง หนี้ต่อทุนสูง และยอดขายสูง ส่วน 1 ตํ่าคือ ต้นทุนต่ำ ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ Evergrande เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี แต่แล้วสุดท้ายการเสพติดหนี้ทำให้บริษัทล่มและสะเทือนไปถึงระบบธนาคารและแม้แต่การเมืองจีน ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พยายามลดความเสี่ยงในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการประกาศมาตรการ ‘3 เส้นแดง’ ที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการกำหนด 1.) สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน 2.) สัดส่วนหนี้ต่อทุน 3.) สัดส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น” อดีต รมว.คลัง กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top