Friday, 9 May 2025
ECONBIZ

ทรู-ดีแทค เผยอยู่ระหว่างศึกษา ‘ควบรวมธุรกิจ’ เดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุน ดันไทยสู่ฮับเทคโนโลยี

เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ พิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร (Transformation) สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ

วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2564) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

“การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน”

“การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย”

“วันนี้ เป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าวตามแนวทางดังกล่าว โดยเราหวังว่า จะเป็นส่วนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งหมด และสร้างงานด้านเทคโนโลยี ในการเติมเต็มและดึงเอาศักยภาพ ให้เป็นผู้ประกอบการที่ส่งมอบมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยนี้” นายศุภชัยกล่าว

นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า “เรามีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้น ขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม”

นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย กล่าวว่า “ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานของเราในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่า และพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ต่อไปในระยะยาว เรามีความมุ่งมั่นและพันธกิจต่อทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนาน และความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเสริมความมุ่งมั่นและพันธกิจนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การที่เราสามารถเข้าถึงทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพดีที่สุด จะเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้”

นายเยอเก้นกล่าวว่า “บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 - 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย”

ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

'รองโฆษกรัฐบาล' เผย ไทย-เวียดนาม จับมือสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ดันการค้า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี68 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบายการสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 19 พ.ย ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม โดยมีการเห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านต่างๆ อาทิ 1) ด้านการเมืองและความมั่นคง 2)ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 3)ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน 4) ด้านสังคม วัฒนธรรม และประชาชน 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ไทย เป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในบรรดาสมาชิกอาเซียน และเป็นผู้ลงทุนลำดับที่ 9 ในเวียดนาม ส่วนเวียดนามเป็นคู่ค้าลำดับที่3 ของไทยในบรรดาสมาชิกอาเซียน และเป็นผู้ลงทุนที่กำลังเติบโตรายใหม่ในไทย ความร่วมมือจะประกอบด้วยการดำเนินงาน เช่น
1)การริเริ่มใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนที่ครอบคลุมและยังยืนระหว่างกัน เช่นการเปิดตัวระบบการชำระเงินค้าปลีกด้วยรหัสคิวอาร์โค้ด โดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางเวียดนาม เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าดิจิตอลข้ามแดน และ การพาณิชย์ อิเล็คทรอนิกส์ระหว่างสองประเทศ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 2)ร่วมกันหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายทางการค้าทวิภาคีที่มีมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องร่วมกัน
3)ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิตอลให้มากขึ้นในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ การชำระเงินข้ามแดน การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการเงิน (fintech) และนวัตกรรมซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและบูรณาการทางการเงินระหว่างสองประเทศและในภูมิภาค

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4)ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการจัดการนโยบายและกฎระเบียบด้านการนำเข้าและส่งออกระหว่างสองประเทศ รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของสินค้าจากทั้งสองฝ่าย
5)ส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะด้านการขนส่ง การค้า การเกษตร และศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งและการส่งออกสินค้าระหว่างสอง 6)ขยายความร่วมมือสอดรับกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ของไทย กับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของเวียดนาม

‘สุริยะ’ สั่งเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการใต้ฝั่งอันดามัน ชู 4 ประเด็นเร่งด่วน - ยกระดับ BCG Model

‘สุริยะ’ สั่งการ ‘ดีพร้อม’ ฟื้นฟูผู้ประกอบการพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมชู 4 ประเด็นเร่งด่วนหนุนอุตฯ ศักยภาพ พร้อมรุกนโยบายเสริมแกร่ง ‘BCG Model’

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งติดตามการดำเนินงานผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวมีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy รวมถึงการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของพื้นที่ ผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 

1.) เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 
2.) การยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน 
3.) การดึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นกระตุ้นความต้องการของตลาด 
และ 4.) การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) ณ จังหวัดกระบี่ และได้มีการติดตามการดำเนินงานในส่วนของการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล โดยในการดำเนินงานดังกล่าว ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับและมีบทบาทการยกระดับศักยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม  

ขณะเดียวกัน ยังร่วมรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการ พร้อมนำไปปรับเป็นแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เร่งปฏิบัติงานด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green  Economy : BCG Model รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ และพัฒนานวัตกรรมการผลิตในธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาดีพร้อม มีแนวทางและแผนการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมถึงได้มีการติดตามการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่กว่า 5 แสนราย ไม่ว่าจะเป็น การประมง การปศุสัตว์ การทำเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรแปรรูป รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าและมีอานิสงส์ต่อการจ้างงานของประชากรในพื้นที่ โดยหลังจากได้รับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดีพร้อมได้เร่งเตรียมฟื้นฟูและยกระดับผู้ประกอบการด้วยแนวทางที่สำคัญหลากหลายรูปแบบ ดังนี้   

ข้าวโพดเฟื่องฟู! พาณิชย์  ประกาศราคาอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9.45 บาทต่อกิโล "จุรินทร์" ยกระดับราคา-เกษตรกร เฮ ! 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุขที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า จากการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดำเนินนโยบายประกันรายได้เกษตรกรและยกระดับราคาสินค้านั้นล่าสุดวันนี้ ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกษตรกรได้รับราคาที่สูงขึ้นรายได้ที่ประกันไว้ สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% กิโลกรัมละ 9.45 บาท

ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 

คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 (งวดที่ 1) ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 และระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% กิโลกรัมละ 9.45 บาท

ธอส. จัดของขวัญปีใหม่ ลูกค้าผ่อนดี ได้รับเงินคืนสูงสุด 1,000 บาท 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ได้จัดทำ “โครงการของขวัญปีใหม่ 2565” สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้านของ ธอส.ที่มีวินัยในการผ่อนชำระย้อนหลังรวม 48 เดือน (นับถึงงวดเดือนพ.ย. 2564) โดยมีการชำระเงินงวดสม่ำเสมอและไม่น้อยกว่าเงินงวดที่ธนาคารกำหนดทุกเดือน ซึ่งแบ่งของขวัญออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้รับเงิน 1,000 บาท สำหรับลูกค้าที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.วงเงินกู้ทุกบัญชีภายใต้หลักประกันเดียวกัน ไม่เกิน 2 ล้านบาท 2.มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้) 3.กรณีลูกค้ารายย่อย ต้องชำระเงินงวดผ่าน Application : GHB ALL ในงวดชำระเดือนพ.ย. – งวดชำระเดือนธ.ค. 2564 และกรณีลูกค้าสวัสดิการ ให้หักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระผ่านหน่วยงานตามปกติ 4.ลูกค้ามี Application : GHB ALL หรือสมัครใช้งานใหม่ ที่ไม่มีบัญชีออมทรัพย์ ต้องเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ภายในเดือนพ.ย. 2564 สำหรับรับโอนเงินของขวัญปีใหม่จากธนาคาร

กลุ่มที่ 2 ได้รับเงิน 500 บาท สำหรับลูกค้าที่มีคุณสมบัติ คือ 1.ต้องไม่ใช่ผู้ที่ได้รับสิทธิในกลุ่มที่ 1 (ที่ได้รับสิทธิ์เงิน 1,000 บาท) 2.มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้) 3.กรณีลูกค้ารายย่อย ต้องชำระเงินงวดผ่าน Application : GHB ALL ในงวดชำระเดือนธ.ค. 2564 หรืองวดชำระเดือนม.ค. 2565 และกรณีลูกค้าสวัสดิการ ให้หักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระผ่านหน่วยงานตามปกติ 4.ลูกค้าที่ไม่เคยมี Application : GHB ALL ให้สมัครใช้งาน GHB ALL และเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ภายในเดือนธ.ค. 2564 หรือเดือนม.ค. 2565 สำหรับรับโอนเงินของขวัญปีใหม่จากธนาคาร

 

เอกชนหวังยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปีถึงเป้า 1.6 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภทช่วง 10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.64) มีทั้งสิ้น 1.365 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 22.89% ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก 788,826 คัน เท่ากับ 57.75% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.77% โดยทั้งปี ส.อ.ท. ยังคงเป้าหมาย ยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปี 64 จำนวน 1.6 ล้านคัน ยอดการส่งออกทั้งปี 850,000 คัน และยอดจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน 

“ตอนนี้ยังไม่ปรับเป้า และยังคงติดตามสถานการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งปัจจัยเรื่องกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน การเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยว และการจัดงานมอเตอร์เอ็กโป ช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ จะช่วยดันยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

‘เฉลิมชัย’ ปูพรมเกษตรกรรมยั่งยืน 1.7 ล้านไร่ เดินหน้าดันฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล

“เฉลิมชัย” โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ปี 64 กว่า 1.7 ล้านไร่ เร่งเครื่องวางหมุดหมายฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล ดึง “พอช.” ลุยชุมชนสีเขียวพร้อม ผนึก “ศธ.” ปั้นกรีนสกูล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (18พ.ย.) ว่าดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ ZOOM โดยมีนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม, นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย, ตัวแทนหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ตัวแทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), เครือข่ายของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย, ตัวแทนภาคเกษตรกร ร่วมในการประชุม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคีภาคส่วน ทำให้การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากรายงานการดำเนินงานของหลายหน่วยงานสามารถขยายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประจำปีงบประมาณ 2564 ได้กว่า 1,766,269.15 ไร่ ทั้งในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล (Tambom Sustainable Agriculture Development Project : TAP) ซึ่งมีเป้าหมาย 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ โดยจะเน้นส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในทุกตำบล และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนกินได้ อยู่ได้ และอยู่ดี ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน” ใน 21 แนวทางได้แก่ 

(1) 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ 
(2) 1 ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรตำบล
(3) 1 ตำบล 1 แปลงเกษตรอินทรีย์ 
(4) 1 ตำบล 1 Product Champion 
(5) 1 ตำบล 1 วนเกษตร 
(6) 1 ตำบล 1 กลุ่ม Young Smart 
(7) 1 ตำบล 1 เกษตรธรรมชาติ 
(8) 1 ตำบล 1 แปลงสมุนไพร 
(9) 1 ตำบล 1 เกษตรผสมผสาน 
(10) 1 ตำบล 1 กลุ่มปศุสัตว์ 
(11) 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 
(12) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง 
(13) 1 ตำบล 1 องค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 
(14) 1 ตำบล 1 ท่องเที่ยวเกษตร 
(15) 1 ตำบล 1 โครงการชลประทานชุมชน 
(16) 1 ตำบล 1 เครือข่าย ศพก. 
(17) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) 
(18) 1 ตำบล 1 วิสาหกิจชุมชน 
(19) 1 ตำบล 1 กลุ่มเครื่องจักรกลเกษตร 
(20) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ 
(21) 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน 

ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการขับเคลื่อนต่อไป 

‘สุริยะ’ แนะปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ - ไฟฟ้าลัดวงจร

กระทรวงอุตสาหกรรม ห่วงใยและเตือนประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ปล่อยโคมลอย ที่ได้มาตรฐาน มผช. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าลัดวงจร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปล่อยโคมลอย ควรยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้ 

จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยกำหนดเป็นมาตรการสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการ พัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของผู้ผลิตชุมชนมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ให้สามารถผลิตสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตชุมชนสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายไม่ซับซ้อน ช่วยให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย และได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และประกาศใช้แล้วจำนวน 1,355 มาตรฐาน รวมทั้งให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชนแล้วจำนวน 18,270 ราย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างยั่งยืน “โคมลอย” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีการผลิตโดยใช้    ภูมิปัญญาชาวบ้าน และนิยมปล่อยกันในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมทางภาคเหนือของไทย 

'นายกฯ' หารือ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) ตัวแทนภาคเอกชนขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญ ย้ำความพร้อมในการสนับสนุนร่วมมือนายกฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (American Chamber of Commerce in Thailand: AMCHAM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักธุรกิจบริษัทสมาชิก เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้  
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ พร้อมขอบคุณ AMCHAM และภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ในรูปแบบ Next Normal และการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมขอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป 

นาย Gregory Wong ประธาน AMCHAM กล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้พบปะกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนสมาชิกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 400 คน โอกาสนี้ ประธาน AMCHAM เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก พร้อมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้รับคะแนนดีเยี่ยมจากภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในเรื่องของการเปิดกว้างและการปรับตัว การประชุมในวันนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปิดรับและยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ประธาน AMCHAM แสดงความประทับใจต่อแผนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกประเด็น รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย โดยขอให้ไทยมอง AMCHAM เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทยอย่างดีเยี่ยม
 
โอกาสนี้ ตัวแทนจากบริษัท 3 ประเภทหลัก ได้แก่ บริษัทข้ามชาติ บริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ลดอุปสรรคในการลงทุน โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนและกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ทั้งนี้ตัวแทนจากบริษัทฯ ประทับใจนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของรัฐบาลไทย 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแนวนโยบายของไทย โดยกล่าวถึงสถานการณ์โควิด - 19 ในประเทศว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตวัคซีน AstraZeneca ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนให้แก่ไทยและภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีความสมดุลระหว่างการป้องกันโรคกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบาย Smart Control and Living with COVID-19 รวมถึงมีการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  
 
โดยรัฐบาลให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างการดําเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และเกิดผลเป็นรูปธรรม ที่เมืองกลาสโกว ตลอดจน ไทยส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านนโยบายพลังงาน 4D1E และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles: EV) ผ่านนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินดีร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างห่วงโซ่ อุปทานที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคตามนโยบาย Thailand+1 
 
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในอนาคตและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ตามกรอบ Digital Thailand และนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การส่งเสริม e-commerce การส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจ digital startup การบริหารการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนากฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเขตนวัตกรรม EECd  
 
อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยมีความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้ 1. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน 2. การพัฒนาการให้บริการของภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 3. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าถึงและขยายช่องทางการตลาดทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนงานบริการของภาครัฐแก่ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) 12 ประการ และมาตรการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ผ่านการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว 
 

ได้เวลาคืนสู่สังคม! ‘NT’ จัดสัมมนา ‘Recharge & Comeback Stronger’ เผยเทคนิค เพิ่มพลังชีวิตรับมือยุค New Normal

NT กระชับมิตรกลุ่มลูกค้า จัดงานสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ‘Recharge & Comeback Stronger’ เพิ่มพลังในการทำงานทั้งพลังสมองและพลังจิตใจ ในยุค New Normal

เมื่อวาน 17 พ.ย. 64 บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ได้จัดงานโครงการ The Exclusive Webinar การสัมมนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ภายใต้หัวข้อ ‘Recharge & Comeback Stronger’ โดยมี นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานขายลูกค้าองค์กร เป็นประธานในการเปิดงาน และร่วมงานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) พร้อมด้วย นางรังสิมา ประดิษฐพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มขายและบริการลูกค้าองค์กร

โดยงานนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพูนความรู้ให้กับลูกค้า พร้อม ๆ ไปกับสานต่อความสัมพันธ์กับลูกค้าในยุค New Normal หลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้เกิดความห่างไกลกันไปพักใหญ่ โดยได้เชิญลูกค้าองค์กรกว่า 300 ท่าน เข้าร่วมสัมมนา พร้อมทีมผู้บริหาร, Key Account ของกลุ่มขาย และส่วนงานบริการลูกค้าองค์กรร่วมงานในครั้งนี้

"จากภาวะวิกฤตที่เกิดจาก Covid-19 นั้น ทำให้หลายองค์กร ต้องมีการปรับตัว ต้องมีการ Work From Home และมีโอกาสได้พบปะกันน้อยลง เช่นเดียวกันกับทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่พบปะและจัดกิจกรรมกับลูกค้าได้น้อยลงด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการจัดสัมมนาผ่านออนไลน์ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างปฏิสัมพันธ์ พร้อมทั้ง Refresh ความรู้ รวมถึงสร้างพลังทางจิตใจ ให้ทุกท่านได้ก้าวเดินอย่างแข็งแกร่งต่อไป” นายรังสรรค์ กล่าว

สำหรับสาระสำคัญของงานสัมมนาออนไลน์ The Exclusive Webinar ภายใต้หัวข้อ ‘Recharge & Comeback Stronger’ นี้ ประกอบไปด้วยเนื้อหาหลักที่จะคืนชีวิตของผู้คนให้เผชิญยุค New Normal ได้อย่างราบรื่นผ่าน 2 Session 2 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ...

>> Recharge your brain
โดยในส่วนของ Session แรก : Recharge your brain ซึ่งมี ‘อาจารย์ฝน นรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านหัวข้อ ‘Cybersecurity Trends To Know’ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ‘ภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่’ ที่คนยุคนี้ต้องเตรียมรับมือ

อาจารย์ฝน เผยว่า ภัยไซเบอร์ในยุค 2021 ที่สามารถจำแนกออกได้หลายระดับ ตั้งแต่ผู้ใช้งานทั่วไป ผู้ใช้งานระดับองค์กรธุรกิจ รวมไปถึงหน่วยงานระดับความมั่นคงของชาติ ซึ่งรูปแบบของภัยไซเบอร์ จะมีทั้งการแฮกบัญชีการใช้งานธุรกรรมต่าง ๆ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ รหัส WiFi รวมไปถึง บัตรเครดิต/บัตรเดบิต เช่น เช่นกรณีการดูดเงินจากบัญชีธนาคาร โดยตัดออกไปในมูลค่าน้อย ๆ ขณะที่การผูกบัญชีกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็นับเป็นอีกช่องโหว่ ที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถแฮกข้อมูลได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับวิธีการป้องกันภัยไซเบอร์ อาจารย์ฝน ได้แนะนำไว้ดังนี้…

1.) ตั้งรหัสผ่านให้เดายาก หรือการตั้งรหัสผ่าน 2 ชั้น 
2.) ตั้งรหัสผ่านให้เป็นประโยคหรือตั้งรหัสผ่านจากคำ 3 คำ โดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก ตัวเลขใช้เครื่องหมายต่าง ๆ เข้ามาแทนเพื่อให้ยากขึ้นในการแฮกข้อมูล
3.) ในกรณีที่ใช้โมบาย แอปพลิเคชัน ก็ควรตั้งวงเงินบัตรในการกดเงิน โอนเงิน หรือรูดบัตรซื้อสินค้าให้เป็น 0 บาท

'โฆษกรัฐบาล' เผย การขนส่งสินค้าท่าเรือกลับมาคึกคักยอดการส่งออกไทย 9 เดือนแรกขยายตัว 15.5 % เป็นไปตามข้อสั่งการ ”นายก”

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานของในรอบปีงบประมาณ 2564  (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง รวม 13,840 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.9% สินค้าผ่านท่า 111.630 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.9% และตู้สินค้าผ่านท่า 9.857 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 8.6% รวมรายได้ 15,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ  6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% ซึ่งการเติบโตของตู้สินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการที่ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นต่อเนื่อง

อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สั่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในภาคธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลทันที ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านโดยรัฐบาลมีการมาตรการต่างๆ  อาทิ กรมเจ้าท่าออกประกาศให้เรือที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้าเทียบท่า ปรับลดภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ  ชดเชยค่ายกตู้ขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ท่าเรือแหลมฉบับ เป็นต้น ช่วยบรรเทาการขาดแคลนตู้สินค้า สนับสนุนให้ค่าระวางเรือขนส่งจากไทยลดลง ส่งผลให้บริการสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าสูงขึ้นด้วย

นายธนกร กล่าวว่า ที้งนี้ ผลการดำเนินงาน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่ผ่านมา ดังนี้ 
1) ท่าเรือกรุงเทพ เรือเทียบท่า 4,170 เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.1%  ตู้สินค้าผ่านท่า 1.438 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 0.2%
2) ท่าเรือแหลมฉบัง เรือเทียบท่า ลดลง 1.0%   ตู้สินค้าผ่านท่า 8.419 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 10.2%
 3) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เรือเทียบท่า 2,231 เที่ยว ลดลง 10.5% ตู้สินค้าผ่านท่า 5,064 ที.อี.ยู. ลดลง 32.3%
4) ท่าเรือเชียงของ เรือเทียบท่า ลดลง 96.6% สินค้าผ่านท่า ลดลง 98.9%
 5) ท่าเรือระนอง เรือเทียบท่า เพิ่มขึ้น 15.9% ตู้สินค้าผ่านท่า เพิ่มขึ้น 53.0%
โดยในปีงบประมาณ 2565  นี้ ยังประมาณการตู้สินค้าผ่านท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ 1.43 ล้าน ที.อี.ยู. และท่าเรือแหลมฉบัง 8.243 ล้าน ที.อี.ยู. ด้วย 

 

‘อลงกรณ์’ ปลื้ม ผลงานประกันรายได้ชาวนา ดันเงินหมุนเวียนนับล้านล้านบาท 

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจหลัก ภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์ม, น้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “ไม่ใช่ภาระแต่เป็นธุระของรัฐบาล” ในการบริหารนโยบายให้สำเร็จตามที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล

เพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้ (Universal basic income) จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตร จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วโลก ซึ่งนี่ถือเป็นนโยบายเรือธง (Flagship policy) ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์แห่งอนาคตในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ของการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ที่เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 ขับเคลื่อนด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ตั้งแต่… 

‘ต้นน้ำ’ การผลิตมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธ์ุสร้างมาตรฐานเชื่อมโยง 

‘กลางน้ำ’ การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 

และ ‘ปลายน้ำ’ การตลาดแบบออนไลน์/ออฟไลน์ ทั้งตลาดในและต่างประเทศตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

“โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุด อีกทั้งเป็นฐานรากสำคัญของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเราจนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (มองในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการนำรายได้เข้าประเทศ) ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่และภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว มีตัวเลขการส่งออกที่ลดลง

“ประการสำคัญ คือ เงินประกันรายได้ที่เกษตรกรได้รับ เกิดจากการทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน จากหยาดเหงื่อแรงกาย ไม่ใช่การแจกจ่ายแบบให้เปล่า (Free rider) จำนวนหลายแสนล้านบาทเหมือนโครงการอื่น ๆ ของรัฐ”

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ภาคเกษตรในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ กำลังนำภาคเกษตรกรรมเข้าสู่มิติใหม่โดยเฉพาะเกษตรอัจฉริยะแนวทางเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ที่ใช้บิ๊กดาตา (Big Data) และดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology) รวมถึงการทำเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งพัฒนาขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 แปลง รวมพื้นที่กว่า 6 ล้านไร่ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน เน้นการบูรณาการความร่วมมือทำงานเชิงรุกกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคเกษตรกร ด้วยการสร้างกลไกเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อขับเคลื่อนด้วยแนวทางใหม่ ๆ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร...

ไฟเขียว! กรอบวงเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ ปี 65 จำนวน 4,700 ล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดคัดเลือกสหกรณ์ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายจัดการของสหกรณ์กับคณะกรรมการของสหกรณ์ ในการที่จะดูแลส่งเสริมให้ความรู้ทั้งด้านการบริหารจัดการ การบริหารสินเชื่อ การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯได้จัดสรรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์นำไปเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก จุดประสงค์หลักของกองทุนคือการเสริมสร้างสหกรณ์ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่ผ่านมามีสหกรณ์หลายแห่งที่นำเงินกู้ กพส.ไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ สามารถพัฒนาธุรกิจสหกรณ์จนเติบโตก้าวหน้า สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและทำให้สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งกองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. เกิดจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท ปัจจุบัน กพส. มีทุนดำเนินงานกว่า 6,400 ล้านบาท 

กพร. เปิดตัว ‘แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออน’ ต้นแบบครั้งแรกของไทย เล็งต่อยอดป้อนอุตฯ EV

กพร. เปิดตัวแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบครั้งแรกของไทย หนุนห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบว่า กพร. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต 

ด้วยปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และประเทศไทยก็ได้กำหนดนโยบาย 30@30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle : ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 โดยอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ คิดเป็นต้นทุนหลักประมาณ 40% ของรถยนต์ไฟฟ้า และมีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกโดยใช้วัตถุดิบชนิดอื่น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเทียมและมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้ อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตเซลล์ต้นแบบ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีศักยภาพที่จะถูกพัฒนามาเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้ 

‘บิ๊กตู่’ ยอมรับ ‘กองทุนน้ำมัน’ ติดลบ เตรียมกู้ 2 หมื่นล้าน ตรึงราคาดีเซลอีก 4 เดือน

“บิ๊กตู่” ยอมรับกองทุนน้ำมันติดลบ ครม. อนุมัติขอเงินกู้อีก 2 หมื่นล้าน คาดสำรองจ่ายได้อีก 4 เดือน “วอน” รถบรรทุกอย่ากดดัน เตรียมรถ “บขส.-รถทหาร” ขนสินค้าแทนรถบรรทุกประท้วงราคาดีเซลแพง

เมื่อเวลา 13.15 น. ที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังกลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนขบวนรถบรรทุกในถนน 4 สายหลัก และมาชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ว่า ยืนยันแล้วว่าเราต้องรักษาให้ได้ในราคา 30 บาทต่อลิตรก่อน และถ้าราคาน้ำมันมีการปรับลดลงทุกอย่างก็จะดีขึ้น เพราะขนาดตรึงแค่ราคา 30 บาท ก็ใช้เงินอุดหนุนไปประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาทลงไป  

ในส่วนของกองทุนน้ำมันนั้นอยู่ในสภาพที่ติดลบแล้ว และวันเดียวกันนี้ ครม. ได้มีการอนุมัติ เงินกู้ไปเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายสำรองไว้ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าราคาน้ำมันลดลงก็ไม่มีปัญหาทุกอย่างก็จะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็จะลดลงมาเอง 

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่มีความพยายามกดดันด้วยการนำรถบรรทุกเคลื่อนไหวบนถนนสายหลัก และมาชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานก็เป็นความเคลื่อนไหวของสมาคมรถบรรทุก ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายสมาคมยอมรับว่ามีคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องดูแลทุกคนซึ่งรัฐบาลก็จำเป็นต้องดูให้ละเอียดถี่ถ้วน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top