‘อลงกรณ์’ เปิดมุมมองเศรษฐกิจใหม่ หนุนผนึก ‘ลาว’ ผุดระเบียงเศรษฐกิจ ‘อีสาน’

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุข้อความว่า ก้าวใหม่ประเทศไทย (ตอนที่ 1) ‘อนาคตลาว อนาคตไทย’

เรากำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘เชื่อมไทย เชื่อมลาว เชื่อมโลก’ และการวางหมุดหมายใหม่ที่เรียกว่า ‘อีสาน เกตเวย์’ และ ‘ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน’ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแล

ยุทธศาสตร์นี้เป็นคานงัดที่จะเปลี่ยนอนาคตของอีสานและประเทศของเรา

ผมจึงขอเล่าเรื่องสปป.ลาว บ้านพี่เมืองน้องของไทยที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นคำตอบว่าทำไมไทยกับลาวต้องผูกอนาคตไว้ด้วยกัน

ล่าสุด ลาวเพิ่งเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีนเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปี โดยอยู่ระหว่างการทดสอบรถไฟโดยสารและรถขนส่งสินค้าจากหลายมณฑลของจีนมาเวียงจันทน์และคาดว่าจะมีขบวนรถไฟจากยุโรปด้วย

หลังจากผ่านการทดสอบและระบบตรวจตราผ่านแดนเสร็จเรียบร้อย เส้นทางรถไฟสายนี้จะเปิดบริการได้อย่างสมบูรณ์ภายในครึ่งแรกของปีหน้า

ทำให้หนองคายกลายเป็นเกตเวย์ที่มีศักยภาพใหม่ของประเทศเชื่อมไทยเชื่อมลาวเชื่อมจีนเชื่อมเอเชียกลางเชื่อมยุโรป

ความจริง ลาวกำลังพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายโครงการตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดโดยทุกโครงการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เช่น จีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซียและเกาหลี เป็นต้น 

ลาวต้องการเปลี่ยนข้อจำกัดเดิมจากประเทศไม่มีทางออกทะเลอยู่ในมุมอับ (Land Locked) เป็นประเทศแห่งความเชื่อมโยง (Land of Connectivity)

อีกโครงการที่สำคัญมากสำหรับอนาคตลาวและรวมถึงอนาคตของประเทศไทยคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

ลาวเร่งพัฒนาเส้นทางเชื่อมเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซกับแขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) ไปยังจังหวัดฮาติงห์ของเวียดนาม

โครงการนี้สำคัญมากๆ เป็นช่องทางสู่โลกกว้างแห่งโอกาสที่สั้นที่สุด

เหนืออื่นใดคือ เป็นท่าเรือน้ำลึกในแผ่นดินเวียดนามที่เสมือนลาวเป็นเจ้าของ

บริษัทรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม (ลาวถือหุ้น 60% เวียดนาม 40%) ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2573 ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจะสามารถให้บริการแก่เรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 5,000 ตัน ถึง 100,000 ตัน เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 50,000 ตู้ ถึง 1,200,000 ตู้ และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 3 ล้านตัน ถึง 20 ล้านตัน 

ทั้งนี้จะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2566 หรือภายใน 2 ปีข้างหน้า

นครพนมจะเป็นเกตเวย์ใหม่ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยใช้บริการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างด้วยระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร 

ท่าเรือดังกล่าวเมื่อพัฒนาเต็มรูปแบบจะสามารถขนส่งสินค้าจากไทย ลาวและเวียดนามไปอเมริกา แคนาดา ลาตินอเมริกา จีน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซียและยุโรปเหนือ โดยไม่ต้องผ่านสิงคโปร์

ลาวไม่ได้พัฒนาระบบคมนาคมเท่านั้นแต่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษควบคู่ไปด้วย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้วทางภาคเหนือใกล้กับฝั่งเชียงรายของเรา หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดรในแขวงจำปาศักดิ์ตรงข้ามจังหวัดอุบลราชธานีขนาดของวงเงินลงทุน เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดรตั้งเป้าใช้เงินลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ และใช้พื้นที่ 6 หมื่นไร่มากกว่าโครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่ลงทุน 6,800 ล้านดอลลาร์ ใช้พื้นที่ 19,112 ไร่

ยังไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ 

แม้จะเผชิญกับผลกระทบโควิด19มีอุปสรรคนานัปการอาจช้าลงบ้าง แต่ลาวไม่ท้อไม่ถอยครับ ยังเดินหน้าสานฝันต่อไม่ยอมหยุด ตามไล่เป้าหมายของประเทศอย่างมุ่งมั่น

ประเทศไทยของเราต้องจับมือกับลาวอย่างใกล้ชิดเสมือนหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์พึ่งพาร่วมแรงร่วมใจแบบพี่น้องเครือญาติ เคารพและให้เกียรติกันและกัน

ลาวและไทยสามารถผนึกศักยภาพของ 2 ประเทศเข้าด้วยกัน

นี่คือคำตอบของยุทธศาสตร์ใหม่และการสร้างจุดเปลี่ยนประเทศด้วย ‘อีสาน เกตเวย์’ และ ‘ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม

อีสาน 20 จังหวัดและประชากร 22 ล้านคนอยู่ในมุมอับเป็นดินแดนไม่มีทางออกทะเลเหมือนลาวในอดีต ทำให้โอกาสของอีสานอับไปด้วย จึงต้องวางวิสัยทัศน์และเส้นทางการพัฒนาใหม่สำหรับอีสานและประเทศไทย

ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 เราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลกและอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน แสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะครัวโลก

เส้นทางใหม่ๆ คือโอกาสในการขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มการส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศพร้อมกับพัฒนาฐานการแปรรูปสร้างเกษตรมูลค่าสูงกระจายไปทุกภูมิภาคด้วยการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และระเบียงเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านของเรา

สุดท้ายคือ การบริหารการพัฒนาด้วยโมเดลใหม่ๆ ให้ฉับไวรวดเร็วครับ