เจาะศักยภาพ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ โปรเจกต์เชื่อม ‘เศรษฐกิจ-อนาคต’ ชาติ

ตามที่ทราบกันดีว่า การขนส่งและการเดินทางด้วยระบบราง มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

นั่นเพราะการขนส่งระบบราง มีต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า อีกทั้งยังสามารถกำหนดเวลาจัดส่งได้ค่อนข้างแน่ชัด ทำหลายๆ ประเทศเดินหน้าพัฒนาระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบโลจิสติกส์ของตนเองกันอย่างต่อเนื่อง

เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลที่พยายามยก ‘ระบบราง’ ให้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกยิ่งขึ้น ผ่าน ‘รถไฟฟ้าหลากสี’ ที่ทยอยเปิดให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเส้นสายรถไฟฟ้าที่มีบทบาทดังกล่าวชัดสุดในตอนนี้ คือ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ซึ่งนอกจากจะทำให้การเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังเชื่อมโยงความเจริญ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ตลอดแนวเส้นทาง 41 กิโลเมตร และพื้นที่โดยรอบ 13 สถานี ให้มีความคึกคักยิ่งขึ้นได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้หากมองย้อนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามนโยบายเดิมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น เกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนระบบรถไฟดีเซลระบบเดิม รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการรถไฟฟ้าสู่ย่านชานเมืองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จากตอนเหนือของกรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่อยุธยา ไปจรดตอนใต้กรุงเทพฯ คือ ‘มหาชัย’ แต่ในระยะแรกที่เปิดให้บริการไปแล้วคือ ‘รังสิต - บางซื่อ’ และ ‘ตลิ่งชัน - บางซื่อ’ 

(ส่วนต่อขยายอื่นๆ คาดว่า จะเริ่มทยอยเปิดประมูลภายในปลายปี 2565)

ศูนย์รวมแห่งระบบราง
นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดี เส้นทางส่วนใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีแดง จะขนานไปกับแนวเดียวกับรถไฟระบบเดิม เหตุผลก็เพื่อให้บริการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ในอนาคตได้ด้วยนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง เหมือนจะถูกวางตำแหน่งให้เป็นแกนกลางหลักของระบบขนส่งทางราง ก็คงจะดูไม่ผิดนัก

เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีแดง มีพิกัดของสถานีหลักอยู่ตรง ‘บางซื่อ’ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้วยระบบรางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รองรับทั้งรถไฟฟ้าในเมือง (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตนั่นเอง 

กระจายความแออัดของสังคมเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น หากมองข้อดีของ รถไฟฟ้าสายสีแดง ในมิติการเดินทางของพี่น้องประชาชนแล้ว จะช่วยสร้างการกระจายของพื้นที่อยู่อาศัยจากใจกลางเมือง ไหลไปสู่พื้นที่รอบนอก ช่วยลดปัญหาการจราจร และความแออัดของกรุงเทพฯ ภายใต้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่ช่วยพาคนเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างว่องไว

โอกาสทางเศรษฐกิจจากเส้นเลือด (สีแดง) สายใหม่
ขณะเดียวกัน หากมองในมิติด้านเศรษฐกิจ การมาของรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังจะทำให้เกิดพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ในแถบชานเมือง ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งจะมีราคาที่ดินถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ

เรียกว่าไล่ไปตั้งแต่รอบ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ จะเริ่มถูกเรียกขานให้เป็นทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ชัดขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นในย่านบางซื่อ และบริเวณใกล้เคียง จากแบรนด์ระดับท็อปของไทยเรียงหน้ากันมาจับจองทำเล

ทั้งนี้ มีการคาดเดากันว่า หากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ไม่เกิดวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 เชื่อว่าในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวเฉพาะที่เข้ามาผ่านสนามบินดอนเมือง จะเลือกใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้เท่าเหมือนก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ก็เชื่อได้ว่า ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ จะเป็นพระเอกหลักในการนำพานักท่องเที่ยว เข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างแน่นอน

สุดท้าย แต่เชื่อว่าไม่ท้ายที่สุด รถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งมีกิ่งก้านเชื่อมโยงกับสถานีดอนเมืองนั้น เป็นยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่ถูกวางไว้ทางอ้อม เพราะถือเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง ‘รถไฟฟ้า’ กับ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ ไว้ด้วยกัน จากดอนเมืองเชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา รวมไปถึงการเดินทางไปยังแหล่งนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่โครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการใหม่ของภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่คาดว่าจะช่วยถ่ายเท ตลาดคน ตลาดงาน ตลาดการลงทุน และความมั่งคั่งใหม่ๆ ให้กระจายตัวไปมาระหว่างเมืองและนอกเมืองได้อย่างลงตัว 

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งในข้อดีที่จะเกิดขึ้น จากการมาของรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ได้เปิดหวูดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ ซึ่งเราคงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่า รถไฟฟ้าสายนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการเดินทางและการขนส่ง พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็วเพียงใด

และหากทำได้สมดังใจและว่องไว...การชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยความพร้อมจากระบบราง จะตอกย้ำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียนในเรื่องของการขนส่งแห่งภูมิภาคนี้ และโอกาสทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น