Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘สุริยะ’ เล็งตั้งกองทุน 2 แสนล้าน ซื้อรถไฟฟ้าคืนทุกสาย ปูทางค่าโดยสาร 20 บาททุกสาย คาดเริ่มได้ใช้ ก.ย.2568

‘สุริยะ’ เตรียมตั้งกองทุน 2 แสนล้าน ซื้อรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนทุกสาย ปูทางค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ยันใช้งานได้ภายในเดือน ก.ย.2568

เมื่อวันที่ (16 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังร่วมกันไปศึกษา แนวทางการดำเนินการ นโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายและการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อเป็นการลดภาระให้กับประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อเป็นการลดมลพิษทางอากาศ

โดยที่ประชุม ครม.ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุน และให้ทั้ง 2 กระทรวง คำนึงถึงเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับ และจะต้องไปศึกษาว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไรมีความคุ้มค่าทางการเงินอย่างไร และแหล่งเงินจะมาจากที่ใด เพื่อให้ประชาชนรับผลประโยชน์มากที่สุดโดยจะต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว

“กระทรวงการคลังคงต้องกลับไปจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการตั้งกองทุน 200,000 ล้านบาท ในการซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืน เพื่อให้สามารถกำหนดราคาค่าบริการที่ 20 บาททุกสายได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องแหล่งเงินและวิธีการซื้อคืน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่ามีปัญหา” นายสุริยะกล่าว

และยังยืนยันว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเกิดขึ้นจริงแน่นอน และจะสามารถเปิดให้บริการทุกเส้นทาง ประชาชนจะสามารถใช้งานได้ภายในเดือนกันยายน 2568 โดยหลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายมาแล้ว ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งทั้ง 2 สายเป็นการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงสามารถทำได้ทันที และผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 50% ซึ่งถือว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีต้องการจะให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือให้สัมปทานกับเอกชน

นายสุริยะกล่าวว่า ในส่วนแนวทางของกระทรวงคมนาคมนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเบื้องต้นกรณีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ซึ่งการที่รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง มีอัตราค่าโดยสารในราคา 20 บาทตลอดสายได้ทั้งหมดทุกสีนั้น หากกระทรวงการคลังดำเนินการตั้งกองทุนเพื่อไปซื้อรถไฟฟ้าคืนได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะใช้วิธีการซื้อคืนได้เลย แต่หากกระทรวงการคลังยังดำเนินการไม่ทัน กระทรวงคมนาคมจะนำแนวทาง จะใช้เงินจากส่วนแบ่งรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มาชดเชยค่าโดยสารให้ประชาชนระหว่างที่รอผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนกรณีการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ภาพรวมทั้งหมด คงต้องไปศึกษาให้เสร็จแล้วว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากที่ไหน และให้ทั้งสองกระทรวงเร่งหารือกัน

โดยทางกระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทาง การจัดตั้งกองทุนต่างๆ และแหล่งเงินของกองทุน ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion charge) ซึ่งเรื่องนี้ทาง สนข.ได้มีการศึกษา โดยความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ประจำประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งมีการสำรวจถนนที่อยู่ในใจกลาง กทม.ที่เส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้สมบูรณ์ และคาดว่าจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง ได้ประมาณ 6 เส้นทาง ซึ่งพบว่ามีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน สมมุติหากจัดเก็บค่าธรรมเนียมในราคาคันละ 50 บาท ตรงนี้ตนประเมินเบื้องต้นว่าจะมีรายได้เข้ากองทุนเพียงพอสำหรับการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ นายสุริยะกล่าวว่า การตั้งกองทุนจะต้องมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำเป็นจะต้องศึกษาให้ดีเพราะจะต้องมีแหล่งเงินที่จะต้องจัดเก็บรายได้ และนำเงินไปซื้อรถไฟฟ้าคืน แต่ทั้งนี้ก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อไปดำเนินการ เรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าพรรคร่วมจะไม่มีปัญหา เพราะถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงร่วมกัน

‘สุริยะ’ เผยเตรียมลดค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย คาด เริ่มหั่นค่าผ่านทาง ม.ค. เป็นของขวัญปีใหม่

เมื่อวานนี้ (15 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 และให้ กทพ. ไปดำเนินการปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทาง และลดอัตราค่าผ่านทาง ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท (50 บาทตลอดสาย) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยในระยะแรกจะดำเนินการบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครนั้น

ทั้งนี้ กทพ. ได้เจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางฯ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่า จะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้ในเดือนธันวาคม 2567 และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือนมกราคม 2568

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ กทพ. ไปเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร โดยในการลงทุนก่อสร้าง Double Deck ของ BEM ในครั้งนี้ จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ในการขยายสัมปทานดังกล่าว เป็นการแลกกับการก่อสร้าง Double Deck เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปรับลดค่าผ่านทางแต่อย่างใดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประเทศชาติ

“การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนแต่อย่างใด แต่เร่งดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ ได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับลดอัตราค่าผ่านทางและการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง โดยในเบื้องต้น โดยจะยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น และจะทำการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) แบบไม่มีไม้กั้น และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (MTC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ คือ ผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับลดค่าผ่านทางบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษในปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ย 968,150 คัน/วันจากจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยรวมทุกสายทาง 1,715,306 คัน/วัน หรือ 56% ของปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมด โดยผู้ใช้ทางจะได้รับประโยชน์ สามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครโดยจ่ายค่าผ่านทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของ กทพ. ระบุว่า การปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว สามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี ตลอดอายุโครงการ รวมถึงไปจนถึงผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะในด้านการประหยัดเวลาการเดินทาง (Value of Time Saving) มูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนสามารถนำค่าผ่านทางที่ประหยัดได้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง และที่สำคัญคือ ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

‘AION’ จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้รถยนต์รุ่น ‘AION ES’ ตอกย้ำ!! รถแท็กซี่ไฟฟ้ายุคใหม่ ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม

(16 ต.ค 67) AION THAILAND ร่วมมือกับสมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ จัดกิจกรรมพิเศษสำหรับคนขับแท็กซี่ ณ ลานจอดรถแท็กซี่ สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างวันที่ 24 - 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมทและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ AION ES รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่และผู้โดยสารในบริการขนส่งสาธารณะอย่างแท็กซี่ โดยเน้นถึงประสิทธิภาพสูงและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ทาง AION THAILAND ได้มอบสิ่งของอำนวยความสะดวกให้แก่คนขับแท็กซี่ที่เข้าร่วมกิจกรรม เช่น ยาดม ทิชชูเปียก ผ้าเย็น และน้ำดื่ม นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้รับโค้ดชาร์จไฟฟรีสำหรับใช้งานที่ EV Station Pluz สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศไทย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมขนส่งสาธารณะ โดยมี EVme ผู้ให้บริการรถยนต์ไฟฟ้า และไทยสมาย ลีสซิ่ง ผู้นำด้านธุรกิจรถแท็กซี่แบบครบวงจร เข้าร่วมงานในครั้งนี้

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น AION ES ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคนขับรถแท็กซี่โดยเฉพาะ ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน การขับขี่ที่เงียบ และการลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอย่างมีนัยสำคัญ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไม่ปล่อยไอเสียที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งยังมีระบบขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพและสามารถชาร์จไฟได้ทั้งที่บ้านและสถานีชาร์จไฟที่มีให้บริการทั่วประเทศ

ในแง่ของประสิทธิภาพ AION ES สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 442 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานในแต่ละวันของคนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ ตัวรถ AION ES ยังมีพื้นที่ภายในที่กว้างขวาง มอบความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ห้องโดยสารถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองการเดินทางระยะยาว ด้วยเบาะนั่งที่รองรับสรีระอย่างเหมาะสม ทำให้ขับขี่ได้อย่างสบายและลดความเหนื่อยล้า

เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเต็มรูปแบบของ AION ES ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขับขี่อย่างมาก โดยค่าใช้จ่ายในการชาร์จพลังงานต่อกิโลเมตรอยู่ที่เพียง 60-70 สตางค์ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการเติมพลังงานแล้ว AION ES ยังมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่ารถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม เพราะไม่มีระบบเครื่องยนต์ซับซ้อนเหมือนกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ส่งผลให้มีการสึกหรอน้อยกว่า จึงไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงที่สูง

AION ES ถูกออกแบบมาให้เน้นที่ความนุ่มนวลในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นในสภาพถนนที่ขรุขระหรือต้องเผชิญกับการจราจรที่หนาแน่นของกรุงเทพฯ ระบบช่วงล่างและระบบควบคุมที่ล้ำสมัยช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่น ลดความเมื่อยล้าของคนขับ อีกทั้งยังมีเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์น้อยลง ทำให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารรู้สึกสบายและผ่อนคลายมากขึ้น ด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนขับแท็กซี่ AION ES ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้โดยสารที่ได้ใช้บริการ พวกเขาชื่นชมถึงความสะดวกสบายของห้องโดยสาร ความเงียบสงบขณะเดินทาง และพื้นที่เก็บสัมภาระที่กว้างขวาง สามารถรองรับกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย

BOI เปิดยอดลงทุน รง.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นับแสนล้าน หนุน! สร้างงานให้คนไทย ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

(16 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังจากการเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า

ตามที่ได้มีคลื่นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้เข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ หนึ่งในบริษัทรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Welgao Electronics ผู้ผลิต PCB ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน เป็นรายแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากได้ก่อสร้างโรงงานที่มีพื้นที่กว่า 64,000 ตารางเมตร รวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรในเวลาไม่ถึง 1 ปี

โรงงานของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ มีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 2,500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ High-Density Interconnect (HDI) ชนิดหลายชั้น (Multilayer PCB) ซึ่งในเฟสแรกสามารถสร้างวงจรซ้อนกันได้สูงสุดถึง 30 ชั้น และบริษัทกำลังเตรียมแผนขยายโรงงานในเฟส 2 ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า และจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต PCB ไปถึงระดับ 50 ชั้น โดย Multilayer PCB จะใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น Data Server และ Power Supply ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยบริษัทจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 ให้กับลูกค้าในกลุ่ม EV และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกร้อยละ 60 ไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 50

สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเวล เทค ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งแรก
นอกประเทศจีน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

โดยโรงงานผลิต PCB แห่งนี้ จะเป็น Smart Factory ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยที่สุด ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI และระบบอัจฉริยะในการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ AGV ในการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยในเฟสแรกกว่า 500 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและช่างเทคนิค ขณะที่มีผู้บริหารชาวจีนไม่เกิน 10 คนเท่านั้น 

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะใช้นักวิจัยไทยกว่า 40 คน มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 สาขา ได้แก่ การพัฒนาวัสดุขั้นสูง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาซอฟต์แวร์และ AI อีกทั้งจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย 4 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน PCB ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา (ปี 2566 - กันยายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลก โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน จะแล้วเสร็จพร้อมทยอยเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป

‘พลังงาน’ เล็งเสนอ 3 แนวทาง ดูแลราคาดีเซลรอบใหม่ ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 33 บาท/ลิตร 31 ต.ค. นี้

(15 ต.ค. 67) พลังงาน เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาทบทวนราคาดีเซล ก่อนมาตรการตรึงราคาไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้ ชี้กรณีไม่ตรึงราคาต่อจะส่งผลให้ราคาดีเซลเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เสี่ยงที่ราคาจะเกิน 33 บาทต่อลิตรได้  แต่คาดว่า 3 แนวทางที่ ครม. จะพิจารณาคือ ตรึงราคา 33 บาทต่อลิตรต่อถึงสิ้นปี 2567 หรือ ประกาศให้ กบน. ดูแลเองแต่ไม่ควรเกิน 33 บาทต่อลิตร หรือ ปรับลดเพดานราคาดีเซลลงเหลือ 32 บาทต่อลิตร แต่ต้องคำนึงถึงหนี้เงินต้นสถาบันการเงินที่ต้องเริ่มจ่ายตั้งแต่ พ.ย. 2567 นี้ และฐานะเงินกองทุนฯ ที่ยังติดลบอยู่ -95,333 ล้านบาท  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง เนื่องจากจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ในวันที่ 31 ต.ค. 2567 โดยคาดว่ากระทรวงพลังงานอาจจะเสนอ ครม. พิจารณาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. 2567 นี้

สำหรับปัจจุบันราคาดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียมจำหน่ายที่ 44.94 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้ชดเชยราคาดีเซลมาตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 แล้ว และยังมีรายได้จากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ ด้วย โดยดีเซลและดีเซล B20 เรียกเก็บอยู่ 1.66 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลเกรดพรีเมียมเรียกเก็บ 3.16 บาทต่อลิตร

ดังนั้นหาก ครม. ไม่พิจารณาต่ออายุมาตรการตรึงราคาดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้ราคาดีเซลต้องเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ในอนาคตหากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นอาจทำให้ราคาดีเซลในไทยสูงเกิน 33 บาทต่อลิตรได้

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานคาดว่าแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้ คือ 1. ครม. ต่ออายุมาตรการตรึงราคาดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นปี 2567 นี้  2. ครม. ไม่ประกาศตรึงราคาดีเซล แต่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการดูแลราคาดีเซลเอง แต่แนะนำว่าไม่ควรให้ราคาจำหน่ายเกิน 33 บาทต่อลิตร หรือ 3. ครม. ปรับลดเพดานราคาดีเซลสูงสุดลงเหลือไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มเห็นว่าราคาดีเซลปัจจุบันแพงเกินไป

ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเลือกแนวทางใดนั้น ต้องพิจารณาฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ และการใช้คืนหนี้เงินต้นให้สถาบันการเงินที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 นี้เป็นต้นไปด้วย โดยปัจจุบันราคาน้ำมันโลกปรับลดลง ส่งผลดีต่อกองทุนฯ ให้สามารถเก็บเงินเข้าได้มากขึ้น เพื่อเตรียมชำระหนี้ให้สถาบันการเงิน

แต่หาก ครม. ปรับลดเพดานราคาดีเซลลงเหลือ 32 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าลดลงจากปัจจุบันเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนฯ อยู่ 1.66 บาทต่อลิตร จะเหลือเพียง 66 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ในปี 2568 จะต้องใช้หนี้ธนาคารเพิ่มขึ้นทุกเดือนจากระดับกว่า 140 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 3,000 ล้านบาท ตามภาระการกู้ยืมที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนฯ อาจเหลือเงินไม่เพียงพอชำระหนี้เงินต้นได้

สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 13 ต.ค. 2567 พบว่าเงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือ -95,333 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -47,885 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,448 ล้านบาท

9 เดือนแรก บสย. ค้ำประกันแล้วกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการขนาดย่อม

(15 ต.ค. 67) นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค. – ก.ย.) สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เพิ่มสินเชื่อในระบบ และช่วยรักษาการจ้างงาน ตลอดช่วยลูกหนี้ บสย. ปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ

ตลอด 9 เดือน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้กว่า 34,543 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 141,189 ล้านบาท มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 70,634 ราย แบ่งเป็นกลุ่มรายย่อยหรือ Micro SMEs ในสัดส่วนถึง 91% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 9% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 4.71 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 36,221 ล้านบาท รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 311,948 ตำแหน่ง  ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่

1.โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 16,942 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 65,356 ราย
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 1,543 ราย
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 7,351 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 4,255 ราย  

ผลงานค้ำประกันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการ PGS 11 “บสย SMEs ยั่งยืน” ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี หลังจาก บสย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงสิ้นเดือนกันยายน ในระยะเวลากว่า 2 เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 12,048 ล้านบาท ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมต่ำเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนยังมุ่งเน้นมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจจากภาครัฐ

สำหรับความสำเร็จที่ชัดเจนของ บสย. ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา คือ การให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – 30 กันยายน 2567 ให้บริการรวม 21,737 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 6,746 ราย และลงทะเบียนเข้าอบรม 14,991 ราย โดยมีความต้องการสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) ที่ 14.92%

นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกเคลม ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 4 สี  ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า) ซึ่ง บสย. พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับความสามารถในการชำระหนี้ ช่วยลูกหนี้ ตัวเบา ลดต้นทุนทางการเงิน มีจุดเด่นคือ ตัดต้นก่อนตัดดอก และ ดอกเบี้ย 0%

ทั้งนี้ ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2,727 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย (สีเขียว) สูงถึง 73% ตามด้วยลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน (สีเหลือง) 20% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง (สีม่วง) 7% โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการดังกล่าว ในเดือน เม.ย. 2565 มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้รวม 16,068 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7,240 ล้านบาท ที่สำคัญสามารถช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการร่วมมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 114 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (มาตรการปลดหนี้ เปิดใช้เมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15%)

ทั้งนี้ เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ได้ง่ายขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ SMEs’ Gateway วันนี้ นอกจากสำนักงานเขต บสย. 11 สาขาทั่วประเทศ ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA : @tcgfirst นอกจากนี้ บสย. ยังมีการให้บริการผ่าน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ที่พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และให้ความรู้ทางการเงิน โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมก่อนยื่นขอสินเชื่อ ฟรี..ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เพื่อรับโอนกิจการและการดำเนินงานทั้งหมดของ กองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (กสย.) ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 มีทุนจดทะเบียนแรกเริ่มจำนวน 400 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเพิ่มทุนอีกจำนวน 4,000 ล้านบาท ทำให้ บสย. มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,400 ล้านบาท

ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษเพิ่มทุนอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้เรียกให้ผู้ถือหุ้นที่แสดงความประสงค์ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวชำระเงินค่าหุ้นบางส่วน รวมแล้วเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว จำนวน 6,702.47 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ประกาศใช้พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 ขยายขอบเขตการดำเนินงาน บสย. สามารถค้ำประกันการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งให้บริการสินเชื่อแก่ภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ รวมถึงเพื่อขยายขอบเขตการค้ำประกันให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อประเภทอื่นที่มิใช่ความหมายโดยทั่วไป

บอร์ด EEC เห็นชอบ แก้สัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน เตรียมเสนอ ครม. ปลดล็อกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก

(15 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1)วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน

2)กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก
ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ

3)กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

4)การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้

5)การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สกพอ. ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป

2. เห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จากการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ และ สกพอ. เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจำเป็นต้องขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่อไปให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และให้ สกพอ. ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562 ต่อไป โดย สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติ กพอ. ดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ และการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ โดยในช่วงตั้งแต่มกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 สกพอ. ได้ดำเนินการชักชวนนักลงทุน 139 ราย โดยมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท

ปตท.สผ. คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 หนุน เดินหน้าสู่องค์กรคารบอนต่ำในปี 2593

(15 ต.ค. 67) บริษัท ปตท.‍สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายดิษฐพล สุทธิโอสถ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้บริหาร ปตท.สผ. รับ‍มอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ด้านองค์กรนวัตกรรม ประเภทองค์กรวิสาหกิจขนาดใหญ่ จาก ดร.‍กริชผกา บุญเฟื่อง (ขวาสุด) ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยมีการบริหารจัดการทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการองค์ความรู้

ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ

สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3

ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ

ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่

ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)

ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม

เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง

รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้เยือน ‘ตรัง-พัทลุง’ ผลักดันอุตสาหกรรมท้องถิ่น เน้น!! ชุมชนเข้มแข็ง เข้าถึงแหล่งเงินทุน รุกตลาดออนไลน์

(14 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการ ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะฯ ได้เยี่ยมชมร้าน กวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie) ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ จากนั้น ได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) และยังได้เยี่ยมชมหัตถกรรมกระจูดวรรณี & โฮมสเตย์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรมกระจูดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

"การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีให้การสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมและเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม ผลักดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ที่ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ อย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป" นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top