ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน
เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท
เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ
ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558
เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ
สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3
ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558
โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร
และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ
ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า
อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ
ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่
ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)
ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป
เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ
รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม
เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง
รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป
ที่มา : MGROnline