Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘กัลฟ์-เอ็กโก-ราช-บาฟส์’ ลงชิง ขายไฟ ‘ลม-โซลาร์เซลล์’ 2.1 พันเมก หลัง ‘กกพ.’ ประกาศรับซื้อไฟฟ้าสะอาดจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’

(14 ต.ค. 67) การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero 

สำหรับการประกาศรับซื้อรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจยื่นขายไฟฟ้าถึง 15,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาครัฐประกาศรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ โดยการประกาศรับซื้อรอบล่าสุดประกาศไป 2,100 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีกบางส่วนที่รอประกาศเพิ่ม

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.กำหนดรายละเอียดการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ประกาศ กกพ.เรื่องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม)

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เงื่อนไขและระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าวันที่ 8 ต.ค.2567 โดยการไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กรอบเวลา 7 วัน จากนั้นสำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อภายใน 30 วัน และจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 180 วัน

นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า กกพ.กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์กลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงจำนวน 198 ราย รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว

สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าวรวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมยื่นเสนอขายไฟสะอาดรอบ 2 ของสำนักงาน กกพ.โดยคาดว่าจะได้รับโครงการไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนที่เปิดรับซื้อ โดยเบื้องต้นอาจร่วมมือกับพันธมิตร

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กัลฟ์พร้อมเข้าร่วมเสนอราคาและหวังที่จะให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 

สำหรับการเปิดรับรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ กัลฟ์เป็นผู้ชนะราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยภาพรวมรายได้จะเริ่มเห็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนแผนลงทุน 5 ปีวางไว้อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% หรือที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกลุ่มกัลฟ์ที่ COD ไปแล้วอยู่ที่ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยหากรวมกำลังการผลิตในต่างประเทศด้วยจะมีอยู่ที่รวม 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 8% และตั้งเป้าหมายปี 2033 จะเพิ่มเป็น36%” นายรัฐพล กล่าว

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า กลุ่มบาฟส์มีธุรกิจโรงงานไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม โดยพร้อมยื่นขอรับสิทธิขายไฟสะอาดเฟส 2 จากสำนักงาน กกพ.แน่นอน โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร

“หากชนะการนำเสนอครั้งนี้ จะเพิ่มโอกาสขยายสัดส่วนพลังงานสะอาดในไทย อีกทั้งจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน จากการร่วมลงทุนกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ไบเซล เวสท์ เอ็นเนอร์ยี่ ที่ชนะรอบแรกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 9.9 เมกะวัตต์” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ กำลังศึกษาโครงการ Direct PPA ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ และมองว่าตลาดขยายตัวสูงจากนโยบายรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เอกชนได้ซื้อ-ขาย ไฟได้โดยตรง โดยอาจยื่นเองโดยตรงและร่วมกับพันธมิตร เพราะบางโครงการมีความเสี่ยงและบริษัทยังไม่มีเทคโนโลยีและประสบการณ์มากพอ

“เราจะทำโซลาร์เพราะมองว่าความเสี่ยงต่ำ ตอนขึ้นโครงการที่มองโกเลีย เป็นโครงการแรกของกลุ่มบริษัททำโซลาร์และระบบแบตเตอรี่สำรองไฟ จึงมองว่าไทยมีโอกาสจะได้นำมาใช้ ส่วนจำนวนเมกะวัตต์ต้องรอดูก่อน” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะสั้นเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนในประเทศ EGCO Group พร้อมนำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการ ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) จากโครงการ RE Big Lot รอบที่ 1 แต่ยังไม่ได้คัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ RE Big Lot ในรอบที่ 2

นอกจากนี้ หาก EGCO Group ได้รับคัดเลือกในรอบ 2 จะช่วยให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตโฟลิโอเพิ่ม และสอดคล้องเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573

“หากการยื่นสิทธิรอบ 2 ครั้งนี้รวม 2,180 เมกะวัตต์ เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กกพ.ยังมีโควตาพลังงานหมุนเวียนเหลือ 1,488 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปในรอบที่ 3” น.ส.จิราพร กล่าว

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราชกรุ๊ป มีความสนใจที่จะร่วมยื่นขายไฟจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 ของ สำนักงาน กกพ.เช่นเดียวกัน โดยหากเศรษฐกิจดีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะลงทุนระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 โดยปัจจุบันราชกรุ๊ป มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 (27.5%)

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 รวม 3,668 เมกะวัตต์ แม้สำนักงาน กกพ.อนุมัติกรอบเวลาการรับซื้อไว้แล้ว แต่ยังเหลือไฟสะอาดอีก 1,500 เมกะวัตต์ ที่จะต้องรอคณะกรรมการ กกพ.ชุดใหม่มาบริหารงานตามนโยบายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ้นเดือน ก.ย.2567 มี กกพ.ครบวาระ 4 คน คือ 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม 3.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ 4.นายสหัส ประทักษ์นุกูล โดยกระทรวงพลังงานควรเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ.ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อมีเวลาสรรหา แต่ยังไม่ดำเนินการและนายเสมอใจ ประธาน กกพ.มีอายุครบ 70 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง

“เมื่อประธานพ้นตำแหน่งต้องตั้งรักษาการประธานจะทำให้การทำงานล่าช้า ดังนั้น การเปิดรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 ในส่วนที่เหลืออาจจะต้องรอบอร์ดชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาดำเนินการ” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย

‘สรวงศ์’ เผยแคมเปญ กระตุ้นการท่องเที่ยว!! ในพื้นที่ภาคเหนือ ททท. ออกให้ครึ่ง-นักท่องเที่ยวจ่ายเองอีกครึ่ง เริ่ม 1 พ.ย.นี้

(13 ต.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงการออกมาย้ำถึงแคมเปญ ‘แอ่วเหนือคนละครึ่ง’ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้นำข้อมูลเพื่อมาแก้ไขปัญหา ซึ่งบางส่วนใช้งบของกระทรวงและบางส่วนต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ  

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงเสนอโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง โดยจะมีการ คลิกออฟ ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ผู้ประกอบการเตรียมที่จะฟื้นฟูและกลับเข้าสู่สภาพเดิมให้ได้ โครงการนี้ยังรวมไปถึง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยทาง ททท. จะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 800 บาทและนักท่องเที่ยวออกเองอีกครึ่งหนึ่ง

หากประสบผลสำเร็จก็จะมีการก็จะมีการเสนอของบประมาณจากครม.อีกครั้งหนึ่ง แต่การดำเนินการในครั้งนี้จะใช้งบประมาณของททท.ไปก่อน โดยจะพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นงานลอยกระทง ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีความพร้อม

ส่วนการเตรียมมาตรการอื่นๆ เช่น การปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว  เรื่องนี้เตรียมที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่จากการรับฟังจากผู้ประกอบการหลายส่วน มีข้อเสนอแนะว่า ยังมีหลักเกณฑ์ต่างๆที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก จึงต้องมีการกลับมาปรับแก้กันในเร็ว ๆ นี้ เพื่อที่จะปรับแก้ไข ให้ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงในแคมเปญนี้ ซึ่งยังไม่สามารถที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ได้ เพราะมีบางจุดที่จะต้องนำกลับมาแก้ไขและเปลี่ยนแปลง

‘ปตท.–ซีพีเอฟ–ไทยเบฟ’ ติดโผ นายจ้างที่ดีที่สุด จากผลสำรวจโดย ‘Forbes’ ด้าน Microsoft ครองแชมป์ ประจำปี 8 สมัยรวด ด้วยคะแนนที่ท่วมท้น

(13 ต.ค. 67) จากรายงานการศึกษาของ World Economic Forum ด้านสถานการณ์การจ้างงาน ชี้ว่า โลกการทำงานยุคนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากปัญหาสังคมและเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบทางการเมือง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ในที่ทำงาน รวมถึงองค์กรหรือธุรกิจต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นเหล่านี้ไม่น้อย 

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในตลาดงาน ดังนั้น ตัวแรงงานหรือลูกจ้างหากต้องการให้ตนเองสามารถแข่งขันในตลาดงานต่อไปได้ จำเป็นต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งฝั่งนายจ้างเองก็ย่อมต้องการทักษะใหม่ต่างๆ จากแรงงานเช่นกัน

ลูกจ้างของบางบริษัทอาจต้องขวนขวายหาความรู้หรือเพิ่มทักษะด้วยตนเอง แต่ลูกจ้างของบางบริษัทก็โชคดีกว่านั้น เพราะองค์กรของพวกเขาได้เข้ามาสนับสนุนและจัดให้มีพื้นที่ในการอบรม เพื่อฝึกฝนพัฒนาทักษะใหม่ให้พนักงานในองค์กรเท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ซึ่งทำให้พนักงานเติบโตไปพร้อมกับงานนั้นได้ อีกทั้งทำให้องค์กรรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงได้ นำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป

พนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ให้การสนับสนุนฝึกฝนทักษะดังกล่าว มักจะทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้นานขึ้น มีความสุข และมีส่วนร่วมกับงานมากขึ้น แต่บางครั้งลูกจ้างที่จบใหม่ก็อาจไม่รู้ว่าบริษัทดีๆ แบบนี้คือที่ไหนบ้าง เพราะการค้นหาบริษัทเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป

ล่าสุด Forbes ได้ร่วมกับ Statista บริษัทให้บริการข้อมูลด้านสถิติระดับโลก ได้ทำให้การค้นหานั้นง่ายขึ้นด้วยการจัดอันดับนายจ้างที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 ซึ่งได้ทำต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 8 แล้ว

โดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของปีนี้ ทีมงานวิจัยได้สำรวจพนักงานกว่า 300,000 คนในกว่า 50 ประเทศ ที่ทำงานให้กับกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน และดำเนินงานในภูมิภาคทวีปอย่างน้อย 2 แห่งจากทั้งหมด 6 แห่งของโลก (แอฟริกา เอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกาและแคริบเบียน อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย)

โดยผู้ตอบแบบสอบถามถูกถามว่า จะแนะนำบริษัทของตนให้กับครอบครัวหรือเพื่อนหรือไม่ และให้คะแนนโดยพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ 1.เงินเดือน 2.การพัฒนาบุคลากร และ 3.ตัวเลือกการทำงานจากระยะไกล นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังสามารถให้คะแนนบริษัทที่ตนรู้จักจากความรู้ในอุตสาหกรรมของตนเองและจากเพื่อนหรือครอบครัวที่ทำงานที่นั่นได้ด้วย

ผลการสำรวจได้รับการวิเคราะห์จากข้อมูลตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลล่าสุดและการประเมินจากพนักงานปัจจุบันเป็นหลัก ในที่สุดก็ได้บริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ต่างๆ ออกมา ไล่เลียงบริษัทที่ได้คะแนนตรงตามเกณฑ์มากที่สุดไปหาน้อยที่สุด โดยมีทั้งหมด 850 แห่งจาก 48 ประเทศ ซึ่งพบว่าบริษัทที่ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ได้แก่ Microsoft เนื่องจากได้รับคะแนนท่วมท้นทั้งในแง่ของ การให้พนักงานทำงานอย่างยืดหยุ่นได้ พนักงานได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม และบริษัทมีการพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่บริษัทจากประเทศไทยก็ติดโผในรายงานนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ติดอันดับต้นๆ ก็ตาม โดยพบว่ามี 3 บริษัทใหญ่ในไทยที่ติดอันดับในรายงานชุดนี้ ได้แก่ 

- อันดับที่ 69 คือ ปตท. (PTT)
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ปิโตรเลียม โรงกลั่น เคมีภัณฑ์ การก่อสร้าง มีพนักงานจำนวน 3,574 คน

- อันดับ 246 คือ ซีพีเอฟ (CPF) 
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผลิตเนื้อสัตว์ อาหารสด อาหารแปรรูป อาหารพร้อมทาน เครื่องดื่มต่างๆ มีพนักงาน 135,446 คน

- อันดับ 456 คือ ไทยเบฟเวอเรจ
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับค้าปลีกและขายส่ง อาหาร เครื่องดื่มทั่วไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีพนักงาน 60,000 คน

ทั้งนี้ สำหรับการจัดอันดับบริษัททั่วโลกที่ถือเป็น "นายจ้างที่ดีที่สุดในโลก ปี 2024" นั้น ขอยกมาเฉพาะใน 10 อันดับแรก พบว่า เป็นบริษัทชื่อดังระดับโลกที่มีสำนักงานกระจายตัวอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ 

อันดับ 1 Microsoft จากสหรัฐ มีพนักงาน  221,000 คน 
อันดับ 2 Alphabet  จากสหรัฐ มีพนักงาน  182,502 คน
อันดับ 3 Samsung จากเกาหลีใต้ มีพนักงาน  270,372 คน
อันดับ 4 Adobe จากสหรัฐอเมริกา มีพนักงาน 29,000  คน
อันดับ 5 BMW Group จากเยอรมนี มีพนักงาน 154,950 คน
อันดับ 6 Delta Air Lines จากสหรัฐ มีพนักงาน  90,000 คน
อันดับ 7 AIRBUS จากเนเธอร์แลนด์ มีพนักงาน  147,893 คน
อันดับ 8 IKEA จากเนเธอร์แลนด์ มีพนักงาน  208,000 คน
อันดับ 9 Lego Group จากเดนมาร์ก มีพนักงาน  27,000 คน
อันดับ 10 IBM จากสหรัฐ มีพนักงาน 187,000 คน

หมายเหตุ: ลิสต์รายชื่อบริษัทต่างๆ ตามรายงานของ Forbes ชิ้นนี้บริษัทต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ เพื่อเข้าร่วมหรือได้รับเลือก 

‘หมูเด้ง’ ขึ้นแท่น ‘ซุปตาร์-พรีเซ็นเตอร์’ ปัจจุบันมีสินค้ามาขอ official แล้ว 38 องค์กร .

(12 ต.ค. 67) สินค้าลิขสิทธิ์ ‘หมูเด้ง’ แบบ Official ปัจจุบันมี 38 องค์กร ที่มาขออนุญาตจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำเอาหมูเด้งไปใช้กับสินค้าของตัวเองเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ ‘น้องหมูเด้ง’ อย่างเป็นทางการ คือ

1. บริษัท ไปรษณีย์ไทย ทำชุดแสตมป์ และโปสการ์ด
2. บริษัท พอดี้ อินโนเวชัน เอาภาพหมูเด้ง จัดทำสินค้าเพื่อส่งเสริมการขาย
3. บริษัท ทิพย์วารี (ชาตรามือ) นำภาพหมูเด้งบนแก้วเครื่องดื่ม
4.บริษัท เดลิค จัดหาผู้สนับสนุน หมูเด้งผ่าน ZZoodio.live
5.บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) โปรโมชันเครื่องดื่ม ชื่อ Hippoween ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับหมูเด้ง
6. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ทำเสื้อยืดอุ่นใจ หมูเด้ง และไลน์สติกเกอร์ อุ่นใจหมูเด้ง
7.บริษัท ซีพีออลล์ พิมพ์ลายแก้ว สติกเกอร์หมูเด้ง จำหน่ายในร้านคัดสรร และร้าน เบลลินี่
8.บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จัดแคมเปญส่งเสริมการขายสาขาสวนสัตว์เขาเขียว และพื้นที่ จ.ชลบุรี
9.บริษัท ฟาร์ม เอ็กซ์โป ทำเสื้อยืดหมูเด้ง
10.บริษัท Giftwise asia ทำแก้วเซรามิค เสื้อยืด ปากกา แก้วเก็บความเย็น คอลเลกชันตุ๊กตา 12 คาแรกเตอร์

11.บริษัท พีซีเอส 999 เอ็นเตอร์ไพรส์ 2016 ทำหมอนผ้าห่ม
12.บริษัท ช็อปปี้ (ประเทศไทย) เข้าดูไลฟ์ มอบของขวัญน้องหมูเด้ง
13.บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) ทำกางเกงหมูเด้ง
14.บริษัท ไลน์ คอมพานี ประเทศไทย ทำไลน์สติกเกอร์หมูเด้ง
15.บริษัท โกรล เวลส์ ผลิตภัณฑ์ทิชชูเปียก วีว่าออแกนนิก เบบี้ไวท์
16.บริษัท แอดด้า ฟุตแวร์(ไทยแลนด์) ทำรองเท้าหนีบลายฮิปโป
17.บริษัท การีนา ทำเกมออนไลน์ เวอร์ชัน หมูเด้ง
18.บริษัท มัลติพลาย บายเอท ทำปลอกยาดมลายหมูเด้ง ปลอกยาดมสมุนไพรลายหมูเด้ง
19.บริษัท ออล์เวย์ซัมเมอร์แบงคอก ทำเสื้อฮาวาย เสื้อยืด หมวก สมุดโน้ต หมูเด้ง
20.บริษัท แกรนดี้อินเตอร์เทรด ทำเสื้อฮาวาย เสื้อยืด หมวก สมุดโน้ต

21.บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ด ซิสเทม ทำบัตรเติมเงิน
22.บริษัท เอ็กโซเซ ทำคอลเลกชันหมูเด้ง 6 แบบ เหรียญหมูเด้งสีทอง เหรียญหมูเด้งสีเงิน
23.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอริกะ12(ไทยแลนด์) ทำที่ปัดแก้ม
24.บริษัท นานาสาระพัน ทำชุดหมอนอิง เบาะรองนั่ง หมอนรองคอ ชุดผ้ากันเปื้อน กระเป๋าผ้า
25. บริษัท ริชเวิลด์ ทำเสื้อเด็ก เสื้อผู้ใหญ่ แก้วน้ำ หมวก
26. บริษัท พิมพ์ตามใจ ทำหมอนผ้าห่ม หมวกบักเก็ต เป้ผ้า พวงกุญแจ กระเป๋าสตางค์
27. บริษัท โซดา พริ้นติ้ง ทำเสื้อยืด กางเกง กระเป๋า หมอนอิง กระบอกน้ำเก็บความเย็น
28. บริษัท ธนันพัฒนะ ทำกระเป๋าผ้า
29. บริษัท ธนาคารกสิกรไทย ทำ เคแบงค์ สติกเกอร์
30. บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง ทำรองเท้าแตะช้างดาว รุ่นพิเศษ

31. บริษัท เพ็ท โฟกัส จำกัด (เบทาโกร) ไม่มีการทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย (บริจาคอาหารสัตว์)
32. บริษัท เนเจอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำขวดนม 4 แบบ
33. บริษัท นานมี จำกัด ทำชุดสมุดภาพระบายสี และ/หรือสมุดภาพระบายสีนิทานหมูเด้ง
34. บริษัท ศรีไทย ซปเปอร์แวร์ จำกัด ทำกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ
35. บริษัท โปรเจค เอ็ม เอ็น พี จำกัด ทำ Animated Sticker / Chat Theme /GIPHY
36. บริษัท เมกะบาท จำกัด ทำเครื่องประดับ (ต่างหู / จี้/ชาร์ม / สร้อยข้อมือ / แหวน / สร้อยคอ)
37. บริษัท ชีบร้า มาร์เกตติ้ง จำกัด ทำถ้วยน้ำสุญญากาศ รุ่น POLAR SAVE THE EARTH (2ขนาo)
38. บริษัท ภราภัช แอดวานย์ จำกัด ทำ ผลิตกัดภัณฑ์ครอบครัวหมูเด้ง

‘ไทย’ ทำเลดีที่สุดในอาเซียน ต่างชาติแห่เข้ามาตั้ง นิคมโรงงานอุตสาหกรรม ดัน!! ราคาที่ดินพุ่ง 30% สะท้อนไทยยังเนื้อหอม ในสายตานักลงทุน

(12 ต.ค. 67) ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 6 เดือนแรก ปี 2567 มากถึง 1,412 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วน เกษตร และแปรรูปอาหาร เป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าไทยยังเนื้อหอมเพียงใดในสายตานักลงทุน

และยิ่งล่าสุดการปักหมุดลงทุนของบิ๊กเทคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Google ที่เลือกนิคม WHA ยิ่งทำให้เห็นภาพความคึกคักในพื้นที่เมืองหลวงของการลงทุนอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร้อนถึงบิ๊กธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของไทยต้องควานหาที่ดินกันจ้าละหวั่นเพื่อรองรับความต้องการของต่างชาติโดยเฉพาะ 'จีน' ซึ่งขยายการลงทุนมาเป็นอันดับ 1

โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้เคยออกมาสะท้อนภาพว่า นิคมไทย-จีน ที่บริษัทได้มีการพัฒนาพื้นที่ 15,000 ไร่ 'ขายหมดแล้ว' และมุ่งขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

กระทั่งล่าสุด นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA เปิดเผยว่า ทิศทางยอดขายที่ดินในนิคม ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ยังมีการจองที่ดินของนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและเวียดนาม จากการย้ายฐานการผลิตและขยายโรงงาน

ดังนั้น เชื่อว่ายอดรับรู้รายได้จากการโอนที่ดินจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน หรือแบ็กล็อก อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าปี 2567 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และในปี 2568 อีก 50%

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับทาง Google ไปเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่ จ.ชลบุรี เพื่อสร้าง Data Center แห่งแรก

การเซ็นสัญญาครั้งนี้ รวมอยู่ในเป้าหมายใหม่ที่เราได้เพิ่มเป้าหมายในปี 2567 นี้ไปแล้ว ที่ 2,500 ไร่ โดยมูลค่าสัญญาขายที่ดินคาดว่าจะเติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตฯอยู่ 12 นิคมในไทย และอีก 1 นิคมอุตฯในเวียดนาม และแผนในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 6 โครงการ โดยเป็นโครงการพัฒนาใหม่ 4 แห่ง และขยายพื้นที่โครงการเดิมอีก 2 แห่ง โดยมีที่ดินรอพัฒนาอีกเกือบ 10,000 ไร่ในไทย

ด้านราคาที่ดิน น.ส.จรีพร ระบุว่า ได้มีการปรับขึ้นราคาที่ดิน โดยปี 2566 ปรับขึ้นไป 2 ครั้ง ปี 2567 ปรับอีก 1 ครั้ง รวมแล้วปรับขึ้นไปเฉลี่ยเกิน 20%

นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาที่ดินในนิคมปรับขึ้น 30% จากปี 2566 ราคาที่ดินเปล่าในตลาดปรับขึ้น ประมาณ 5 ล้านบาท/ไร่ บางพื้นที่ราคา 7-8 ล้านบาทไร่ หรือสูงสุดถึง 12 ล้านบาท/ไร่ ปัจจัยสำคัญจากปัจจุบันเหล่านักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน และไต้หวัน แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก ด้วยเสียงสะท้อนว่า ไทยมีจุดเด่นเรื่อง ‘อยู่แล้วปลอดภัย’ ในทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินในระยะยาว

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ทางรัฐบาลมอบให้แล้วนั้น เหล่านักลงทุนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือเรื่องของพลังงานสะอาดในทุกรูปแบบ และระบบการคมนาคม คืออีกปัจจัยในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ลงทุน การอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ใกล้สนามบินอู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ ทำให้พื้นที่ ‘อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี’ คือโลเกชั่นที่ดีที่สุดในอาเซียน เป็นมุมมองของเอกชนที่พัฒนาที่ดินได้กล่าวไว้ พื้นที่แห่งนี้ยังคงเหลืออีกจำนวนมาก บริษัทจำเป็นต้องเร่งมือกว้านซื้อที่ที่ดีที่สุด ราคาที่ดินกำลังขาขึ้น การพัฒนาต้องรวบรวมพื้นที่ให้ได้ผืนใหญ่ที่สุด ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ จึงเป็นขนาดที่ที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน

ในครึ่งปีหลัง 2567 นี้ ความคึกคักจะไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่จะเกิดจากการลงทุนจะมหาศาลตามที่บีโอไอได้เคยประกาศไว้ว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท เพราะประเทศไทยยังคงได้เปรียบในทุกอย่าง แม้จะเสียเปรียบในเรื่องของสิทธิประโยชน์เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม แต่ท้ายที่สุดแล้วไทยจะได้สิทธิในเรื่องของการถือครองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมตลอดชีพและสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ขณะที่เวียดนามยังไม่สามารถให้สิทธิตรงนี้ได้เต็มที่ ความได้เปรียบตรงนี้ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่ยาก อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบจากความคล่องตัวในระบบการเงินระหว่างประเทศที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้มีนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศแถบอาเซียน รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เฉพาะที่ดินของ กนอ. ตลอดช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 มียอดขายพุ่งสูงถึง 5,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอด 4,943 ไร่ เหลือเวลา 3 เดือนปลายปีงบประมาณ เชื่อว่าจะมียอดขายแตะที่ 7,000 ไร่ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5,693 ไร่

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบเรื่องโลเกชั่น แต่ก็ยังมีความท้าทายจากโจทย์ใหม่ของนักลงทุน ที่ต้องการที่ดินที่มี ‘การบริหารจัดการน้ำ’ และ ‘พลังงานสะอาด’ เพียงพอรองรับการผลิต จึงเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้พัฒนานิคม’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เตรียมพื้นที่ แต่ยังต้องมองข้ามชอตถึงการเตรียมสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกตอบโจทย์นักลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve รวมไปถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Data Center และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

‘เซมิคอนดักเตอร์’ ร้อนระอุ ‘ไทย-เวียดนาม’ เปิดศึก ดึงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ‘บีโอไอ’ เผย!! รอชง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตั้งเซมิคอนดักเตอร์บอร์ด เพื่อรองรับอุตสาหกรรม

(12 ต.ค. 67) อุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ และมีผลต่อซัพพลายเชนโลกในขณะนี้ คือ เซมิคอนดักเตอร์ โดยหลายประเทศในเอเชียพยายามช่วงชิงการลงบนสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์

ที่ผ่านมา 'มาเลเซีย' ได้ประกาศยุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตชิประดับโลก โดยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท เพื่อฝึกอบรมวิศวกรทักษะสูง 60,000 คน พร้อมตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนเกือบ 4 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตั้งคณะกรรมการระดับชาติ 'เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด' เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินการที่วางไว้ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอจะเสนอรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีดึงการลงทุนเชิงรุกที่เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ 2 สาขา คือ เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่

สำหรับการเสนอตั้ง 'เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด' จะขับเคลื่อนการดึงลงทุนได้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐ และยุโรป รวมทั้งมีบริษัทที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งการผลิตชิปต้นน้ำ และการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่สุดในไทย ซึ่งมีงบประมาณในการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท และจะเกิดขึ้นจริงช่วง 1-2 ปีนี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของเวียดนามได้ประกาศตัวชัดเจนในการชิงการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน โดยเตรียมออกสิทธิประโยชน์การลงทุนครั้งสำคัญ

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า เวียดนามกำลังร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลฉบับใหม่ (DTI) ซึ่งมาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อดึงบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ระดับโลกเข้าไปลงทุน อาทิ

‘อินวิเดีย’ (Nvidia) ผู้ผลิตชิปจากสหรัฐรายใหญ่ที่ร่วมมือกับ FPT บริษัทเทคโนโลยีใหญ่สุดในเวียดนามในการสร้างโรงงานสำหรับส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี AI และ 'เบซี่' (Besi) ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งได้ลงทุนเบื้องต้น 4.9 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ (ราว 164 ล้านดอลลาร์)

สำหรับร่างกฎหมาย DTI เวียดนามได้เตรียมสิทธิประโยชน์ เช่น ลดหย่อนภาษีสูงสุด 150% สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัย และพัฒนา เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลงทุน อนุมัติวีซ่าแบบฟาสต์แทรกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโครงการ และการใช้ที่ดินฟรีเป็นเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 160 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 พันล้านบาท) ขึ้นไป โดยให้พิจารณาเอกสารอนุมัติเร่งด่วน และยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงการยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

ทั้งนี้ เวียดนามกำลังนำเสนอกฎระเบียบใหม่เพื่อคว้าโอกาสจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งได้ผลักดันให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทอื่นต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานของตน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามาตรการจูงใจทางภาษีที่นำเสนอนั้น สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำระดับโลกที่นานาชาติกำลังผลักดันหรือไม่

เจิ่นแมงฮุง จากเบเคอร์ แม็คเคนซี มองว่า ร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเวียดนามจริงจังแค่ไหนในการดึงดูดบริษัทชิป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารด้านชิปของสหรัฐ ตั้งแต่ 'แพท เกลซิงเกอร์' ของอินเทล (Intel) ไปจนถึง ‘เจนเซน หวง’ ของอินวิเดีย เดินทางเยือนกรุงฮานอย ได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เข้าเวียดนาม

นอกจากนี้ กระทรวงสารสนเทศของเวียดนาม กำลังประชุมหน่วยงานอื่น และตัวแทนภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลการสรุปกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเสนอรัฐสภาเดือนต.ค.2567 และมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปี 2568

สิทธิประโยชน์เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน และการฝึกอบรม ที่เวียดนามยังด้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมขั้นสูงกว่า

อุตสาหกรรมชิปของเวียดนามยาวนานเกือบ 20 ปี แต่ได้เข้าสู่ยุคทองในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางเทคโนโลยีทั่วโลกได้ผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำอย่างซัมซุง (Samsung) ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกแบบชิปให้กับบริษัทระดับโลก เช่น อินฟินีออน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทออกแบบชิป ไซนอปซิส

เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเข้ากับมาตรฐานภาษีใหม่ของโลก โดยต้องบาลานซ์ระหว่างการดึงดูดนักลงทุนด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำ 15% ที่องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) และกว่า 140 ประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุน ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางส่วนที่เคยใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนในอดีต แม้ว่าภาคธุรกิจจะพยายามผลักดันให้มีมาตรการชดเชย เช่น เงินอุดหนุนหรือเครดิตภาษีก็ตาม

และความท้าทายด้านงบประมาณก่อนหน้านี้ อินเทลได้เรียกร้องให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายจูงใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งรายเดิม และรายใหม่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุนย่อมส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า 'นเรนทรา โมดี' นายกรัฐมนตรีของอินเดีย พบกับ 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 5 ก.ย.2567 ในระหว่างการเยือนสิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับความเห็นของโมดีในระหว่างพบปะกับหว่อง โมดี กล่าวว่า ‘สิงคโปร์ไม่ใช่เพียงหุ้นส่วน แต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกประเทศที่กำลังพัฒนา เราต้องการสร้างสิงคโปร์หลายแห่งในอินเดีย และผมยินดีที่เรากำลังพยายามร่วมมือกันในทิศทางนี้’

ทั้งสองประเทศลงนามบันทึกความเข้าใจสี่ฉบับเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาทักษะ และการดูแลสุขภาพ ตามที่รัฐบาลอินเดียระบุ

ในด้านการผลิตชิปสิงคโปร์ จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของอินเดียในขณะที่อินเดียจะส่งเสริมการเข้ามาของบริษัทสิงคโปร์ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในตลาดขนาดใหญ่ของตน

'พิชัย' ย้ำ ความสำเร็จ 'นายกแพทองธาร' บนเวทีผู้นำอาเซียน สร้างโอกาสทอง การค้า-การลงทุนให้ประเทศ 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า “การประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยบนเวทีโลกอีกครั้งหนึ่งต่อจากการประชุม ACD summit ที่กาตาร์ซึ่งตนได้มีโอกาสร่วมคณะผู้แทนไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ในการประชุมอาเซียน ท่านนายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมกว่า 20 วาระ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ในวันที่ 9 ตุลาคม 67 ต่อด้วยการเปิดเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของผู้นำประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำและทิศทางนโยบายของประเทศไทยที่ชัดเจน ในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันในมิติต่างๆ ในฐานะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนล้วนเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ถือเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาการค้าการลงทุนต่างๆ อย่างดีเยี่ยม และได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก”

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว นายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ยังได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสำคัญอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประชุมอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ญี่ปุ่น รวมถึงอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งการกล่าวแถลงของท่านนายกรัฐมนตรี ทำให้ในแต่ละเวทีการประชุมให้ความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่กระทบกับด้านเศรษฐกิจ ที่ท่านนายกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกประเทศเล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงตรงนี้ และหากมีนโยบายการค้าการลงทุนที่สอดรับกัน ก็จะได้สานต่อให้สำเร็จต่อจากนี้

“ภายหลังการประชุม 3 เวทีใหญ่ มีประเทศต่างๆ ขอพบหารือทวิภาคี หรือการหารือสองฝ่าย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม มาเลเซีย แคนาดา เกาหลีใต้ เป็นต้น จนเกิดการประชุมทวิภาคีมากถึง 12 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ให้ความสำคัญกับทุกการประชุม แม้จะกินเวลาช่วงพักเบรกก็ตาม นอกจากประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศมหาอำนาจ และประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์”

“นับว่าประเทศไทยเนื้อหอมจริงๆ ในการค้าการลงทุน เพราะมีหลายประเทศมารุมขอเข้าประชุม และประเทศอินเดียที่ให้การยอมรับท่านนายกอย่างมาก เนื่องจากเห็นถึงความมั่นคงและชัดเจนของนโยบายผู้นำประเทศไทย สำหรับญี่ปุ่นเอง ก็ยังมีการยืนยันที่จะร่วมลงทุนกับไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง และยังมีประเทศอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในไทยและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกันยิ่งขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักของทีมไทยแลนด์ ของคณะผู้แทนไทยที่นำโดยท่านนายกแพทองธารฯ ซึ่งได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจาด้านการค้าการลงทุนในเวทีโลก หลังกลับจากกาตาร์ เราก็ได้ยินข่าวดีคือ กลุ่มทุนในประเทศตะวันออกกลางประกาศแผนลงทุนในศูนย์ข้อมูลดาต้าเซนเตอร์ในไทยกว่า 3.2 หมื่นล้าน และจะมีมาต่อเนื่อง ดังนั้น หลังกลับจากการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนก็คิดว่าจะมีข่าวดีให้คนไทยได้ยินอีกหลายเรื่อง ” นายพิชัย กล่าว

นอกจากการประชุมที่โดดเด่นแล้ว นายกรัฐมนตรียังแสดงให้เห็นถึง Soft Power ที่โดดเด่น สวยงามของไทย โดยแต่งกายผ้าไทยที่สวยงามจนเป็นที่สะดุดตาของสื่อต่างชาติทำให้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก และยังได้รับคำชื่นชมจากสื่อและประชาชนลาวที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากมีการติดตามนายกหญิงของไทยทุกวันที่เข้ามายังสถานที่ประชุม และบางเวลาที่รอประชุมต้องมีการต่อคิวถ่ายรูปกันเลยทีเดียว ซึ่งท่านนายกฯ ก็ให้โอกาสทุกคนได้ถ่ายภาพร่วมกันอย่างเป็นกันเอง 

‘แบล็คแคนยอน’ คว้าลิขสิทธิ์ ‘น้องหมูเด้ง’ จากองค์การสวนสัตว์ฯ เตรียมจัดกิจกรรม เดินหน้าประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาด

(12 ต.ค. 67) บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิ์อย่างเป็นทางการจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในการใช้ลิขสิทธิ์ ‘น้องหมูเด้ง’ เพื่อการประชาสัมพันธ์และดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ขอเชิญทุกท่านร่วมติดตามกิจกรรมดี ๆ ที่จะนำเสนอต่อไปได้ในเร็ว ๆ นี้

เปิดหนี้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เริ่มจ่ายเงินต้น พ.ย. นี้ 140 ล้านบาท คาด!! จะใช้หนี้หมดได้ ภายในปี 2571 กบน. เชื่อ!! ยังตรึงราคาขายไว้ได้

(12 ต.ค. 67) นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ จะครบกำหนดที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเริ่มทยอยชำระหนี้เงินต้นที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565-2566 ส่วนดอกเบี้ยก็ได้เริ่มจ่ายมาตั้งแต่กู้ยืมเงินครั้งแรกและจ่ายเป็นประจำ จำนวน 250 ล้านบาททุกเดือน

สำหรับยอดหนี้เงินต้นจะทยอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามวงเงินที่ทยอยกู้ยืมในแต่ละครั้ง โดยในเดือน พ.ย. 2567 ต้องเริ่มจ่ายหนี้เงินต้น 140 ล้านบาท และ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 278 ล้านบาท ส่วนปี 2568 ก็จะยังคงจ่ายสูงขึ้นอีก โดยเริ่มต้นเดือน ม.ค. จำนวน 800 ล้านบาท และทยอยสูงขึ้นไปถึงเดือน พ.ค. ที่ 1,400 ล้านบาท โดยยอดจะพุ่งสูงสุดในเดือน ต.ค. 2568 ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และจากนั้นจะทยอยลดลงเรื่อย ๆ  ซึ่งคาดว่าการชำระหนี้เงินต้นจะไปสิ้นสุดในปี 2571

ดังนั้นภารกิจสำคัญที่กองทุนฯ จะต้องเตรียมไว้สำหรับการชำระหนี้เงินต้นดังกล่าว ก็คือ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องเร่งเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพียงพอที่จะใช้ดูแลราคาน้ำมันและ LPG ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีเงินเพียงพอจ่ายหนี้เงินต้นก้อนนี้ด้วย

ทั้งนี้จะส่งผลให้กองทุนฯ ไม่สามารถกลับไปชดเชยราคาดีเซลได้อีก ยกเว้นกรณีเกิดวิกฤติราคาพลังงานที่รุนแรง ซึ่งหากราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ กองทุนฯ จะลดการเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ ลง จนอาจเก็บเข้าต่ำสุดเหลือเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร (ปัจจุบันเก็บอยู่ 1.66 บาทต่อลิตร) แต่หากราคายังขยับสูงขึ้นไปอีก กบน. อาจจำเป็นต้องขยับขึ้นราคาดีเซล แทนการนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาดีเซล

อย่างไรก็ตามวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้ จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ดังนั้น กบน. เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนราคาดีเซลอีกครั้งก่อนสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ กบน. ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่ง กบน. เชื่อว่ายังดูแลราคาดีเซลในประเทศไทยได้ แต่เป็นห่วงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โลก เนื่องจากในช่วงปลายปีจะเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้หลายประเทศมีความต้องการ LPG จำนวนมากและราคาจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งหากกองทุนฯ ต้องชดเชยราคา LPG สูง จะส่งผลกระทบต่อฐานะกองทุนฯ ได้  

โดยปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าจากผู้ผลิต LPG  5.94 ล้านบาทต่อวัน และเงินไหลเข้าจากผู้ใช้น้ำมัน 331 ล้านบาทต่อวัน รวมมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ ประมาณ 337 ล้านบาทต่อวัน หรือ 10,110 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลและ LPG  รวมทั้งสามารถเก็บไว้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินได้ แต่หากราคา LPG โลกขยับขึ้นแรงในช่วงปลายปี 2567 นี้ กบน. ก็จะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับกองทุนฯ ต่อไป แต่ยืนยันว่าราคา LPG จะยังคงจำหน่ายที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2567 นี้ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

สำหรับสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 8 ต.ค. 2567 เงินกองทุนฯ ติดลบรวม -96,818 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -49,378 ล้านบาท และมาจากบัญชี LPG ติดลบรวม -47,440 ล้านบาท

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เดินหน้าดึงนักลงทุน ขอบคุณ ‘DAMAC’ และ ‘PROEN Corp’ วางแผนลงทุน 3.2 หมื่นล้านในไทย ‘EDGNEX Data Centers’ เล็งขยายกำลังการผลิตศูนย์ข้อมูล (Data Center)

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประธานในการแถลงข่าวประกาศการร่วมลงทุนครั้งสำคัญของ EDGNEX Data Centers โดย DAMAC ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับโลก ซึ่งจะร่วมทุนกับ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำในด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยเป็นการขยายธุรกิจครั้งใหญ่ของทั้งสองบริษัทในประเทศไทยที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนาด้านดิจิทัล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) โดย EDGNEX จะถือหุ้น 70% ในการร่วมทุนและเป็นหัวเรือใหญ่ รับผิดชอบงานบริการด้านดาต้า เซอร์วิส (Data Services) 

นายประเสริฐ กล่าวว่า  รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในโอกาสการประกาศความร่วมมือระหว่างของทั้งสองบริษัท และการได้มาร่วมงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะกับบุคคลสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีและดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างมาก เราได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคดิจิทัลในทุกด้าน ตั้งแต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล 

“การลงทุนครั้งนี้จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของประเทศไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล รวมถึงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามา นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทยในแง่ของงานและธุรกิจ ผมขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณ EDGNEX ที่ได้ให้ความไว้วางใจและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน ผมเชื่อมั่นว่าการร่วมลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาภาคดิจิทัลของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าง 

ด้าน Mr.Hussain Sajwani  ได้กล่าวถึงการร่วมทุนครั้งนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้นที่จะขยายการลงทุนของเรา มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างมาก ในการเติบโตด้านนวัตกรรม ดิจิทัล และเทคโนโลยีอัจฉริยะ เรามุ่งมั่นสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย และการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับธุรกิจยุคใหม่ ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วย AI ในการร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ในประเทศไทยครั้งนี้ เราวางแผนในการขยายกำลังการผลิตของศูนย์ข้อมูล (Data Center) ให้ถึงระดับ 100 เมกะวัตต์  

ขณะที่ นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรารู้สึกยินดีมากที่ได้เป็นพันธมิตรกับ EDGNEX โดย DAMAC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยมีฐานการดำเนินงานที่มั่นคงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การร่วมทุนกันครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเรามุ่งหวังที่จะนำความเป็นเลิศและนวัตกรรมมาสู่ตลาดได้

สำหรับการร่วมทุนดังกล่าวจะรวมถึงโครงการศูนย์ข้อมูล  (Data Center) ที่ล้ำสมัยซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ โดยระยะแรกจะมีกำลังการผลิตที่ 5 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568 ศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งนี้จะเป็นศูนย์ข้อมูลที่เป็นกลางทางด้านเครือข่าย (Carrier-Neutral Facility) พร้อมด้วยการรองรับ มาตรฐานการใช้งานในระดับ Tier III ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและ รองรับการให้บริการลูกค้าในระดับโลก  โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้

โดย EDGNEX Data Centers by DAMAC เป็นบริษัทโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี DAMAC Group เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด EDGNEX กำลังมอบรากฐานสำหรับนวัตกรรม ท้องถิ่นทั่วโลก และพลิกโฉมตลาดศูนย์ข้อมูลด้วยความเร็วและความคล่องตัวรูปแบบใหม่ ให้บริการสร้าง ซื้อ หรือเป็นพันธมิตรในเชิงรุกเพื่อตอบสนองความต้องการระลอกใหม่ด้านศูนย์บริการข้อมูล (ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.edgnex.com/ ) EDGNEX Data Centers โดย DAMAC เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับโลก ได้ประกาศการลงทุนครั้งสำคัญ โดยครั้งที่สองนี้ ได้สนใจลงทุนกับประเทศไทย ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่ง EDGNEX วางแผนที่จะลงทุนกว่า 32,000 ล้านบาท (1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Data Center) หลายโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทางด้านเทคโนโลยี AI ขั้นสูง และความสามารถในการประมวลผลข้อมูล EDGNEX ในเครือ DAMAC Group ยังเป็นผู้นำ ระดับโลก ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ Data Centers อื่นๆ อีกด้วย ในส่วนของ PROEN Corp  ผู้ให้บริการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยง แบนด์วิดท์ภายในประเทศ (Domestic Bandwidth) มากที่สุดในประเทศไทย การันตีความเสถียรและการบริการ ด้วยลูกค้าชั้นนำในกลุ่ม Streaming Content, Broadcast, Video Online และ Game Online เลือกใช้บริการ (ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.proen.co.th/th )

การแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ EDGNEX และ PROEN Corp เป็นตัวแทนในการร่วมทุนครั้งยิ่งใหญ่ คาดว่าตลาดศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ขนาดตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 14.27 พันเมกะวัตต์ในปี 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 23.2 พันเมกะวัตต์ในปี 2572 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 10.21%

ทั้งนี้ DAMAC Group ได้ร่วมทุนกับ PROEN ผ่านบริษัท ซีซอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ แอนด์ คลาวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน(JV) ระหว่างบริษัทแมกม่า โฮลดิ้ง คอมพะนี ลิมิเต็ด และ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน)  ทั้งนี้ บริษัท แมกม่าฯ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มผู้ก่อตั้ง DAMAC Group ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top