‘ไทย’ ทำเลดีที่สุดในอาเซียน ต่างชาติแห่เข้ามาตั้ง นิคมโรงงานอุตสาหกรรม ดัน!! ราคาที่ดินพุ่ง 30% สะท้อนไทยยังเนื้อหอม ในสายตานักลงทุน
(12 ต.ค. 67) ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 6 เดือนแรก ปี 2567 มากถึง 1,412 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วน เกษตร และแปรรูปอาหาร เป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าไทยยังเนื้อหอมเพียงใดในสายตานักลงทุน
และยิ่งล่าสุดการปักหมุดลงทุนของบิ๊กเทคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Google ที่เลือกนิคม WHA ยิ่งทำให้เห็นภาพความคึกคักในพื้นที่เมืองหลวงของการลงทุนอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร้อนถึงบิ๊กธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของไทยต้องควานหาที่ดินกันจ้าละหวั่นเพื่อรองรับความต้องการของต่างชาติโดยเฉพาะ 'จีน' ซึ่งขยายการลงทุนมาเป็นอันดับ 1
โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้เคยออกมาสะท้อนภาพว่า นิคมไทย-จีน ที่บริษัทได้มีการพัฒนาพื้นที่ 15,000 ไร่ 'ขายหมดแล้ว' และมุ่งขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
กระทั่งล่าสุด นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA เปิดเผยว่า ทิศทางยอดขายที่ดินในนิคม ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ยังมีการจองที่ดินของนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและเวียดนาม จากการย้ายฐานการผลิตและขยายโรงงาน
ดังนั้น เชื่อว่ายอดรับรู้รายได้จากการโอนที่ดินจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน หรือแบ็กล็อก อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าปี 2567 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และในปี 2568 อีก 50%
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับทาง Google ไปเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่ จ.ชลบุรี เพื่อสร้าง Data Center แห่งแรก
การเซ็นสัญญาครั้งนี้ รวมอยู่ในเป้าหมายใหม่ที่เราได้เพิ่มเป้าหมายในปี 2567 นี้ไปแล้ว ที่ 2,500 ไร่ โดยมูลค่าสัญญาขายที่ดินคาดว่าจะเติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตฯอยู่ 12 นิคมในไทย และอีก 1 นิคมอุตฯในเวียดนาม และแผนในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 6 โครงการ โดยเป็นโครงการพัฒนาใหม่ 4 แห่ง และขยายพื้นที่โครงการเดิมอีก 2 แห่ง โดยมีที่ดินรอพัฒนาอีกเกือบ 10,000 ไร่ในไทย
ด้านราคาที่ดิน น.ส.จรีพร ระบุว่า ได้มีการปรับขึ้นราคาที่ดิน โดยปี 2566 ปรับขึ้นไป 2 ครั้ง ปี 2567 ปรับอีก 1 ครั้ง รวมแล้วปรับขึ้นไปเฉลี่ยเกิน 20%
นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาที่ดินในนิคมปรับขึ้น 30% จากปี 2566 ราคาที่ดินเปล่าในตลาดปรับขึ้น ประมาณ 5 ล้านบาท/ไร่ บางพื้นที่ราคา 7-8 ล้านบาทไร่ หรือสูงสุดถึง 12 ล้านบาท/ไร่ ปัจจัยสำคัญจากปัจจุบันเหล่านักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน และไต้หวัน แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก ด้วยเสียงสะท้อนว่า ไทยมีจุดเด่นเรื่อง ‘อยู่แล้วปลอดภัย’ ในทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินในระยะยาว
นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ทางรัฐบาลมอบให้แล้วนั้น เหล่านักลงทุนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือเรื่องของพลังงานสะอาดในทุกรูปแบบ และระบบการคมนาคม คืออีกปัจจัยในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ลงทุน การอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ใกล้สนามบินอู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ ทำให้พื้นที่ ‘อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี’ คือโลเกชั่นที่ดีที่สุดในอาเซียน เป็นมุมมองของเอกชนที่พัฒนาที่ดินได้กล่าวไว้ พื้นที่แห่งนี้ยังคงเหลืออีกจำนวนมาก บริษัทจำเป็นต้องเร่งมือกว้านซื้อที่ที่ดีที่สุด ราคาที่ดินกำลังขาขึ้น การพัฒนาต้องรวบรวมพื้นที่ให้ได้ผืนใหญ่ที่สุด ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ จึงเป็นขนาดที่ที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน
ในครึ่งปีหลัง 2567 นี้ ความคึกคักจะไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่จะเกิดจากการลงทุนจะมหาศาลตามที่บีโอไอได้เคยประกาศไว้ว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท เพราะประเทศไทยยังคงได้เปรียบในทุกอย่าง แม้จะเสียเปรียบในเรื่องของสิทธิประโยชน์เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม แต่ท้ายที่สุดแล้วไทยจะได้สิทธิในเรื่องของการถือครองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมตลอดชีพและสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ขณะที่เวียดนามยังไม่สามารถให้สิทธิตรงนี้ได้เต็มที่ ความได้เปรียบตรงนี้ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่ยาก อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบจากความคล่องตัวในระบบการเงินระหว่างประเทศที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้มีนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศแถบอาเซียน รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เฉพาะที่ดินของ กนอ. ตลอดช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 มียอดขายพุ่งสูงถึง 5,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอด 4,943 ไร่ เหลือเวลา 3 เดือนปลายปีงบประมาณ เชื่อว่าจะมียอดขายแตะที่ 7,000 ไร่ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5,693 ไร่
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบเรื่องโลเกชั่น แต่ก็ยังมีความท้าทายจากโจทย์ใหม่ของนักลงทุน ที่ต้องการที่ดินที่มี ‘การบริหารจัดการน้ำ’ และ ‘พลังงานสะอาด’ เพียงพอรองรับการผลิต จึงเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้พัฒนานิคม’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เตรียมพื้นที่ แต่ยังต้องมองข้ามชอตถึงการเตรียมสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกตอบโจทย์นักลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve รวมไปถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Data Center และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย
ที่มา : Prachachat