Sunday, 20 April 2025
ราคาที่ดิน

'ธนารักษ์' เตรียมประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ 1 ม.ค.นี้

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตามประกาศคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ เรื่องกำหนดวันเริ่มใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการประจำจังหวัดประกาศบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่จัดทำ ทุกรอบ 4 ปี ซึ่งต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันเริ่มใช้บัญชีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และบัญญัติให้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้ ณ วันที่ 1 มกราคม ของปีที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงส่งผลกระทบโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทางคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จึงออกประกาศให้เริ่มใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.2562 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 พร้อมกันทั่วประเทศ 

 

นิวไฮ!! เปิดราคาที่ดินตึกแถวหลัง ‘แอชตัน อโศก’ ล่าสุดราคาพุ่งสูงทะลุ 18 ล้านบาทต่อตารางวา!!

(30 ก.ค. 66) จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง คอนโดแอชตัน อโศก โครงการยักษ์ใหญ่ใจกลางเมือง 51 ชั้นมูลค่า 6,481 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ออกมาน้อมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทางแก้ปัญหามี ทางเจ้าของโครงการ จะต้องหาทางออกสู่ถนนสาธารณะหรือติดถนนสาธารณะ ขนาด 12 เมตร

ล่าสุดเพจ ‘อสังหาพารวย by Palin’ เปิดราคาตึกแถวด้านหลังคอนโดแอชตันอโศก หนึ่งในทางออกสุดท้ายของอนันดา ตอนนี้ #แอชตันอโศก เปิดทางออกให้ถูกกฎหมาย

โดยการหาทางเข้าออกทางอื่นที่ไม่ใช่ด้านรถไฟใต้ดิน ซึ่งก็จะเหลือด้านซอย 19 ซึ่งปัจจุบันมีถนนซอยเล็กๆกว้างประมาณ 4 เมตร อยู่แล้ว 2 ซอย ก็จะต้องกว้านซึ้อตึกแถวที่ติดกับถนนซอยนี้ลึกไปจนถึงโครงการ เพื่อเอามาทุบทำเป็นทางเข้าออกให้ได้กว้าง 12 เมตร ตามกฏหมาย

กรณีศาลเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแอชตันอโศก พิพากษาศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องใช้สิทธิ์ ตามกฎหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชื้อ ที่ต้องฟ้องร้องบริษัท และบริษัทที่ต้องฟ้องร้อง กทม.ต่อไป

และตอนนี้ ทำให้เกิดราคาที่ดินที่แพงที่สุดในไทยตอนนี้ เรียกว่า ‘ระดับ New high’ ที่ราคาตารางวาละ 18 ล้านบาท!!

‘รองโฆษก พท.’ แจงปมราคาที่ดิน เชื่อ แวดวงอสังหาฯ เข้าใจดี ชี้!! ‘ราคาประเมิน’ อาจไม่สัมพันธ์กับ ‘ราคาซื้อขายจริง’ เสมอไป

(5 ก.ค. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนว่าน่าแปลกใจมากที่ทำไมคนที่เข้าใจการซื้อขายที่ดินดีถึงหยิบเอา ‘ราคาประเมิน’ มาวิพากษ์วิจารณ์ ‘ราคาซื้อขายจริง’ คนที่ทำงานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เข้าใจดี ว่าราคาซื้อขายจริง ไม่สัมพันธ์กับราคาประเมินเสมอไป และการที่เอกชนรายหนึ่งตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงใดในราคาใดก็ตาม ไม่ใช่เพราะเค้าเองปั่นราคาขึ้น แต่เพราะ ‘ความต้องการของตลาด’ ที่ปั่นให้ราคาขึ้นไป

ทั้งนี้ ที่ดินในย่านวิทยุ-สวนลุมพินี-หลังสวน เป็นย่านซูเปอร์ลักชัวรี (Super Luxury) หรือบางที่เรียก หรืออัลตร้าลักซ์ชัวรี (Ultra Luxury) ด้วยซ้ำ ทำให้ที่ดินในโซนนี้มีราคาซื้อขายที่ดินที่ทะลุเพดานราคาเดิม (New High) เสมอ แปลงที่เป็นประเด็นอยู่ก็เช่นกัน ภายใต้ปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

1.) เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ขาด หรือ ‘Free Hold’ แปลงท้ายๆในโซนที่ยังไม่ถูกพัฒนา ต่างจากอีกหลายแปลงที่เป็นสิทธิการเช่า หรือ ‘Lease Hold’

2.) เป็นแปลงขนาด 1 ไร่ ติดถนนกว้าง มีขนาดพอเหมาะ พัฒนาอาคารสูงได้ ศักยภาพที่ดินแบบนี้ราคาต่อตารางวา จะโดดสูงกว่าที่ดินแปลงใหญ่หลายๆไร่ ที่จะถัวเฉลี่ยราคาต่อตารางวาลง

3.) เป็นแปลงที่สามารถได้รับวิวสวนลุมพินี ที่คนทำงานอสังหาชอบขายว่าเป็น ‘เซ็นทรัลพาร์กเมืองไทย’ ได้ดีมาก

และด้วยเหตุผลเหล่านี้ต่างหากที่ปั่นให้ราคาที่ดินแปลงนี้สูง และต้องใช้บริษัทที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือเป็นผู้พัฒนา เพราะเมื่อพัฒนาเป็นคอนโดแล้วจะต้องขายอย่างต่ำราว 600,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ก็ไม่แปลกที่แสนสิริกล้าซื้อ เพราะโครงการที่เคยพัฒนาไปก่อนนี้ อย่าง 98 wireless ก็มีราคาขายไปแตะ ตารางเมตรละ 1 ล้านบาทมาแล้ว

“ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมเพียงอยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับข้อมูล และอย่าตกเป็นเครื่องมือในการปั่นให้เข้าใจผิด ผมเชื่อว่าคนทำงานอสังหาฯ เข้าใจตรงกัน ว่าธรรมชาติของราคาที่ดินในย่าน ultra luxury นี้เป็นอย่างไร” นายชนินทร์ กล่าว

‘ไทย’ ทำเลดีที่สุดในอาเซียน ต่างชาติแห่เข้ามาตั้ง นิคมโรงงานอุตสาหกรรม ดัน!! ราคาที่ดินพุ่ง 30% สะท้อนไทยยังเนื้อหอม ในสายตานักลงทุน

(12 ต.ค. 67) ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 6 เดือนแรก ปี 2567 มากถึง 1,412 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วน เกษตร และแปรรูปอาหาร เป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าไทยยังเนื้อหอมเพียงใดในสายตานักลงทุน

และยิ่งล่าสุดการปักหมุดลงทุนของบิ๊กเทคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Google ที่เลือกนิคม WHA ยิ่งทำให้เห็นภาพความคึกคักในพื้นที่เมืองหลวงของการลงทุนอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร้อนถึงบิ๊กธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของไทยต้องควานหาที่ดินกันจ้าละหวั่นเพื่อรองรับความต้องการของต่างชาติโดยเฉพาะ 'จีน' ซึ่งขยายการลงทุนมาเป็นอันดับ 1

โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้เคยออกมาสะท้อนภาพว่า นิคมไทย-จีน ที่บริษัทได้มีการพัฒนาพื้นที่ 15,000 ไร่ 'ขายหมดแล้ว' และมุ่งขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

กระทั่งล่าสุด นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA เปิดเผยว่า ทิศทางยอดขายที่ดินในนิคม ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ยังมีการจองที่ดินของนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและเวียดนาม จากการย้ายฐานการผลิตและขยายโรงงาน

ดังนั้น เชื่อว่ายอดรับรู้รายได้จากการโอนที่ดินจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน หรือแบ็กล็อก อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าปี 2567 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และในปี 2568 อีก 50%

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับทาง Google ไปเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่ จ.ชลบุรี เพื่อสร้าง Data Center แห่งแรก

การเซ็นสัญญาครั้งนี้ รวมอยู่ในเป้าหมายใหม่ที่เราได้เพิ่มเป้าหมายในปี 2567 นี้ไปแล้ว ที่ 2,500 ไร่ โดยมูลค่าสัญญาขายที่ดินคาดว่าจะเติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตฯอยู่ 12 นิคมในไทย และอีก 1 นิคมอุตฯในเวียดนาม และแผนในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 6 โครงการ โดยเป็นโครงการพัฒนาใหม่ 4 แห่ง และขยายพื้นที่โครงการเดิมอีก 2 แห่ง โดยมีที่ดินรอพัฒนาอีกเกือบ 10,000 ไร่ในไทย

ด้านราคาที่ดิน น.ส.จรีพร ระบุว่า ได้มีการปรับขึ้นราคาที่ดิน โดยปี 2566 ปรับขึ้นไป 2 ครั้ง ปี 2567 ปรับอีก 1 ครั้ง รวมแล้วปรับขึ้นไปเฉลี่ยเกิน 20%

นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาที่ดินในนิคมปรับขึ้น 30% จากปี 2566 ราคาที่ดินเปล่าในตลาดปรับขึ้น ประมาณ 5 ล้านบาท/ไร่ บางพื้นที่ราคา 7-8 ล้านบาทไร่ หรือสูงสุดถึง 12 ล้านบาท/ไร่ ปัจจัยสำคัญจากปัจจุบันเหล่านักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน และไต้หวัน แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก ด้วยเสียงสะท้อนว่า ไทยมีจุดเด่นเรื่อง ‘อยู่แล้วปลอดภัย’ ในทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินในระยะยาว

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ทางรัฐบาลมอบให้แล้วนั้น เหล่านักลงทุนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือเรื่องของพลังงานสะอาดในทุกรูปแบบ และระบบการคมนาคม คืออีกปัจจัยในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ลงทุน การอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ใกล้สนามบินอู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ ทำให้พื้นที่ ‘อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี’ คือโลเกชั่นที่ดีที่สุดในอาเซียน เป็นมุมมองของเอกชนที่พัฒนาที่ดินได้กล่าวไว้ พื้นที่แห่งนี้ยังคงเหลืออีกจำนวนมาก บริษัทจำเป็นต้องเร่งมือกว้านซื้อที่ที่ดีที่สุด ราคาที่ดินกำลังขาขึ้น การพัฒนาต้องรวบรวมพื้นที่ให้ได้ผืนใหญ่ที่สุด ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ จึงเป็นขนาดที่ที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน

ในครึ่งปีหลัง 2567 นี้ ความคึกคักจะไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่จะเกิดจากการลงทุนจะมหาศาลตามที่บีโอไอได้เคยประกาศไว้ว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท เพราะประเทศไทยยังคงได้เปรียบในทุกอย่าง แม้จะเสียเปรียบในเรื่องของสิทธิประโยชน์เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม แต่ท้ายที่สุดแล้วไทยจะได้สิทธิในเรื่องของการถือครองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมตลอดชีพและสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ขณะที่เวียดนามยังไม่สามารถให้สิทธิตรงนี้ได้เต็มที่ ความได้เปรียบตรงนี้ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่ยาก อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบจากความคล่องตัวในระบบการเงินระหว่างประเทศที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้มีนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศแถบอาเซียน รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เฉพาะที่ดินของ กนอ. ตลอดช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 มียอดขายพุ่งสูงถึง 5,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอด 4,943 ไร่ เหลือเวลา 3 เดือนปลายปีงบประมาณ เชื่อว่าจะมียอดขายแตะที่ 7,000 ไร่ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5,693 ไร่

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบเรื่องโลเกชั่น แต่ก็ยังมีความท้าทายจากโจทย์ใหม่ของนักลงทุน ที่ต้องการที่ดินที่มี ‘การบริหารจัดการน้ำ’ และ ‘พลังงานสะอาด’ เพียงพอรองรับการผลิต จึงเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้พัฒนานิคม’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เตรียมพื้นที่ แต่ยังต้องมองข้ามชอตถึงการเตรียมสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกตอบโจทย์นักลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve รวมไปถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Data Center และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top