Monday, 19 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

อบจ.ฉะเชิงเทรา โชว์ความพร้อมของ ‘โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา’ รองรับผู้ป่วยโควิด 1,200 เตียง หวังปกป้องชาวแปดริ้วจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดการติดเชื้อในครอบครัว และลดการแพร่ระบาดต่อในชุมชน

วันที่ 16 ก.ค. นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ. ฉะเชิงเทรา พร้อมทีมผู้บริหาร และนายธรรมชาติ พรมพิทักษ์ ประธานสภาฯ ลงพื้นที่ พร้อมกับสื่อมวลชน โชว์ความพร้อมของการปรับปรุงสถานที่ท่าเทียบเรืออำเภอบ้านโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมีจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ Community Isolation ใหญ่ที่สุดของ จ.ฉะเชิงเทรา

มีพื้นที่ขนาด 12,000 ตรม. มีความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออก โดยปรับปรุงสถานที่ให้มีองค์ประกอบครบถ้วน มีการแบ่งพื้นที่ เป็นห้องสำหรับทีมแพทย์พยาบาล แบบมาตรฐานอย่างพร้อมสมบูรณ์ทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย จุดคัดกรองผู้ป่วย จุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ติดตั้งเตียงจัดวางที่นอนแยกโซนชาย-หญิง ติดตั้งระบบไฟฟ้า  ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบอินเทอร์เน็ต มีระบบการระบายอากาศขนาดใหญ่ 12 ตัว พัดลมไอน้ำขนาดใหญ่ 3 ตัว พร้อมตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 8 ตู้ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ ณ อาคารโกดังสินค้า ของบริษัท บีอาร์บีพี โลจิสติกส์ จำกัด หมู่ 6 ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

นายกิตติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รอเตียงในโรงพยาบาทำให้มีผู้ป่วยตกค้างอยู่บางส่วน เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในครอบครัว และในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา จึงได้จัดสรรงบประมาณ 12 ล้านบาท ดำเนินการ รพ.สนาม  เพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วย ที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมา คัดกรองอาการและดูแลในเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล

นายกิตติ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิดเช่นนี้ ตนต้องดูแลพี่น้องชาวแปดริ้ว ในการป้องกันควบคุม ระงับโรคติดต่อโควิด-19 และดูแลสุขภาพของทุกคนให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย แจกจ่ายผ่านไปทางสาธารณสุขจังหวัด เทศบาล อบต. และ อสม. การจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 100,000 โดส ที่คาดว่าจะได้รับการส่งมอบในเร็ววันนี้ รวมถึง ปรับปรุงสถานที่ท่าเทียบเรืออำเภอบ้านโพธิ์เป็นโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมีจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีมาตรฐานแห่งนี้ ซึ่งตนจะทำทุกวิถีทาง ตามกฎระเบียบที่สามารถทำได้ แม้จะทุ่มเทงบประมาณจนหมดหน้าตักตนก็ยอม เพื่อให้พี่น้องชาวแปดริ้วรอดจากโควิด-19 ขอให้มั่นใจและขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างเต็มกำลังทุกท่าน

กรุงเทพฯ - “มูลนิธิมาดามแป้ง” มอบชุดตรวจ Antigen Test Kit แก่ รพ.รามาธิบดี เพื่อหนุน Community Isolation แบ่งเบาแพทย์ พยาบาล

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซีอีโอ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิ ขอร่วมแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองประชาชน และลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการมอบชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3,000 ชุด มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งต่อไปยังประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนภารกิจ Community Isolation ของโรงพยาบาล

ด้านมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า “ในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ มูลนิธิมาดามแป้งพยายามบูรณาการการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ ซึ่งพบว่าปัญหาหลักในปัจจุบัน คือผู้มีความเสี่ยงสูงมีจำนวนมากกว่าศูนย์บริการตรวจ RT-PCR จะรองรับได้ ส่งผลให้ยังไม่ได้รับการตรวจ นั่นอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อมากขึ้นด้วย”

“การอนุมัติใช้ Antigen Test Kit ตรวจด้วยตัวเองได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุดตอนนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนน้ำใจจากการบริจาคของประชาชน จึงขอร่วมสนับสนุนชุดตรวจแก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อโครงการ Community Isolation เราเชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบางานของคุณหมอ พยาบาล อาสาสมัคร ที่ทำงานหนักมาตลอด อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน ลดโอกาสติด ปิดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้านอีกด้วย” นางนวลพรรณ กล่าวเพิ่มเติม

มูลนิธิมาดามแป้ง ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในยามวิกฤตของสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ ร่วมกับ อำเภอสัตหีบ ปล่อยแถวขบวนรถช่วยเหลือประชาชนช่วยโควิด-19

วันนี้ (16 ก.ค.64) ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กองเรือยุทธการ ร่วมอำเภอสัตหีบ ร่วมพิธีเปิดปล่อยแถวขบวนรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมี พลเรือเอก สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอสัตหีบ รวมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมพิธี

พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า กองเรือยุทธการและอำเภอสัตหีบ ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนพื้นที่สัตหีบต้องการคือกำลังใจ ที่ได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการส่งความช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนชาวสัตหีบ จึงเกิดเป็นที่มาของกิจกรรมปล่อยแถวขบวนรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อยุ่ในกลุ่มเสี่ยงสูงถึงกลุ่มเสี่ยงต่ำ ประชาชนกลุ่มนี้คือผู้ได้รับความเดือดร้อนที่ต้องการรถรับ-ส่งเพื่แยกออกจากชุมชนที่อาศัย รอการตรวจคัดกรองไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้ต่อไป

ขบวนรถดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะสามารถอำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในภาพรวมได้เป็นอย่างดี


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ขอนแก่น – บุคลากรทางการแพทย์นับหมื่นคน เตรียมบูสเตอร์วัคซีนต้นเดือน ส.ค. ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามกำหนด ไม่สลับสูตร แม้หลายคนจะขอยกเลิกการฉีดก็ตาม

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 ก.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการของการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับบุลากรทางการแพทย์ ที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มด่านหน้าของการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19  โดยที่เข็มแรกที่บุคลากรทางการแพทย์ฉีดนั้นคือในวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งแผนการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ขอนแก่นที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณ 22,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้กับแต่ละจังหวัด ตามแนวทางการที่กำหนดโดยมี แผนการกระตุ้นที่ชัดเจนคือการใช้แอสตร้าเซเนเก้าบูสอีก 1 เข็ม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ซึ่งทุกคนที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว2 เข็มจะต้องเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ถึจะสามารถเข้ารับการบูสเตอร์โดสได้

“ขณะนี้ขอนแก่นได้เตรียมวัคซีนชิโนแวค 1 คนต่อ 2 เข็ม ซึ่งขณะนี้จากการสำรวจพบว่าหลายคนยังคงยืนยันขอรับการฉีดตามแผนเดิม ดังนั้นการบริหรจัดการวัคซีนในจังหวัด ที่กำหนดไว้คือภายในเดือน ก.ย. คนขอนแก่นจะต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมประชากรร้อยละ 70จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่สิ่งที่พบในขณะนี้คือ เริ่มมีการขอผลัดหรือขอเลื่อนการรับวัคซีนออกไป โดยเฉพาะกับการรับวัคซีนชิโนแวคเข็มที่ 1ดังนั้นทีมแพทย์จะต้องแนะนำและทำความเข้าใจกับประชาชนตามแผนงานที่กำหนด คือการให้ผู้ที่ได้รับการยืนยันการเข้ารับวัคซีนได้เข้ารับวัคซีนตามที่กำหนด  คือรับวัคซีนชิโนแวค เข็มที่ 1 เมื่อครบ 3 สัปดาห์ก็ให้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามที่กำหนด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน”

นพ.สมชายโชติ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากทุกคนยอมรับเฉพาะแนวทางการฉีดชิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ก็จะทำให้วัคซีนชิโนแวคจะเหลือ ได้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันนี้ขอนแก่นมีวัคซีนชิโนแวคอยู่ประมาณ 10,000  โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่จะเตรียมสำหรับการฉีดให้กับเข็มที่  2 ที่จะเข้าสู่ช่วงการฉีดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค. อีกทั้งจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนอีกประมาณ 22,000 โดส ในระยะนี้ หากนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 1 อย่างเดียว ก็ยังไม่ทราบว่าหากนำแอสตร้าเซเนก้า มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ให้นั้น จะทำอย่างไร และบางคนก็ปฎิเสธที่จะรับชิโนแวคทั้ง 2 เข็ม ซึ่งก็มีเกิดขึ้นแล้ว เช่นกัน

“ดังนั้นหน่วยบริการวัคซีนของทุกพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจ ว่าวัคซีนที่ดีที่สุดวันนี้ คือวัคซีนทุกคนจะต้องได้รับได้เร็วที่สุด และปฎิบัติตัวด้วยความเข้าใจดำเนินการตามแผนงานที่ฝ่ายสาธารณสุขและแพทย์กำหนด  การป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ไม่มีการป้องกันเป็นิส่งที่ไม่สมควรทำ อย่างไรก็ตามสำหรับการบูสเตอร์วัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจังหวัดหากนับรวมระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 และระห่างในภาพรวมนั้น ชุดแรกที่จะได้รับการบูสเตอร์วัคซีนก็จะสามารถเข้ารับการฉีดได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.”

DSI สนธิกำลังตรวจที่เกิดเหตุ จังหวัดนราธิวาสในคดีพิเศษที่ 22/2564

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฏาคม 2564 พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกำกับดูแล นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้มอบหมายให้ นายพิเชฐ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการแผนที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ สำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (สขว.กอ.รมน.ภาค4สน.),หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 49 (ฉก.ทพ.49),กองร้อยทหารพรานที่ 4908,สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13, สำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขาสุไหงปาดี, ปลัดอำเภอสุคิริน, ผู้ปกครองท้องที่กำนันตำบลทุ่งไทร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4  ตำบลทุ่งไทร, ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้, สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.), ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ที่ปรึกษาคดีพิเศษ และเจ้าของที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจที่เกิดเหตุ เขากูยิ ตำบลร่มไทร อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยแยกการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1) ตรวจตอไม้ที่มีการอ้างว่าตัดจากที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 21 ตอ เพื่อตรวจสอบ ชนิด ขนาด วงปี และพิกัดตอไม้ว่าอยู่ในเขตป่าหรือไม่

2) ตรวจตำแหน่ง สภาพที่ดิน และการทำประโยชน์ในที่ดินจำนวน 6 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 200 ไร่ โดยมีผู้มีชื่อเจ้าของที่ดินเป็นผู้นำชี้ ประกอบกับการเดินสำรวจของเจ้าพนักงานที่ดินว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวได้ออกโดยถูกต้องหรือไม่

โดยก่อนดำเนินการมีเจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านสาธารณสุขจากจังหวัดนราธิวาส มาทำการคัดกรองและให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันโควิด และมีเจ้าหน้าที่หน่วยทหาร EOD หน่วยสุนัขทหาร K9 มาสนับสนุนการปฏิบัติการ เพื่อการระวังความปลอดภัยตลอดเส้นทางและขณะทำการตรวจสอบ

ในการดำเนินการในคดีพิเศษที่ 22/2564 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และทำการวิเคราะห์ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไป


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

ร้อยเอ็ด - รองแม่ทัพภาค 2 นำ พสบ.ทภ.2 รุ่น 2 เยี่ยม รพ.สนาม ร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่กองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด พล.ต.สวราชย์ แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ 2 และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก หน่วยมณฑลทหารบกที่ 27 กองพันเสนารักษ์ที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 โดยมี พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปและนำตรวจนำตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจแพทย์และบุคลากรประจำโรงพยาบาล

จากนั้น พล.ต.สวราชย์ แสงผล นางธนชนก สุริยเดชสกุล และนายอรรครัตน์ รัตนจันทร์ ผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพภาคที่ 2 รุ่นที่ 2 (พสบ.ทภ.2 รุ่น2) ได้มอบเสื้อและพัดลม เพื่อใช้ในกิจกรรมโรงพยาบาลสนามโดยมีนายแพทย์อัศราวุธ ใจหาญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสมเด็จ และผู้อำนวยการสนามแห่งที่ 3 เป็นผู้รับมอบ

พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามกองทัพบกมณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เริ่มเปิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ของจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อจากแห่งที่ 1 ที่หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด และแห่งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเข้ารับการรักษาได้ จำนวน 100 เตียง โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลศรีสมเด็จ โรงพยาบาลจังหาร โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ค่ายโสกเชือก) หน่วยเสนารักษ์ หมุนเวียนมาปฏิบัติงาน

พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการของโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 นี้ จะใช้อาคารรับผู้ป่วย 2 อาคาร อาคารละ 50 เตียง ใช้บุคคลากรจากโรงพยาบาลอำเภอศรีสมเด็จ ร่วมกับโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกองพันเสนารักษ์ที่ 6 จัดวางระบบการดูแลผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิด, Video call, และเครื่องขยายเสียง ไม่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง มีการกำหนดเขตหวงห้าม เส้นทางการนำส่งผู้ป่วยชัดเจนเพื่อให้ปลอดภัยต่อกำลังพลและครอบครัวของหน่วยที่อาศัยอยู่ภายในค่าย ในการนี้รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบริจาคจากภาคส่วนต่างๆสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย

"ภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติตามแผนการดูแลผู้ติดเชื้อที่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ (Home Isolation) ของหน่วยในค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยสามารถดำเนินการดูแลกำลังพลและครอบครัวให้ปลอดภัยตามมาตรการพิทักษ์พลด้วย" พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย

กระบี่ – คลัสเตอร์โรงเรียนปอเนาะ ยอดติดเชื้อผู้ป่วยลด ขณะที่จังหวัดกระบี่เตรียมผุดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 รับผู้ป่วยติดเชื้อกลับบ้าน

ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 จ.กระบี่ ได้รายผลการตรวจ เชื้อกลุ่มเสี่ยง ข้อมูล ณ เวลา 23.00 น. วันที่ 14 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมเป็น 882 ราย กำลังรักษา 471 รายรักษาหายกลับบ้าน 411 ราย โดยคลัสเตอร์ นักเรียนโรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์ ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเพียง 2 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันนักเรียนโรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์

นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ ในพื้นที่ อ.เมือง 4 ราย เป็นนักเรียนจากโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยาจังหวัดปัตตานี 1 ราย จากพื้นที่เสี่ยง กทม. 2 ราย และมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช 1 ราย อำเภออ่าวลึก 1 ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง กทม.อำเภอเกาะลันตา 1 ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง กทม.อำเภอปลายพระยา 1 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากจังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเหนือคลอง 1 รายสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน

สำหรับการฉีดวัคซีน ป้องกันไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กระบี่ เป้าหมายฉีดวัคซีน จำนวน 352,476 คน ฉีดแล้ว 84,191 คน คิดเป็นร้อยละ 23.87 ขณะที่บางคนตั้งข้อสงสัยปนคำถาม ในโซเชียลว่า! “ยังหนักไม่พอหรือ มีบางกลุ่มทำโครงการ “รับผู้ติดเชื้อ กลับบ้าน” มาอีก ไป copy จังหวัดอื่นมา จนลืมข้อจำกัดของจังหวัดเราไป เช่น กระบี่ เป็นพื้นที่สีแดง ชาวบ้านที่ได้ ฉีดวัคซีน เข็มแรก ก็ยังมีไม่ถึง 50% บุคลากรทางการแพทย์ พอไหม เขาจะไหวรึ หากคุมไม่อยู่จนระบาดเป็นพื้นที่แดงเข้ม ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตามมาเดือดร้อนมีอีกมาก ใครจะรับผิดชอบ หากผู้ติดเชื้อ กักตัวในโรงพยาบาลสนามแล้วหนีออกมา (เหมือนที่เคย) แล้วไประบาด จะทำไง การนำผู้ติดเชื้อกลับเวลานี้ เป็นการไปเพิ่มความเครียดให้คนในพื้นที่หรือไม่ จิตวิทยามวลชน สำคัญ และที่สำคัญไปกว่าคือ ชาวบ้านที่เขายังไม่ได้ฉีดเข็มแรกก็มีมาก และโดยเฉพาะรอบ ๆ โรงพยาบาลสนาม อย่าให้ไปเข้าสำนวนโบราณที่ว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็มาแทรกเลยครับ สงสารประชาชน”

ขณะที่ จ.กระบี่ ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ขึ้นที่ภายใน ม.กีฬา วิทยาเขตกระบี่ ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ รับผู้ป่วยได้ จำนวน 400 เตียง คาดว่า ไว้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามโครงการรับผู้ป่วยกลับบ้าน


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

สงขลา - รพ.สนามศูนย์ประชุมนานาชาติ ม.อ.เร่งปรับพื้นที่รองรับผู้ป่วยเพิ่มเป็น 563 เตียง และเตรียมรับคนไข้กลุ่มสีเหลือง

โรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เร่งปรับพื้นที่รองรับผู้ป่วยเพิ่มเป็น 563 เตียง และลดเวลาในการนอนโรงพยาบาลสนามจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน สำหรับคนไข้กลุ่มสีเขียว และเตรียมพื้นที่รองรับคนไข้กลุ่มสีเหลือง จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นับเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งเดียวของจังหวัดสงขลาที่มีศักยภาพรองรับคนไข้กลุ่มสีเหลือง

​นายแพทย์บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย กำลังดำเนินการขยายโรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จากเดิมพื้นที่ห้องอาหารที่รองรับได้ 60 เตียง และห้องประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ที่รองรับได้ 200 เตียง จะขยายไปยังห้องประชุมคอนเวนชั่น สำหรับรองรับคนไข้ชายจำนวน 132 คน  และคนไข้หญิงจำนวน 176 คน  และจะกันพื้นที่เพื่อรองรับคนไข้กลุ่มสีเหลืองจำนวน 55 คน นับเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งเดียวของจังหวัดสงขลาที่มีศักยภาพรองรับคนไข้กลุ่มสีเหลืองได้  และจัดการกรองอากาศเพื่อทำลายเชื้อโรค และฝุ่นละอองด้วย HEPA Filter. ตามมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาล  รวมทั้งจะฆ่าเชื้อด้วยพลาสมา อากาศที่ออกจากที่นี่จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับชุมชน เชื้อโรคไม่แพร่กระจาย น้ำเสียก็จะได้รับการบำบัด ก่อนปล่อยออกไปเช่นกัน

​ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดสงขลา มีคนไข้โควิด-19 จำนวน 200-300 คน เป็นคนไข้สีเหลือง 15 %  และคนไข้กลุ่มสีแดง 1% ที่เหลือเป็นคนไข้กลุ่มสีเขียว คนไข้กลุ่มสีเขียวคือผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการ ส่วนคนไข้กลุ่มสีเหลือง คือคนไข้ที่เริ่มมีอาการ คนไข้กลุ่มสีเหลืองและสีแดง จะส่งเข้าโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลอื่น ๆ ส่วนคนไข้กลุ่มสีเขียวให้เข้าไปอยู่โรงพยาบาลสนามเป็นเวลา 14 วัน จากนี้ไปจะลดเหลือ 10 วัน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบ

​คนไข้กลุ่มสีเหลืองที่มีจำนวน 15% หากดูแลไม่ทันท่วงที ก็จะกลายเป็นคนไข้กลุ่มสีแดงที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ที่ต้องใช้ทีมแพทย์โรคติดเชื้อ แพทย์โรคปอด แพทย์เวชบำบัดวิกฤต ต้องมีแพทย์และพยาบาลทีมใหญ่ดูแล นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาคนไข้ที่ติดโควิด ถ้าต้องไปกักตัว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถรับมือได้ เราจึงจำเป็นต้องเตรียมขยายพื้นที่ให้พร้อมรองรับคนไข้กลุ่มสีเหลืองที่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด ต้องเอกซเรย์ปอดถี่ขึ้น และกินยาต้านไวรัส รวมทั้งต้องเตรียมสำหรับคนไข้กลุ่มเขียวที่มีอาการแย่ลง มีอาการหายใจหอบเหนื่อย

​โรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติ ม.อ.ที่เริ่มรับผู้ป่วยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564  ขณะนี้มีเตียงกระดาษบางส่วนเริ่มชำรุด ที่อยู่ในโซนห้องอาหารเดิม ต้องเปลี่ยนใหม่

​ในช่วงนี้จะเป็นคนไข้กลุ่มครอบครัว อายุ 30-40 ปี สำหรับคนไข้กลุ่มสีเขียว ที่พักรักษาตัว เมื่อออกจากโรงพยาบาลสนาม เราจะมอบผ้าปูที่นอน ปอกหมอน ของคนไข้ให้นำกลับบ้านไปด้วย คนไข้แต่ละคนจะมีไลน์กับพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งสิ่งที่ต้องการ เราติดตั้งเครื่องซักผ้าให้บริการคนไข้ชายและหญิงอย่างละ 1 เครื่อง มีโทรทัศน์ให้ดู พร้อมอินเตอร์เน็ต มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล 24 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ทหารมาดูแลรักษาความปลอดภัยภายนอกอาคาร โรงพยาบาลสนาม จะให้ความมั่นใจในความปลอดภัยและให้ความสะดวกสบาย

​“ขอให้ทุกคนฉีดวัคซีนให้มากที่สุด หากติดเชื้อโควิด-19 อาการจะไม่รุนแรง ขณะนี้ที่จังหวัดสงขลา ยังเป็นโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ขอให้ทุกท่านเดินทางน้อยที่สุด หากไม่จำเป็นไม่ต้องเดินทาง การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นสาเหตุของวัคซีนกลายพันธุ์ การดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาลสนามคาดว่าต้องดูแลถึงสิ้นปี 2564 เมื่อถึงจุดหนึ่งเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 แบบที่เราอยู่กับไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก”นายแพทย์บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา กล่าว

​คุณดารณี ทองประชุม ผู้อำนวยการศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุม ยินดีให้บริการสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลสนาม จากเดิมที่มีผู้มาใช้บริการศูนย์ประชุมฯเฉพาะช่วงกลางวัน เมื่อปรับเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง ต้องปรับเครื่องปรับอากาศ ไม่ให้เย็นเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก ต้องมีการพักการทำงานของเครื่องปรับอากาศ และไฟฟ้าส่องสว่างให้พอดี เดิมเปิดเครื่องปรับอากาศเวลา 9.00 น.และปิดเครื่องปรับอากาศ 03.00 น. เมื่อขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น จะปรับเปลี่ยนเวลาเปิดมาเป็นเวลา 6.00 น และปิดเครื่องปรับอากาศ 03.00 น. มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการอำนวยการหมุนเวียนมาอำนวยความสะดวก และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง เมื่อหมดภารกิจโรงพยาบาลสนาม จะดำเนินการฆ่าเชื้อภายในอาคารศูนย์ประชุมฯพร้อมทั้งระบบปรับอากาศ 1-2 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนเปิดให้บริการ

กาฬสินธุ์ - ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมเกราะป้องกันให้นักรบชุดขาว ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันโควิด ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้รับมอบ โดยมีนายสนั่น พงศ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนจากทุกหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ เป็นการจัดหาโดยทางจังหวัด ได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อ “โควิด” จ.กาฬสินธุ์  เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พบการระบาดครอบคลุมไปทั้ง 18 อำเภอ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยชนิด N95  ชุดป้องกันร่างกาย Cover ALL  เสื้อกาวน์ชนิดกั้นน้ำ  ถุงมือยาง ถุงมือไนไตร  แว่นตาครอบแบบใส รวมไปถึงชุดตรวจบริเวณโพรงจมูกและช่องปากในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่จะสามารถให้นักรบชุดขาวมีความปลอดภัย และสามารถตรวจหาป้องกันได้อย่างมีคุณภาพ

ด้าน นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดหาอุปกรณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์และตรงความต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว และนับจากนี้ก็จะทำให้ทีมแพทย์ พยาบาล มีอุปกรณ์ป้องกัน เนื่องจากในขณะนี้ยังพบว่ามีพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ในอนาคตจะมีการผลักดันโรงพยาบาลสนามให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และที่เดินทางมารักษาตัวมีกว่า 30 รายต่อวัน ทำให้ทีมแพทย์พยาบาล อสม.รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยต่างๆ ต้องทำงานกันอย่างหนัก ขณะที่ในกลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ก็มีการนำน้ำดื่ม อาหารไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานที่ต่างๆ เช่นกัน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้ (15 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 59 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 12 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 42 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2  ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 3 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงถึง 735 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 467 ราย รักษาหายแล้ว 264 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 4 ราย

สุราษฎร์ธานี - เที่ยวบินปฐมฤกษ์เกาะสมุยพลัสโมเดลกลุ่มแรก 8 คนจาก 5 ประเทศถึงแล้ว ‘พิพัฒน์’ เตรียมเปิดเชื่อมโยงท่องเที่ยว 4 จังหวัดภูเก็ต-เกาะสมุย-กระบี่-พังงา

เมื่อเวลา 11.35 น.วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ท่าอากาศยานสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ร่วมต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กรุงเทพฯ-สมุย เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรกจำนวน 8 คน จากประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน สิงคโปร์ อังกฤษ และฮ่องกง ซึ่งหลังเสร็จพิธีการตรวจสอบเอกสารแล้ว ทั้งหมดได้เดินทางโดยรถตู้เฉพาะเดินทางไปยังโรงแรมที่พักที่กำหนดไว้ โดยในวันที่ 16 ก.ค.64 จะเข้ามาอีก 4 คน จากไต้หวันและญี่ปุ่น เป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า วันนี้เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ได้มีความพร้อมเปิดบ้านรอรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา หลังเว้นว่างจากการท่องเที่ยวมาปีกว่าธรรมชาติได้คืนความสมดุลได้พบโลมา เต่าทะเล และชายหาดต่างๆมีความสมบูรณ์ เช่น ขณะนี้หาดเฉวงมีความสวยงามมากและคลื่นลมสงบ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเป็นกลุ่มที่มีความปลอดภัยได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เมื่อมาถึงจะมีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีก 3 ครั้งและการเดินทางไปจะมีรถตู้เฉพาะ ส่วนโรงแรมที่พักเป็นพื้นที่เฉพาะเช่นกัน

“คนไทยที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือมีผลตรวจโควิดเป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ จึงเชื่อมั่นได้การเปิดท่องเที่ยวจะไม่มีการนำเชื้อเข้าสู่เกาะสมุย ซึ่งประชากรบนเกาะสมุยได้รับการฉีควัคซีนเข็มที่ 1 กว่า 94 เปอร์เซ็นต์ และเกาะพะงัน เกาะเต่ามีการฉีดกว่า 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ให้ความมั่นใจได้ประชาชนทั้ง 3 เกาะมีภูมิคุ้มกันพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดีให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว ” นายวิชวุทย์ กล่าว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นโยบายเปิดประเทศ 120 วัน จุดแรกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเปิดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.64 ซึ่งการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อก หรือสมุยพลัสโมเดลในอนาคตจะมีที่กระบี่ เกาะพีพี ไร่เล เกาะไหง ที่พังงา เขาหลัก ตรงนี้นโยบายของนายกรัฐมนตรี คิดว่า วันนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ หลายจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19แบบควบคุมได้เช่นเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ควรจะทำเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในพื้นที่ไหนบ้าง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ในปี 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปคิดว่าควรจะเปิดการท่องเที่ยวที่ไหนก่อน จึงเริ่มที่ภูเก็ตก่อน เพราะมีรายได้จากนักท่องเที่ยว 4.7 แสนล้านบาทจากรายได้การท่องเที่ยวทั้งประเทศ 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2562 แต่ถ้าหากรวมเป็น 4 จังหวัดจะเพิ่มถึง 8 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ถือเป็นรายได้ที่มาก จึงเป็นที่มาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล ซึ่งตนเองได้ลงพื้นที่มาก่อนหน้านี้ 3 เดือนโดยเฉพาะที่เกาะสมุยมาดูแล้วหลายรอบมาเก็บข้อมูลและทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเกาะสมุยนำวัคซีนมาฉีด 70 เปอร์เซ็นต์ชาวบ้านก็ยินดี

“ ที่ภูเก็ตก่อนจะเปิดแซนด์บ็อกซ์ ได้เปิดโครงการ SPV (สเปเชี่ยลทัวร์ริสต์)ในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 10,000 -12,000 คน ในขณะที่ 14 วันภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 6,000 คน ตรงนี้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ถือว่าประสบความสำเร็จดีมาก และการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อโควิด-19เพียง 7 คนเท่านั้นเองไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดูแลตัวเองอย่างดี จึงเป็นความท้าทายของจังหวัดภูเก็ต เมื่อภูเก็ตและเกาะสมุยเดินได้ในอนาคตเราจะไปที่กระบี่และพังงาต่อ ” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า การริเริ่มเปิดเกาะสมุยพลัสโมเดล เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรมที่นำเสนอมาตรการ SOP ต่อศบค.เป็นความตั้งใจของผู้ประกอบการเกาะสมุยที่สามารถนำเสนอได้ครั้งเดียวผ่านการพิจารณาได้ ส่วนการประชาสัมพันธ์ออกไปอยู่ที่การเดินทางหรือไฟลท์บินไปลงที่สุวรรณภูมิหรือภูเก็ตก่อนมาเกาะสมุย ซึ่งเป็นข้อดีที่นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาไม่ต้องแห่เข้ามามาก เราจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ได้หารือทางประเทศสิงคโปร์ถ้าหากมีนักท่องเที่ยวที่เข้าไปสิงคโปร์ให้บางกอกแอร์เวย์ไปรับเข้าเกาะสมุยมาได้จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น

“ที่สำคัญการที่จะผนวกพื้นที่ 4 จังหวัดเข้าด้วยกันน่าจะเป็นไปได้ ภูเก็ตมีพร้อมสนามบินไปภูเก็ต 1 สัปดาห์ทำเส้นทางซีลรูทมาต่อที่เกาะสมุยอีก 7 วันครบ 14 วันก็จะสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่อจังหวัดอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งจะหาหารือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาว่าจังหวัดไหนที่นักท่องเที่ยวควรไปเที่ยวต่อได้ กรณีชั่วโมงนี้ เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑลยังไม่ควรไปเพื่อให้นักท่องเที่ยวปลอดภัย ซึ่งโครงการนี้จะเกิดในอนาคต” 

 ด้านนายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เปิดเผยว่า วันนี้เกาะสมุยเริ่มต้นด้วย 3 เที่ยวบินต่อวันเป็นเที่ยวบินจากต่างประเทศโดยไม่ต้องกักตัวที่กรุงเทพฯ ในช่วงแรกเข้ามา 12 คนและเดือนแรกนี้มีการจองอยู่ที่ 33 คนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากระบบหนังสือการให้เข้าประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 2 วันที่แล้ว ฉะนั้นหลังจากนี้จะเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์การขายให้ทั่วโลกทราบว่า เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ได้เปิดการท่องเที่ยวแล้ว

นายรัชชพร กล่าวว่า การที่มีสมุยพลัสโมเดลเป็นที่แรกถ้าใช้ได้ผลจะนำไปใช้ที่อื่นๆด้วย เนื่องจากการที่อยู่ในโรงแรมบนเกาะสมุย 7 วันจะทำให้ปลอดภัยต่อประชาชนที่อยู่บนเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และนักท่องเที่ยวชาวไทยยังเที่ยวได้เหมือนเดิมไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ จุดนี้จะเป็นโมเดลก่อนซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้น ศปก.เกาะสมุยจะให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมทั้งท่องเที่ยวชุมชน สภาเกษตรกรนำสินค้าผักผลไม้นำมาให้ผู้ประกอบการช่วยเหลือต่อ และหลัง 7 วันเมื่อนักท่องเที่ยวปลอดภัยอยากเสนอให้ลงไปยังเที่ยวชุมชน มีระบบติดตามโควิดแอพริเคชั่นระบบไฮบริด ทั้งระบบและบุคคลติดตาม มั่นใจได้ว่าการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันหมู่ทั้ง 3 เกาะเกิน 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว และปัจจัยความสำเร็จสำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการช่วยเคร่งครัดทางสาธารณสุขเป็นหลัก

“ เราคาดหวังอยากให้สมุยพลัสโมเดลเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเข้าใจได้ว่าช่วงแรกนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่มาก แต่เมื่อได้ทำการตลาดมากขึ้นด้วยเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มีชื่อเสียงอันดับโลกอยู่แล้วและภูเก็ตกับเกาะสมุยเป็นที่แรก ๆ ในเอเชียที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้มาพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีโครงการสุขสมุยทำต่อจากนี้ ” นายรัชชพร กล่าว

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เที่ยวบินปฐมฤกษ์เปิดการท่องเที่ยวสมุยพลัสโมเดลวันนี้ (15 ก.ค.64)เป็นกลุ่มสื่อมวลชนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชิญมาติดตามความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากนี้จะเน้นเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วหรือกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง เป็นกลุ่มลูกค้าเก่าของทั้ง 3 เกาะ เช่นกลุ่มยุโรป กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มครอบครัว

“ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในห้วงระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคมถึง 15 สิงหาคมนี้ จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 คน อาจจะเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก แต่เพื่อให้เกาะสมุยดำเนินการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้วค่อยเร่งมาตรการด้านการท่องเที่ยว ขณะที่จะมีการเชื่อมโยงท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดโดยเปิดเส้นทางการบินระหว่างเกาะสมุยกับเกาะภูเก็ตแบบวันเว้นวัน และมีแผนเปิดทำการบินระหว่าง 2 เกาะทุกวันในเดือนสิงหาคมนี้ ”นายฉัททันต์ กล่าว

รายงานเพิ่มเติมว่า โรงแรมบนเกาะสมุย ปัจจุบันเปิดให้บริการ 177 แห่ง จำนวน 8,629 ห้องจากจำนวนทั้งหมด 671 แห่ง 25,000 ห้อง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องอยู่ในพื้นที่ 3 เกาะอย่างน้อย 14 วัน จึงจะออกไปท่องเที่ยวพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ ใน 7 วันแรกต้องเข้าพักโรงแรม Area Quarantine (AQ) ที่มี 19 แห่ง ประมาณ 400 ห้อง เมื่อ ครบ 3 วันแรกจึงจะสามารถออกท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด (Sealed Routes) ได้ โดยมีบริษัททัวร์และเรือที่มีมาตรฐาน Samui Plus และวันที่ 8-14 จะเข้าพักโรงแรมที่ได้รับเครื่องหมาย SHA Plus(มาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย) ที่มี 320 แห่ง หรือไปเที่ยวพักบนเกาะพะงันกับเกาะเต่าได้

ส่วนเที่ยวบินสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กรุงเทพฯ-สมุย ไป-กลับ วันละ 3 เที่ยวบิน จะรับผู้โดยสารต่อเครื่องจากต่างประเทศเป็นการเฉพาะ ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม-ตุลาคม 2564 มีผู้โดยสารจองตั๋วไว้แล้วเบื้องต้น 80 คน ประกอบด้วยเดือน กรกฎาคม 33 คน สิงหาคม 20 คน กันยายน 10 คน และตุลาคม อีก 17 คน 

สำหรับวันแรกของการเปิดโครงการฯ มีผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาจำนวนรวม 11 คน จากเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของบางกอกแอร์เวย์ส กรุงเทพฯถึงสมุยเวลา 11.35 น. จำนวน 6 คน จากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี, เที่ยวบินที่ 2 ถึงสมุยเวลา 16.05 น. 1 คนจากสิงคโปร์ และเที่ยวบินที่ 3 ถึงสมุยเวลา 18.40 น. 4 คนจากฮ่องกง ส่วนวันที่ 2 (16 ก.ค.) มีผู้โดยสาร 4 คน จากไต้หวัน 3 คน เป็นเจ้าของธุรกิจ 2 คน และมาทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วย 1 คน และจากญี่ปุ่นอีก 1 คน เป็นนักธุรกิจ


ภาพ/ข่าว  สรเดช ส้มเกลี้ยง สุราษฎร์ธานี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top