Sunday, 18 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

ชลบุรี - ศรชล.บูรณาการร่วมกำหนดแนวทางควบคุมป้องกันโควิด เรือช่วยรบสหรัฐ ขอเข้าราชอาณาจักร เพื่อการซ่อมบำรุงเรือ

เมื่อ 16 ก.ค.64  ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดชลบุรี (ศรชล.จว.ชบ.) โดย น.อ.ณัฐวุฒิ งามวงศ์วาน รอง ผอ.ศรชล.จว.ชบ. ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการ (ศรชล.ภาค 1, ศรชล.จว.ชบ., ศคท.จว.ชบ., อ.ศรีราชา, สจป.ศรีราชา, ตม.แหลมฉบัง, ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือศรีราชา-เกาะสีชัง, บ.ยูนิไทย, ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์, ตัวแทนเรือ และ ผชท.สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย) เพื่อร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง ศบค. เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 9) ข้อ 1 (5) (5.1) และในกรณี เรือช่วยรบสัญชาติอเมริกา (เรือ USNC Charles Drew) ขอเข้าราชอาณาจักร เพื่อการซ่อมบำรุงเรือ ณ ห้องประชุม สนง.ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ อ.ศรีราชา จว.ชลบุรี

โดยมี พล.ร.ต.สมพงษ์ ศรอากาศ ผอ.สน.ฝอ.ศรชล.ภาค 1 เป็นประธาน ซึ่งมีมติในที่ประชุมดังนี้

1. มาตรการก่อนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ของ เรือ USNC Charles Drew ด่านควบคุมโรคฯ ตรวจสอบแล้ว เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด

2. เรือ USNC Charles Drew ยินยอมให้คนประจำเรือทั้งหมดเข้ารับการกักกันโรคบนเรือ จำนวน 14 วัน

3. เรือ USNC Charles Drew ยินยอมให้คนประจำเรือทั้งหมดรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง โดย ร.พ.คู่สัญญา ในการกำกับของด่านควบคุมโรคฯ

4. เมื่อการเตรียมการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ร.พ.คู่สัญญา พร้อมแล้ว อนุญาตให้ เรือ USNC Charles Drew เข้าเทียบท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ โดยให้จัดทำเขตกั้นบริเวณจอดเรือให้ชัดเจน และจัด จนท.ตรวจสอบตลอด 24 ชม.

5. เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

5.1 ตรวจครั้งที่ 1 หลังจากเรือเทียบท่าแล้ว

5.2 เมื่อผลตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 ของระยะเวลากักกันโรค

5.3 เมื่อผลตรวจครั้งที่ 2 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12-13 ของระยะเวลากักกันโรค

6. เมื่อกักกันโรคครบ 14 วันแล้ว ไม่พบการติดเชื้อของคนประจำเรือ ผู้ประกอบการสามารถขึ้นเรือดำเนินการซ่อมทำได้

7. การส่งเสบียงในระหว่างการซ่อมทำ ให้ดำเนินการโดยอยู่ในการกำกับของด่านควบคุมโรคฯ

8. หลังจากเรือเข้าเทียบท่าแล้ว ให้ตัวแทนเรือ ทำหนังสือขออนุญาต ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี เพื่อขอเข้าประเทศ (เฉพาะพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในกรณีคนประจำเรือทั้งหมดตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ)


ภาพ/ข่าว สนง.ศรชล.ภาค 1

ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

ปทุมธานี - เตรียมความพร้อมเปิดศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี (รับผู้ป่วยโซนสีเขียว)

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.00 น.ณ มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายจักรินทร์ สุขสมบูรณ์ (คุณโก๊ะ)และ ร้อยโทบรรณ์ฑูรย์ ผลสุขขา

(หมวดฑูรย์) พร้อมด้วย ปลัดอำเภอลาดหลุมแก้ว กำนันตำบลหน้าไม้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหน้าไม้ ให้การต้อนรับ ด้านร้อยโทบรรณ์ฑูรย์ ผลสุขขา ได้กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19ภายในตำบลหน้าไม้และชุมชนต่าง ๆ ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้ป่วยได้ทำการกักตัวรักษาตัวอยู่ภายในบ้าน ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทางกลุ่มใจอาสาไพลิน

นำโดยคุณจักรินทร์ สุขสมบูรณ์ และกระผมได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าปรึกษานายปรีดา เดชดี กำนันตำบลหน้าไม้เพื่อหาสถานที่ในการแยกผู้ป่วยที่จะติดเชื้อเพื่อเป็นการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและทางกำนันปรีดา เดชดี ได้เรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ ในตำบลหน้าไม้ เพื่อหาสถานที่ ที่จะทำศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้ ได้ข้อสรุปว่าจะใช้มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หมู่ 1 ต.หน้าไม้ แห่งนี้ เป็นศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้เพื่อคัดแยกผู้ป่วยในโซนสีเขียว พักคอยดูอาการ

และกระผมได้ประสานไปทางอำเภอลาดหลุมแก้ว โรงพยาบาลสนามตำบลหน้าไม้ในการจัดตั้งศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณวัฒนา สุจิตราณรักษ์ ประธานชมรมอุตสาหกรรมลาดหลุมแก้ว และสมาชิกในชมรมฯ ได้สนับสนุนตียงและที่นอนจำนวน 70 เตียงในเบื้องต้นและในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น.จะทำการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะได้เปิดศูนย์พักคอยให้ได้โดยเร็วท่านได้กล่าวทิ้งท้ายไว้


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

ปส.รวบขบวนการค้ายาเสพติดจากภาคเหนือ มุ่งเข้า กทม. สะกดรอยจับกุมได้ที่บริเวณถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32) ได้ของกลาง 6.2 ล้านเม็ด

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1– กก.2 บก.สกส. บช.ปส.อำนวยการโดย พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ปส. , พล.ต.ต.พรชัย เจริญวงศ์ , พล.ต.ต.นพดล ศรสำราญ , พล.ต.ต.สุศักดิ์ ปรักกมะกุล , พล.ต.ต. อนุภาพ ศรีนวล รอง ผบช.ปส. , พล.ต.ต.พลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ ผบก.สกส.บช.ปส. , พ.ต.อ.วัสสา วัสสานนท์ , พ.ต.อ.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร , พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิช รอง ผบก.สกส.บช.ปส. ได้บูรณาการร่วมกันทำการจับกุมตัว ขบวนการจำหน่ายยาเสพติด จากภาคเหนือ ได้ผู้ต้องหาได้จำนวน 3 คน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่า นายสุทัศน์ แซ่ว่าง , นายหวาน ลาเซ และ นายกิตติพิชญ์ แซ่ม้า กับพวก มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพฤติการณ์ร่วมกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ทางภาคเหนือ และจะนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าในพื้นที่ทางกลางและปริมณฑล ตามสั่งการของผู้ว่าจ้างอยู่เป็นประจำ

โดยสายลับแจ้งว่าในระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2564 จะร่วมกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ จว.เชียงราย เพื่อนำไปส่งมอบให้กับลูกค้าตามสั่งการของผู้ว่าจ้าง โดยจะใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อ TOYOTA แบบมีหลังคาด้านท้าย (แครี่บอย) สีเทา หมายเลยทะเบียน บพ 4127 พะเยา และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ CHEVROLET รุ่น OPTRA สีดำ หมายเลขทะเบียน กษ 7674 เชียงราย เป็นยานพาหนะในการขนลำเลียง จึงวางแผนในการตรวจค้นจับกุมบุคคลดังกล่าวหากพบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจริง

โดยในช่วงเช้าวันนี้ ตำรวจชุดจับกุมพบรถยนต์ทั้งสองคันในพื้นที่ จว.สิงห์บุรี ตรงกับที่สายลับแจ้ง จึงได้สะกดรอยติดตาม และให้ทำการตรวจค้นจับกุมในที่ปลอดภัย และเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมสามารถสกัดกั้นรถยนต์ทั้งสองคันได้ที่บริเวณลานจอดรถยนต์ ตลาดกลางกุ้ง ถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32) ตำบลหันตรา อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยผู้ต้องหา 3 ราย 1. นายหวาน ลาเซ อายุ 23 ปี ที่อยู่ 257 หมู่ 9 ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย 2. นายสุทัศน์ แซ่ว่าง อายุ 23 ปี ที่อยู่ 0/89 หมู่ที่ 07 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายและ 3. นายกิตติพิชญ์ แซ่ม้า อายุ 21 ปี ที่อยู่ 203 หมู่ที่ 12 ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยของกลาง จำนวน 4 รายการ 1. ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า จำนวน 3,100 มัด รวมเป็นยาบ้าเบื้องต้นทั้งสิ้นประมาณ 6,200,000 เม็ด ตรวจยึดได้จากรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อ TOYOTA แบบมีหลังคาด้านท้าย (แครี่บอย) สีเทา หมายเลขทะเบียน บพ 4127 พะเยา รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ CHEVROLET รุ่น OPTRA สีดำ หมายเลขทะเบียน กษ 7674 เชียงราย จำนวน 1 คัน โทรศัพท์มือถือ จำนวน 5 เครื่อง โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกัน มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้น ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสามคนพร้อมของกลาง มาที่ กก.2 บก.สกส.บช.ปส. เพื่อรอทำการขยายผลการจับกุม และทำการจับกุมผู้รับปลายทางต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

สมุทรปราการ - ทร. ส่งกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น

โฆษก ทร.เผย เจ้ากรมสวัสดิการและประธานกรรมการมวยสากลสมัครเล่นกองทัพเรือ ส่งกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิงกองทัพเรือ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ญี่ปุ่น

วันที่ 17 ก.ค.64 พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00 น. พลเรือตรี ดุลยพัฒน์ ลอยรัตน์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ/ประธานกรรมการกีฬามวยสากลของ กองทัพเรือ ได้มาส่ง อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง รุ่น 60 กิโลกรัม (ไลท์เวท) ในการเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น ในการนี้ได้อวยพรขอให้ประสบความสำเร็จและนำชื่อเสียงกลับประเทศ โดยมี ดร.สมชาย พูนสวัสดิ์ ประธานฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะนักมวยฯ ทีมชาติไทยในครั้งนี้

สำหรับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2021” ที่ประเทศญี่ปุ่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2564 กำหนดชิงชัยกัน 33 ชนิดกีฬา 50 ประเภท รวมแข่งขันทั้งหมด 339 รายการ


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ

นิราข / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ ร่วมจิตอาสา ศิลปิน และอส.ภาคประชาชน อัญเชิญสิ่งของพระราชทาน มอบผู้นำชุมชนส่งให้ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ร่วมกับศิลปิน ฝันเด่น จรรยาธนากร อาสาสมัครภาคประชาชน กลุ่มใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง น้ำดื่ม จำนวน 1,400 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ นันทอุทยานสโมสร ฐานทัพเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2564 เวลา 11.00 น.     

และในวันเดียวกันช่วงเวลา 12.00 น. พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง เครื่องอุปโภค บริโภค จำนวน 300 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนมัสยิดสวนพลู เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ  มัสยิดสวนพลู เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

สำหรับกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล โดยตั้งครัวสนามเคลื่อนที่แจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 นี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคล ห้วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

กองทัพเรือ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดย กองทัพเรือ ได้จัดรถครัวสนาม เพื่อจัดทำอาหารกล่อง และน้ำดื่ม ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สนับสนุนสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค นำไปมอบให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานของกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

สงขลา –ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ นำถุงยังชีพ 50,000 ถุง แจกจ่ายแก่พี่น้องชาวภาคใต้ สู้ภัยโควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (18 ก.ค.64 ) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยการมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลงพื้นที่โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ อ.เมือง จ.สงขลา พร้อมด้วย นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายจักรธร สุริแสง นายกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง นายร่อเซ็ง ไหรเจริญ นายกเทศบาลตำบลเกาะแต้ว นายสรรเพชญ บุญญามณี ปชป.เขต 1 สงขลา ผู้ช่วยดำเนินงานประธานรัฐสภา และนายนิพัฒน์ อุดมอักษร เลขานุการนายก อบต.สงขลา/นายกสมาคม SME จังหวัดสงขลา ตลอดจนตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมปล่อยขบวนรถ "คาราวาน ประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด"

โดย ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด นี้จะนำถุงยังชีพจำนวนกว่าห้าหมื่นถุง ไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องชาวภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งถุงยังชีพดังกล่าวได้รับการจัดสรรและบริจาคจากมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รวมถึง ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้นำมาส่งมอบให้เพื่อนำไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งภายในถุงยังชีพจะบรรจุ ข้าวสารหอมมะลิเกรดคุณภาพ 5 กก. ปลากระป๋อง หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยจะมีตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์แต่ละพื้นที่นำไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งภาคใต้ และ ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ได้รับมอบหมายจากท่านจุรินทร์ ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในการปล่อยขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาร ปลากระป๋องและหน้ากากอนามัย ในการที่จะส่งไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์โดยมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ฯ ต้องการจัดถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจากภัยโควิด-19  วันนี้จึงเป็นวันที่นัดปล่อยคาราวานถุงยังชีพลงไปในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบกับภัยโควิดอยู่ในขณะนี้  และขอถือโอกาสนี้ในการขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภาวะความยากลำบาก"

"พรรคประชาธิปัตย์ โดยมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชก็ได้ดูแลพี่น้องมาตลอดตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ด้วยการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนกว่า 5 ล้านชิ้น แจกอาหารพร้อมรับประทาน รับซื้อพืชผลทางเกษตรเพื่อลดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาดราคาตกต่ำ ตลอดจนการประสานช่วยเหลือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้สั่งการและมอบหมายให้แต่ละพื้นที่ลงไปดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ดังนั้นขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ 50,000 ถุง โดยจัดไปในพื้นที่ 4จังหวัดชายแดนจำนวน 15,000ถุง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดเพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว" นายนิพนธ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

กาฬสินธุ์ – ภาคประชาชนร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อประนีประนอม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีความ โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ไม่ต้องจ้างทนาย และไม่เสียค่าบริการ

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดป้ายที่ทำการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมีพระครูโสภณวินัยวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอยางตลาด (ธ) ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น คณะทำงานบริหารประจำศูนย์ฯ ประชาชน ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน ทั้งการดำเนินชีวิต การจราจร การประกอบอาชีพต่าง ๆ จะเห็นว่าเกิดข้อขัดแย้ง กรณีพิพาท เป็นคดีความ นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้คู่ขัดแย้งหรือคู่กรณี เสียทรัพย์ เสียเวลา จากการว่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีเป็นเรื่องเล็กๆน้อย สามารถยอมความกันได้ แต่กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากตกลงกันไม่ได้

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวอีกว่า จากสาเหตุดังกล่าว ตนและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา โดยเป้าหมายต่อไปเครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน ยังจะร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ให้ครอบลมทุกตำบลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 แห่ง คือที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้ รวมทั้ง อ.นามน และ อ.ห้วยเม็ก

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนบ้านโคกเครือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุโขทัย - วิทยาลัยเกษตรสุโขทัย ติวเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาผลผลิตยั่งยืน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูก ณ ห้องประชุมอาคาร 8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นแนวคิดของคณะผู้บริหารและครูผู้สอน ในการต้องการเสริมการทำเกษตรแบบดั่งเดิมเพื่อต่อยอดทักษะและความรู้สู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างองค์ความรู้ ขยายผลสู่นักเรียน นักศึกษา และชุมชนให้มีคุณภาพสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ การเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก 

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เป็นวิทยาลัยเกษตร หรือโรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดสุโขทัย ในการประกวดโครงการต่าง ๆ ของภาคเกษตรระดับประเทศ ที่เน้นการทางเกษตรอินทรีย์ และต้องการต่อยอดเทคโนโลยี 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเพาะปลูก มาผสมผสานกับการเกษตรแบบดั่งเดิม และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน นักเรียน นักศึกษา แก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะขาดทุน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืชทำให้เกิดสารพิษจากการสัมผัสโดยตรงมากเกินไปของเกษตรกร ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาประชาชนเป็นโรคต่าง ๆ

ดังนั้นจึงมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ทดลองฝึกใช้ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก และแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุด ที่นักเรียน นักศึกษา ยอมรับและเต็มใจ เห็นด้วยจากความคิดที่ได้นำมาทดลอง และแลกเปลี่ยนความคิดกัน เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ และการใช้แรงงาน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา 

ดังนั้นทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จึงเห็นถึงความสำคัญนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูกในปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ ในการศึกษาผลิตการเป็นผู้ผลิตพืชผัก ผลไม้ และเกษตกรรมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะวิชาการ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีม มีทักษะการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ ลดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง เด็กรักถิ่นเกิดของตนเองเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ และจังหวัดสุโขทัย และสามารถสร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ มุ่งสร้างให้เยาวชนเป็นเด็กเก่งและเด็กดี ของสังคมและประเทศชาติ โดยเน้นพัฒนาด้านทักษะและสมรรถนะมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดสู่อาชีพ การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตนักเรียน นักศึกษา และอาชีพที่เติบโต  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษารู้เครื่องมือใช้งาน อุปกรณ์ควบคุม และการเขียนโปรแกรม ควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีสุโขทัย

ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการเดิม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำนวัตกรรมไปสู่ชุมชน ต่อยอดให้ความรู้แก่ชุมชนยั่งยืนได้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

“รัฐศาสตร์-นิเทศศาสตร์” ม.กรุงเทพธนบุรี จัดสัมมนาพิเศษในระบบ ZOOM หัวข้อ “SANDBOX MODEL ก้าวแรกการท่องเที่ยว สู่การเปิดประเทศในก้าวต่อไป” 18 ก.ค.นี้

คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมกันจัดสัมมนาพิเศษในระบบออนไลน์ (ZOOM) ในหัวข้อ “SANDBOX MODEL ก้าวแรกการท่องเที่ยว สู่การเปิดประเทศในก้าวต่อไป” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณนัทธี ถิ่นสาคู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต และ รองประธานคณะกรรมาธิการ การท่องเที่ยว, คุณธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และคุณรัตนชัย สุทธิเดชานัย ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กมลพร กัลยาณมิตร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ และ รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมี ธนภณ โอภาสธัญกร (ต้อม นิรันดร์) และ แอปเปิ้ล-กิรษา หอมเสียง เป็นพิธีกร ในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาพิเศษในครั้งนี้ได้ที่

Join Zoom Meeting

https://us02web.zoom.us/j/9989764605?pwd=djI3NERTU3c2NW8rVEJKWFdJZlBjdz09

ใส่รหัสผ่าน ห้องประชุม

Meeting ID: 998 976 4605

Passcode: 654321

"นุช-นนท์" เจ้าของร้านทุเรียน "ตลาดสี่มุมเมือง" ใจบุญ มอบข้าว 150 กล่อง ให้ "รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ"

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 น.ส.ชาลินี ลอยนุ้ย เจ้าของร้านทุเรียน "นุช-นนท์" ตลาดสี่มุมเมือง ประสานงานสะพานบุญ นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และตำแหน่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน พร้อมด้วย "นายโกสินธ์ จินาอ่อน" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์  ให้นำข้าวจำนวน 150 กล่อง เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนรวมถึงคนพิการ ครอบครัวคนพิการที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ตั้งอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิช- 19 ได้รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกาย เป็นการตอบแทนน้ำใจและความเสียสละแรงกาย แรงใจ เวลาอันมีค่ามาดูแลรักษาพี่น้องประชาชนคนไทย คนพิการ คนยากไร้และคนด้อยโอกาส ให้รอดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน

ในการนี้ผู้แทนจาก "กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" เป็นผู้รับมอบ ข้าวกล่องจำนวนดังกล่าว และขอขอบคุณในน้ำใจไมตรีจิตที่ดีที่มอบให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมทั้งจะปฏิบัติหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างเต็มกำลังให้สุดความสามารถ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564  ที่ผ่านมา น.ส.ชาลินี ลอยนุ้ย เจ้าของร้านทุเรียน นุช-นนท์ ตลาดสี่มุมเมือง ได้มอบข้าวกล่องจำนวน 500 กล่องให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองลาดสวาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าอาหารให้กับประชาชนได้บ้างซึ่งตนไม่ทำก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top