Sunday, 18 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

'ณัฐชา' ส.ส.ก้าวไกล ซัดหนัก ติดเชื้อเสียชีวิตข้างถนน ไม่มีใครแล ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ เพราะมีนายกชื่อ 'ประยุทธ์'

นาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่าสถานการณ์ประเทศไทยในขณะไม่สามารถไปต่อได้แล้วจริง ๆ ระบบการจัดการรองรับผู้ป่วยและควบคุมโรคแก้ไขกันวันต่อวัน ไม่มีแผนรองรับอะไรเลย ผมในฐานะส.ส.เขตรับรู้ถึงปัญหา พี่น้องประชาชนแจ้งความเดือดร้อนวันละไม่ต่ำกว่า 100 ราย ถามจริง ๆ ท่านไม่รู้เลยเหรอว่าน้ำตาประชาชนกำลังแปรเปลี่ยนเป็นกองเพลิง สถานการณ์ที่ยืนปากเหวเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีกลับ Work From Home

วันนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเปิดหูเปิดตา ที่ผ่านมาพวกผมฝ่ายค้านสะท้อนปัญหาเสนอแนะทางออกกันทุกวันไม่เคยเข้าสมองอะไรเลย หรืออาจกลัวเสียฟอร์มที่จะนำเอาข้อเสนอของพวกผมไปปฏิบัติ แต่วันนี้เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นน่าจะทะลุสมองเข้าหูพวกท่านได้แล้ว เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต ริมถนนในวันเดียวถึง 5 ราย แต่ไม่มีใครกล้ากระทั่งมาเก็บศพ

พี่น้องประชาชนคนไทยตั้งคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เรายังคงเจอกรณีที่มีผู้เสียชีวิตคาบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐมนตรีเคยรับปากว่าจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก เรายังเผชิญกับสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าหนึ่งหมื่นคนในทุก ๆ วัน แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงเพราะยังไม่มีการตรวจอีกเป็นจำนวนมาก และเรายังคงมีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยคนแทบจะวันเว้นวัน ทั้งที่เราเคยภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่าระบบสาธารณสุขดีของเรานั้นดีเป็นลำดับต้นของโลกประเทศหนึ่ง

“ในวันที่เลวร้ายเช่นนี้ เรากลับไม่เห็นผู้รับผิดชอบสถานการณ์คนใดที่เคยกล่าวคำอวดดีและใช้กฎหมายไล่บี้ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์กล้าหาญออกมาสบตาประชาชนและแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมาแม้แต่คนเดียว เรามีผู้นำที่รวบอำนาจทุกอย่างไว้กับตัวเองมาแล้วเกือบสองปี แต่ยังคงเอาแต่หลบอยู่หลังแป้นพิมพ์แล้วเขียนข้อความสวยหรูราวกับว่าอยู่กันคนละโลกกับประชาชน เพื่อบอกว่าเขายังทำงานอยู่

ขณะที่ประชาชนกลับไม่รู้สึกสัมผัสถึงสิ่งนั้นได้เลย เพราะสิ่งที่ประชาชนกำลังรู้สึกอย่างแท้จริงในเวลานี้คือท่านกำลังลอยตัวเหนือปัญหา จนคล้ายเป็นสันดานไปแล้ว และท่านยังหน้าด้านฉวยเอาโอกาสนี้ประกาศ Work From Home เพื่อเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงความล้มเหลวทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นผู้นำที่มั่นหน้าว่ามาจากกองทัพ แต่ชอบเอาแต่หดหัวอยู่ในบ้านพักหลวง รอรับสวัสดิการที่ไม่ควรได้ในค่ายทหารอย่างหรูหรา

ในขณะที่บุคลากรด่านหน้ายังต้องออกไปเผชิญเสี่ยงทุก ๆ วันด้วยอาวุธที่ประสิทธิภาพน้อยที่สุดที่ท่านเลือกให้ เพื่อไปสู้รบปรบมือในสมรภูมิเชื้อโรค ราวกับยื่นมีดปอกผลไม้แล้วบอกให้พวกเขาไปสู้ให้เต็มที่ท่ามกลางห่ากระสุนหูดับตับไหม้”

ณัฐชากล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในวันนี้คือ เรากำลังอยู่กับรัฐบาลที่ไม่สนใจใยดีต่อความสูญเสียของประชาชนและไม่เคยยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ในทุกครั้งที่มีการระบาด เขาเอาแต่โทษประชาชนว่า หละหลวม การ์ดตก แต่ไม่เคยกล่าวถึงแผนวัคซีนแบบ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ที่ผิดพลาดแม้แต่คำเดียว นั่นก็เพราะเขาถนัดแต่ใช้การกฎหมายเพื่อควบคุมประชาชนจึงต้องหาเหตุโทษประชนเอาไว้ก่อน รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีเป้าหมายในชีวิตเพียง 2 อย่าง คือ การปราบม็อบ และการผลาญภาษีประชาชน

ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจเพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน สิ่งที่รัฐบาลนี้จะทำอย่างแข็งขันคือควบคุมประชาชนด้วยการล็อกดาวน์ แต่หลีกเลี่ยงการเยียวยา จากนั้นก็จะมาขอกู้เงินและของบประมาณเพื่อเอาไปซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์บ้าง และเอาไปแบ่งปันประโยชน์กันกับพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง จึงมีโครงการต่าง ๆ ออกมามากมายเต็มไปหมด แต่โครงการเหล่านั้นกลับไม่ได้เป็นประโยชน์ใดต่อสถานการณ์โควิดที่ประชาชนกำลังเผชิญเลยเลย

“หากรัฐบาลใส่ใจประชาชนมากกว่านี้ ป่านนี้เราคงมีวัคซีนที่หลากหลาย ไม่ใช่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีมากในการป้องกันการนำเข้าวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่าในการป้องกันโรคเข้ามา เราคงไม่ต้องเจอกับคำโกหกหลอกลวงมานานนับปีว่า เราจะมีวัคซีนที่ผลิตได้เองในประเทศ และจะได้ใช้วัคซีนเหล่านั้นก่อน ทั้งที่ไม่เคยมีอยู่ในสัญญา

หากรัฐบาลใส่ใจประชาชนมากกว่านี้ เราคงมีการตรวจเชิงรุกเพื่อให้เจอผู้ติดเชื้อโดยเร็วมาทำการรักษา โดยไม่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยสีแดง เราคงมีศูนย์แรกรับเพื่อพักผู้ป่วยและโรงพยาบาลสนามที่เพียงพอ เราคงมีระบบ Home Isolation ที่สามารถส่งยาและอาหารให้ผู้ติดเชื้อถึงที่บ้านได้ เราคงมียาและเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยหนักที่ดีกว่าฟ้าทะลายโจร เราคงมีเครื่อง Oxygen High Flow ที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยหนัก และเหลือเตียง ICU ที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยวิกฤต"

"อีกทั้งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในภาพใหญ่ เรามีเวลาถึงเกือบ 2 ปี หากนับจากการระบาดระลอกแรกเพื่อเตรียมการ และหากนับจากการประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 เป็นต้นมา หรือเรียกได้ว่าเกือบครบรอบ 14 วันของการล็อกดาวน์แล้ว แต่เรากลับยังคงไม่มี Rapid Antigen Test Kit ให้ประชาชนเพื่อรุกตรวจได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังมีราคาแพงราวกลับว่ากลัวประชาชนจะตรวจเจอเชื้อ ซึ่งการคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและทำลายโอกาสในการรอดชีวิตของพวกเขาลงไปเรื่อย ๆ ในทุกนาทีที่รู้ผลช้าออกไป เรายังไม่มีระบบ Home Isolation และศูนย์แรกรับเพื่อรองรับที่มากพอ เรายังไม่มีระบบรวมศูนย์ข้อมูลเพื่อประสานและจัดสรรเตียงอย่างเป็นระบบ

และทั้งหมดทั้งมวลนี้ การที่มีผู้เสียชีวิตริมถนน หรือมีผู้เสียชีวิตคาบ้านศพแล้วศพเล่า การที่แต่ละวันมีศพที่รอเผาจนล้นเมรุ นี่คือภาพสะท้อนถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำ แต่ไม่ได้ทำ กลับเอาแต่ปล่อยปละละเลยตลอดมา ซึ่งไม่สามารถอ้างได้เลยว่าไม่มีงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในเรื่องเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมามีการผ่านงบประมาณทั้งปกติและเร่งด่วนในรูปแบบ พ.ร.ก.เงินกู้ ไปให้แล้วอย่างมหาศาลถึงสองครั้ง เรามีทั้งเงินและความพร้อมในระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง เรามีประชาชนที่ใส่ใจและร่วมมือกับรัฐบาลมากที่สุดแล้วในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยทันทีที่รัฐบาลประกาศ ทุกคนหมั่นล้างมือและพกเจลแอลกอฮอล์ ทุกคนพยายามรักษาระยะห่างให้มากที่สุด หรือกระทั่งความร่วมมือในการฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่พวกเขาพร้อมทำตามตลอดมา แต่กลับเป็นรัฐบาลเองต่างหากที่ไม่สามารถจัดหามาได้ตามแผนที่วางไว้"

“ดั้งนั้น หากจะตอบคำถามแรกว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าทุกคนมีคำตอบเดียวที่ตรงกัน นั่นก็คือ เพราะเรามีนายกชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง” ณัฐชากล่าว


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ปปร.21 สถาบันพระปกเกล้า รวมพลังมอบน้ำใจเงินสด 50,000 บาท ผ่านโครงการ Com Covid-19 ของมูลนิธิ IHRI เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาเตียงรักษาในโรงพยาบาล

เมื่อวันพุธที่ 21 ก.ค. 64 เวลา 14.00 น. พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ประธานนักศึกษาหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูงรุ่นที่ 21 (ปปร.21) สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วย คุณแสนผิน สุขี และคุณศุภสิทธิ์ สิมะอารีย์ เป็นตัวแทนรุ่นมอบเงินจำนวน​ 50,000 บาท สนับสนุนโครงการ Com Covid-19 ของมูลนิธิ IHRI เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาเตียงรักษาในโรงพยาบาลได้

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดให้มีหมอพยาบาลคอยดูแล ผู้ป่วยโควิดแบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยหวังว่า ปปร.21 จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยาและเป็นกำลังใจให้แก่คนไทยทุกคน เราจะผ่านวิกฤต Covid-19 ไปด้วยกัน

พิจิตร - ไม่ลืมบ้านเกิด ! ไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน มอบเงินช่วย รพ.สนามในพิจิตร

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลสากเหล็ก นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน และ นราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ ซึ่งติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเห็นความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์รวมถึง อสม.และฝ่ายปกครองจึงได้มอบหมายให้ นายพิชิต แก้วทอง นายก อบต.หนองปลาไหล , นายวรวุฒิ  แก้วทอง , นายพงษ์ศักดิ์ ศรีนามนต์ ผอ.สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานพิจิตร , นายวัชรินทร์ แทนจำรัส เลขาฯส่วนตัว ของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ นำเงินสดจำนวน 1 แสนบาท ไปมอบให้กับ นพ.ประทีป จันทร์สิงห์ ซึ่งเป็น ผอ.รพ.สากเหล็ก และ รพ.วังทรายพูน เพื่อใช้ในภารกิจในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้  นอกจากนี้  นายดิเรก- พิมพ์ฉวี พัฒนพงษ์ ท่าข้าวพิมพ์ฉวีและร้านอาหารบุญปาก ยังได้ร่วมบริจาคเงินสดจำนวน 1 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นการทำบุญร่วมกันในครั้งนี้ด้วย

ในส่วนของ นพ.ประทีป จันทร์สิงห์  ซึ่งเป็น ผอ.รพ.สากเหล็ก และ รพ.วังทรายพูน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลสนามสากเหล็กมีจำนวน 26 ราย และในวันพรุ่งนี้จะมีขอเข้ารับการรักษาอีกจำนวน 30 ราย  ซึ่งจะใช้โรงพยาบาลสนามภายใน รพ.สากเหล็กและภายในหอประชุมของที่ว่าการอำเภอสากเหล็ก ส่วนที่ รพ.วังทรายพูน ขณะนี้มีนอนพักรักษาตัวอยู่ 40 ราย และกำลังเตรียมการตั้งเต็นท์โรงพยาบาลสนามอีก 1 เต็นท์ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีเพิ่มขึ้น ซึ่งหวังว่า รพ.สนามที่มีอยู่ จะมีเพียงพอที่จะรองรับชาวพิจิตรที่ไปอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ และติดเชื้อโควิดหาที่ตรวจหาที่รักษาไม่ได้แล้วจะขอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านเกิด ซึ่งเงินที่บริจาคมานี้จะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของ นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน ซึ่งเป็นชาวจังหวัดพิจิตรและไม่เคยทอดทิ้งประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  สำหรับเป้าหมายการบริจาคเงินเพื่อช่วยโรงพยาบาลสนามของ นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน ในที่ต่าง ๆ ของ จ.พิจิตร มีเป้าหมายจะบริจาคอีกหลายแห่ง ซึ่งความคืบหน้าผู้สื่อข่าวจะได้รายงานให้ทราบต่อไป


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

‘เฉลิมชัย’ เดินหน้านโยบาย “พืชอนาคตพืชเศรษฐกิจ” ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เร่งพัฒนา “กัญชง” เชิงพาณิชย์ต่อยอด 10 คลัสเตอร์ อุตสาหกรรม สวก.-สวพส.-สถาบันเอสเอมอี ผนึกความร่วมมือพัฒนากัญชงทำ MOU 6 สิงหาคม นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (21 ก.ค.) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายพืชอนาคตพืชเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19

ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ผนึกความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. ยกระดับภาคเกษตรพัฒนากัญชงเชิงพาณิชย์สู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้ง สวก. สวพส. และ สพว. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชงอย่างครบวงจร และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง

“กัญชง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ช่อดอก เมล็ด เปลือก ลำต้น และราก ในการแปรรูปสร้างมูลค่าอย่างน้อยใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์, กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม (Super Food), กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ, กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า, กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย, กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์, กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่ เช่น ซูเปอร์คาพาซิเตอร์ (Super Capacitor) เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคต เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์ (Farm bill2018) ปลดล็อคกัญชงสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีพืชเศรษฐกิจแสนล้านของไทยและของโลก” นายอลงกรณ์ กล่าว

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557– ปัจจุบัน เป็นจำนวนกว่า 240 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ตลอดจนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สวก. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ โดยจะมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการให้ทุนวิจัยด้านกัญชงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง

สำหรับความร่วมมือในขั้นแรก สวก. จะสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตกัญชง ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมา สวพส. และ สพว. ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต้นทุนการเก็บผลผลิตที่สูง เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงจะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดต้นทุนและลดเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC ที่เหมาะสมของกัญชงในการทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ นอกจากนี้ สวก. ได้หารือกับ ISMED ในการรวบรวมข้อมูลในทุก ๆ ด้านของกัญชง เพื่อจัดเป็นฐานข้อมูลด้านกัญชงของประเทศต่อไป ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการพัฒนากัญชงให้สามารถพัฒนา ต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปได้

ด้านนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน โดยผลการวิจัยและพัฒนาทำให้มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสู่แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน และผลการวิจัยและพัฒนาจำนวนไม่น้อย นับจากปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน กว่า 15 ปี  เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแก้กฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรก มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ โดยมีผลงานที่สำคัญคือ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2549-2554) ปรับปรุงและขึ้นทะเบียนพันธุ์ ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2555-2559) วิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง และระยะที่ 3 (ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน) ศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์

นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ  รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมา สพว. มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน โดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สวพส. และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน โดยมีประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย การขยายขนาดการผลิต (Scaleup) ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านในสาขาต่าง ๆ  เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

สำหรับการถ่ายทอดสดการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สามารถรับชมได้ทาง https://www.facebook.com/ardathai ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ลำปาง - จิตอาสา มทบ.32 "มีแล้วแบ่งปัน" พบปะเยี่ยมเยือน ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ชุมชนบ้านกลางทุ่ง เมืองลำปาง

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 เวลา 13.30 น. พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 32 มอบหมายให้ วิทยากรจิตอาสา 904 ร่วมกับประชาชนจิตอาสา พบปะ เยี่ยมเยือน ให้กำลังใจ มอบธารน้ำใจ สิ่งของอุปโภค-บริโภค หน้ากากอนามัย ให้กับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 บริเวณชุมชนบ้านกลางทุ่ง ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ตามกิจกรรมจิตอาสา “มีแล้วแบ่งปัน” ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ ท่านผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 สร้างความปลาบปลื้ม ดีใจแก่ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งกล่าวขอบคุณที่ทหารคอยเคียงข้างและช่วยเหลือประชาชนเสมอมา


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

บึงกาฬ - ผู้ว่าเปิด รพ.สนามแห่งที่ 2 เหตุผู้ป่วยล้นเตียง การระบาดโควิด-19 ทำให้เลื่อนสอบครูผู้ช่วยแบบไม่มีกำหนด

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 20 ก.ค.ที่หอประชุมจังหวัดบึงกาฬ ภายในศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ นายนฤชา โฆษาศรีวิไลช์ รอง ผวจ. นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์ สสจ.บึงกาฬ นพ.กมล แซ่ปึง ผอ.รพ.บึงกาฬ ร่วมกันเปิดโรงพยาบาลสนามจังหวัดบึงกาฬ แห่งที่ 2 ภายหลังในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย หลังได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลให้อาการดีขึ้น เพื่อรอกลับบ้าน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนร่วมกันบริจาคเงินจัดซื้ออุปกรณ์จัดตั้ง รพ.สนาม ในครั้งนี้ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจังหวัดบึงกาฬ แห่งที่ 2 ในพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ ในครั้งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยภาพรวมทั้งประเทศและจังหวัดบึงกาฬมีแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 สูงขึ้น ซึ่งจังหวัดบึงกาฬ มีผู้ป่วยสะสม 189 ราย รักษาหาย 65 ราย เสียชีวิต 1ราย กำลังรักษา 123 ราย ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 11 ราย มีผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษา 142 ราย ซึ่งโรงพยาบาลในจังหวัดบึงกาฬ มีเตียงรองรับผู้ป่วย 262 เตียง และมีแนวโน้มที่เตียงรับผู้ป่วยจะไม่เพียงพอ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดบึงกาฬจะขยายเตียงเพื่อรองรับแล้วก็ตาม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการ โดยโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 นี้ จะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เบื้องต้นจำนวน 100 เตียง และหากมีแนวโน้นผู้ป่วยสูงเพิ่มขึ้น ก็จะขยายโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เพิ่มขึ้นได้อีก

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านสุขอนามัย ความสะดวกสบาย มีทั้งอินเตอร์เน็ต ทีวี พัดลม และความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด เพื่อให้มีพื้นที่รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย หลังได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลให้อาการดีขึ้น เพื่อรอกลับบ้าน จากนั้น ผวจ.ได้ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามแนวทาง ศบค. โดยที่ประชุมออกคำสั่งยกระดับมาตรการคุมโควิด-19 มีผล 20 กรกฎาคม 64 นี้  ร้านอาหาร ฯลฯ ให้เปิดดำเนินการตามมาตรการ แต่ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ขอให้งด หรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องกักตัว โดยต้องรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ต้องคัดกรองที่สถานีขนส่ง ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของคนจำนวนมากกว่า 150 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย บังคับใช้ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ 042 492 046 ต่อ 114 (ในเวลาราชการ) หรือ 061 205 3743 (นอกเวลาราชการ)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ หรือ สพป.บึงกาฬ แจ้งในที่ประชุมเลื่อนการเปิดการสอนแบบเต็มรูป (On Site) ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ค. โดยให้จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ On Ai/On tine/On hand และ On Demand เพื่อความปลอดภัยของครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มารับส่งบุตรหลาน ส่วนการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ทางกระทรวงศึกษาก็ขอให้เลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทุเลาเบาบางลง


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร  พรมจันทร์ / บึงกาฬ

พังงา - เดือดร้อนหนัก รถส่งสินค้าเข้าภูเก็ตไม่ฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนแต่ไม่มีผลตรวจโควิดห้ามเข้าเด็ดขาด !! นักธุรกิจระหว่าง 2 จังหวัด วอนขอมาตรการผ่อนปรน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 หลังจากจังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศฉบับที่ 4021/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับคนไทยจากต่างจังหวัดหรือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม-2สิงหาคม 2564 ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำนวน 53 จังหวัดและพื้นที่ควบคุมจำนวน 10 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค Covid 19 ชนิดชิโนแวค, ชิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็มหรือได้รับวัคซีนชนิด Astrazeneca ,ไฟเซอร์,  Moderna , Johnson & Johnson จำนวน 1 เข็มมาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรค Covid-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วันและต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen test  ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจ ยกเว้นเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีจนถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีนและเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ให้มีการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen test ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ด่านตรวจท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบว่ามีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์มาตรการการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะตั้งแต่ฝั่งจังหวัดพังงาก่อนขึ้นสะพานท้าวเทพกษัตรีย์ ขณะที่จุดตรวจมีเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตได้ตรวจเข้มรถทุกคันที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตตามมาตรการที่บังคับใช้ในวันนี้ ซึ่งพบว่ามีรถจำนวนมากที่ไม่ผ่านการตรวจต้องเลี้ยวกลับทันที โดยเฉพาะมีรถขนส่งสินค้าจำนวนมากที่ต้องเลี้ยวกลับรถมาจอดรอขนถ่ายสินค้าเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตเนื่องจากตัวคนขับบางคนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที มีแต่ผลตรวจ Antigen test มาโชว์ ซึ่งประกาศฉบับล่าสุดไม่อนุญาตให้เข้าได้ บางคนฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่มีผลตรวจโควิด-19 มาแสดง และบางคนฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบระยะเวลาตามกำหนด แม้จะมีใบตรวจโควิด-19 เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้เข้าได้ต้องกลับรถมาจอดและให้ติดต่อรถในจังหวัดภูเก็ตมาขนถ่ายสินค้าไปต่อ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก รถขนส่งสินค้าทั้งคันเล็กคันใหญ่ต่างจอดรอขนถ่ายสินค้าอยู่ตามริมข้างทาง

นายวีระ แสงจำนงค์ อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตนเองรับจ้างขับรถบรรทุกไก่สดมาจากสุราษฎร์ธานีเพื่อส่งให้กับร้านไก่ย่าง5ดาวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งที่ผ่านมาจะตรวจ Antigen test ทุก 7 วัน เพื่อเข้าส่งสินค้าในจังหวัดภูเก็ต แต่มาวันนี้ ไม่สามารถเข้าได้เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนสักที ซึ่งตนเองก็อยากฉีดวัคซีนเหมือนกันแต่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ได้มีวัคซีนมากเหมือนจังหวัดภูเก็ตตนจึงยังได้คิวฉีด จึงอยากให้มีมาตรการผ่อนปรนให้กับการขนส่งสินค้าเหมือนเดิม ขณะที่คนขับรถขนส่งบะหมี่แฟรนไชส์ชื่อดัง ขับรถขนส่งวัตถุดิบจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาส่งให้ลูกค้าในจังหวัดภูเก็ต ก็เกิดปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน ตนเองมีเพียงผลตรวจโควิด-19ก็ไม่สามารถเข้าได้ จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการประสานให้ลูกค้ามารับสินค้าที่ด่านท่าฉัตรไชย

ด้านคุณรุ่งนภา ศักดิ์ศรีสุวรรณ ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต เปิดเผยว่า บริษัทมีสาขาอยู่ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต มีคลังสินค้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา มีพนักงานที่ต้องเดินทางข้ามไป-มาระหว่าง 2 จังหวัดทุกวัน วันละ12 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือทุกอย่างตามประกาศของจังหวัดภูเก็ตในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งตอนนี้พนักงานทุกคนก็รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่กลับต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 ทุก 7 วัน ตามประกาศฉบับนี้อีก ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทก็ได้ประคับประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เลี้ยงพนักงานได้ จึงอยากขอวิงวอนให้ทางจังหวัดภูเก็ตมีมาตรการอะไรที่ช่วยผ่อนปรนให้กับผู้ทำธุรกิจระหว่าง 2 จังหวัด


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี / พังงา

ลำปาง - มทบ.32 พบปะหารือนายกสมาคมผู้สื่อข่าว-นายกสมาคมนักจัดรายการฯ ในการช่วยเหลือประชาชนในห้วงสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00 น. พลตรี อโณทัย  ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 พร้อมคณะ ได้เดินทางไปพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับคุณไชยยันต์ เปรมทอง นายกสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง,พันโท ชูเกียรติ มีโฉม นายกสมาคมนักจัดรายการวิทยุกระจายเสียงนครลำปาง  และคณะกรรมการสมาคม ณ ที่ทำการสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง บริเวณชั้น 1 ศาลาประชาคม ศาลากลางหลังเก่า อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง 

ในโอกาสนี้ทาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้กล่าวถึงภารกิจของทหารในการช่วยเหลือประชาชนชาวลำปาง ทั้งให้การสนับสนุน จังหวัดลำปาง ในห้วงสถานการณ์การณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ การจัดกำลังพลและยานพาหนะสนับสนุนการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม, การจัดกำลังพล Army Delivery นำสิ่งของที่ชาวลำปางมีน้ำใจร่วมบริจาคผ่านหน่วยทหารนำไปมอบให้ประชาชนที่เดือดร้อน,การประชาสัมพันธ์ตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในการปฏิบัติตัวของชาวบ้าน,นำกำลังจิตอาสาทำความสะอาดโรงเรียนในจังหวัดลำปางก่อนที่โรงเรียนจะเปิดฯ,จัดรถของหน่วยสนับสนุนตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รับผู้ป่วยตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทหาร ได้ช่วยเหลือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางในการรับผู้ป่วยโควิดมารักษา ณ โรงพยาบาลปัจจุบันมี 13 คน นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือกับประชาชนชาวลำปางในการดูแลตัวเองตามมาตรการป้องกันตน เชื่อและปฏิบัติตามสิ่งที่พ่อเมืองหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กำหนดมาตรการสำคัญต่าง ๆ ล้วนต้องการให้ประชาชนลำปางได้ปลอดภัยจากโควิดทั้งสิ้น บรรยากาศการพัฒนาสัมพันธ์เป็นไปด้วยความชื่นมื่น ทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมร่วมมือ ร่วมใจกัน เพื่อผลสำคัญคือประโยชน์ได้เกิดต่อประชาชนชาวลำปางในโอกาสหน้าต่อไป

“ทหารไม่ใช่ด่านหน้า แต่ทหารพร้อมสนับสนุนกำลังทรัพยากร ยานพาหนะ เป็นส่วนสนับสนุนที่พร้อมให้การสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนทุกเรื่อง”


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

จันทบุรี - จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 โดยปลูกป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า บริเวณคูกันช้าง

วันนี้ ( 20 ก.ค.64 ) ที่ บริเวณคูกันช้าง พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว หมู่ที่ 7 ต.ปะตง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มพลังมวลชน ประชาชนจิตอาสา ร่วมกิจกรรม ปลูกป่าเพื่อรักษา สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 แสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

รวมทั้งปลูกป่าทดแทน เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า มีความสำคัญที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ป้องกันอันตรายจากช้างปาออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งการปลูกต้นไม้ตามแนวคูกันช้างยังช่วยป้องกันการพังทลายของคูกันช้าง ได้เป็นอย่างดี เป็นการป้องกันภัยจากช้างป่า ซึ่งครั้งนี้เป็นการปลูกป่าบริเวณคูกันช้างระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร โดยใช้กล้าไม้ประกอบด้วย ยางนา ประดู่ ตะเคียนทอง มะค่าโมง พะยูง จำนวน 1,000 กล้า


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

สุรินทร์ - ร.23 พัน.3 จัดกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ชุมชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองง จังหวัดสุรินทร์  พันโท พงษ์พัฒน์  เตือนขุนทด ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 ได้มอบหมายให้ ฝ่ายกิจการพลเรือน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จัดชุด Army Delivery จำนวน 3 คัน ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" โดยการนำข้าวกล่อง จำนวน 30 กล่อง, น้ำดื่ม และ หน้ากากอนามัย

ออกแจกจ่ายให้ประชาชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน บ้านเฉลิมพระเกียรติ หมู่ที่ 21 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนต่อสู้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ในการช่วยเหลือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน


ปุรุศักดิ์  แสนกล้า  ข่าว/ภาพ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top