ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool หัวข้อ ‘Emerging Market Crisis 2022-2023’ เตือนถึงความเสี่ยงจากวิกฤตที่อาจมาเยือนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปก็คือ วิกฤตในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ที่รอบนี้เริ่มต้นจากประเทศเล็กๆ เช่น ประเทศศรีลังกา และกำลังค่อยๆ กระจายออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน, กานา, แซมเบีย และ สปป.ลาว โดยจะสะสมพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ Emerging Market โดยรวมกำลังถูกกดดันจาก
ดอกเบี้ยโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นจากการสู้ศึกกับเงินเฟ้อของประเทศหลักๆ ทำให้ต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
วิกฤตพลังงานและวิกฤตอาหารโลก ที่ทำให้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาปุ๋ยแพงขึ้น
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ส่งออกได้น้อยลง
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น และการไหลออกของเงินจากกลุ่ม Emerging Market นำไปสู่เงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง ค่าเงินที่อ่อน เงินเฟ้อที่สูง และสุดท้ายลุกลามขึ้นเป็นวิกฤตในที่สุด
ยิ่งวิกฤต Perfect Storm จากสามทวีปที่กำลังถาโถมเข้าใส่ประเทศหลักของระบบเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, อังกฤษ และญี่ปุ่น มีความรุนแรง ยาวนานมากขึ้นเท่าใด วิกฤตใน Emerging Market ก็จะมีความลำบาก ท้าทายมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิกฤตในตลาดเกิดใหม่รอบนี้ก็คือ โดยปกติแล้ว วิกฤตในประเทศเกิดใหม่จะเกิดเป็นพื้นที่ เช่น
Latin American Debt Crisis ที่เริ่มในปี 1982
Asian Financial Crisis ระหว่างปี 1997-1998
Eastern European Crisis หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008
เนื่องจากประเทศในพื้นที่เดียวกัน มักจะทำตัวคล้ายๆ กัน มีปัญหาคล้ายๆ กัน ทำให้เวลาที่เกิดวิกฤตก็จะล้มไปในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
แต่ในรอบนี้ วิกฤตจะกระจายไปทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค โดยจะเริ่มจากประเทศเล็กๆ ที่มีฐานะการเงินและเศรษฐกิจอ่อนแอก่อน เช่น ศรีลังกา, กานา, ปากีสถาน และ สปป.ลาว และค่อยๆ วนขึ้นมาในประเทศที่ใหญ่ขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
