Monday, 6 May 2024
LITE TEAM

4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

วันนี้เมื่อ 215 ปีก่อน เป็น วันพระราชสมภพของ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. 4 เมื่อ ร.4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าน้อย' เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น 'สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าอสุนีบาต'

เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว' เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น 'พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2' ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงใน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

3 กันยายน วันเกิด ‘โดราเอมอน’ แมวการ์ตูนสีฟ้าจากโลกอนาคต

โดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคต ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 22 เกิดวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2655 (ค.ศ. 2112) ลักษณะตัวอ้วนกลมสีฟ้า (เมื่อแรกเกิดมามีสีเหลือง) ไม่มีใบหู เนื่องจากถูกหนูแทะ 

โดราเอมอน เดิมเป็นหุ่นยนต์พี่เลี้ยงซึ่งคนที่ซื้อโดราเอมอนมาคือเซวาชิ เหลนชายของโนบิตะ วันหนึ่งเซวาชิเกิดอยากรู้สาเหตุที่ฐานะทางบ้านยากจน จึงได้กลับไปในอดีตด้วยไทม์แมชชีน จึงได้รู้ว่าโนบิตะ (ผู้เป็นปู่ทวด) เป็นตัวต้นเหตุ เซวาชิจึงได้ตัดสินใจให้โดราเอมอนย้อนเวลาไปคอยช่วยเหลือดูแลเวลาโนบิตะโดนแกล้งโดยใช้ของวิเศษที่หยิบจากกระเป๋าสี่มิติ

โดราเอมอนมีอวัยวะที่วิเศษสุด ๆ อาทิ มือกลมสีขาวไม่มีนิ้ว แต่ที่มือมีความสามารถในการดูด จึงหยิบจับสิ่งของได้ มีกระดิ่งห้อยคอสีเหลือง มีหนวด 6 เส้น หน้าท้องมีกระเป๋าวิเศษ และมีสวิตช์สำหรับปิด-เปิดที่หาง ถ้าดึงหางปุ๊บ โดราเอมอน ก็จะหยุดการทำงานทันที

โดราเอมอน มีความผูกพันกับเลข 129.3 แทบทุกอย่าง ทั้งน้ำหนัก 129.3 กิโลกรัม ส่วนสูงขณะยืน 129.3 เซนติเมตร ขณะนั่ง 100 เซนติเมตร กระโดดได้สูง 129.3 เซนติเมตร วิ่งได้เร็ว 129.3 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนของโปรด คือ โดรายากิ ตัวละครโดราเอมอนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 เนื่องจากนักวาดการ์ตูนทั้ง 2 ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขาทั้งสองไว้ว่าจะมีตัวเอกที่ออกมาจากลิ้นชัก ในนิตยสารการ์ตูนฉบับต้อนรับปีใหม่ แต่ในความจริงแล้วทั้งสองยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้แม้แต่น้อยเลย เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับทั้งสองเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้แรงบันดาลใจของการ์ตูนชื่อดัง 'โดราเอมอน' เกิดจากฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ หนึ่งในนักวาดการ์ตูน ได้เผอิญเห็นแมวจรจัดที่มักแอบเข้ามาเล่นที่บ้านของตนเองเป็นประจำ เขามักจะชอบจับแมวตัวนี้มาหาหมัด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 4.00 น. ก็ยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องใหม่ ทำให้ฮิโรชิโมโหตัวเองเป็นอย่างมาก และคิดเลยเถิดไปว่าโลกนี้น่าจะมีไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หลังจากนั้นฮิโรชิได้เผลอหลับไปด้วยความอ่อนล้า เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้เขาตกใจว่าตนเองเผลอหลับไป จึงรีบวิ่งลงจากบันไดบ้านไปสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่นของลูกสาวที่ตกอยู่บนพื้น

เหตุนี้เองทำให้ฮิโรชิเกิดไอเดียขึ้นโดยนำหน้าแมวจรจัดมาผสมกับตุ๊กตาญี่ปุ่น สร้างออกมาเป็นตัวละครหุ่นยนต์แมวจากอนาคตคอยช่วยเหลือเด็กชายที่แสนจะไม่ได้เรื่อง และตั้งชื่อว่า โดราเอมอน เป็นคำผสมระหว่าง 'โดราเนโกะ' กับ 'เอมอน' ในภาษาญี่ปุ่น โดราเนโกะนั้นแปลว่าแมวหลงทาง ส่วนคำว่า 'เอมอน' เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อนของประเทศญี่ปุ่น ชื่อโดราเอม่อน มีทั้งหมด 5 ชื่อ ด้วยกัน ชื่อที่ 1 โดราเอม่อน ชื่อที่ 2 โดเรม่อน ชื่อที่ 3 โดราจัง ชื่อที่ 4 โดราม่อน ชื่อที่ 5 โดราเอม่อนแมวจอมยุ่ง มีน้องสาว ชื่อว่า โดเรมี่

สำหรับโดราเอมอนเคยได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย และในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 มาซาฮิโกะ คามูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้แต่งตั้งให้โดราเอมอนเป็นทูตสันถวไมตรีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศ โดยนับเป็น 'ทูตแอนิเมชัน' ตัวแรกของประเทศญี่ปุ่น และเจ้าแมวหุ่นยนต์สีฟ้า ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 อย่างเป็นทางการอีกด้วย

2 กันยายน พ.ศ. 2488 ‘ญี่ปุ่น’ ลงนามยอมจำนน บนเรือรบมิสซูรี สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนน เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

ในวันที่ 2 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตรเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดลงของ สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

การลงนามมีขึ้นบนเรือรบมิสซูรีของกองทัพสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่เหนืออ่าวโตเกียว โดยพิธีลงนามใช้เวลาเพียง 20 นาที เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงนามทั้งสิ้น 12 รายชื่อ

แม้ฝ่ายทหารจะต่อต้านการยอมจำนนจนถึงวินาทีสุดท้าย แต่ด้วยความเสียหายของญี่ปุ่นหลังโดนโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูติดๆ กันสองลูกในฮิโรชิมา และนางาซากิ ประกอบกับโซเวียต ยังประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในช่วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้กลุ่มการเมืองภายในญี่ปุ่นต้องการยุติสงครามในครั้งนั้น 

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เห็นด้วยที่จะยอมรับเงื่อนไขการยอมจำนนตามคำประกาศแห่งปอตสดัม (Potsdam Declaration) ในวันที่ 10 สิงหาคม ตามมาด้วยการประกาศยอมแพ้สงครามของพระจักรพรรดิผ่านวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 15 สิงหาคม ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายนปีเดียวกัน

1 กันยายน ของทุกปี เป็น ‘วันสืบ นาคะเสถียร’ ระลึกถึงนักอนุรักษ์ผืนป่าของไทย

วันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันสืบ นาคะเสถียร’ เพื่อระลึกถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนักอนุรักษ์ไทย และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผืนป่าของไทย

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ นักอนุรักษ์ และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของไทย อย่าง ‘สืบ นาคะเสถียร’ มาบ้างโดยเขามีชื่อเสียงจากการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วยความสามารถทั้งหมดที่ตัวเองมี 

จนสุดท้าย ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 เขาได้ตัดสินใจยิงตัวตาย พร้อมกับทิ้งจดหมายที่เอาไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเองโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” เพื่อเรียกร้องให้สังคม ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และนี่จึงถือเป็นที่มาของ ‘วันสืบ นาคะเสถียร’ ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัย และระลึกถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่นั่นเอง

31 สิงหาคม พ.ศ. 2530 เครื่องบิน ‘เดินอากาศไทย’ เที่ยวบินที่ 365 ตกกลางทะเลก่อนถึงภูเก็ต เสียชีวิตยกลำ 83 ราย

วันนี้เมื่อ 36 ปีก่อน สายการบินของ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด เที่ยวบินที่ 365 นำผู้โดยสารจากหาดใหญ่ ทั้ง 74 คนและลูกเรืออีก 9 ปลายทาง จ.ภูเก็ต ตกก่อนถึงจุดหมายเสียชีวิตยกลำ

เหตุการณ์เศร้าในครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินของ เดินอากาศไทย เที่ยวบินที่ 365 นำผู้โดยสารบินจากหาดใหญ่ไปยังจังหวัดภูเก็ต เที่ยวบินนี้บริการด้วยเครื่องบินโบอิง 737 ทะเบียน HS-TBC เครื่องบินเกิดหมุนกลางอากาศ และควงสว่านก่อนตกทะเล ทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต ห่างจากสนามบินประมาณ 8 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 83 คน เป็นผู้โดยสาร 74 คน ลูกเรือ 9 คน ไม่มีผู้รอดชีวิต

ผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการสรุปว่า อุบัติเหตุเกิดจากมีเครื่องบินเดินอากาศไทยและดรากอนแอร์ เดินทางมาถึงสนามบินในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินจัดให้เครื่องทั้งสองลำมีระยะห่างไม่เพียงพอ หอบังคับการบินสั่งการให้นักบินเดินอากาศไทยนำเครื่องหลบออกนอกเส้นทาง ให้เครื่องดรากอน แอร์ไลน์ ลงก่อนอย่างกระชั้นชิดเกินไป ทำให้เครื่องเดินอากาศไทยเกิดอาการหัวปัก เครื่องสะบัดทางขวาอย่างแรง นักบินพยายามแก้ไขโดยดึงหัวขึ้น แต่เครื่องได้ตกลงถึงพื้นน้ำเสียก่อน

ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาลสั่งการให้ท่าอากาศยานขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทย ดำเนินการติดตั้งระบบเรดาร์อย่างเร่งด่วน

30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล รำลึกถึงบุคคลที่ถูกอุ้มหายทั่วโลก

30 สิงหาคม วันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances)

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การบังคับให้สูญหาย หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า ‘การอุ้มหาย’ ถูกพิจารณาเป็น ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง’ และถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CPED) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กำหนดนิยามของ ‘การอุ้มหาย’ ไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

การบังคับให้สูญหายมักถูกใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ สิทธิในการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เช่น สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ อันเกิดจากการที่ขาดบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ สิทธิในการมีสุขภาพดี เนื่องจากความวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CPED) เมื่อปี 2555 แต่การลงนามดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย 

แต่อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนของประเทศไทย ได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทุกคนมิให้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอีกต่อไป

28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สวรรคต สิ้น ‘วังหน้า’ พระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ได้สวรรคต ในวันนี้เมื่อ 138 ปีก่อน นับเป็น ‘วังหน้า’ องค์สุดท้าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ประสูติแต่ ‘เจ้าคุณจอมมารดาเอม’ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2381

เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่ ‘หม่อมเจ้า’ โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า ‘ยอร์ช วอชิงตัน’ ตามชื่อของ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก

คนทั่วไปออกพระนามว่ายอด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า ‘พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร’ และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อปี 2404 และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้วด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4  ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์เพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น ‘กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ’ เมื่อ พ.ศ. 2410 แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมจึงตกลงที่จะแต่งตั้ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น ‘วังหน้า’ พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง

ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี โดยคบค้าสนิทสนมกับ โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ

ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง จนทำให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง

การนี้ ทางวังหลวงเข้าใจว่า ‘วังหน้า’ เป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา

เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ย

โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย

ต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1247 หรือวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระชนมายุ 48 พรรษา

พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใด ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง

จนถึงปีจอ พ.ศ. 2429 จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสยามมกุฎราชกุมารและยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา

26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี 

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ย้อนไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’

24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

วันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

จึงทรงพระราชดำริว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เป็นวันเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างเป็นทางการวันแรก

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link) หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันต้นสถานีของ ARL คือ พญาไทและปลายสถานี คือสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้ระยะเวลาการเดินทาง 25 นาที

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘AERA1’ (เอราวัน) ภายใต้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มซี.พี. และพันธมิตร จากผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ในอนาคต ‘รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์’ จะมีการรวมรถไฟฟ้าสายนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา โดยใช้เส้น Airport Rail Link เดิมเป็นส่วนต่อขยาย โดยแนวเส้นทางส่วนที่ต่อขยายคือ สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน และจะเชื่อมต่อไปยังสถานีดอนเมือง

ทั้งนี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจาก สถานีพญาไทไปสนามบินดอนเมืองจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การเดินทางสู่สองสนามบินเป็นเรื่องง่ายดาย ทั้งลดระยะเวลาการเดินทางและมีความสะดวกสบายที่มากขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top