Sunday, 19 May 2024
LITE TEAM

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู ‘เมืองฮิโรชิมา’ คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว นับเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกยากจะลืมเลือน เมื่อสหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดปรมาณู เหนือเมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้มีคนตายทันที 80,000 คน

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

อาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนนายร้อย

วันนี้ในอดีต 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’ ต่อมาคือ โรงเรียนนายร้อย จปร.

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับ(กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) โดยเริ่มจากการจัดตั้งทหารมหาดเล็กเด็กที่เรียกว่า ‘ทหารมหาดเล็กไล่กา’ จำนวน 12 คน ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมให้เป็นทหารมหาดเล็กสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารในชุดนี้ว่า ‘ทหาร 2 โหล’ และต่อมาได้เพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็กเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด

พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า ‘กอมปานี’ (Company) ถึง 6 กองร้อย จัดตั้งเป็น ‘กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์’

พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า ‘คะเด็ตทหารมหาดเล็ก’ ส่วนนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ (Cadet)

พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ) จึงกำเนิด ‘คะเด็ตทหารหน้า’ ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารสำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร) โดยรวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า ‘คะเด็ตสกูล’ สำหรับนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ มีนายพันเอกนิคาล วอลเกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการคนแรก

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล

14 มกราคม พ.ศ. 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’

6 ตุลาคม พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนสอนวิชาทหารบก’

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนทหารบก’ เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และ เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ เปิดการสอนใน 2 แผนก คือ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

5 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452

โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก

26 มีนาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี

พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบกขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค

2 ธันวาคม พ.ศ. 2485 - 14 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว

14 เมษายน พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน พ.ศ. 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น

ในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน จึงได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จ.พิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 ก.ม. เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม

พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา

1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’

ต่อมาโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอกอยู่ในสภาพแออัด ด้วยมีจำนวนนักเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้น สถานที่ฝึกศึกษา เล่นกีฬา และสถานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการเป็นโรงเรียนนายร้อยหลักของประเทศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีสถานที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระยศพันเอก) ได้เสด็จฯ มากระทำพิธี

5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ถือเป็นการเปิดโรงเรียนนายร้อยแห่งใหม่อย่างเป็นทางการ และได้ดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบัน

28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ภายหลังทรงมีพระราชดำรัสตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.  2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467

>>การศึกษา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร

หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

>>ทรงผนวช
วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถร วัดราชบพิธ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ถวายพระสมณนามว่า วชิราลงฺกรโณ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครบ 15 วัน ทรงลาผนวช

>>พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์มาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทย และพระราชพิธีทางศาสนาต่าง ๆ

นอกจากนี้ได้เสด็จติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปแปรพระราชฐานประทับแรมตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่าง ๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ส่งให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

ด้านการศึกษา 
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ทรงจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาพระราชทานด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนทุนพระราชทานทุกรุ่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 97 โดยผู้ได้รับทุนพระราชทานไม่มีภาระผูกพันที่ต้องใช้ทุนคืน และเมื่อจบการศึกษา ทรงเปิดโอกาสให้สมัครเข้าถวายงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้ตามความสมัครใจ

ด้านสังคมสงเคราะห์ 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด

ด้านการต่างประเทศ 
ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น ประเทศอิตาลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐเปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่างๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน

ด้านเกษตรกรรม 
ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล

ด้านพระศาสนา 
ทรงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับประเทศ

ด้านการกีฬา 
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม

ด้านการทหาร 
ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จ.ตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยความวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เองล้วนเป็นไปเพื่อประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงและเพื่อประชาชนชาวไทยได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

27 กรกฎาคม 2554 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชันษา 85 ปี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา ทรงพระประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว

โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ มีพระอาการรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลของเหล่าพสกนิกร แต่ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะประชวร ท่านทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลาประมาณบ่ายโมง พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทราบข่าว มีพระราชดำรัสว่า "ก็ดีเหมือนกัน" จากนั้นเมื่อเจ้าพระยารามราฆพได้นำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตร ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้ 

เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต

เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา เริ่มทรงพระอักษร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2473 โดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีและโรงเรียนราชินีบน พร้อมด้วยครูพิศ ภูมิรัตน อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีเป็นผู้ถวายพระอักษร ณ พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต 

จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) แล้วจึงทรงศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อาจารย์จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ ตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุขึ้น มีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้นำสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปประทับรักษาพระองค์ ณ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จไปประทับอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้ ทั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา และพระชนนี ได้ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ คือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และประสบความยากลำบากอย่างหนัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ

ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ได้ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ และได้เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนประจำสตรีชื่อโรงเรียนเซเครดฮาร์ต แคว้นเวลส์

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์และพระชนนีมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยทรงโปรดให้เข้าเฝ้า และจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่าง ๆ ของชาวไทยอยู่เป็นประจำ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร เป็นประจำ

นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ ทั้งม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ ทางสภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระชนนีได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2502 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ ประกอบกับพระองค์มีพระชนมายุสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง เมื่อพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าเฝ้าและได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เนือง ๆ

จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา มีพระชันษาที่มากขึ้น ทำให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประชวรด้วยอาการตามพระชันษา คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชจึงได้เฝ้าระวังพระอาการอย่างใกล้ชิด ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเริ่มมีพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน ทำให้ทรงขยับพระวรกายด้านซ้ายยากขึ้น คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถ และมีนางพยาบาลถวายการดูแล อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์จะทรงรับสั่งได้น้อยลง แต่ก็ทรงเข้าพระทัยทุกอย่างเป็นอย่างดีด้วยการพยักพระพักตร์ 

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเข้าประทับรักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยมีคณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่อาการพระประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 33 นาที ของวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิริรวมพระชันษา 85 ปี

26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 วันเกิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย โดยเจ้าตัวถือเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ที่ผันตัวมาทำงานด้านการเมือง ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

‘ทักษิณ ชินวิตร’ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ปัจจุบันอายุ 74 ปี โดยเจ้าตัวถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2544-2549

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ทักษิณเป็นที่รู้จักในนามของนักธุรกิจเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคม และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 เจ้าตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองภายใต้สังกัดพรรคพลังธรรม และต่อมาได้ก่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในชื่อ ‘พรรคไทยรักไทย’ ในช่วงปี พ.ศ. 2541

และหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงส่งผลให้ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมา พรรคไทยรักไทยยังสามารถกุมฐานเสียงในการเลือกตั้งเอาไว้ได้อีกครั้ง ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่การเป็นนายกฯ ของประเทศไทยเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

ต่อมา รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของทักษิณ ถูกกล่าวหาทั้งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งเจ้าตัวยังถูกเพ่งเล็งในเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี จนเป็นที่มาของเหตุการประท้วง 

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในช่วงที่เจ้าตัวเดินทางไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา เจ้าตัวเดินทางกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 

แต่หลังจากที่ศาลพิพากษาคดีทุจริตที่ดินย่านรัชดาฯ ซึ่งเจ้าตัวมีความผิด ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ทักษิณก็เดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง และไม่ยอมเดินทางกลับนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน ทักษิณ ชินวัตรใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน และยังปรากฎตัว วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ตลอดจนแสดงทัศนะ เรื่องราวกระแสสังคมต่าง ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำ และมีชื่อฉายาใหม่ที่ถูกเรียกขานเพิ่มเติมว่า ‘Tony Woodsome’

วันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ 74 ปีของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทใด ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าตัวยังคงสร้างความสนใจต่อสังคมไทยได้อยู่เสมอ

25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ไฟลุกไหม้ตกใส่โรงแรมคร่า 113 ชีวิต

วันนี้ในอดีต 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ เครื่องบินเร็วเหนือเสียง เกิดอุบัติเหตุขณะกำลังบินขึ้น ไฟลุกไหม้เครื่องยนต์ และโหม่งโลก ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 113 คน

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543  เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินคองคอร์ด ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 4590  ซึ่งกำลังเดินทางจากปารีสไปนิวยอร์ก ขณะเครื่องบินกำลังบินขึ้นเกิดไฟลุกไหม้และตกลงสู่พื้นดิน

เจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน ได้แจ้งนักบินว่า เห็นเพลิงไหม้ที่ด้านท้ายเครื่อง นักบินได้ตรวจสอบแล้วแจ้งว่า เกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 1 อีก 4 วินาทีต่อมานักบินได้แจ้งว่าเกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 2 ด้วย จากนั้น สัญญาณเตือนไฟไหม้ดังขึ้นในห้องนักบิน นักบินพยายามนำเครื่องไปร่อนลงที่สนามบินใกล้เคียงแต่เครื่องบินสูญเสียความเร็ว ดิ่งหัวลงสู่พื้นจนเกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 113 คน เป็นผู้โดยสาร 100 คน ลูกเรือ 9 คน และผู้ที่อยู่ในโรงแรมที่ 'คองคอร์ด' ตกใส่อีก 4 คน

จากผลการสอบสวนสรุปว่า สาเหตุการตก เกิดจากมีชิ้นส่วนโลหะที่หลุดออกมาจากเครื่องบินดีซี-10 ของคอนติเนนตัลแอร์ไลน์ ซึ่งบินขึ้นก่อนหน้านั้น 4 นาที กระแทกกับยางล้อด้านซ้ายของ 'คองคอร์ด' ขณะกำลังเร่งเครื่องเพื่อเทคออฟ ยางล้อเกิดระเบิดและมีชิ้นส่วนของยางกระเด็นไปกระแทกถังน้ำมันและสายไฟ และเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น

หน่วยงานความปลอดภัยทางการบินได้สั่งระงับ ‘คองคอร์ด’ ทุกเที่ยวบินเพื่อสอบสวนหาสาเหตุและแก้ไข

จากนั้น ‘คองคอร์ด’ เที่ยวบินแรกหลังเกิดอุบัติเหตุ ได้ทำการบินทดสอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2544 และทำการบินพร้อมผู้โดยสารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 วันเดียวกับการเกิดวินาศกรรม 9 /11 (ไนน์วันวัน)

อย่างไรก็ตาม จากความตกต่ำของอุตสาหกรรมการบินหลังเหตุการณ์9/11(ไนน์วันวัน)ทำให้แอร์ฟรานซ์และบริติชแอร์เวย์ ตัดสินใจประกาศยกเลิกการใช้งานเครื่องบิน 'คองคอร์ด' ทั้งหมด ในปี 2546 เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยและมีต้นทุนสูง

สำหรับ เครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ ( Concorde) เป็นเครื่องบินขนส่งชนิดมีความเร็วเหนือเสียง มีความเร็วปกติ 2,158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพดานบินสูงสุด 60,000 ฟุต (18.288กิโลเมตร) โดยใช้เวลาศึกษาวิจัยเป็นเวลา 7 ปี ก่อนจะนำเครื่องต้นแบบเริ่มบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512

เครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ มีทั้งสิ้น 20 ลำ เป็นเครื่องที่ใช้ในการพัฒนา 6 ลำ ใช้งานเชิงพาณิชย์ 14 ลำ และตก 1 ลำ

24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ‘อาภัสรา หงสกุล’ คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล นับเป็นหญิงไทยคนแรก และคนที่ 2 ของเอเชีย

วันนี้ เมื่อ 58 ปีก่อน ‘อาภัสรา หงสกุล’ หญิงไทยคนแรกที่ได้ครองมงกุฎนางงามจักรวาล ในการประกวดที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นนางงามจักรวาลคนที่ 14 ของโลก และคนที่ 2 ของเอเชีย

อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทย ได้รับเลือกเป็น 'นางงามจักรวาล' หรือ 'Miss Universe' ในเวทีประกวดที่ชายหาดไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) นับเป็นนางงามจักรวาลคนแรกของไทย และเป็นคนที่ 2 จากเอเชีย (หลังจาก อากิโกะ โคจิมะ นางงามจากประเทศญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2502)

ในขณะนั้น อาภัสรา มีส่วนสูง 164 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว) สัดส่วน 35-23-35 ซม. สามารถชนะใจกรรมการและคว้ามงกุฎมาครองได้สำเร็จ โดยในปีนั้นรองนางงามจักรวาลอันดับที่ 1 คือนางงามจากประเทศฟินแลนด์ รองฯ อันดับที่ 2 จากสหรัฐอเมริกาเจ้าบ้าน รองฯ อันดับที่ 3 จากประเทศสวีเดน และรองฯ อันดับที่ 4 จากประเทศฮอลแลนด์

อนึ่ง อาภัสรา นับเป็นตัวแทนคนที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจาก อมรา อัศวนนท์ รองนางสาวไทย 2496 ซึ่งเป็นตัวแทนคนแรกเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล 1956 ตามด้วย สดใส วานิชวัฒนา ในการประกวดนางงามจักรวาล 1959

23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’

วันนี้ เมื่อ 109 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนวิชาแต่งหนังสือไทยให้ถูกต้อง

วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนวิชาแต่งหนังสือไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย สนับสนุนให้แต่งเรื่องที่อ่านแล้วได้สาระประโยชน์ 

ด้วยปรากฏว่าเวลานั้นผู้แต่งหนังสือไม่ค่อยเอาใจใส่ภาษา การเรียบเรียงภาษาหรือการแปลมักเลียนตามแบบภาษาต่างประเทศ อันเป็นการทำลายภาษาไทยให้เสียไป นอกจากนี้ยังส่งเสริมการประพันธ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการไว้ตรวจคัดเลือกหนังสือที่แต่งดีเพื่อรับพระราชทานรางวัล นับเป็นรางวัลวรรณกรรมที่รัฐได้สร่งเสริมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก 

ในการจัดตั้งวรรณคดีสโมสรนี้ ได้โปรดให้สร้างพระราชลัญจกรขึ้นใหม่ เป็นรูปพระคเณศร์ เพื่อเป็นเครื่องหมายของวรรณคดีสโมสรอีกด้วย

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรก เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์

วันนี้ เมื่อ 54 ปีก่อน นีล อาร์มสตรอง เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก พร้อมคำกล่าวขณะที่ก้าวลงบนดวงจันทร์ว่า "นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"

เรือโท นีล ออลเดน อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong) 5 สิงหาคม พ.ศ. 2473 — 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน และเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก

นีล อาร์มสตรอง เกิดที่เมืองวาปาโคเนตา รัฐโอไฮโอ ชื่นชอบเรื่องการขับเครื่องบินมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เรียนการขับเครื่องบินครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 15 ปีแล้วได้รับใบอนุญาตนักบินเมื่อตอนอายุ 16 ปี และเป็นนักบินทดสอบให้กับองค์การนาซามาก่อน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และปฏิบัติภารกิจหลายภารกิจในโครงการเจมินีและโครงการอะพอลโล และยังเคยเป็นนักบินในกองทัพสหรัฐ ปฏิบัติภารกิจ 78 ครั้งในสงครามเกาหลี

พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

เขากล่าวประโยคนี้เมื่อเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์

That’s one small step for man, one giant leap for mankind. นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนนึง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 อาร์มสตรองได้เสียชีวิตในซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ขณะอายุได้ 82 ปี เนื่องด้วยภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐได้กล่าวยกย่องอาร์มสตรองว่าเป็น 'บุรุษชาว'

อนึ่ง นีล อาร์มสตรอง เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย และ หนึ่งในสถานที่มาเยือนนั้นคือที่ โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ในต้นฤดูฝน พ.ศ. 2512 มีนักเรียนชื่อ อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ และเพื่อนรวม 6 คน ได้เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยังนีล อาร์มสตรอง ซึ่งแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอะพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้สามารถเล่าให้เราฟังได้มากที่สุดและดีที่สุด” ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จหลังการประสานงาน เมื่อสำนักงานข่าวสารอเมริกัน บรรจุโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ไว้ในรายการเยือนประเทศไทยอีกจุดหนึ่งด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2512 นีล อาร์มสตรอง กลับจากดวงจันทร์ไม่นาน ก็ได้มายืนถ่ายรูปกับครูและนักเรียน ณ โรงเรียนประจำจังหวัดในภาคอีสาน นามว่า “ร.ร.สิรินธร จ.สุรินทร์”

ในการเดินทางมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น ตริตราภรณ์ช้างเผือก ให้แก่เขาด้วย

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 คณะปฏิบัติการณ์ฝนหลวง บินทดลองทำฝนเทียมครั้งแรก

คณะปฏิบัติการณ์ฝนหลวง เริ่มบินปฏิบัติการทดลองฝนเทียมกับเมฆฝนบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “ทำให้เมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็นฝน” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินภาคอีสาน เมื่อปี 2498 

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงบนท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงบนท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรกโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbon dioxide ) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และต่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผล โดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้ เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top