25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ไฟลุกไหม้ตกใส่โรงแรมคร่า 113 ชีวิต

วันนี้ในอดีต 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ เครื่องบินเร็วเหนือเสียง เกิดอุบัติเหตุขณะกำลังบินขึ้น ไฟลุกไหม้เครื่องยนต์ และโหม่งโลก ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 113 คน

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543  เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินคองคอร์ด ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 4590  ซึ่งกำลังเดินทางจากปารีสไปนิวยอร์ก ขณะเครื่องบินกำลังบินขึ้นเกิดไฟลุกไหม้และตกลงสู่พื้นดิน

เจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน ได้แจ้งนักบินว่า เห็นเพลิงไหม้ที่ด้านท้ายเครื่อง นักบินได้ตรวจสอบแล้วแจ้งว่า เกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 1 อีก 4 วินาทีต่อมานักบินได้แจ้งว่าเกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 2 ด้วย จากนั้น สัญญาณเตือนไฟไหม้ดังขึ้นในห้องนักบิน นักบินพยายามนำเครื่องไปร่อนลงที่สนามบินใกล้เคียงแต่เครื่องบินสูญเสียความเร็ว ดิ่งหัวลงสู่พื้นจนเกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 113 คน เป็นผู้โดยสาร 100 คน ลูกเรือ 9 คน และผู้ที่อยู่ในโรงแรมที่ 'คองคอร์ด' ตกใส่อีก 4 คน

จากผลการสอบสวนสรุปว่า สาเหตุการตก เกิดจากมีชิ้นส่วนโลหะที่หลุดออกมาจากเครื่องบินดีซี-10 ของคอนติเนนตัลแอร์ไลน์ ซึ่งบินขึ้นก่อนหน้านั้น 4 นาที กระแทกกับยางล้อด้านซ้ายของ 'คองคอร์ด' ขณะกำลังเร่งเครื่องเพื่อเทคออฟ ยางล้อเกิดระเบิดและมีชิ้นส่วนของยางกระเด็นไปกระแทกถังน้ำมันและสายไฟ และเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น

หน่วยงานความปลอดภัยทางการบินได้สั่งระงับ ‘คองคอร์ด’ ทุกเที่ยวบินเพื่อสอบสวนหาสาเหตุและแก้ไข

จากนั้น ‘คองคอร์ด’ เที่ยวบินแรกหลังเกิดอุบัติเหตุ ได้ทำการบินทดสอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2544 และทำการบินพร้อมผู้โดยสารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 วันเดียวกับการเกิดวินาศกรรม 9 /11 (ไนน์วันวัน)

อย่างไรก็ตาม จากความตกต่ำของอุตสาหกรรมการบินหลังเหตุการณ์9/11(ไนน์วันวัน)ทำให้แอร์ฟรานซ์และบริติชแอร์เวย์ ตัดสินใจประกาศยกเลิกการใช้งานเครื่องบิน 'คองคอร์ด' ทั้งหมด ในปี 2546 เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยและมีต้นทุนสูง

สำหรับ เครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ ( Concorde) เป็นเครื่องบินขนส่งชนิดมีความเร็วเหนือเสียง มีความเร็วปกติ 2,158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพดานบินสูงสุด 60,000 ฟุต (18.288กิโลเมตร) โดยใช้เวลาศึกษาวิจัยเป็นเวลา 7 ปี ก่อนจะนำเครื่องต้นแบบเริ่มบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512

เครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ มีทั้งสิ้น 20 ลำ เป็นเครื่องที่ใช้ในการพัฒนา 6 ลำ ใช้งานเชิงพาณิชย์ 14 ลำ และตก 1 ลำ