Tuesday, 30 April 2024
LITE TEAM

21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสันติภาพโลก (The International Day of Peace) ร่วมรณรงค์หยุดใช้ความรุนแรงทั่วโลก

วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น วันสันติภาพโลก (The International Day of Peace) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนหยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก

ย้อนไปในปี ค.ศ. 1981 คณะกรรมการสหประชาชาติได้ลงประกาศรับรองโดยคอสตาริกา โดยประกาศให้ทุกวันอังคารที่ 3 กันยายนที่เป็นวันเปิดประชุมสามัญนั้นเป็น วันสันติภาพโลก หรือ วันสันติภาพสากล เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับสันติภาพ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เดิมแล้ววันสันติภาพไม่ได้กำหนดไว้แน่นอนเช่นทุกวันนี้ จากนั้นในปี ค.ศ. 2001 หรืออีกประมาณ 20 ปีต่อมา ก็ได้มีมติใหม่จากสหราชอาณาจักรและคอสตาริกากำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็นวันยุติการสู้รบ และประกาศให้เป็นวันสันติภาพโลก หรือวันสันติภาพสากล (The International Day of Peace) เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนหยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน 

อีกทั้งยังได้มีการเชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานต่าง ๆ มาเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลก ทั้งยังกำหนดให้ ค.ศ. 2001 - 2010 เป็นทศวรรษสากลเพื่อวัฒนธรรมสันติภาพและความไม่รุนแรงเพื่อเด็กของโลก มีจุดมุ่งหมาย 6 ประการดังต่อไปนี้

1. ให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้น หรือลำเอียง
2. ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
3. แบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
4. รับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
5. สงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี

สำหรับสัญลักษณ์ของสันติภาพในการแทนความหมายของ สันติภาพ จะใช้เป็นภาพของนกพิราบคาบกิ่งมะกอกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างสากล เนื่องจากชาวตะวันมีความเชื่อว่า นกพิราบ เป็นวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของเรียนเรียกร้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางวิชาชีพสื่อสารมวลชนอีกด้วย เพราะนกพิราบนั้นมีความสามารถในการจดจำเส้นทางได้อย่างแม่นยำ ผู้คนส่วนใหญ่จึงใช้นกพิราบในการสื่อสาร ส่วน กิ่งมะกอก ก็เป็นสิ่งที่ชาวกรีกโบราณใช้งานพิธีสำคัญ เป็นมงกุฎสวมให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบให้ผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย

18 กันยายน พ.ศ. 2505 ประกาศให้ ‘เขาใหญ่’ เป็นอุทยานแห่งชาติ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 61 ปีก่อน ผืนป่าเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็น ‘อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่’ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี ประกอบด้วยป่าหลายประเภท ทั้งป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และป่าที่กำลังฟื้นตัวหลังถูกทำลาย 

ในอดีตป่าผืนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าดงพญาไฟ มีการสำรวจพบพืชพรรณ 2,000-2,500 ชนิด นก 340 ชนิด ผีเสื้อ 189 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง กระทิง ชะนี เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ผืนป่าเขาใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำและลำธารใหญ่น้อยหลายสาย มีน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง น้ำตกเหวนรก น้ำตกผากล้วยไม้ ฯลฯ 

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในแถบเอเชียอาคเนย์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการมรดกโลก แห่งองค์การยูเนสโกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผืนป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นบัญชีเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก นับเป็นแห่งที่ 2 ของไทยต่อจากเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 

17 กันยายน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประกาศใช้เงินเหรียญบาทครั้งแรกในประเทศสยาม

วันนี้ เมื่อ 163 ปีก่อน สยาม ประกาศใช้เงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ เพื่อใช้แทนเงินพดด้วง เป็นตราพระมหามงกุฎ-ช้างในวงจักร

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์สิทธิการ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

และเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

อนึ่ง โรงกษาปณ์แห่งนี้ ภายหลังจากการสร้างโรงกษาปณ์แห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงหมอตอนหนึ่ง และเป็นคลังราชพัสดุอีกตอนหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง

16 กันยายน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

กันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน

15 กันยายน ของทุกปี วัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

15 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้บุกเบิกวงการศิลปกรรมของไทยให้ก้าวหน้าสู่สากล และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2435 ในเขตซานโจวานนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ อาตูโด เฟโรชี และซานตินา เฟโร มีบุตร 2 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

เป็นบุคคลที่มีใจรักในศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ท่านก็สามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ 1 และสามารถสอบเข้าเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2466 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน

แม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็น ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ

14 กันยายน พ.ศ. 2485 ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันเป็นวันแรก แสดงถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

วันนี้เมื่อ 81 ปีก่อน 14 กันยายน พ.ศ. 2485 ประชาชนชาวไทยยืนตรงเคารพธงชาติไทยครั้งแรก ในเวลา 08.00 น. และ เวลา 18.00 น. หลังก่อนหน้านี้มีการกำหนดเป็นกฎหมาย แต่ไม่ได้รับความนิยม

ปีพ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีเพลงชาติเป็นครั้งแรก แต่ยังคงใช้ชื่อว่า ‘เพลงชาติสยาม’ (เปลี่ยนชื่อเป็น เพลงชาติไทย ปี พ.ศ. 2482) และในปีต่อมา คือ พ.ศ. 2478 ทางราชการก็ได้ประกาศกฎหมายให้ประชาชนยืนเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น. แต่ในสมัยนั้นกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร

จนในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรายการวิทยุนายมั่น นายคง ซึ่งเป็นรายการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อโฆษณาแนวคิดรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการนัดหมายประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2485 เป็นวันแรก โดยภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้กล่าวผ่านทางวิทยุกระจายเสียงในทำนองว่า ตนเองรู้สึกสบายใจ และพบความเป็นไทยมากขึ้น รวมทั้งประณามคนที่ไม่เคารพธงชาติไทยว่า เป็นผู้คิดทรยศต่อชาติ เท่ากับการด่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระพุทธเจ้า เนื่องจากสีของธงชาติไทยมีสีแทนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีการทำตามมาจนถึงปัจจุบัน

8 กันยายน พ.ศ. 2565 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

ครบรอบ 1 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

สำหรับพระราชประวัติของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้น พระองค์ทรงพระประสูติ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1926 ทรงเป็นพระประมุขของ 15 ประเทศ จาก 53 รัฐ สมาชิกในเครือจักรภพแห่งชาติ และทรงเป็นประธานเครือจักรภพและประมุขสูงสุดแห่ง คริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)

พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์เเรกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เเละสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี พระราชบิดาเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี

พระราชบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระปิตุลาของพระองค์ ได้ทรงสละราชสมบัติ ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (พระยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทโดยสันนิษฐานแห่งสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

หลังจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาสวรรคต ในคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี เเห่งยอร์ก จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 25 พรรษา

แม้ว่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว แต่ก็เป็นเวลาอีก 16 เดือนกว่าจะถึงพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกของพระองค์ โดยพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก

ในพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวอังกฤษว่า

“ในพิธีบรมราชินยาภิเษกวันนี้ ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ให้ช่วยสวดภาวนาให้ข้าพเจ้า ในวันที่ข้าพเจ้าต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์เเห่งอังกฤษ สวดภาวนาให้พระเป็นเจ้าประทานพระปัญญาญาณเเละความเข้มเเข็งให้ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัติราชกิจลุล่วงตามที่ข้าพเจ้าได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ เเละข้าพเจ้าพร้อมรับใช้พระเป็นเจ้าเเละประชาชนของข้าพเจ้าทุกคน ตลอดที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ”

พระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐบริเตนที่ทรงราชย์นานที่สุด แซงหน้ารัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ และเป็นพระราชินีนาถที่ทรงราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์

พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าชายแห่งเวลส์’ ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1948 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ประสูติเมื่อปี 1950 ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ราชกุมารี’ พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ดยุกแห่งยอร์ก’ และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งประสูติในปี ค.ศ. 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์’

และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 สำนักพระราชวังประกาศว่าสมเด็จพระราชินีทรงประชวร และอยู่ภายใต้การเฝ้ารักษาพระวรกายอย่างใกล้ชิดที่บาลมอรัล โดยในประกาศระบุว่า “คณะแพทย์ประจำพระองค์มีความกังวลต่อพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างมาก และได้แนะนำให้พระองค์อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่โดยสบายที่บาลมอรัล” โดยมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสี่ของพระองค์ พร้อมด้วยพระสุณิสา เสด็จไปพร้อมกับพระองค์ และในช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักพระราชวังได้ประกาศว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประเทศไทยประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 121 ปีก่อน ประเทศไทยได้ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรก เป็นธนบัตรหน้าเดียว มี 5 ราคา คือ 5, 10, 20, 100 และ 1,000 บาท พิมพ์โดย บ.โทมัส เดอลารู แห่งอังกฤษ มีอักษรแจ้งมูลค่าเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ และมลายู

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 120 ปีที่แล้ว 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประเทศไทย ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

และต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น นั่นก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 นั่นเอง โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท

6 กันยายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ปลุกจิตสำนึกคนไทยต่อต้านการทุจริต

วันที่ 6 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็นวันต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งชาติ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการริเริ่มของ ดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย ที่ได้สร้างความตื่นตัวของคนไทยในเรื่องนี้ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ

ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีอันดับการคอร์รัปชันแย่ลงจาก 78 เป็น 80 จาก 183 ประเทศทั่วโลกทั้งยังมีคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นเพียง 3.4 จาก 10 คะแนนเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ‘ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน’ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตื่นตัว และลุกขึ้นมาร่วมใจกันต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม 

โดยในปีแรกงานจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 ณ ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี ภายใต้หัวข้อ ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ และได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ’ เพื่อเป็นการรำลึกถึง คุณดุสิต นนทะนาครพลังสำคัญผู้ก่อตั้งภาคีฯ ผู้นำการต่อต้านการคอร์รัปชันเข้าสู่แผนปฏิรูปประเทศไทยภายใต้แผนปรองดองของหอการค้าไทย ที่ได้เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

วันนี้เมื่อ 215 ปีก่อน เป็น วันพระราชสมภพของ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. 4 เมื่อ ร.4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าน้อย' เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น 'สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าอสุนีบาต'

เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว' เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น 'พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2' ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงใน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top