Tuesday, 30 April 2024
LITE TEAM

2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 วันเกิด ‘มหาตมะ คานธี’ มหาบุรุษแห่งสันติภาพ

2 ตุลาคม วันเกิดมหาตมะ คานธี ครบรอบ 154 ปี มหาบุรุษแห่งสันติภาพ ผู้นำคนสำคัญ ในการเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย

โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี หรือ มหาตมะ คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1869) ที่จังหวัดโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในตระกูลชนชั้นสูง พ่อเป็นข้าราชการ และมารดาเป็นแม่บ้านที่เคร่งศาสนา และมักปลูกฝังแนวคิดหลักจริยธรรมฮินดู การบริโภคมังสวิรัติ ความแตกต่างทางศาสนา การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และการไม่ใช้ความรุนแรงให้คานธี

ในวัยเด็กเขาไม่ใช่คนเรียนเก่ง หรือมีความสามารถพิเศษโดดเด่นชัดเจน ครอบครัวจึงให้เขาไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม เพื่อโอกาสทางการงานที่ดีในอนาคต คานธีในวัย 18 ปีจึงเดินทางไปอังกฤษ และเข้าเรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London)

เมื่อเรียนจบ คานธีได้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียอพยพไปทำงานกันมาก

ณ ประเทศแห่งนี้เขาได้พบประสบการณ์เหยียดสีผิวตั้งแต่เริ่มเดินทางมาถึง จากการที่เขาต้องการซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่ถูกขับไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 ทว่าคานธีนั้นไม่ยอม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับโยนลงจากรถไฟ และเหตุการณ์ครั้งนี้ได้จุดประกายให้คานธีเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมนับตั้งแต่นั้น

ชื่อของ คานธี กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อครั้งถูกจับกุมฐานเป็นแกนนำการประท้วง และเดินขบวนต่อต้านการเรียกเก็บภาษีต่อผู้มีเชื้อสายอินเดีย ท้ายที่สุดอังกฤษถูกกดดันให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว ก่อนปล่อยตัวคานธีในเวลาต่อมา ข่าวเรื่องชัยชนะของคานธีถูกรายงานไปทั่วอังกฤษ กระทั่งกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

คานธี กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของอินเดียในการเรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยตนออกจากการเป็นอาณานิคม ซึ่งช่วยนำอินเดียไปสู่ความเป็นอิสระ เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรงเพื่อสิทธิพลเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วโลก

ตลอดชีวิตของเขายังคงยึดมั่นในความเชื่อของเขาในการไม่ใช้ความรุนแรงแม้ภายใต้สภาวะที่กดขี่และเผชิญกับความท้าทายที่ดูเหมือนจะผ่านไม่ได้

2 ตุลาคม ของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็น วันไม่ใช้ความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence) จากมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เนื่องจากวันนี้เป็นวันเกิดของ มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพชาวอินเดีย ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการยุติความรุนแรง และเพื่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคม มีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างลึกซึ้งนั่นเอง

นายอานันท์ ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ได้กล่าวเมื่อครั้งการเสนอมติในสมัชชาใหญ่ ในนามของผู้สนับสนุนกว่า 140 คนเอาไว้ว่า การสนับสนุนมติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพต่อมหาตมะ คานธี ในระดับสากล และเพื่อเป็นการค้ำจุน หลักการและปรัชญาแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันนี้ เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวร สุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

30 กันยายน พ.ศ. 2511 ยกเลิก 'รถราง' ในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการรถรางในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง จากการที่ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

กิจการเดินรถราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายจอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ของพระบรมราชานุญาตเดินรถราง จนเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาต่อมา รถรางถูกพัฒนาจากการใช้ม้าลาก เป็นการใช้ไฟฟ้าลาก ซึ่งก็ถือเป็นรถรางระบบไฟฟ้าชาติแรกในเอเชียอีกด้วย กิจการรถรางถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งระหว่างการเปิดให้บริการ จนกระทั่งถูกโอนเป็นกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และมีเส้นทางเดินรถรางทั่วกรุงเทพฯ 11 สาย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถรางเสื่อมความนิยม ทางการจึงค่อย ๆ ยกเลิกรถรางทีละสาย จนยกเลิกทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ. 2511

29 กันยายน ตรงกับ ‘วันหัวใจโลก’ หวังให้คนตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ

วันที่ 29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันหัวใจโลก’ จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของโรคหัวใจ

วันหัวใจโลก (World Heart Day) ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของโรคหัวใจ เนื่องจากสถานการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรโลก จึงควรรณรงค์ให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญในการดูแลและป้องกัน 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และพันธุกรรม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จึงร่วมรณรงค์ให้ทุกคนดูแลหัวใจตนเองให้แข็งแรง

ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘หัวใจ’ เป็นอวัยวะสำคัญ ที่ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจละเลยไป คือการดูแลรักษามัน ขณะเดียวกันมีกิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวันที่เป็นการทำร้ายหัวใจโดยที่ไม่ได้คาดคิด ยกตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารแบบผิด ๆ การไม่ออกกำลังกาย หรือการคิดมากจนทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น

28 กันยายน พ.ศ. 2549 สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการเป็นทางการครั้งแรก

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังจากใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนาน 45 ปี

สนามบินสุวรรณภูมิ มีชื่อเดิมว่า สนามบินหนองงูเห่า ตั้งอยู่บน ถ.บางนา-ตราด ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัท ลิชฟิลด์ มาศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2503 เนื่องจากต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมืองและตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย

สำหรับของสนามบินสุวรรณภูมิ มีความหมายว่า ‘แผ่นดินทอง’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี ปฐมบทสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 หรือ เมื่อ136 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง น้อมระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

24 กันยายน วันมหิดล น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน

24 กันยายน วันมหิดล ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์)

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

23 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ธนบัตร’ ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาล

วันนี้ เมื่อ 121 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปิดรับแลกเปลี่ยนธนบัตรแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ นับเป็นการนำ ‘ธนบัตร’ ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม

แรกเริ่มก่อนที่จะมีการใช้ธนบัตรนั้น ไทยได้มีการออกใช้เงินกระดาษมาก่อนแล้ว เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้ากับชาติตะวันตกทำให้ความต้องการเงินตราภายในสยามเกินกำลังการผลิต เกิดความขาดแคลนเงินที่ผลิตจากโลหะจึงมีการออกเงินกระดาษ เรียกว่า หมาย ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อใช้ร่วมกันกับเหรียญโลหะแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากคนทั่วไปยังคุ้นเคยกับการใช้เงินโลหะอยู่ ต่อมาเมื่อมีธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ และธนาคารแห่งอินโดจีนได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้เป็นตั๋วสัญญาในการชำระหนี้ในวงแคบระหว่างธนาคารและลูกค้าในช่วง พ.ศ. 2432 - 2445 โดยมีการเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ตหรือแบงก์ ซึ่งสร้างความเคยชินและเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังจนติดปากถึงทุกวันนี้ว่า แบงก์

จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445 จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา

ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์

22 กันยายน ของทุกปี ‘วันแรดโลก - World Rhino Da’ ร่วมอนุรักษ์และต่อต้านการล่าเอานอ

จุดเริ่มต้นของวันแรดโลก ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวันแรดโลกได้สำเร็จ จนกลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ได้แก่

1. แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา

2. แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน

3. แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน

4. แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย 

5. กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์แรดโลก พร้อมกันนี้การจัดตั้งวันแรดโลก ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก จนเกือบจะกลายมาเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน และเป็นการ ร่วมรณรงค์ต่อต้านการล่าเอานอแรด และตระหนักถึงความสำคัญของประชากรแรดที่กำลังลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top