Friday, 26 April 2024
LITE TEAM

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ การก่อกบฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง 

‘กบฏบวรเดช’ เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ ‘กบฏบวรเดช’

อีกทั้งการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง และถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง จึงเป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

โดยในวัน 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง 

และได้มีการปะทะกันที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อต้าน โดยประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพ และแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถ ปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ ขณะที่ยังส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เข้าเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน

จนกระทั่งเวลาเที่ยงตรงฝ่ายกบฏได้ส่งหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย ทั้งกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์, กำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมา พร้อมปืนกล ไหนจะรถเกราะ ส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากกินเวลาหลายวัน

จนวันที่ 15 ตุลาคมฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้จนพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศไปยังเมืองไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด

จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์หลีกเส้นทางรถไฟฟ้า กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าได้นำไปไว้ที่ใด

9 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันไปรษณีย์โลก’ ย้อนรำลึกวันวานส่งข่าวสารผ่านจดหมาย

วันไปรษณีย์โลก (World Post day) จะมีขึ้นทุกปีในวันที่ 9 ตุลาคม เพื่อเป็นการระลึกถึง วันเริ่มก่อตั้งสหภาพไปรษณีย์สากล

ก่อนที่จะมีสหภาพไปรษณีย์สากล การที่ประเทศหนึ่งจะแลกเปลี่ยนไปรษณีย์กับประเทศอื่นได้ต้องมีการทำสนธิสัญญากับแต่ละประเทศคู่สัญญา อีกทั้งการส่งจดหมายระหว่างประเทศมักต้องติดแสตมป์ของประเทศต่าง ๆ ที่จดหมายเดินทางผ่าน จึงมีการเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติในเรื่องนี้ จนกระทั่ง เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ในการประชุมที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาเบิร์น จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศได้สำเร็จ ใช้ชื่อว่า สหภาพไปรษณีย์ทั่วไป และในการประชุมไปรษณีย์สากลสมัยถัดไป พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) ที่กรุงปารีส เห็นว่าจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ลงมติเปลี่ยนมาใช้ชื่อ สหภาพไปรษณีย์สากล Universal Postal Union จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 9 ตุลาคม เป็นวันไปรษณีย์โลก World Post Day และประเทศสมาชิกตกลงร่วมกันที่จะเฉลิมฉลองในโอกาสนี้โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนจดหมาย อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพ และเสรีภาพผ่านตัวอักษร โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา ให้ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างทั่วถึง

๘ ตุลาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับวีระยุทธ ดิษยะศริน เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

>>พระประวัติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ หรือพระนามลำลองว่า พระองค์หริภา ประสูติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

เมื่อประสูติพระองค์ดำรงพระยศที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทุกพระองค์ ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"

>>การศึกษา
พระองค์เข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 - ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิตรลดา, ประถมศึกษาปีที่ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนฮอล์ตัน-อามส์ (Holton-Arms School) รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8 โรงเรียนเฮอร์เบิร์ตฮูเวอร์มิดเดิล (Herbert Hoover Middle School) สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8-11 โรงเรียนมัธยมวอลเตอร์ จอห์นสัน (Walter Johnson High School) สหรัฐอเมริกา ภายหลังได้นิวัติกลับประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนจิตรลดา

ส่วนระดับอุดมศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาศิลปไทย ภาควิชาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

>>พระกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงประกอบพระกรณียกิจทั้งในด้านการสนองพระเดชพระคุณในฐานะพระราชวงศ์ และพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ

- รองประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬาทางอากาศและการบินแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธาน ศูนย์ปฏิบัติการบินอาสา อนุรักษ์และกู้ภัย สิริภาจุฑาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ
- โครงการงานบ้านกู้ภัย ‘โครงการบ้านกู้ภัยร่วมใจสิริภา’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติภัย

>>ด้านศิลปะ
ทรงส่งเสริมงานด้านต่าง ๆ ของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ต่าง ๆ อาทิ

- ทรงจัดประมูลงาน ‘ภาพฝีพระหัตถ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์’ เพื่อช่วยเหลือสุนัขจรจัด ในงาน ‘นิทรรศการศิลปะเพื่อสุนัข My Friends’
- งานบูรณะพระวิหาร บูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังบูรณะศาลาบ่อทิพย์ และปรับพื้นที่ภูมิทัศน์ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการจัดสร้างสวนประติมากรรม ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพุทธศาสนา’ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชุมชน
- โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดหนองน้ำขุ่น ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 ‘เรือหลวงพระร่วง’ เรือรบหลวงลำแรกของไทย เดินทางมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา

วันนี้ เมื่อ 103 ปีก่อน ‘เรือหลวงพระร่วง’ เรือรบหลวงลำแรกของไทย เดินทางมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้การบังคับการโดย ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ 

เรือหลวงพระร่วง เป็นเรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งข้าราชการและประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างเรือรบไว้เพื่อป้องกันราชอาณาจักรทางทะเล จึงร่วมกันจัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Navy League of Siam) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 เพื่อเรี่ยไรทุนทรัพย์ซื้อเรือรบถวายเป็นราชพลี 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความยินดีและเห็นชอบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเรือนี้ว่า พระร่วง อันเป็นสิริมงคลตามวีรกษัตริย์อันเป็นที่นับถือของชาวไทยทั่วไป พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการหาทุนเพื่อสร้างเรือลำนี้ เช่น ได้แก้ไขบทละครเรื่อง ‘มหาตมะ’ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ทรงนำเรื่องการเสียสละทุนทรัพย์สมทบทุนสร้างเรือรบเข้ามาเป็นหัวใจของเรื่อง และได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงเพื่อเก็บเงินสมทบทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ทั้งยังมีการแสดงละครพระราชนิพนธ์อีกหลายเรื่องตลอดจนโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพเพื่อหารายได้อีกด้วย 

นอกจากนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 80,000 บาท กับเงินที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวายเมื่อครั้งจัดงานพระราชพิธีทวีธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งยังเหลือจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 116,324 บาท ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์อีกเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่เรี่ยไรทั่วพระราชอาณาจักร ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,514,604 บาท 1 สตางค์ ในปี พ.ศ. 2463

ต่อมา นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปพร้อมด้วยนายทหารอีก 5 นาย คณะข้าหลวงพิเศษตรวจการซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปชุดนี้คัดเลือกได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด มีนามว่า ‘เรเดียนท์’ (RADIANT) ของบริษัทธอร์นิครอฟท์ (Thornycroft Co.,) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมแก่ความต้องการของกองทัพเรือและเป็นเรือที่ต่อขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้นสงครามยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2461 อังกฤษจึงยินดีขาย คณะข้าหลวงพิเศษได้ตกลงซื้อเรือลำนี้เป็นเงิน 200,000 ปอนด์ ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อเรือนั้นได้พระราชทานให้แก่กองทัพเรือไว้สำหรับใช้สอย เสด็จในกรมฯ ได้เป็นผู้บังคับการเรือลำนี้จากประเทศอังกฤษเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 นับเป็นเกียรติประวัติครั้งแรกที่คนไทยเดินเรือทะเลได้ไกลถึงเพียงนี้

สำหรับสมรรถนะของเรือหลวงพระร่วงมีดังนี้ คือ มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ความยาวตลอดลำ 83.57 เมตร ความกว้างสุด 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร อาวุธปืน 102 ม.ม. 3 กระบอก ปืน 76 ม.ม. 1 กระบอก ต่อมาติดปืน 40 ม.ม. 2 กระบอก ปืน 20 ม.ม. 2 กระบอก มีตอร์ปิโด 21 นิ้ว 4 ท่อ มีรางปล่อยระเบิดลึก และมีแท่นยิงปืนระเบิดลึก 2 แท่น เครื่องจักรเป็นแบบไอน้ำแบบ บี.ซี. เกียร์ เทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง ใบจักรคู่ กำลัง 29, 000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 35 น นอต ความเร็วมัธยัสถ์ 14 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์ 1,896 ไมล์ ทหารประจำเรือ 135 คน

6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลก เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร

วันนี้ เมื่อ 64 ปีก่อน กัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลโลก เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลกัมพูชา นำโดย เจ้านโรดม สีหนุ ได้ยื่นฟ้องต่อ ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือ เขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย โดยอ้างว่าประเทศไทยละเมิดอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารซึ่งเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา และขอเรียกร้องให้คืนอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารคืนแก่กัมพูชา 

การไต่สวนพิจารณาคดียาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา 

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกปิด ๆ เปิด ๆ ให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ

5 ตุลาคม ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ รำลึกพระอัจฉริยภาพ ในหลวง ร. 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย

วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงได้มีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ ‘โครงการแกล้งดิน’ ที่ไม่มีใครทำมาก่อนและทั้งนี้ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทำเป็นตำรา คือ ‘คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร’ สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ต่อไป

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ จากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

1. เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น 'พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย'
2. ให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันนวัตกรรมแห่งชาติ'

4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนา ‘กรุงธนบุรี’ เป็นราชธานี

วันนี้ เมื่อ 253 ปีก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ มีนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร 

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี  2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมกำลังพลและกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามชายฝั่งจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงต่อสู้โจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้ ในเวลาเพียง 7 เดือน จากนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศมาประกอบพิธีโดยสังเขปและพระราชเพลิงพระบรมศพเรียบร้อย

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จสำรวจความเสียหายของบ้านเมือง และประทับแรมในพระนคร ณ พระที่นั่งทรงปืน ทรงพระสุบินนิมิตว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา “มาขับไล่ไม่ให้อยู่” พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเล่าให้ขุนนางทั้งหลายฟัง แล้วดำรัสว่า

“เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่า จะ มาช่วยปฏิสังขรณ์ทํานุบํารุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิม ท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด แล้วตรัสสั่งให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฎร แลสมณพราหมณาจารย์ ทั้งปวงกับทั้งโบราณขัติยวงษ์ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น ก็เสด็จกลับลงมาตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี”

เรื่องเมืองธนบุรีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงความคิดเห็นไว้ว่า
“…ที่เจ้าตากลงมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี ครั้งนั้นเหมาะแก่ประโยชน์ทุกอย่าง ถ้าหากว่าสมเด็จพระอดีตมหาราชได้มาขับไล่เจ้าตากมิให้ตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ก็ขับไล่ด้วยไมตรีจิต ตักเตือนมิให้พลาดพลั้งไปด้วยเห็นแก่เกียรติยศ

เพราะกรุงศรีอยุธยาถึงเป็นที่มีชัยภูมิด้วยลําน้ำล้อมรอบ และเป็นเมืองมีป้อมปราการมั่นคงก็จริง แต่รี้พลของเจ้าตากที่มีอยู่ไม่พอจะรักษากรุงศรีอยุธยาต่อสู้ข้าศึก และขณะนั้นศัตรูก็ยังมีมาก ทั้งพม่าและไทยก๊กอื่นอาจจะยกมาย่ำยีในเมื่อหนึ่งเมื่อใด กรุงศรีอยุธยาอยู่ในทางที่ ข้าศึกจะมาถึงได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้ามีกําลังไม่พอรักษา ขืนตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาก็คงเป็นอันตราย

การที่ลงมาตั้งอยู่เมืองธนบุรีก็ไม่ห่างไกลกับกรุงศรีอยุธยา มีอํานาจอยู่ที่เมืองธนบุรีก็เหมือนมีอํานาจอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่ได้เปรียบที่เมืองธนบุรีตั้งอยู่ที่ลําน้ำลึกใกล้ทะเล แม้ข้าศึกมาทางบกไม่มีทัพเรือเป็นกําลังด้วยแล้วก็ยากที่จะมาตีเมืองธนบุรี”

ภายหลังเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบชุมนุมต่างๆ แล้ว พระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองธนบุรี ขึ้นราชธานีแห่งใหม่ ทรงสร้างพระราชวังขึ้นทางทิศใต้ของกรุงธนบุรี ขนาบข้างด้วยวัดแจ้ง หรือวัดมะกอก (ปัจจุบันคือ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร) และวัดท้ายตลาด (ปัจจุบันคือวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 พระราชทานนามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร”

2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 วันเกิด ‘มหาตมะ คานธี’ มหาบุรุษแห่งสันติภาพ

2 ตุลาคม วันเกิดมหาตมะ คานธี ครบรอบ 154 ปี มหาบุรุษแห่งสันติภาพ ผู้นำคนสำคัญ ในการเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย

โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี หรือ มหาตมะ คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1869) ที่จังหวัดโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในตระกูลชนชั้นสูง พ่อเป็นข้าราชการ และมารดาเป็นแม่บ้านที่เคร่งศาสนา และมักปลูกฝังแนวคิดหลักจริยธรรมฮินดู การบริโภคมังสวิรัติ ความแตกต่างทางศาสนา การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และการไม่ใช้ความรุนแรงให้คานธี

ในวัยเด็กเขาไม่ใช่คนเรียนเก่ง หรือมีความสามารถพิเศษโดดเด่นชัดเจน ครอบครัวจึงให้เขาไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม เพื่อโอกาสทางการงานที่ดีในอนาคต คานธีในวัย 18 ปีจึงเดินทางไปอังกฤษ และเข้าเรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London)

เมื่อเรียนจบ คานธีได้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียอพยพไปทำงานกันมาก

ณ ประเทศแห่งนี้เขาได้พบประสบการณ์เหยียดสีผิวตั้งแต่เริ่มเดินทางมาถึง จากการที่เขาต้องการซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่ถูกขับไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 ทว่าคานธีนั้นไม่ยอม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับโยนลงจากรถไฟ และเหตุการณ์ครั้งนี้ได้จุดประกายให้คานธีเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมนับตั้งแต่นั้น

ชื่อของ คานธี กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อครั้งถูกจับกุมฐานเป็นแกนนำการประท้วง และเดินขบวนต่อต้านการเรียกเก็บภาษีต่อผู้มีเชื้อสายอินเดีย ท้ายที่สุดอังกฤษถูกกดดันให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว ก่อนปล่อยตัวคานธีในเวลาต่อมา ข่าวเรื่องชัยชนะของคานธีถูกรายงานไปทั่วอังกฤษ กระทั่งกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

คานธี กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของอินเดียในการเรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยตนออกจากการเป็นอาณานิคม ซึ่งช่วยนำอินเดียไปสู่ความเป็นอิสระ เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรงเพื่อสิทธิพลเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วโลก

ตลอดชีวิตของเขายังคงยึดมั่นในความเชื่อของเขาในการไม่ใช้ความรุนแรงแม้ภายใต้สภาวะที่กดขี่และเผชิญกับความท้าทายที่ดูเหมือนจะผ่านไม่ได้

2 ตุลาคม ของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็น วันไม่ใช้ความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence) จากมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เนื่องจากวันนี้เป็นวันเกิดของ มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพชาวอินเดีย ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการยุติความรุนแรง และเพื่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคม มีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างลึกซึ้งนั่นเอง

นายอานันท์ ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ได้กล่าวเมื่อครั้งการเสนอมติในสมัชชาใหญ่ ในนามของผู้สนับสนุนกว่า 140 คนเอาไว้ว่า การสนับสนุนมติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพต่อมหาตมะ คานธี ในระดับสากล และเพื่อเป็นการค้ำจุน หลักการและปรัชญาแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันนี้ เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวร สุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

30 กันยายน พ.ศ. 2511 ยกเลิก 'รถราง' ในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการรถรางในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง จากการที่ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

กิจการเดินรถราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายจอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ของพระบรมราชานุญาตเดินรถราง จนเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาต่อมา รถรางถูกพัฒนาจากการใช้ม้าลาก เป็นการใช้ไฟฟ้าลาก ซึ่งก็ถือเป็นรถรางระบบไฟฟ้าชาติแรกในเอเชียอีกด้วย กิจการรถรางถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งระหว่างการเปิดให้บริการ จนกระทั่งถูกโอนเป็นกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และมีเส้นทางเดินรถรางทั่วกรุงเทพฯ 11 สาย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถรางเสื่อมความนิยม ทางการจึงค่อย ๆ ยกเลิกรถรางทีละสาย จนยกเลิกทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ. 2511


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top