Friday, 19 April 2024
LITE TEAM

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 วันจดสิทธิบัตร ‘เมาส์’ ครั้งแรกของโลก โดย ‘ดร.ดักลาส อิงเกิลบาร์ต’ ชาวสหรัฐฯ

มีอุปกรณ์มากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘คอมพิวเตอร์’ แต่หนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น และเกิดมาคู่กัน นั่นคือ ‘เมาส์’

‘เมาส์’ ไม่ใช่ปาก แต่เมาส์ทำหน้าที่คล้าย ๆ ปาก คือคอยคลิกคำสั่งการ เพื่อให้โปรแกรมต่าง ๆ ปฏิบัติงานได้ตามใจเรา 

หากย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 53 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ถือเป็นวันที่มีการจดสิทธิบัตรเจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘เมาส์’ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

‘US3541541’ คือรหัสสิทธิบัตรของมัน แต่คงไม่จดจำเท่าที่มาของการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงปี 1963 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อ ดร. ดักลาส อิงเกิลบาร์ต ณ สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา

แรกเริ่มเดิมที มันถูกออกแบบเป็นเฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน และเคลื่อนที่ไปแบบ 2 มิติ ก่อนที่ต่อมาจะแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอล จึงทำให้สามารถหมุนไปได้รอบทิศทาง

‘เมาส์’ กลายเป็นอุปกรณ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกร่วมกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ และกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’ บนโต๊ะคอมพิวเตอร์ทุกบ้าน วันนี้เมาส์มีอายุ 53 ปี ก็สุดจะเดาว่าอนาคตข้างหน้า เมาส์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือไม่

มันอาจจะเป็นอะไรที่มากกว่าเมาส์ไปแล้วก็ได้เมื่อถึงวันนั้น

16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ย้อนรอย 43 ปี บึ้มสนั่นกลางกรุง ‘คลังแสงบางซื่อ’ ระเบิด แรงระเบิดรัศมีไกล 3 กิโลเมตร คร่าชีวิตกว่า 38 ศพ

วันนี้เมื่อ 43 ปีก่อน หรือ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 เกิดเหตุสะเทือนขวัญคนไทยทั้งประเทศ นั่นก็คือเหตุ ‘คลังแสงบางซื่อ’ ระเบิด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 38 ศพ และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 350 คน

ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้การระเบิดครั้งนี้มีความรุนแรงอย่างมากก็เพราะ นี่คือการระเบิดของจรวดกว่า 4,800 ลูก สร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาลกินพื้นที่ไปกว่า 3-5 กิโลเมตร

โดยหลังเกิดเหตุมีการพบเศษชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์กระจัดกระจายทั่วบริเวณ แต่เนื่องจากรายงานว่ามีการระเบิดจากจรวดหลายพันลูก ที่ล้วนเป็น ‘จรวดทำลายรถถัง’ และ ‘ระเบิดทำลายติดปีกเครื่องบิน’

จึงทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยถึง ความรุนแรงของการระเบิดที่ควรมีรัศมีที่กว้างกว่านี้ รวมไปถึงจำนวนผู้เสียชีวิต ที่อาจถึงหลักหลายร้อยเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งได้มีผู้อยู่ในเหตุการณ์ ออกมาเปิดเผยถึงเหตุระเบิดที่ยิ่งตอกย้ำให้ข้อสังเกตนี้ อาจเป็น ‘ความจริง’ โดยได้เล่าว่าตนอยู่ในเหตุการณ์เพราะอาศัยในบ้านพักราชการที่นั่น ซึ่งเหตุร้ายในครั้งนี้เกิดขึ้น ในเช้าวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 10 โมงเช้า 

เหตุการณ์เริ่มผิดสังเกตเมื่ออยู่ ๆ ทุกอย่างดับมืดลง หน้าต่างบ้านแตกละเอียดกระจายเข้าบ้านราวกับโลกจะแตก และหูของเขาก็อื้อไปหมด เคราะห์ดีที่เขาไม่เป็นไร จนกระทั่งเห็นทหารมากันเต็มไปหมดที่บ้านเพื่อช่วยเขาออกจากซากปรักหักพังของบ้าน

จนกระทั่งได้รับทราบว่ามีคนตาย เมื่อสุนัขที่บ้านคาบชิ้นส่วนของมือคนวิ่งเข้ามาหา โดยว่ากันว่ามีข่าวรายงานถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นชิ้นส่วนมือของวิศวกร ยศร้อยโทท่านหนึ่งที่เสียชีวิตในการระเบิด แต่ด้วยความซนของตน จึงออกมาสำรวจที่เกิดเหตุ ก็พบชิ้นส่วนมนุษย์เต็มไปหมด ทั้งด้านล่างและตามต้นไม้

และเมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย เขากลับได้รับข่าวร้ายว่าเพื่อนหลายคนเสียชีวิตจากเหตุร้ายนี้จำนวนมาก เพราะบ้านพักที่ตั้งในโซนที่รัศมีของระเบิดครอบคลุมถึง ซึ่งจากประสบการณ์ที่เขาได้เจอ ก็สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 38 ราย จากเหตุการณ์คลังแสงบางซื่อระเบิดในครั้งนี้ 

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทย จัดให้มีการเลือกตั้ง สส. เป็นครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียว

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียวของไทย โดยเป็นการเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนเลือกตัวแทนของตนในระดับตำบล เพื่อไปทำหน้าที่เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 78 คน รวมกับสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการเป็น 156 คน

การเลือกตั้งครั้งนั้น เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ประเทศไทย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 70 จังหวัด และตามรัฐธรรมนูญ 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท โดยมีจำนวนเท่า ๆ กัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง

ในขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละจังหวัดจะมี สส. ได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน ทำให้มี ส.ส. ประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน และ สส. ประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 คน รวมเป็น 156 คน ซึ่งจากการคำนวณดังกล่าว ทำให้ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเลือก สส. ได้จังหวัดละ 1 คน และมีบางจังหวัดที่มี สส. มากกว่า 1 คน คือ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และนครราชสีมา มี สส. จำนวน 2 คน ในขณะที่จังหวัดพระนครและอุบลราชธานี มี สส. มากที่สุด คือ 3 คน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย ถูกจัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และเป็นการเลือกตั้ง สส. ประเภทที่ 1 โดยใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือ ประชาชนจะไปใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกนั้น จะไปทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนประชาชนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยในครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน และมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็น 41.45% โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็น 78.82% และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์น้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็น 17.71%

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ของ รฟท. ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันนี้ เมื่อ 55 ปีก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ. 2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถโบกี้นั่งชั้นที่ 3 (บชส.) 10 คัน และรถโบกี้สัมภาระมีเครื่องห้ามล้อ (บพห. ข้างโถง) 4 คัน 

โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี โครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้เดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ กลับคืนสู่ประเทศไทย หลังหายกว่า 30 ปี

วันนี้ เมื่อ 35 ปีก่อน ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่หายไปกว่า 30 ปี ถูกส่งคืนสู่ประเทศไทย หลังการเรียกร้องขอคืนจากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐอเมริกา

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ โบราณวัตถุสุดล้ำค่า ของประเทศไทย ได้หายไปจากปราสาทหินพนมรุ้ง นานหลายสิบปี โดยสันนิษฐานว่าถูกโจรกรรมไปในช่วงสงครามเวียดนาม ประมาณปี พ.ศ. 2507-2508 ทางกรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลจะได้พยายามค้นหา

กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ได้มีรายงานว่ามีการพบชิ้นส่วนด้านซ้ายที่ร้านค้าของเก่า 'Capital Antique' แถวราชประสงค์ กรุงเทพฯ จึงยึดไว้ แต่ก็ไม่พบชิ้นส่วนที่เหลือ

ภายหลังมีคนไปพบ ถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐอเมริกา 

จากนั้น รัฐบาลไทยได้ทำจดหมายขอคืนสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนชาวไทยในชิคาโก้ได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ รวบรวมทุนและดำเนินการกดดันด้านสื่อมวลชนจนได้รับการส่งคืนโดยไม่มีเงื่อนไข และส่งกลับมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 หลังถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทยนานกว่า 30 ปี

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 อัญเชิญ ‘พระพรหมเอราวัณ’ ประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ

วันนี้ เมื่อ 67 ปีก่อน มีพิธีอัญเชิญ ‘พระพรหมเอราวัณ’ ประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ แยกราชประสงค์ จึงถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี จะเป็นวันบวงสรวงใหญ่ของพระพรหมเอราวัณ หรือที่เรียกกันว่า ‘วันเกิดพระพรหม’

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ที่สี่แยกราชประสงค์ ได้มีการอัญเชิญองค์ท้าวมหาพรหม มาประดิษฐานบริเวณหน้าโรงแรมเอราวัณ หรือโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ในปัจจุบัน เพื่อความเป็นสิริมงคลและช่วยปกปักรักษาสถานที่

ที่มาของการตั้งพระพรหมเอราวัณที่บริเวณแยกราชประสงค์เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอก‪เผ่า ศรียานนท์ กำหนดให้มีการก่อสร้าง‪โรงแรมเอราวัณขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่าในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี ‪พ.ศ. 2499 ทาง ‪บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรี‪หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม ‘เอราวัณ’ นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของ‪พระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมี‪การบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจาก‪พระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม

จากนั้นจึงได้มีการตั้งศาล ‘พระพรหมเอราวัณ’ ขึ้น ออกแบบตัวศาลโดยนาย‪ระวี ชมเสรี และ ม.ล.‪ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วย‪ปูนปลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนาย‪จิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โรงแรมเอราวัณจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา

จากวันที่ศาลพระพรหมถูกตั้งขึ้น ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างพากันมากราบไหว้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยปัดเป่าอุปสรรคและส่งเสริมโชคลาภและความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ เมื่อ 130 ปีก่อน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 

พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า ‘พระไตรปิฎกสยามรัฐ’ เป็นต้น ความไม่พอพระราชหฤทัยและการเพลี่ยงพล้ำในการคัดค้านคณะราษฎรในหลายโอกาสนำไปสู่การสละราชสมบัติ และพระองค์ยังทรงถูกฟ้องคดียึดทรัพย์

สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต 

ทั้งนี้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น ‘กษัตริย์นักประชาธิปไตย’

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันนี้ เมื่อ 45 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ด้วยทรงมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวช ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เสร็จแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ทรงได้รับพระนามฉายาว่า ‘วชิราลงฺกรโณ’ และผนวชอยู่ 15 วัน จึงทรงลาผนวช

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรชาวขอนแก่น

วันนี้ เมื่อ 68 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งแรก

ภายหลังจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสร็จสิ้นพระราชภารกิจจาการศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และได้เสด็จนิวัตมาประทับในพระราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรแล้ว จึงกำหนดการ 'เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร' ในทุกภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรขึ้น 

โดยปฐมแห่งการเสด็จฯ ได้ออกไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 

โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งแรก 

ซึ่งชาวขอนแก่นได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายถนนเส้นทางสายสำคัญเพื่อเป็นอนุสรณ์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระองค์ ในชื่อ 'ถนน 5 พฤศจิกายน'


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top