Tuesday, 23 April 2024
LITE TEAM

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม

รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดานานาอารยประเทศ ดังนั้นปี พ.ศ. 2483 จึงมีเพียง 9 เดือน

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในสมัยโบราณมาเราถือว่า วันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันต้องด้วยในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี และในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ ได้นับถือคติของพราหมณ์ คือใช้วันที่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน 5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินของนานาประเทศ มีหนังสือประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของ ไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก 

ทั้งนี้ประเทศไทยจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่ นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘โตโจ ฮิเดกิ’ อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ถูกประหารชีวิต ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ “ยังเติร์ก” ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

ในปี 1944 (พ.ศ. 2487) โตโจ ก้าวขึ้นมาดูแลกิจการของกองทัพทั้งหมดโดยตรงในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana Islands) เขาก็ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม 1944 ก่อนที่เขาและรัฐมนตรีทั้งคณะจะประกาศลาออกในอีกสองวันถัดมา และถูกกันไม่ให้เข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจบริหารประเทศอีก

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ โตโจพยายามใช้ปืนยิงตัวตายในวันที่ 11 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) แต่ไม่สำเร็จ เขาได้รับการรักษาและมีชีวิตรอดมาได้

ปีถัดมา โตโจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม โดยศาลทหารระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกล (International Military Tribunal for the Far East) หรือศาลอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเขามีความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต

วันที่ 23 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491) ฮิเดกิ โตโจ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และแม้ว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่เห็นว่าเขาคือผู้ที่นำหายนะมาให้ญี่ปุ่น แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะนายทหารที่สละชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ

22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 สยาม เสียดินแดนครั้งที่ 8 หลังเสีย ‘สิบสองจุไท’ ให้ฝรั่งเศส

วันนี้เมื่อ 135 ปีก่อน สยามต้องสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นดินแดนในประเทศเวียดนามและลาว

‘สิบสองจุไท’ คือดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาวและติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของญวน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวไทดำ (หรือลาวโซ่ง หรือผู้ไท), ไทขาว และไทพวน (หรือลาวพวน) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 เมือง มีเจ้าปกครองทุกเมือง จึงเรียกกันว่า ‘สิบสองจุไท’ หรือ ‘สิบสองเจ้าไท’ เมืองเอกของสิบสองจุไทคือ ‘เมืองแถง’ หรือ ‘เมืองแถน’ (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ของประเทศเวียดนาม)

ด้านใต้ของสิบสองจุไทลงมาคือดินแดน ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวไทแดง ไทขาว ไทดำ ไทพวน แต่เดิมประกอบด้วย 5 หัวเมือง ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งหัวเมือง เป็น 6 หัวเมือง แต่ละหัวเมืองปกครองพื้นที่นาหนึ่งพันผืน จึงเรียกว่า ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เมืองเอกของหัวพันทั้งห้าทั้งหกคือ ‘เมืองซำเหนือ’ ปัจจุบันอยู่ในแขวงหัวพัน ประเทศลาว

ดินแดนทั้งสองแห่งข้างต้นนี้ เคยปกครองตนเองเป็นอิสระ จนกระทั่ง ‘อาณาจักรล้านช้าง’ ปัจจุบันคือประเทศลาว ถือกำเนิดขึ้น แล้วขยายอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทั้งสอง ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัย ‘สมเด็จพระเจ้าตากสิน’ อาณาจักรล้านช้างทั้งหมดก็ได้กลายเป็นประเทศราชของไทย ดังนั้นดินแดนสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก จึงตกเป็นของไทยไปด้วย

เมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ.2408 พวก ‘จีนฮ่อ’ หรือชาวจีนอพยพซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพวก ‘กบฏไท่ผิง’ ที่พ่ายแพ้สงครามต่อราชสำนักชิง ได้พากันหลบหนีจากตอนใต้ของจีนลงมายึดครองพื้นที่รอยต่อระหว่างแดนจีนกับญวน หลังจากนั้นได้บุกยึดลงมาจนถึงดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก และ ‘เมืองพวน’ (ปัจจุบันคือแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว)

ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 5 กองกำลังจีนฮ่อที่ตั้งอยู่เมืองพวนได้แบ่งออกเป็น 2 ทัพ เพื่อบุกเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย กับบุกเข้าตีเมืองหลวงพระบางหลาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบกบฏฮ่ออีกครั้ง โดยรับสั่งให้ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม’ ทรงนำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางเมืองพวน แล้วให้ ‘พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)’ นำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางหัวพันทั้งห้าทั้งหก กองทัพไทยสามารถเอาปราบกบฏฮ่อได้อย่างราบคาบในปลายปี พ.ศ. 2430

การปราบกบฏฮ่อครั้งหลังสุดนี้ แม้กองทัพไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ก็เกิดข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสขึ้น โดยในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนญวนไว้ได้แล้ว และฝรั่งเศสยังอ้างว่าดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นจึงต้องตกเป็นสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกองทัพไทยรุกไล่กบฏฮ่อจนเข้ามาถึงดินแดนสิบสองจุไท ทางฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่า กองทัพไทยบุกรุกดินแดนของฝรั่งเศสโดยพลการ ทำให้ฝรั่งเศสต้องส่งกองทัพจากแดนญวนเข้ามาขับไล่กบฏฮ่อด้วย แล้วตั้งประจันหน้ากับกองทัพไทยอยู่ที่เมืองแถง

พระยาสุรศักดิ์มนตรีเปิดการเจรจากับ ‘โอกุสต์ ปาวี’ (Auguste Pavie) รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ตัวแทนฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญาร่วมกันที่เมืองแถง โดยมีเงื่อนไขว่า ในระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ที่สิบสองจุไท และทหารไทยจะตั้งอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน

นับแต่นั้นไทยก็เสียสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทไปให้กับฝรั่งเศส และสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทกับหัวพันทั้งห้าทั้งหกไปอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิด ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ.112’ หรืออีก 5 ปีต่อมา

21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พิธีสมโภช พระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล

วันนี้ เมื่อ 41 ปีก่อน พิธีสมโภช ‘พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า ‘พระใหญ่’ หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 25 พุทธศตวรรษ โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม

ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

เดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างตั้งแต่นั้นเป็นมา

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า 'มอดินแดง' บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะอีกจำนวนมาก

14 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันลิงโลก’ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ลิง

‘วันลิงโลก’ ตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม ของทุกปี ถูกตั้งขึ้นโดย ‘Casey Sorrow’ และ ‘Eric Millikin’ นักศึกษาจาก Michigan State University ในปี 2000 ต่อมาวันดังกล่าวมีการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ลิง สัตว์โลกที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

ลิงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร มีมากกว่า 260 ชนิด อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ลิงเป็นสัตว์ฉลาด โดยลิงและมนุษย์มีบรรพบุรุษร่วมกันมาก่อนที่จะมีวิวัฒนาการแยกตัวออกจากกัน

อย่างไรก็ตามลิงหลายสายพันธุ์ก็กำลังตกอยู่ในอันตราย เผชิญภัยคุกคามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่า การถูกทำลายแหล่งอาศัย และอื่น ๆ 

ในประเทศไทยมีลิงหลากหลายชนิด โดยมี 6 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง คือลิงกัง ลิงลม ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม ลิงอ้ายเงี้ยะ โดยห้ามจับล่า ห้ามค้า หรือครอบครอง

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

วันนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

คุณทองแดง เป็นลูกของ ‘แดง’ สุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเลี้ยงหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์การแพทย์พระราม 9 และนายแพทย์คนหนึ่งนำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร คุณทองแดงเกิดหลังลูก ๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน และทรงยกให้คุณมะลิเลี้ยงดู ทองแดง มีพี่น้องรวม 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่าทองแดง เพศเมีย, คาลัว เพศเมีย, หนุน เพศเมีย, ทองเหลือง เพศผู้ ได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารคนหนึ่ง, ละมุน เพศเมีย, โกโร เพศเมีย, โกโส เพศเมีย

คุณทองแดงมีลักษณะพิเศษต่างจากลูกสุนัขตัวอื่น คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา มีหางม้วนขดเป็นวง ปลายหางดอกสีขาว และมีจมูกแด่น ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นในหนังสือว่า ‘คุณทองแดง’ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์บาเซนจิ ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์โบราณ มีถิ่นกำเนิดทางแอฟริกาใต้ นิยมใช้งานในการล่าสัตว์ แต่ ‘คุณทองแดง’ มีขนาดตัวใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์บาเซนจิทั่วไป พระองค์จึงทรงเรียกคุณทองแดงว่าเป็นสุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ ก่อนหน้านี้ทรงเรียกว่า เป็นสุนัขพันธุ์เทศ (ย่อมาจาก เทศบาล)

คุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดและปรากฏตัวตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง 'ทองแดง’ หรือ ส.ค.ส. พระราชทาน โดยพระองค์ทรงฉายพระบรมรูปร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2559 รวมไปถึงระหว่างที่พระองค์ประทับรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ก็มีคุณทองแดงเฝ้าติดตามพระวรกายไม่ห่าง จนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หลังอายุได้ 17 ปี คุณทองแดงก็สิ้นลมหายใจด้วยโรคชรา ณ วังไกลกังวล

12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ ท่าวาสุกรี

ในครั้งนั้น บรรยากาศตลอดเส้นทางขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ตั้งแต่บริเวณท่าวาสุกรีจนถึงท่าราชวรดิฐ มีปวงชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฝ้ารอรับเสด็จเนืองแน่น

เพื่อสัมผัสบรรยากาศแห่งความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมไทยของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติเพียงแห่งเดียวของโลก พร้อมกับการได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในเส้นทางเสด็จพระราชดําเนินเป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

4 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ วันที่ ในหลวง ร.9 ดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 

ประวัติของวันสิ่งแวดล้อมไทย เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ทรงมีพระราชดํารัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำว่า

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันคนพิการสากล’

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อคนพิการและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น 'วันคนพิการสากล' เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม 

พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันและส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่าง ๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฟื้นฟู บำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพ หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัสสำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียนของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top