Thursday, 25 April 2024
LITE TEAM

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ มหาบุรุษแห่งดินแดนเสรีภาพ ผู้นำประเทศผ่านพ้น ‘สงครามกลางเมือง-การเลิกทาส’

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ อดีตประธานาธิบดีและมหาบุรุษที่ชาวอเมริกันยกย่องนับถือ

‘อับราฮัม ลินคอล์น’ (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา และรัฐบุรุษชาวอเมริกัน ซึ่งเขาเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 ผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำคือ การนำพาประเทศผ่านพ้น ‘สงครามกลางเมือง’ ระหว่างปี 2404-2408 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาความเป็นสหภาพของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ เขายังเป็นต้นแบบใน ‘การเลิกทาส’ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลกลาง ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินให้ทันสมัย

‘อับราฮัม ลินคอล์น’ (Abraham Lincoln) ถูกลอบสังหารด้วยการยิงเข้าที่ศีรษะ โดย ‘จอห์น วิลค์ส บูธ’ ขณะกำลังชมการแสดงที่โรงละครฟอร์ด (Ford's Theatre) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2408

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ครบรอบ 4 ปี ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช หนึ่งในโศกนาฏกรรม ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

เรียกว่ายังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ และยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ แถมเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่าได้ทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ จึงได้ขับรถเข้าไปในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกราดยิงผู้คนตามรายทาง และจับผู้คนในห้างเป็นตัวประกัน ทั้งยิงถังแก๊ส ทำให้เกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ในห้าง

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ยังถ่ายทอดสดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊กของตัวเองอีกด้วย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันถัดมา สรุปมีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 32 คน เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย…

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของไทย

‘ถนนเจริญกรุง’ เป็นถนนที่ ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ’ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ

ในปี พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน

และในปี พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้ เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

28 มกราคม พ.ศ. 2551 ‘สมัคร สุนทรเวช’ ได้คะแนนเสียงจาก สส. ให้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกฯ คนที่ 25’ ของไทย

‘สมัคร สุนทรเวช’ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคที่พัฒนามาจากพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกัน 2 ประเด็น คือ 1.) การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และ 2.) การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค สส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแข่งกับ นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

ซึ่งในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ มีการลุกขึ้นชี้แจงของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ส่วนฝ่ายพรรคพลังประชาชนไม่ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ จึงเสียเวลาประชุมหาข้อสรุปกันในเรื่องนี้

ทั้ง 2 ฝ่ายต่างชิงไหวพริบกันในที่ประชุม โดยหลังจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจึงมีการประชุมเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ (แบบสัดส่วน) มีความเห็นว่า “เพราะนายกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์การบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือความซื่อสัตย์”

ขณะที่นายสุขุมพงศ์ โง่นคํา สส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) จากกาฬสินธุ์ เห็นแย้งว่า “ในการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลก็ออกมาแล้วว่าพรรคพลังประชาชนชนะได้เสียงข้างมาก 233 เสียง นั้นก็แสดงถึงเจตนาของประชาชนแล้วที่เปล่งเสียงออกมาว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงนั้นมีการแสดงวิสัยทัศน์กัน 45 วัน ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้รับทราบรู้ดีกันมาโดยตลอดถึงคุณสมบัติถึงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายในการที่จะบริหารราชการแผ่นดิน”

เมื่ออภิปรายกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้วจึงมีมติให้เลิกประชุมเรื่องอภิปรายการแสดงวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน แล้วให้มาเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะเป้าหมายการประชุมในวันนี้คือการเลือกนายกรัฐมนตรี มิใช่การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และผลปรากฏว่านายสมัครชนะนายอภิสิทธิ์ ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 163, งดออกเสียง 3, ไม่อยู่ในที่ประชุม 1 ดังนั้นนายสมัครจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

เปิดประวัติ ‘มายด์ ณภศศิ’ อดีตเน็ตไอดอลชื่อดัง สาวสวยสุดเก่ง คนที่ ‘สงกรานต์’ ยอมรับว่า “ใช่”

ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครฮอตไปกว่า ‘มายด์ อุทัยทิพย์’ หรือ ‘มายด์ ณภศศิ สุรวรรณ’ อดีตเน็ตไอดอลชื่อดัง เจ้าของตำแหน่ง Miss Uthaitip Freshy Idol 2008

เพราะเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ชื่อของ ‘มายด์ ณภศศิ’ กลับมาได้รับความสนใจในวงการบันเทิงอีกครั้ง หลังมีข่าวถูกโยงเป็นหวานใจคนใหม่ของ ‘สงกรานต์ เตชะณรงค์’ ไฮโซหนุ่ม เจ้าของโบนันซ่า เขาใหญ่ โดยนักสืบโซเชียลจับสังเกตได้ว่าทั้ง 2 ลงรูปและวิดีโอในสถานที่คล้าย ๆ กัน แถบลงในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน โดย ‘มายด์ ณภศศิ’ ได้โพสต์วิดีโอเล่นกับลูกสิงโตลงในติ๊กต็อก ส่วนทาง ‘สงกรานต์’ ก็ได้โพสต์รูปลงเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว ‘มายด์ ณภศศิ’ ก็ยังเคยโพสต์วิดีโอในติ๊กต็อกระบุว่าตนไม่โสดแล้ว ส่วน ‘สงกรานต์’ ก็เคยตอบคำถามในรายการซุปตาร์พาตะลุย ที่ถามถึงสถานะหัวใจว่าโสดหรือไม่โสด ซึ่งหนุ่มสงกรานต์ก็ตอบมาว่า “ไม่โสดมาสักพักแล้ว” พร้อมยิ้มกว้าง 

และล่าสุด ‘สงกรานต์ เตชะณรงค์’ ได้มาร่วมงาน Soft Power Thailand's Next Weapon เวทีเสวนา Soft Power แบบไม่ซอฟต์ โดยไทยรัฐกรุ๊ป และได้ตอบคำถามนักข่าวที่ถามถึงเรื่องสถานะหัวใจด้วย

นักข่าว : กระแสข่าวที่ออกมาเรื่องความรักครั้งใหม่ ที่บอกว่าไม่โสดแล้ว หลายคนอยากรู้ว่าเป็นใคร?
สงกรานต์ : (หัวเราะ) เดี๋ยวไว้วันหลังชวนมาด้วยนะ (ยิ้ม)

นักข่าว : ใช่คนในข่าวมั้ย?
สงกรานต์ : ใช่ๆ (ยิ้ม)

นักข่าว : ไปเจอกันได้ยังไง?
สงกรานต์ : เพื่อน ๆ กัน เล่นกีฬาเหมือนกัน (เลยไปเป็นโปรกอล์ฟด้วยกัน?) ไม่ขนาดนั้น ไม่ได้เก่งขนาดนั้น เล่นได้พอ ๆ กันครับ (ยิ้ม)

นักข่าว : คุยกันมานานแค่ไหน?
สงกรานด์ : สักพักแล้วครับ (ยิ้ม) เขานิสัยดี อยู่ด้วยแล้วสบายใจ (ยิ้ม)

ก็ถือว่า คำตอบของ ‘หนุ่มสงกรานต์’ นั้นชัดเจน ตรงไปตรงมา และทำให้กองเชียร์ของทั้งคู่หัวใจฟูไปตาม ๆ กัน ก็ต้องมาตามดูกันต่อไปว่า ‘สาวมายด์’ จะมีรีแอ็กชันอย่างไร แต่เชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นโมเมนต์น่ารัก ๆ ของทั้งคู่มากกว่าเดิมแน่นอน

ไหน ๆ ก็มีข่าวให้ใจฟูแล้ว วันนี้ขอพาไปรู้จักประวัติ ‘มายด์ ณภศศิ’ อย่างลึกซึ้งกันอีกครั้ง รับรองเลยว่า สาวสวยคนที่ ‘ใช่’ คนนี้ ทั้งสวยและมากความสามารถสุด ๆ 

‘มายด์ ณภศศิ’ เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ครอบครัวทำธุรกิจค้าขายไม้แปรรูป ภายใต้ชื่อ ‘บายพาสค้าไม้’ ที่จังหวัดชลบุรี

ภายหลังสอบได้ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายศิลป์คำนวณ (ต.อ.70) จึงย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

‘มายด์’ เป็นเด็กที่ขยันทั้งเรียนและการทำกิจกรรมให้กับโรงเรียนมาอย่างเนื่อง ช่วงที่เรียนมัธยมปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น เป็นนางนพมาศ ปี 2550 ถือป้ายโรงเรียนในกิจกรรมกีฬาสี เชียร์ลีดเดอร์ในกีฬาประเพณีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนเตรียมทหาร ครั้งที่ 25 และ 26 นอกจากนี้ ยังอยู่ในโครงการความสามารถพิเศษทางภาษาไทย (Gifted ไทย) 

หลังจากจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ‘มายด์’ ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ เอกวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้เป็นผู้นำเชียร์ คณะนิเทศศาสตร์ ในงานกีฬาเฟรชชี่ และจุฬาฯ คฑากร อีกด้วย

จบระดับปริญญาโท จากวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (ANTI-AGING) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ

และ ระดับปริญญาเอกจาก Lyceum of the Philippines University ประเทศฟิลิปปินส์ หลักสูตร : Doctorof Philosophy in Management (PhD in Management)

ส่วนผลงานในวงการบันเทิง ‘มายด์’ เป็นที่รู้จักจากการแสดงโฆษณาต่าง ๆ โดยเริ่มเข้าวงการจากการได้รับตำแหน่ง Miss Uthaitip Freshy Idol 2008 นอกจากนี้ ยังมีงานบันเทิงทั้งถ่ายแบบ เดินแบบ งานแสดง พิธีกร ดีเจ ฯลฯ เรียกว่ามายด์ เคยทำมาหมดแล้ว

ปัจจุบัน มายด์ เป็นนักธุรกิจเต็มตัว โดยเป็นเจ้าของธุรกิจ คลินิกกายภาพบำบัดชื่อ ‘Restart 24 Rehabilitation Center’ และยังเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร LYFEWELLNESS อีกด้วย

เรียกได้ว่า ทั้งเก่งทั้งขยัน และ ‘ดีกรี’ ไม่ธรรมดาเลย สำหรับสาวสวยหน้าหวาน ‘ดร.มายด์’ คนนี้ 

24 มกราคม พ.ศ. 2555 ย้อนรอยเหตุการณ์ ‘พลุ-ดอกไม้ไฟระเบิด’ จ.สุพรรณบุรี บ้านเรือนไฟโหมกว่า 50 หลัง - บาดเจ็บอีกหลายราย

เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 ท่ามกลางงานรื่นเริงรับเทศกาลวันตรุษจีน ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้น ณ อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในวันนั้นได้มีการจัดงาน ‘ตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์’ โดยจัดขึ้นในช่วงวันที่ 23-29 มกราคม พ.ศ. 2555 มี นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี 

โดยเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นในเวลา 19.30 น. ในระหว่างการแสดงพลุดอกไม้ไฟไพโรเทคนิคชุด ‘ปีทองมังกรสวรรค์อวยชัยให้พรตรุษจีน’ ได้เกิดเหตุพลุจำนวนมากระเบิดขึ้นพร้อมกัน จนสามารถเห็นเป็นลำแสงที่พุ่งสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืนและเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกไฟได้ตกใส่บ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งติดกันอยู่กันนับร้อยหลังคาเรือนจนเกิดไฟโหมไหม้กว่า 50 หลัง ทั้งยังมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 75 ราย และเสียชีวิต 4 ราย นอกจากนี้หลังจากเหตุการณ์ได้มีผู้มาแจ้งความเสียหายของบ้านเรือนทั้งหมด 435 หลัง ซึ่งมีกว่า 71 ราย ที่บ้านเสียหายทั้งหลัง อีกทั้งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดเช่นกัน 

ซึ่งผลจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งทางภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยการจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวขึ้น และในส่วนของพื้นที่จัดงานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดล้อมไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ และได้เข้าตรวจสอบในตอนเช้าของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยนายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่วิทยาการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้ระเบิด เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ  

หลังจากเหตุการณ์นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขอร้องให้ยกเลิกงานโดยทันที ส่งผลให้งานต้องยกเลิกเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย อีกทั้งส่งผลให้จังหวัดอื่นๆ ยกเลิกการแสดงดอกไม้ไฟการแสดงพลุด้วยเช่นกัน 

23 มกราคม พ.ศ. 2494 วันเกิด ‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายาในตำนาน ‘จอมยุทธขลุ่ย’

‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ ‘อาจารย์ ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2494 ที่ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยการศึกษาปทุมวันและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและวิทยาลัยครูจันทรเกษม จึงถูกเรียกติดปากว่า อาจารย์ธนิสร์ ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา และเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ในการเป็นนักดนตรีแบ็กอัปในห้องอัดของอโซน่า เมื่อคาราบาว โดยแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้มาอัดเสียงที่นี่ และชักชวนเข้าร่วมวง

ทั้งนี้ บทบาทของ อ.ธนิสร์ ในวงคาราบาวนั้นนับว่าโดดเด่นมาก โดยจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง คีย์บอร์ด และการประสานเสียง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความสามารถเฉพาะก็คือการเป่าขลุ่ย โดยเฉพาะในเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ที่อยู่ในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงนั้น อ.ธนิสร์ ได้เป่าทั้งเพลง รวมทั้งการส่งเสียงแซวในเนื้อเพลงด้วย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกสีสันประจำตัวเมื่อมักจะแซวสมาชิกในวงคนอื่นๆ โดยเฉพาะแอ๊ดเมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสมอๆ ทำให้ อ.ธนิสร์ เปรียบเสมือนสีสันของวง

ซึ่ง อ.ธนิสร์ ได้แยกตัวออกจากวง เมื่อปี พ.ศ. 2531 ภายหลังวงคาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 คือ ทับหลัง โดยขัดแย้งในความเห็นกับแอ๊ด นับเป็นสมาชิกคนแรกที่แยกตัวออกไป จากนั้นเทียรี่และเป้าก็แยกออกจากวงคาราบาวตาม อ.ธนิสร์ ไปด้วย หลังจากนั้นทั้งสามคนได้ร่วมกันออกอัลบั้มชุดแรกของพวกเขาในปี พ.ศ. 2532 ชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ มีเพลงที่ได้รับความนิยม ซึ่งร้องโดย อ.ธนิสร์และเทียรี่ คือ วันเกิด และ เงินปากผี

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเองชื่อชุด ‘ลมไผ่’ มีเพลงที่เป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความไพเราะมาก คือ ทานตะวัน ที่นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากการชมทุ่งทานตะวัน ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางไปพร้อมกับวงคาราบาวในการทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ ซึ่งเป็นการร้องประสานเสียงพร้อมเสียงขลุ่ย

และนับแต่นั้น อ.ธนิสร์ ก็ได้ทำงานที่ชื่นชอบและถนัดของตนเอง มีผลงานออกมาหลายชุด ซึ่งโดยมากเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีร่วมสมัย หลายชุดก็เป็นการร่วมงานกับศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่นๆ เช่น สุรชัย จันทิมาธร หรือ วิสา คัญทัพ เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2538 ก็ได้กลับมาร่วมงานกับคาราบาวอีกครั้ง ในชุด หากหัวใจยังรักควาย อันเป็นการกลับมาร่วมทำงานด้วยกันของสมาชิกวงในยุคคลาสสิกทั้ง 7 คน

ในปี พ.ศ. 2547 อ.ธนิสร์ได้ร่วมกับ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และหมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ออกอัลบั้มร่วมกันในชุด ‘เพลงแผ่นดิน จาก 3 คีตกานต์กวี’ ซึ่งก็ได้นำเพลงทานตะวันมาทำดนตรีและร้องใหม่โดยหมูด้วย

อ.ธนิสร์ มีชื่อเล่นว่า เล็ก ซึ่งไปซ้ำกับชื่อของเล็ก - ปรีชา ชนะภัย สมาชิกอีกคนของวง ดังนั้น อ.ธนิสร์ เมื่ออยู่ในวงจึงไม่ถูกเรียกชื่อเล่นเหมือนสมาชิกคนอื่นๆ โดยผลงานสุดท้ายที่ทำร่วมกับคาราบาว คือ การเป่าขลุ่ยในเพลง เดือนแรม ในอัลบั้ม 'สาวเบียร์ช้าง' ในปี พ.ศ. 2544 แต่ในการแสดงสดนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ ได้ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกับคาราบาวถึง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือในคอนเสิร์ต 35 ปี คาราบาว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อ.ธนิสร์ ได้รับการยอมรับว่า เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถและความชำนาญอย่างมากในการเล่นดนตรีประเภทเครื่องเป่า โดยเฉพาะขลุ่ย จนได้รับฉายาว่า จอมยุทธขลุ่ย นอกจากนี้แล้ว ยังสนใจในแนวดนตรีแจ๊สอีกด้วย โดยนำแนวทางการเล่นแบบแจ๊สมาประยุกต์ใช้ในการเป่าขลุ่ย จนได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จาก Thailand International Jazz 2016 จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2559

21 มกราคม พ.ศ. 2453 วันเกิด ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ บุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ครูเอื้อ’ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า ‘ละออ’ ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น ‘บุญเอื้อ’ และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ‘เอื้อ’ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

1.) หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.) นางเอื้อน แสงอนันต์
3.) นายเอื้อ สุนทรสนาน

ซึ่ง ครูเอื้อ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ แล้วจึงมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท (ภาคบ่าย) โดยครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

ต่อมาได้เรียนดนตรีกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทะยะกร) เริ่มทำงานในกรมมหรสพ และได้ร้องเพลง ‘ในฝัน’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ถ่านไฟเก่า’ เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขณะทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน มีผลงานเพลงกว่า 1,000 เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาล เพลงสถาบัน เพลงรัก เพลงสะท้อนสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย

ตลอดระยะเวลาการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักและอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือ เพลงพรานทะเล

ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน

20 มกราคม พ.ศ. 2539 ’สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ‘ เป็นองค์ประธานในพิธี ปล่อย ‘เรือหลวงจักรีนฤเบศร’ ลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน สเปน

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540

โดย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกและลำเดียวในขณะนี้ของราชนาวีไทย ใช้ปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน ยาว 182.50 ม. กว้างสุด 30.50 ม. กินน้ำลึก 6.25 ม. ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า และเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 26 นอต ทหารประจำเรือ 601 คน ทหารประจำหน่วยบิน 758 คน สามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) อีก 6 เครื่อง ใช้งบประมาณในการสร้าง 7 พันล้านบาท 

17 มกราคม พ.ศ. 2376 ‘รัชกาลที่ 4’ ทรงค้นพบ ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง’ ยกย่องให้เป็น ‘มรดกแห่งความทรงจำของโลก’

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่ง ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ทรงค้นพบขณะผนวชอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า 'กู' เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า 'กู' แต่ใช้ว่า 'พ่อขุนรามคำแหง' เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

ทั้งนี้จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'มรดกความทรงจำแห่งโลก' เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”

อย่างไรก็ตาม จารึกหลักที่ 1 นี้เอง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจารึกดังกล่าว โดย ‘พิริยะ ไกรฤกษ์’ นักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา ออกความเห็นว่า การใช้สระในศิลาจารึกนี้แนะว่าผู้สร้างได้รับอิทธิพลมาจากระบบพยัญชนะยุโรป เขาสรุปว่าศิลาจารึกนี้ถูกบางคนแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น 

ซึ่งนักวิชาการเห็นต่างกันในประเด็นว่าด้วยความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ ผู้ประพันธ์บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ยังยึดถือความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้รอยจารึกดังกล่าวและภาพลักษณ์ของสังคมสุโขทัยในจินตนาการยังเป็นหัวใจของชาตินิยมไทย และ ‘ไมเคิล ไรท์’ นักวิชาการชาวอังกฤษ เสนอแนะว่าศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ทำให้เขาถูกขู่ด้วยการเนรเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย

ทางด้าน ‘จิราภรณ์ อรัณยะนาค’ เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top