Sunday, 25 May 2025
Hard News Team

‘พีระพันธุ์’ เผย ต้องทำให้ถูกต้องทุกกระบวนการ พร้อมเดินหน้ารักษาความสามารถในการส่งออก

(24 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า 

สำหรับสิ่งที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะได้มีการเปิดประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น 

ทั้งตนและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงในการทุจริต ในโครงการประมูลโรงไฟฟ้า 

ในลำดับแรกขอกล่าวถึงโครงการดังกล่าวเสียก่อน โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์

โดยในโครงการนี้จะแบ่งการรับซื้อ หรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ 

สำหรับโครงการแรกที่รับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์นั้น ใช้การประมูลในรูปแบบปกติ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าสามารถร่วมประมูลได้อย่างเปิดกว้าง หรือ Open Bid

แต่สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์นั้น เป็นการประมูลแบบพิเศษ คือให้สิทธิ์ผู้ที่เคยประมูลในโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์แต่ไม่ชนะการประมูล เป็นผู้มีสิทธิยื่นประมูล

ตนและกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่าการกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้จะเกิดปัญหา และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การเปิดประมูลในแต่ละรอบต้องแยกจากกันโดยเด็ดขาด มิใช่เอามาเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน

แต่อย่างไรก็ดี กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระ มีสถานะคล้ายกับ กสทช. กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา กล่าวโดยง่ายคือไม่สามารถไฟสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้วเป็นที่เรียบร้อย 

เบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุม และจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้เมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว เรื่องดังกล่าวจะมีการรายงานไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

ทั้งนี้ตนคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย และตนขอยืนยันว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากได้มีการกำกับ ติดตาม อย่างใกล้ชิดตลอดมา 

ส่วนต่อมาตนขอชี้แจงกรณีมีการกล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวแพงเกินจริงนั้น ตนขอชี้แจงว่าในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรกคือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นตนจึงขอยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่ได้แพงเกินจริงแต่อย่างใด 

สำหรับคำถามที่ว่าในเมื่อจะมีการดำเนินการในส่วนของ Direct PPA แล้ว ทำไมจะต้องมีโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ รวมถึงการทำไฟฟ้าให้มีที่มาจากพลังงานสะอาดด้วย

ในประเด็นนี้ตนขอนำเรียนว่า Direct PPA หรือการรับซื้อไฟฟ้าตรง กับ การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน นั้นเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน 

สำหรับ Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง 

แต่สำหรับ RE หรือการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนซึ่งในโครงการที่กล่าวไปตอนต้นที่มีกำลังการผลิต 3,600 เมกะวัตต์นั้น จะเป็นส่วนที่ส่งไฟเข้าสู่ กฟผ. ซึ่งเมื่อมีสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะมีการจัดเก็บ UGT ที่ย่อมาจาก Utility Green Tariff หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย 

ซึ่ง Renewable Energy Certificate หรือ REC นี้ผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษีหากไม่มี REC การดำเนินการของ กกพ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของประเทศ 

ถึงแม้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งมิใช่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ตามก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ทดแทน 

ประเด็นคำถามถึงแนวทางในการจัดการกับการประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในครั้งที่มีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์นั้น ตนขอเรียนว่า ได้มีการสอบถามและหารือไปยัง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)” อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีการดำเนินการใด ๆ อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำรวมถึงหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตนยินดีที่จะรับฟังพร้อมเดินหน้าปฏิบัติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน 

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎ ระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นการลดความยุ่งยากในการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของพี่น้องประชาชนจากค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้า

“ตนขอยืนยันว่า เบื้องหลังของตนมีแค่ผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีกลุ่มทุน อะไรที่สามารถแก้ไขได้ตนจะดำเนินการแก้ไข โดยไม่บ่ายเบี่ยงว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคใดในสมัยใด ขอให้ท่านมั่นใจว่าตนจะทำให้เต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง” นายพีระพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย 

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่า และระบบนิเวศ ปตท. ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่า และระบบนิเวศ ปตท. รับประกาศเกียรติคุณ 'โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS)' จาก การจัดการของเสีย 2 กิจกรรม

1. การขยายผลองค์ความรู้การใช้ชุดอุปกรณ์ย่อยสลายขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ (Biodegradation Bin) นวัตกรรมที่คิดค้น และพัฒนาโดยศูนย์ฯ สิรินาถราชินี
2. การคัดแยกขยะรีไซเคิล ภายในร้านอาหารชิกเก้น แอนด์ บี (Chicken and Bee) ซึ่งเป็นร้านอาหารเครือข่ายชุมชนโดยรอบ

ผลลัพธ์
➢ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 6.878 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
(ช่วงการประเมินระหว่าง 1 ม.ค. 65 – 31 ก.ค. 66)

CLICK ON CLEAR
โครงการดังกล่าวจัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นการขยายผลองค์ความรู้ของศูนย์เรียนรู้ ปตท. ต่อยอดในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง พร้อมร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม

จากนายก อบจ. สู่โทษจำคุก 6 ปี ศาลทุจริตสั่งฟัน ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’

(24 ต.ค. 67) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 พิพากษาจำคุก 6 ปี 18 เดือน นายชาญ พวงเพ็ชร์ และพวกรวม 7 คน คดีทุจริตในการจัดซื้อถุงยังชีพ ในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน จ.ปทุมธานี

เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชาญ พวงเพ็ชร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี กับพวกรวม 7 คนเป็นจำเลย

ในคดีหมายเลขดำที่ อท5/67 ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กรณีทุจริตในการจัดซื้อถุงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน จ.ปทุมธานี จำนวน 2 ครั้ง เมื่อปี 2554 มูลค่าหลักล้านบาท แต่ถูกเลื่อนเรื่อยมา

จนวันนี้ศาลอ่านคำพิพากษาจำคุกนายชาญ กับพวก 2 กระทง กระทงละ 5 ปี รวม 10 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษหนึ่งในสาม เหลือกระทงละ 3 ปี 9 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 18 เดือน

เปิดข้อมูล ‘แกนนำม็อบปี 63’ โดน 112 ไปแล้วอย่างน้อย 12 คน ลี้ภัย 2 ราย เพนกวิน-ไมค์ ระยอง จับตา หลังรายงานนิรโทษล่มในสภา

(24 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลในฐานข้อมูลของ 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' ที่รับทำคดีให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้เสียหาย หรือเหยื่อทางการเมือง เผยแพร่ข้อมูลสถิติว่า นับตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ถึง 20 ต.ค. 2567 มีบุคคลถูกจับกุมข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี โดยสรุปมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 77 คดี คดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวน 163 คดี

โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 162 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร้องทุกข์ 11 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปร้องทุกข์ 9 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร้องทุกข์ 1 คดี ส่วนที่เหลือคือคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

โดยพฤติการณ์ส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งข้อหามาจาก การปราศรัยในที่ชุมนุม 59 คดี การแสดงออกอื่น ๆ เช่น การติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น 72 คดี คดีเกี่ยวกับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ 169 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี

สำหรับบรรดาแกนนำมวลชนเมื่อปี 2563 นั้นถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีอย่างน้อย 12 คน เช่น 'อานนท์ นำภา' มี 25 คดี ปัจจุบันศาลตัดสินไปแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 20 วัน 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' หรือ 'เพนกวิน' มี 14 คดี โดยศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 2 ปี แต่เจ้าตัวได้หลบหนี และลี้ภัยอยู่ต่างประเทศในขณะนี้ เช่นเดียวกัน 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่มีคดีติดตัว 9 คดี ตัดสินแล้ว 1 คดีโทษจำคุก 4 ปี แต่เจ้าตัวหลบหนีลี้ภัยไปแล้วเช่นกัน

ขณะที่ 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มี 10 คดี เบนจา อะปัญ 8 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 6 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ วรรณวลี ธรรมสัตยา เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี ส่วน 'ไบรท์' ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อดีตแกนนำม็อบช่วงปี 2563-2564 แต่ปัจจุบันเขาอ้างว่ากลับตัวกลับใจ และยอมรับคำสารภาพทุกข้อหา มีคดีติดตัว 8 คดี

นี่ยังไม่นับบรรดา 'มวลชน' ที่ติดสอยห้อยตาม 'ม็อบราษฎร' อีกหลายคนที่ต้องโทษติดคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีตามมาตรา 112 อีกหลายคดีเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดคือบุคคลที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยคดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ดังนั้นกลุ่มคนข้างต้น จะได้รับอานิสงส์ในการ 'นิรโทษกรรม' หรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น

ผลการพิจารณาปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมีผู้ลงมติ 428 คน ลงมติเห็นด้วย 152 คน ไม่เห็นด้วย 270 คน งดออกเสียง 5 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

'มาริษ' ร่วมเฟรม 'ปูติน-สี จิ้นผิง' ระหว่างเข้าร่วมประชุม  BRICS Plus Summit ที่รัสเซีย 

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคาซาน รัสเซีย

ก่อนเริ่ม นายมาริษ ได้ร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำ  BRICS นำโดย นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งช่วงหนึ่ง ประธานาธิบดีรัสเซีย ในฐานะเจ้าภาพ ได้เดินเข้ามาจับมือทักทาย นายมาริษ ด้วย 

ทั้งนี้ นายมาริษ มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลง ในการประชุม จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 'BRICS and the Global South: Building a Better World Together' เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก และแนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น 

ปทุมธานี ปิดโครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' รุ่นที่ 43  พร้อมส่งเยาวชนกลับภูมิลำเนา ให้นำทักษะประสบการณ์ความรู้ กลับไปพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสุขสมานฉันท์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

(24 ต.ค.67) เวลา 10.30 น พล.เอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกมูลนิธิ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' เป็นประธานในพิธีปิดโครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' รุ่นที่ 43 ณ ห้องแสงเดือน อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายองครักษ์ ทองนิรมล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี  เข้าร่วมพิธี

โอกาสนี้ พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  ได้กล่าวให้โอวาทแก่เยาวชนว่า การที่เยาวชนได้มาร่วมกิจกรรมโครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีโอกาสได้เรียนรู้ ทักษะประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีโอกาสพำนักกับครอบครัวอุปถัมภ์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปเสริมสร้างทัศนคติของตน ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือน อย่างไรก็ตามเมื่อเยาวชน กลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว ขอให้นำทักษะ ประสบการณ์ความรู้ที่ได้รับ กลับไปพัฒนาครอบครัว ชุมชนและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สร้างความสุขสมานฉันท์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

สำหรับ โครงการ 'สานใจไทย สู่ใจใต้' รุ่นที่ 43 ได้นำเยาวชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา จำนวน 320 คน มาร่วมกิจกรรมเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะประสบการณ์การอยู่ร่วมกันในพหุวัฒนธรรม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 26 ตุลาคม 2567

4 ชาติอาเซียน ‘ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย’ ตบเท้าเข้าร่วม BRICS ส่อเข้าทางจีน เพิ่มโอกาสสร้างอาณาจักร Global South

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีการประชุมของกลุ่มบริกส์ในปีนี้ ว่า 

BRICS ขยายสมาชิกอีกนับสิบประเทศ แถมมุ่งมั่นสะสมทองคำเพื่อผลักดันสกุลเงินใหม่ The Unit

ว่ากันว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้สองชาติมุสลิมในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย  ตัดสินใจร่วมวงกับจีนในกลุ่ม #BRICS ในครั้งนี้

สำหรับ เวียดนาม ในยุคอยู่เป็น ก็พร้อมจะร่วมวงกับจีนในกลุ่ม BRICS แบบไม่ลังเล แปลงจีนให้เป็นโอกาส

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ชาติอาเซียน ทั้งไทย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของ BRICS แต่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัวแต่อย่างใด

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จัดพิธีทิ้งกระจาด แจกเครื่องอุปโภคบริโภคและชุดยาสามัญประจำบ้านแก่ผู้ยากไร้ รวม 1,388 ชุด 

วันนี้ (24 ต.ค.67) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการฯ พร้อมด้วย นายสุหัทย์ ไพรสานฑ์กุล กรรมการฯ นายอรัณย์ โตทวด ผู้จัดการใหญ่มูลนิธิฯ  นายวันชิด ศิรสีห์ รองผู้จัดการใหญ่ และ นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ร่วมกับวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร นำโดย พระธรรมวชิรปาโมกข์ และ พระศรีวชิรธรรมถาวร รองอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส จัดชุดเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช น้ำตาล ซอสปรุงรส (ซอสถั่วเหลือง) นมกล่อง น้ำดื่ม ขนม ชุดยาสำเร็จรูป ฯลฯ รวมจำนวน 1,388 ชุด เพื่อประกอบพิธีทิ้งกระจาด (ซิโกว) นำแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้ ในการนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัคร อำนวยความสะดวกแก่วัดและประชาชนที่มาร่วมงาน ณ บริเวณเมรุด้านใต้ (สุสานหลวง) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง www.facebook.com/pohtecktungofficial

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

‘ดีอี’ ล้างบาง SMS แนบลิงก์หลอกลวง-ดูดเงินประชาชน วางมาตรการจัดระเบียบ สั่งลงทะเบียน ‘Sender Name’ ทั้งระบบ พร้อมกำหนด ‘ผู้ให้บริการ’ ตรวจสอบลิงก์ก่อน หากพบผิดปกติแจ้ง ‘ตำรวจ’ เอาผิดตามกฎหมาย 

เมื่อวานนี้ (23 ต.ค.67) 67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะกรณีของ SMS แนบลิงก์หลอกลวงจากการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของมิจฉาชีพ ที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ช่องทางของ SMS หรือข้อความแนบลิงก์ ในโทรศัพท์มือถือของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยลิงก์ดังกล่าว อาจเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการติดตั้งระบบดึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือดูดเงินในบัญชีของประชาชน ซึ่งสร้างผลกระทบและความเสียหายให้กับประชาชน กระทรวงดีอี จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เร่งดำเนินมาตรการป้องกันการส่ง SMS แนบลิงก์หลอกลวง ดังนี้

1. การลงทะเบียน Sender Name ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 นี้ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร , 2. มาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงค์ ดังนี้ 2.1 ผู้ส่งข้อความ (Sender Name) SMS แนบลิงก์ จะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการเครือข่ายทุกครั้ง , 2.2 สำหรับการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user) และ 2.3 หากกรณีที่มีการตรวจพบ ข้อความแนบลิงก์หลอกลวง ข้อความแนบลิงก์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หรือ ข้อความอื่นที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น เช่น ไอดี Line ทั้งนี้มอบหมายให้ตำรวจดำเนินการ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 โดยให้ดำเนินการแจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายยกเลิกสัญญาบริการกับผู้ส่งข้อความ (Sender Name) และผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลการลงทะเบียนของผู้ส่งข้อความให้กับทางตำรวจเพื่อดำเนินคดีตากฎหมายกับผู้ส่งข้อความต่อไป

“สำหรับมาตรการ Cleansing Sender Name ดังกล่าวจะเป็นการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพในการส่งข้อความ SMS แนบลิงก์หลอกลวงเพื่อใช้ในการติดตั้งระบบดูดเงิน หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก โดยกำหนดลงทะเบียนให้ผู้ส่งข้อความจบภายในปี 2567 นี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

นายประเสริฐ ย้ำว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียด หากมีการส่ง SMS แนบลิงก์ เข้ามาจากผู้ส่งข้อความ (เบอร์โทร) ที่น่าสงสัย หากมีการแอบอ้างในข้อความว่าเป็นหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือธนาคาร ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไม่มีนโยบายในการให้ ข้าราชการ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ ส่ง SMS ผ่านเบอร์โทรส่วนตัวถึงประชาชน โดยหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผ่านสายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด ‘หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน’

'ประเสริฐ' เผย 'บอร์ดดีอี' รับทราบขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลคนไทย เดินหน้า 'รัฐบาลดิจิทัล' ตั้งภาครัฐใช้งานระบบ e-office 3 ล้านคน

(24 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขานุการคณะกรรมการฯ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ ตลอดจนกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เข้าร่วมประชุมว่า ที่ประชุมบอร์ดดีอี ได้รับทราบและพิจารณาประเด็นที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้

1.แนวทางการดำเนินการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ e-Office ภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) โดยมีแผนการดำเนินงานการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต จากความต้องการใช้งานระบบ e-Office ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้วิเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายผู้ใช้งานระบบได้ 3,000,000 คน ภายในปี 2570  

2.การดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ได้แก่ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมการเฉพาะด้าน Cloud First Policy ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างบริการคลาวด์ภาครัฐ และคณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการความต้องการใช้บริการคลาวด์ (Demand) การให้บริการคลาวด์ (Supply) และมาตรฐานการบริหารจัดการบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Management) และได้เห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการบริหารจัดการระบบคลาวด์ภาครัฐ โดยมอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการต่อไป

3.แนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยให้หน่วยงานภาครัฐ นำข้อกำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไขสำหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ประจำปี พ.ศ. 2567 ไปใช้พลางก่อน จนกว่าจะมีข้อกำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไขสำหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ใหม่ 

4.การเร่งรัดขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยเห็นชอบให้ภารกิจการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

5.การเร่งรัดบูรณาการและขับเคลื่อน CCTV  ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการประมวลผลและใช้ประโยชน์จากระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย สามารถบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

6.เห็นชอบ (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย (Digital ID) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2570) และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตาม (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนฯ พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลให้เป็นไปตามกรอบการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวต่อไป 

7.เห็นชอบ แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร (AI Governance Guideline for Executive) ของ ETDA โดยมอบหมายให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนนำไปปฏิบัติต่อไป

8.แนวทางการดำเนินการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานของรัฐ สำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหล และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เสนอคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศให้ทุกหน่วยงาน นำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป

9.การดำเนินงานขยายความจุ (Capacity) ของระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC (Asia Direct Cable) ในปี 2566 จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทาง ไทย - ฮ่องกง จำนวน 300 Gbps และ 2) เส้นทางไทย - สิงคโปร์ จำนวน 700 Gbps 

10.ประกาศคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดนิยามและขอบเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้แจ้งเวียนประกาศดังกล่าวไปยังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานนำกรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top